แอควาสตาร์ บนทางวิบากของ "เพื่อนร่วมพัฒนา"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

แอควาสตาร์เข้าไปส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำที่อำเภอระโนดเมื่อสามปีที่แล้ว จนอาชีพใหม่นี้ได้พลิกโฉมหน้าของอำเภอเล็ก ๆ แห่งนี้ไปจากเดิม ด้วยรูปแบบการดำเนินงาน ที่เคร่งครัด ตายตัว การบริหารงานที่หละหลวม และผลประโยชน์ที่เย้ายวนใจเกษตรกรจำแลง นำไปสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานมาถึงครึ่งปีแล้ว

ระโนด เป็นอำเภอเล็ก ๆ ในจังหวัดสงขลาที่อยู่ต่อจากอำเภอหัวไทรของจังหวัดนครศรีธรรมราช แม้จะมีพื้นที่ด้านทิศตะวันออกติดกับชายฝั่งตะวันตกของอ่าวไทยแต่หาดทรายที่ระโนดก็ไม่วิจิตรพิสดารพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นให้มาเยือน ระโนดไม่มีธรรมชาติหรือสถานที่สำคัญที่จะเป็นจุดขายทางด้านการท่องเที่ยว พื้นที่ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผืนนาที่ได้ผลบ้างไม่ได้บ้างขึ้นอยู่กับความเมตตาของฟ้าดิน เว้นแต่คนท้องถิ่นใกล้เคียงแล้วไม่ค่อยจะมีใครได้ยินชื่อของอำเภอระโนดมากนัก

"ผมยังจำได้ว่าตอนที่ผมมาอยู่ใหม่ ๆ ทั้งอำเภอมีผู้หญิงหากินอยู่หกคนคิดค่าบริการครั้งละ 70 บาท" เจ้าหน้าที่ของบริษัทกรุงเทพเพาะเลี้ยงกุ้งคนหนึ่งให้ภาพความเงียบเหงาของตัวเมืองจากการออกสำรวจในยามค่ำคืนของเขา

วันนี้ดัชนีบ่งชี้ความจำเริญทางวัตถุพุ่งขึ้นจากหากเป็นร้อยกว่าแล้ว เช่นเดียวกับราคาค่าบริการที่เกินหลักร้อยขึ้นไปจนถึงสองสามร้อยบาท มืออาชีพต่างถิ่นเริ่มโยกย้ายเข้ามาปักหลักตามร้านขายเหล้า ร้านอาหารที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการทะเลาะวิวาทหลังจากร่ำสุราได้ที่ อุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซด์หรือรถปิคอัพชนกัน ถนนเข้าสู่อำเภอที่เคยว่างเปล่าเต็มไปด้วยรถมอเตอร์ไซด์ที่ควบคุมโดยเจ้าของที่ยังไม่ชำนาญในการขี่ แต่บังเอิญมีเงินทองมากพอที่จะซื้อหามได้

เงินทองเหล่านี้เป็นผลมาจากธุรกิจนากุ้งกุลาดำในช่วงสองสามปีมานี้โดยแท้

ธุรกิจนากุ้งนี้เปลี่ยนโฉมหน้าของระโนด จากที่เคยเป็นอำเภอที่ยากจนที่สุดอำเภอหนึ่งในภาคใต้ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวไม่เกิน 6,000 บาทต่อปีเมื่อสี่ปีที่แล้ว ปัจจุบันเงินจากธุรกิจนากุ้งที่หมุนเวียนอยู่ในอำเภอนี้ประมาณกันว่าสูงถึงปีละ 600 ล้านบาท เกษตรกรที่ลงทุนในอาชีพนี้มีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 25,000 บาท

สี่ปีที่แล้วพื้นที่สองข้างทางหลวงสายเอเชียช่วงหัวไทร-ระโนดยังเป็นที่นารกร้างว่างเปล่า เพราะทำนาไม่ได้ผล สมัยนั้นธุรกิจกุ้งกุลาดำยังเดินทางมาไม่ถึงที่นี่ คนแรกที่นำเอาเรื่องนี้เข้ามาเผยแพร่คือกานต์ คูนซ์

คูนซ์ ทำโครงการฟาร์มเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้กับบริษัทแอควาสตาร์ บริษัทสัญชาติอเมริกันซึ่งเคยทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งกุลาดำในฟิลิปปินส์และไต้หวันมาแล้ว เมื่อสภาพแวดล้อมของไต้หวันเสียหายจนไม่อาจเลี้ยงกุ้งต่อไปได้ จึงมองหาที่ใหม่คือประเทศไทย

ผู้ถือหุ้นรายสำคัญของแอควาสตาร์คือ ทราวอินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำจากเนเธอร์แลนด์ ทราว อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นบริษัทลูกของบีพี นิวทรีชั่น ยักษ์ใหญ่ทางด้านอาหารสัตว์ในเครือกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน บีพี ทราวถือหุ้น 40% ในแอควาสตาร์

คูนซ์ใช้เวลาสองปีระหว่างปี 2528-2530 ในการสำรวจพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทย เพื่อหาทำเลที่เหมาะที่สุด ในที่สุดเขาเลือกเอาพื้นที่ที่ระโนดซึ่งยังไม่เคยทำการเลี้ยงกุ้งมาก่อนเลย

"ผมจำได้ว่าตอนนั้นหลายคนพูดว่าที่นี่เลี้ยงกุ้งไม่ได้หรอก" คูนซ์เล่าให้ฟัง

การเลี้ยงกุ้งเท่าที่เคยมีมาในภาคใต้นั้นเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติในพื้นที่ที่เป็นป่าชายเลนซึ่งมีเชื้อกุ้งและอาหารกุ้งตามธรรมชาติอยู่ พื้นที่ที่เลี้ยงกันมานานคืออำเภอปากพนังและปากแม่น้ำนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช

คูนซ์ พูดถึงเหตุผลที่เลือกระโนดว่า "ที่ดินเรียบเป็นทีดินเหนียว ติดทะเล ความสูงจากทะเลไม่มาก ถนนดี ไฟดี ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมรอบ ๆ น้ำสะอาด" เขาก็เลยตัดสินใจเลี้ยงกุ้งบนที่นาเป็นครั้งแรก

แอควาสตาร์เริ่มกว้านซื้อที่ดินเพื่อใช้สร้างฟาร์มเลี้ยงกุ้ง สร้างโรงงานอาหารสัตว์ และห้องเย็น สองอย่างหลังนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการขยายธุรกิจให้ครบวงจร ทั้งหมดใช้เงินประมาณ 600 ล้านบาท แต่ภาระหน้าที่เฉพาะหน้าของคูนซ์ คือการชักชวนนาเจ้าของที่ดินในแถบนั้นให้มาเป็นสมาชิกในโครงการเลี้ยงกุ้งของแอควาสตาร์ซึ่งใช้ชื่อว่า "เพื่อนร่วมพัฒนา"

ความล้มเหลวของการเลี้ยงกุ้งกุลาดำที่ไต้หวันปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เลี้ยงที่แม่กลองและมหาชัย คือไม่มีการจัดการกับระบบสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง เมื่อเลี้ยงกันมาก ๆ เข้าของจากบ่อกุ้งที่สะสมกันอยู่ในน้ำที่นำมาเลี้ยงจึงย้อนกลับมาทำลายกุ้งในบ่อเอง

น้ำที่ใช้เลี้ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แนวคิดในการจัดการระบบการเลี้ยงกุ้งคือการนำระบบชลประทานน้ำเค็มมาใช้ ระบบชลประทานน้ำเค็มนี้จะประกอบด้วยคลองส่งน้ำที่นำน้ำทะเลเข้ามาเก็บไว้ในบ่อพักน้ำเพื่อให้น้ำปรับสภาพก่อน

จากบ่อพักน้ำจะมีระบบส่งน้ำกระจายเข้าไปตามบ่อเลี้ยงกุ้งเหมือนคลองชลประทานที่ส่งน้ำเข้าไปในนาข้าว น้ำเสียจากบ่อเลี้ยงกุ้งจะถูกสูบลงคลองน้ำทิ้ง ซึ่งแยกต่างหากจากคลองที่นำน้ำทะเลเข้ามาน้ำเสียนี้จะไหลไปรวมกันที่บ่อบำบัดน้ำเสียเพื่อปรับสภาพน้ำให้ดีขึ้นชั่นหนึ่งก่อน ก่อนที่จะปล่อยลงทะเลไป

วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดเท่าที่จะคิดได้ในขณะนี้ในการรักษาสภาพแวดล้อมเอาไว้ให้นานที่สุด แต่ระบบชลประทานน้ำเค็มนี้ต้องใช้ที่ดินจำนวนมากในการทำคลองและบ่อเก็บกักน้ำ ประมาณกันว่าต้องใช้ที่ดินประมาณเกือบ 40% ในการทำระบบชลประทานน้ำเค็มนี้ เหลือพื้นที่เลี้ยงกุ้งจริง ๆ แค่ 60%

"ปัญหาก็คือชาวบ้านซึ่งมีที่อยู่สามไร่ จะเอาที่ดินที่ไหนมาบำบัดน้ำ ถ้าขุดบ่อน้ำทิ้งเสียหนึ่งไร่ ทำคลองทำคันบ่ออีกครึ่งไร่ เหลือที่เลี้ยงได้จริง ๆ ไร่ครึ่ง มันก็ไม่คุ้ม ทำไม่ได้" ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงกุ้งรายหนึ่งพูดถึงอุปสรรคในเรื่องนี้

ระบบชลประทานน้ำเค็ม จะเกิดขึ้นได้จริง ๆ ก็กับโครงการที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ถ้าเป็นชาวบ้างรายย่อย ๆ ก็ต้องใช้วิธีรวมกลุ่มกันรวบรวมที่ดินมาจัดรูปวางระบบการเลี้ยงใหม่

โครงการเพื่อนร่วมพัฒนาของแอควาสตาร์จึงเป็นโครงการที่ชักชวนเจ้าของที่ดินที่อยากจะเลี้ยงกุ้งให้นำที่ดิน มารวมกันเพื่อจัดระบบชลประทานน้ำเค็มโดยแต่ละคนต้องสละที่ดินจำนวนหนึ่งเพื่อใช้เป็นที่ดินส่วนกลางในการสร้างระบบ

เงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมโครงการคือแอควาสตาร์จะเป็นผู้ควบคุมวิธีการเลี้ยงทั้งหมด ผู้เลี้ยงในโครงการต้องใช้ลูกกุ้ง อาหารกุ้งของแอควาสตาร์และต้องขายกุ้งให้กับแอควาสตาร์เท่านั้น ส่วนรายได้จากการขายกุ้งเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเป็นของผู้เลี้ยงทั้งหมด

โครงการเพื่อนร่วมพัฒนานี้ก็คือรูปแบบเกษตรกรรมแบบ contract farming นั่นเอง

แอควาสตาร์วางโครงการไว้ว่าในช่วงสองปีแรกจะทำฟาร์มสาธิตจำนวน 24 บ่อให้ชาวบ้านดูก่อนเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทำได้ "เราสร้างฟาร์มยังไม่เสร็จเลย มีคนมาติดต่อเยอะแยะ" คูนซ์อธิบายว่าพื้นที่นาในตอนนั้นทำนาไม่ได้ผลเลย ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของที่ก็เลยอยากจะเปลี่ยนอาชีพ

แอควาสตาร์เองไม่ได้รอให้ชาวบ้านวิ่งเข้ามาหาแต่ฝ่ายเดียว แต่ใช้วิธีเข้าหาข้าราชการผู้ใหญ่เพื่อขอการสนับสนุนสร้างความสัมพันธ์กับข้าราชการ ผู้นำในท้องถิ่นและอาศัยบุคคลเหล่านี้เป็นนายหน้าออกไปรวบรวมที่ดินอีกทีหนึ่ง โดยมีแรงจูงใจคือถ้ารวบรวมที่ดินได้หนึ่งบ่อ คือประมาณ 8 ไร่จะได้ค่ารวมบ่อหนึ่งหมื่นบาท

นอกจากนั้นนายหน้าพวกนี้ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกลุ่ม และชาวระโนดเชื่อกันว่า คนพวกนี้กินเงินเดือนจากแอควาสตาร์ในฐานะพนักงานบริษัทด้วย

สายสัมพันธ์ที่แอควาสตาร์สร้างขึ้นนี้กลับกลายมาเป็นต้นตอแห่งปัญหาในภายหลัง

ชั่วระยะเวลาไม่นานนัก แอควาสตาร์สามารถ รวบรวมที่ดินได้ถึง 2,000 กว่าไร่ คิดออกมาเป็นจำนวนบ่อได้ 310 บ่อจากเจ้าของที่ดิน 302 ราย เพราะบางรายมีมากกว่าหนึ่งบ่อ

ทั้ง 310 บ่อนี้แบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามพื้นที่ได้ต่อกลุ่ม เรียกกันว่า ไซด์ (SITE) เอไปจนถึง ไซด์จี

หลักการในการรวมก็คือ แต่ละรายนั้นต้องมีที่ดิน 8 ไร่ และต้องกับพื้นที่ 21.2% หรือ 1.7 ไร่เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทำระบบสาธารณูปโภค เหลือพื้นที่บ่อเลี้ยงจริง ๆ 6.3 ไร่

พื้นที่ส่วนกลางนี้คือประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อพิพาทระหว่างแอควาสตาร์ ซึ่งต้องการโอนพื้นที่นี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท และตีค่าเป็นหุ้นให้เจ้าของที่ดินเข้ามาร่วมถือหุ้นในบริษัทใหม่ แต่ว่าฝ่ายเกษตรกรไม่ยอมโอนให้

โครงการขูดบ่อเลี้ยงกุ้งนี้ ได้รับสินเชื่อในรูปเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ (SOFT LOAN) จำนวน 1,000 ล้านบาทจากธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านทางธนาคารเอเชีย ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดดอกเบี้ยจากธนาคารเอเชีย 3% และกำหนดให้ธนาคารเอเชียคิดดอกเบี้ยจากเกษตรกรได้ไม่เกินร้อยละ 9

เงิน 1,000 ล้านบาทนี้เป็นเงินสำหรับการขุดบ่อ รวมทั้งจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเลี้ยงกุ้ง โดยที่ 50% ของต้นทุนในการขุดบ่อแต่ละบ่อนั้นจะมาจากเงินจำนวนนี้ ที่เหลืออีกครั้งหนึ่งจะเป็นเงินกู้ของทางธนาคารเอเชียเอง

ค่าใช้จ่ายในการสร้างบ่อซึ่งเกษตรกรจะต้องทำสัญญากู้จากธนาคารเอเชียโดยตรงมีจำนวน 800,000 บาท ใช้ที่ดินที่จะมาทำบ่อจดจำนองกับธนาคาร แต่เกษตรกรจะไม่ได้รับเงินสดจากธนาคารโดยตรง เพราะธนาคารจะจ่ายให้กับแอควาสตาร์ซึ่งเป็นผู้ลงทุนในการขุดบ่อให้

แอควาสตาร์จ้างบริษัทแบคเทล อินเตอร์เนชั่นแนล จากสหรัฐอเมริกาให้ออกแบบบ่อและระบบทั้งหมด โดยมีบริษัทคริสเตียนี่แอนด์ นีลเส็น เป็นผู้ก่อสร้าง

นอกจากเงินกู้สำหรับการขุดบ่อแล้ว ยังมีเงินโอดีจำนวน 300,000 บาทเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนระหว่างการเลี้ยงซึ่งจะประกอบไปด้วยค่าครองชีพเดือนละ 2,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเกษตรกรเองในระหว่างที่ยังไม่ได้ลงมือเลี้ยง

ค่าลูกกุ้ง ค่าอาหารกุ้ง และค่าบริการสาธารณูปโภคคือค่าน้ำ ค่าไฟ ในการเลี้ยง จะมาจากเงินโอดี 300,000 บาทนี้ด้วย แต่ว่าเกษตรกรจะไม่ได้รับเป็นตัวเงินโดยตรง เพราะธนาคารจะจ่ายให้กับแอควาสตาร์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเหล่านี้

แอควาสตาร์คิดค่าบริการน้ำไฟเป็นรายวัน ๆ ละ 365 บาทต่อบ่อ และคิดทุกวันแม้กระทั่งในช่วงการตากบ่อหลังจากจับกุ้งขายซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ต้องใช้น้ำเลย

เงื่อนไขการชำระเงิน เกษตรกรจะเป็นผู้ชำระหลังจากการจับกุ้งแต่ละรุ่น เงินที่ได้จะต้องนำไปชำระเงินโอดีให้หมดก่อนและกันเงินอีก 50,000 บาทเอาไว้ในบัญชีโอดีเป็นค่าใช้จ่ายในงวดต่อไป

เงินที่เหลือจะเป็นกำไรสุทธิของเกษตรกรซึ่งจะต้องหักเป็นค่าเงินต้นและดอกเบี้ยของเงินกู้เพื่อการขุดบ่องวดละ 160,000 บาทหรือ 70% ของรายได้เหลือจากนี้จะเข้ากระเป๋าเกษตรกรทั้งหมด

ระยะเวลาในการชำระเงินกู้ 800,000 บาทนี้ไม่เกิน 3.5 ปี โดยชำระตามงวดการจับกุ้ง (อย่างน้อย 6 เดือนต่อหนึ่งครั้ง)

แอควาสตาร์เริ่มปล่อยกุ้งลงบ่อครั้งแรกเมื่อต้นปี 2531 จนถึงวันนี้จากตัวเลขที่เปิดเผยโดยบริษัทเองมีการจับกุ้งไปแล้ว 650 ครั้ง หลังจากหักต้นทุนในการเลี้ยงทั้งหมดและเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแล้ว สมาชิกจะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 300,000 บาท

"สวนใหญ่สามารถชำระเงินกู้ได้หมดภายใน 4 รุ่น จากเดิมที่คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึง 7 รุ่น สิ้นปีนี้สมาชิกประมาณ 80% จะเคลียร์หนี้ได้หมด" คูนซ์กล่าว

คูนซ์พูดถึงแนวคิดของโครงการเพื่อนร่วมพัฒนาว่า เป็นการประสานกันระหว่างอุดมการณ์ในการพัฒนาชนบทเพื่อให้เกษตรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กับการจัดการทางธุรกิจซึ่งจะช่วยสนับสนุนในเรื่องวิชาการเทคโนโลยีการผลิต และการจัดการทางด้านการตลาดทั้งเกษตรกรและบริษัทจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

"เราไม่ได้มองเกษตรกรว่าเป็นลูกจ้างที่สามารถเข้าไปสูบเลือดสูบเนื้อเพื่อกำไรสูงสุดของบริษัท แต่เกษตรกรจะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับความสำเร็จของบริษัทด้วย" เขาเชื่อว่า วิธีการนี้เป็นการลดช่องว่างระหว่างความรวยกับความจนเป็นที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด "ประเทศไทยจะก้าวหน้า ต้องให้ความคิด อุดมการณ์แบบพัฒนาผสมกับความคิดของธุรกิจ ก็จะได้ประโยชน์สูงสุด

สองปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าความมุ่งมั่นของเขาจะเป็นจริง เมื่อเกษตรกรลืมตาอ้าปากได้จากอาชีพการเลี้ยงกุ้ง มีเงินหมื่นเงินแสนที่จะถอยรถปิคอัพออกมาขับขี่กัน คนที่ไม่ได้ร่วมโครงการแต่มีที่ดินที่จะนำน้ำทะเลเข้ามาได้ ก็พลอยตามอย่างขุดบ่อเลี้ยงกุ้งกันเป็นทิวแถว สองข้างทางหลวงสายหัวไทร-ระโนดที่เคยเป็นท้องนาว่างเปล่าเต็มไปด้วยท่อพีวีซีสีฟ้าพาดผ่านกันไปมาส่งน้ำทะเลเข้าไปสู่นากุ้งที่เรียงรายอยู่เต็มเกือบทุกตารางนิ้ว

แต่ความสัมพันธ์ที่สวยงามระหว่างแอควาสตาร์กับเกษตรกรในโครงการนั้นจบลงไปแล้วในช่วงเวลาอันแสนสั้น

นับตั้งแต่ปลายปี 2533 เป็นต้นมา ความขัดแย้งระห่างแอควาสตาร์กับเกษตรผู้ร่วมโครงการได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกที

แผนการทางธุรกิจของแอควาสตาร์นั้นคือการทำธุรกิจกุ้งกุลาดำแบบครบวงจร คือมีทั้งฟาร์มเลี้ยงโรงงานอาหารกุ้งและห้องเย็นแปรรูปเพื่อการส่งออกซึ่งทั้งหมดนี้จะตั้งอยู่ที่อำเภอระโนด

ตามแผนการกำหนดงานแล้วโรงงานอาหารกุ้งยี่ห้อ "โปรฟีด" อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทแอควาสตาร์ ส่วนฟาร์มเลี้ยงกุ้งเป็นความรับผิดชอบของแอควาสตาร์ ดีเวลลอปเมนต์ที่มี กานต์ คูนซ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ

กลางปี 2532 แอควาสตาร์แตกหน่อออกไปอีกเป็นบริษัทแอควาสตาร์ฟู้ดส์ ดำเนินกิจการห้องเย็น มีกำลังการผลิตวันละ 20 ตันหรือ 7,300 ตันต่อปี

เพื่อให้มีวัตถุดิบคือกุ้ง ป้อนห้องเย็นได้อย่างต่อเนื่องเต็มตามกำลังการผลิต แอควาสตาร์จำเป็นต้องขยายบ่อเลี้ยงกุ้ง ตามแผนการแล้วจะขยายให้มีถึง 1,245 บ่อ ซึ่งหมายความว่าจะต้องลงทุนในเรื่องการขุดบ่อและระบบสาธารณูปโภคเพิ่มเติม

ปลายปี 2533 แอควาสตาร์จึงตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาชื่อแอควาฟาร์มาบริการเพื่อรับผิดชอบการก่อสร้าและให้บริการสาธารณูปโภค แอควาสตาร์ฟาร์ม มีทุนจดทะเบียน 180 ล้าน มีผู้ถือหุ้นคือ แอควาสตาร์ 40% แบคเทล อินเตอร์เนชั่นแนล 10% ที่เหลืออีก 50% มีแผนการที่จะให้เกษตกรเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น

พร้อม ๆ กับการตั้งแอควาฟาร์ม บริการก็ได้มีการตั้งเงื่อนไขใหม่เพิ่มขึ้นสามข้อคือ 1. ขึ้นค่าบริการอีก 108.5% จากเดิม 365 บาทต่อวันเป็น 760 บาท 2. ให้เกษตรกรโอนที่ดินส่วนกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของแอควาฟาร์มบริการ และ 3. ให้เกษตรกรเข้าถือหุ้น 50% ในบริษัทนี้โดยตีราคาค่าที่ดินที่โอนเข้ามาเป็นค่าหุ้น และเกษตรกรต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกประมาณ 50,000 บาท

เงื่อนไขสามข้อนี้เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อกันมานานตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันเพราะเกษตรกรไม่ยอมรับ ในขณะที่ทางแอควาก็ยื่นคำขาดมาเป็นระยะ ๆ ว่าถ้ารายใดไม่เซ็นชื่อในสัญญายอมรับเงื่อนไขทั้งสามข้อแล้ว จะตัดน้ำ ตัดไฟ ไม่ให้เลี้ยงกุ้ง

กุ้งกุลาดำนั้นถ้าไม่ได้เปลี่ยนน้ำ ไม่ได้ออกซิเจนจากเครื่องตีอากาศที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้า ไม่ถึงวันมีหวังตายทั้งบ่อ

แอควาสตาร์ให้เหตุผลกับเงื่อนไขทั้งสามข้อว่าค่าบริการที่ขึ้นมาถึง 100 กว่าเปอร์เซ็นต์นั้น ในความเป็นจริงแล้ว ควรจะขึ้นมาตั้งนานแล้ว เพราะทางแอควาต้องแบกรับการขาดทุนจากต้นทุนตัวนี้มาตลอดระยะเวลาสองปี

ตอนเริ่มแรกเลี้ยงกุ้งนั้น แอควาสตาร์สร้างระบบดูดน้ำจากทะเลที่ต้นทุนไม่แพงนัก เพราะต้องการให้เลี้ยงได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นก็เริ่มก่อสร้างใหม่เป็นท่อที่วางอยู่บนเขื่อนยื่นออกไปในทะเลถึง 100 เมตรจำนวน 6 ท่อ เพื่อที่จะดูดน้ำทะเลให้ห่างจากฝั่งมากที่สุด ซึ่งมีต้นทุนที่แพงมาก แต่เพิ่งจะมาปรับค่าบริการในช่วงนี้

"เรายอมให้เขาใช้อย่างถูก ๆ มาสองปีแล้ว ตอนนี้เราเปลี่ยนใหม่หมด ต้นทุนแพงขึ้น" เจ้าหน้าที่ของแอควาสตาร์คนหนึ่งกล่าว เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าราคาค่าบริการใหม่นี้คิดจากจำนวนบ่อในปัจจุบัน ถ้าหากขยายไปถึง 1,245 บ่อแล้วค่าบริการจะถูกลง

สำหรับเงื่อนไขที่ต้องให้เกษตรกรโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนกลางมาเข้าบริษัท และเข้ามาถือหุ้นด้วยรวม 50% นั้น ในสัญญาดำเนินการโครงการเลี้ยงกุ้งกุลาดำระหว่างแอควาสตาร์ ดีเวลลอปเม้นท์กับเกษตรกรครั้งแรกนั้น ระบุเอาไว้แล้วในข้อสามของสัญญา ซึ่งเกษตรกรอ้างว่าถูกหลอกให้เซ็น เพราะอ่านไม่รู้เรื่อง

"เราต้องการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันด้วย" เจ้าหน้าที่แอควาสตาร์คนเดิมให้เหตุผลว่า ในกรณีเจ้าของบ่อเกิดทะเลาะกัน อาจจะเกิดการหลั่นแกล้งปิดทางเดินหรือกักน้ำเอาไว้ได้ ประเด็นนี้ทางฝ่ายเกษตรกรโต้แย้งว่าสามารถใช้วิะการขอเช่าโดยจดทะเบียน ภาระจำยอมได้ไม่จำเป็นต้องโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งเกษตรกรจะสูญเสียที่ดินไปเลย

แอควาฟาร์มบริการจำเป็นต้องถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนนี้ก็เพราะว่าต้องการให้ที่ดินนี้เป็นทรัพย์สินของบริษัทเพื่อเป็นหลักทรัพย์ในการกู้ยืมเงินประมาณ 1,000 ล้านบาทมาก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค

แอควาฟาร์มขอกู้เงิน 50 ล้านเหรียญจากธนาคารบาร์คเล่ยของอังกฤษ ก่อนหน้านั้นมีแผนที่จะขอกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) แต่มีปัญหาว่าเกษตรกรไม่ยินยอมโอนที่ดิน จนเลยกำหนดที่ทางเอดีบีวางเอาไว้คือภายในวันที่ 15 เมษายน จึงต้องหันไปหาบาร์คเล่ยแทน

ความขัดแย้งนี้ถูกรุมล้อม และเร่งเร้าจากความกินแหนงแคลงใจกันระหว่าง แอควาสตาร์กับกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มในเรื่องของผลประโยชน์จากการเลี้ยงกุ้งซึ่งมีเชื้อมาตั้งแต่กลางปี 2533

กานต์ คูนซ์ อาจจะมีประสบการณ์ในการทำงานกับเกษตรกรในภาคอีสานมาก่อน แต่เกษตรกรที่มาเลี้ยงกุ้งกุลาดำกับแอควาสตาร์นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งภูมิหลังและความ
ต้องการ ที่สำคัญผลประโยชน์จากกุ้งกุลาดำนั้นเป็นเงินแสนเงินล้านเทียบกับเงินพันเงินหมื่นจากการเลี้ยงหมูหรือปลูกใบยาแล้ว เรื่องที่น่าจะคุยกันรู้เรื่องประสาเพื่อนร่วมพัฒนากลับกลายเป็นเสมือนเส้นขนานที่ไม่มีวัน่จะมาบรรจบกันได้

ทรงศักดิ์ ช่วยชูวงศ์ มีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมประมงจังหวัดสงขลา เป็นเจ้าของโรงงานปลาป่นและเป็นผู้บริหารเท่าเทียบเรือประมงของเทศบาลสงขลา เขาเป็นคนแรก ๆ ที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงกุ้งของแอควาสตาร์ และก็เป็นคนแรกเช่นกันที่ถอนตัวออกจากโครงการโดยขายบ่อคืนให้กับทางแอควาสตาร์เมื่อปีที่แล้วหลังจากที่เลี้ยงมาแล้ว สองรุ่นในราคาบ่อละ 7 แสนบาท จำนวน 20 บ่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของญาติพี่น้องรวม ๆ กันหลาย ๆ คน

"ตัวเลขมันได้แค่สี่ตันกว่าต่อหนึ่งบ่อ เนื้อที่หกไร่ เรามาเลี้ยงเองบ่อขนาดสามไร่ ได้ 6-7 ตัน" ทรงศักดิ์พูดถึงเหตุผลที่เขาขายบ่อคืนว่าเป็นเพราะผลผลิตต่ำเมื่อเทียบกับผู้เลี้ยงที่อยู่นอกโครงการ

ระบบการเลี้ยงของแอควาสตาร์นั้นจะควบคุมจำนวนลูกกุ้งไม่ให้หนาแน่นมากในแต่ละบ่อ "จะตั้งเพดานไว้ 25 ตัวต่อหนึ่งตารางเมตร ในขณะที่ข้างนอกเขาทำกัน 50-10 ตัวต่อตารางเมตร" คูนซ์ อธิบายว่าการปล่อยลูกกุ้งหนาแน่นเกินไปต้องให้อาหารมาก เศษอาหารทำให้น้ำเสียดินเสีย ขี้กุ้งก็มากตามส่วนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะมีมาก "เราต้องการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งแบบยั่งยืน ไม่ใช่สามสี่ปีเลิก"

แอควาสตาร์ลงทุนแบบครบวงจรทั้งโรงเพาะโรงอาหารกุ้ง ห้องเย็น และระบบสาธารณูปโภคการรักษาสภาพแวดล้อมให้เลี้ยงกันได้ในระยะยาวจึงเป็นสิ่งที่คูนซ์เน้นว่าสำคัญมาก

แต่ทรงศักดิ์บอกว่าถ้าปล่อยกุ้งหนาแน่น ต้องใช้น้ำเยอะ แอควาสตาร์จะต้องสูบน้ำเพิ่มขึ้น 300% ไม่คุ้มกับราคาค่าบริการ 365 บาทต่อวัน

แอควาสตาร์จะควบคุมการปล่อยลูกกุ้งให้เป็นไปตามที่วางเอาไว้คือ 25 ตัวต่อตารางเมตร หรือสองแสนสี่หมื่นตัวต่อบ่อขนาดหกไร่ ผลผลิตจึงน้อยกว่าคนเลี้ยงที่อยู่นอกโครงการซึ่งปล่อยมากกว่า 3-4 เท่าตัว ปีแรกของการเลี้ยงยังไม่มีค่อยมีปัญหาเพราะไม่มีตัวเปรียบเทียบ แต่ปีที่สองเมื่อเริ่มมีผู้เลี้ยงกันมากเข้าโดยลงทุนกันแบบตามมีตามเกิด กลับปรากฏว่าได้ผลผลิตมากกว่าบ่อในโครงการของแอควาสตาร์จึงมีข้อสงสัยเกิดขึ้นว่าทำไมลงทุนสูงกว่าแต่กลับมีรายได้น้อยกว่า

ทรงศักดิ์ก็เลยแหกกฎของแอควาสตาร์ด้วยการปล่อยลูกกุ้งมากกว่าข้อกำหนด "รุ่นที่สองผมเคยจับได้บ่อละล้าน แต่ผมปล่อยลูกกุ้งเอง ปล่อยสามแสนสาม"

ปัญหาผลผลิตต่ำในการเลี้ยงแบบแอควาสตาร์ถูกจับโยงไปถึงเรื่องคุณภาพอาหารกุ้ง ซึ่งแอควาสตาร์บังคับให้เกษตรกรต้องใช้อาหารกุ้งยี่ห้อ "โปรฟีด" ของตนเท่านั้น "คือต้องเลี้ยงถึงหกเดือน เราเลี้ยงยี่ห้ออื่นห้าเดือนก็โตเต็มที่ มันเปรียบเทียบกันเห็นชัด" ทรงศักดิ์เล่าว่า เขาเคยทะเลาะกับทางแอควาสตาร์เรื่องคุณภาพของอาหาร ซึ่งเขาส่งตัวอย่างมาให้ห้องแล็บของกรมประมงตรวจสอบแล้วปรากฏว่าวไม่ได้คุณภาพตามที่เขียนไว้ข้างกระสอบอาหารกุ้ง โดยที่ทางแอควาสตาร์ไม่สามารถอธิบายได้

เกษตรกรหลายรายจึงแอบใช้อาหารกุ้งยี่ห้ออื่นซึ่งเป็นการผิดสัญญาที่ทำไว้แต่แรก
ความกินแหนงแคลงใจกันเรื่องที่สาม คือเรื่องราคากุ้งที่ขายให้กับห้องเย็นของแอควาสตาร์ต่ำกว่าราคาตลาด บางครั้งถึงกิโลกรัมละ 12 บาท ซึ่งทำให้รายได้ต่อบ่อหายไป 80,000-100,000 บาท

ความแตกต่างกันของราคาสืบเนื่องมาจากวิธีการจับกุ้งขึ้นมาวัดขนาดเพื่อตีราคา ซึ่งแอควาสตาร์ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแทนที่จะใช้วิธีการแบบเหวี่ยงแหซึ่งใช้ทั่ว ๆ ไป โดยอ้างว่าเพื่อให้เหมาะกับระบบห้องเย็นของตนเอง

เกษตรกรบางส่วนจึงลักลอบขายกุ้งให้กับห้องเย็นอื่น ทั้งด้วยเหตุผลว่าราคาดีกว่า และเพื่อไม่ให้แอควาสตาร์จับได้ว่าปล่อยลูกกุ้งเกินกว่ากำหนด

สำหรับทรงศักดิ์แล้วเขาได้ฉีกสัญญาที่ทำกับแอควาสตาร์ทิ้งด้วยการล่วงละเมิดข้อตกลงทั้งสามข้อนี้ก่อนที่จะขายบ่อคืนให้กับแอควาสตาร์ด้วยการกดดันกานต์ คูนซ์จนไม่มีทางเลือก

หลังจากถอนตัวออกจากโครงการแล้ว ทรงศักดิ์ได้รวบรวมเพื่อนฝูงญาติพี่น้องประมาณ 25 รายทำโครงการเลี้ยงกุ้งกุลาดำขึ้นเอง ในระบบเดียวกับแอควาสตาร์

ตัวเขาเองตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดโชคถาวรกุ้งกุลาดำขึ้นมา รับออกแบบบ่อและลงทุนในเรื่องระบบน้ำระบบไฟฟ้าป้อนให้กับสมาชิกทั้ง 25 รายที่เลี้ยงกุ้งรวมกันประมาณ 60 บ่อเป็นของเขาเอง 27 บ่อ โดยคิดค่าบริการ 15 บาทต่อกุ้งหนึ่งกิโลกรัมที่จับได้ และเขายังติดต่ห้องเย็นให้มารับซื้อกุ้งโดยเขารับผิดชอบหาอุปกรณ์และสถานที่ให้ และคิดค่าป่วยการจากห้องเย็นที่มาซื้อกิโลกรัมละ 2 บาท

รวมเบ็ดเสร็จแล้วทรงศักดิ์มีรายได้จากการให้บริการ 17 บาท ต่อกุ้งหนึ่งกิโลกรัมที่มีการซื้อขายกันเขาบอกว่าทั้ง 60 บ่อมีพื้นที่เลี้ยงรวมกันราว 200 ไร่ ถ้าคำนวณจากผลผลิตต่ำสุดหนึ่งตันต่อหนึ่งไร่ ปีหนึ่งเลี้ยงได้สองครั้ง เขาจะมีรายได้จากการให้บริการสาธารณูปโภคที่จดจำมาจากแอควาสตาร์ถึงปีละ 7 ล้านบาท แทนที่จะรอรายได้จากการเลี้ยงกุ้งเพียงอย่างเดียวหากยังคงเป็นสมาชิกของแอควาสตาร์

ตอนที่แยกตัวออกมาใหม่ ๆ เขาเคยมีโครงการที่จะตั้งห้องเย็นขึ้นมารับซื้อกุ้งด้วย แต่บังเอิญว่าที่ดินที่วางแผนว่าจะใช้ทำห้องเย็นนั้นอยู่ในพื้นที่ที่ทางจังหวัดสงขลาออกประกาศห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนั้นทรงศักดิ์ยังเป็นเอเย่นต์ขายอาหารกุ้งให้กับซีพีถึง 4 ยี่ห้อในจำนวน 5 ยี่ห้อที่ซีพีมีอยู่ด้วย

กรณีของทรงศักดิ์คือตัวอย่างของคนที่ได้ดีเพราะแยกตัวออกมาจากโครงการ

กลุ่มเกษตรกรที่เป็นหัวหอกในการสู้กับแอควาสตาร์มาตั้งแต่ต้นนั้นคือกลุ่มจี ใช้ชื่อว่ากลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำระวะ มีสมาชิกทั้งหมด 55 ราย กลุ่มจีเป็นกลุ่มที่รวมเอาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เอาไว้มากที่สุด มีทั้งนายอำเภอปลัดอำเภอ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด เลขานุการสำนักงานจังหวัดผู้ตรวจราชการสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ครูอาจารย์มหาวิทยาลัย ข้าราชการบำนาญ และนายกเทศมนตรีเมืองสงขลา นอกนั้นเป็นพ่อค้า ข้าราชการบำนาญและผู้จัดการธนาคาร

มีสมาชิกที่ระบุสถานภาพว่าทำนาเพียง 12 คนเท่านั้น

ข้าราชการส่วนใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มนี้คือบุคคลที่กานต์ คูนซ์ วิ่งเข้าหาเมื่อครั้งมาบุกเบิกโครงการใหม่ ๆ เพื่อขอความสนับสนุนและช่วยเป็นนายหน้ารวบรวมเกษตรกรให้ หลาย ๆ คนเห็นดีด้วยกับโครงการนี้จึงขอเข้าร่วมด้วยแต่แรก บางคนมีที่ไม่ถึง 8 ไร่ ทางแอควาสตาร์ลงทุนให้ยืมเงินไปหาซื้อที่ให้ครบเพื่อจะได้ร่วมโครงการได้ และจนบัดนี้ก็ยังไม่ได้คืนเงินก้อนนั้น

ภูมิหลัง การศึกษา ตำแหน่งหน้าที่ของสมาชิกในกลุ่มนี้ ทำให้มองเห็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และรู้จักที่จะหยิบยกเอามาเป็นข้อต่อรองในการเจรจา รวมไปถึงความละเอียดอ่อนในเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์

ความได้เปรียบของกลุ่มนี้คือสามารถกุมมวลชนท้องถิ่นเอาไว้ได้ รู้จักเลือกเผยแพร่ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้เลี้ยงกุ้งคนหนึ่งในโครงการแต่อยู่คนละกลุ่มเปิดเผยว่าเกษตรกรส่วนใหญ่อยากจะให้ปัญหานี้ยุติลงโดยเร็วโดยยอมรับเงื่อนไขของแอควาสตาร์ เพราะถึงอย่างไรการเลี้ยงกุ้งคือหนทางเดียวที่ให้ผลตอบแทนกว่าอาชีพอื่น ๆ ที่เคยทำมา ไม่ว่าจะเป็นการนำนา รับข้างหรือประมง

แต่หัวเรี่ยวหัวแรงของกลุ่มจีนั้นมีบารมีมากพอที่จะชักชวนให้กลุ่มอื่น ๆ คล้อยตามได้ คณะกรรมการกลุ่มนี้ประกอบด้วยไพบูลย์ พิชัยวงศ์อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลาเป็นประธานกลุ่ม ประโชติ เอกอุรุ นายกเทศมนตรีสงขลาเป็นรองประธาน จิต แก้วบริสุทธิ์เลขานุการสำนักงานจังหวัดเป็นเลขานุการ ธนชัย ฤทธิ์เดช นายหน้าค้าที่ดินเป็นเหรัญญิก ยงยุทธ แสงจันทร์ นายอำเภอเป็นกรรมการ และสมพรพิชญาภรณ์ อดีตศึกษาธิการอำเภอเป็นผู้จัดการกลุ่ม

คนที่มีบทบาทในการเจรจามาตลอดคือ ประโชติ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนายกเทศมนตรีตลอดกาลของเมืองสงขลา นอกจากจะเลี้ยงกุ้งในโครงการแล้วประโชติซึ่งเป็นเพื่อนรักกับทรงศักดิ์ด้วยยังมีบ่อเลี้ยงกุ้งของตัวเอง 33 บ่อ ให้ลูกเขยเป็นคนดูแล ส่วนจิตแก้วบริสุทธิ์นั้นกำลังรวบรวมสมาชิกเพื่อจะตั้งเป็นกลุ่มเลี้ยงกุ้งเช่นเดียวกัน

การเจรจาในระยะหลังนอกเหนือจากข้อขัดแย้งเดิมสามข้อคือ 1.การขึ้นค่าสาธารณูปโภค 2. การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนกลาง 3.การให้เกษตรกรเข้ามาถือหุ้นในแอควาฟาร์ม บริการข้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาคือ ให้แอควาสตาร์เปลี่ยนวิธีการจับกุ้งเป็นการใช้วิธีเหวี่ยงแหตามเดิม ซึ่งประโชติได้ประกาศในโต๊ะเจรจาว่าหากไม่ยินยอมเปลี่ยนวิธีการจับแล้ว จะขายกุ้งให้กับห้องเย็นหรือแพปลาที่ไม่ใช่ของแอควาสตาร์ โดยไม่สนใจสัญญาเดิมที่ทำไว้กับบริษัทอีกต่อไป แหล่งข่าวคนเดิมซึ่งเป็นผู้เลี้ยงกุ้งในโครงการให้ข้อสังเกตว่า ความยืดเยื้อของการเจรจานั้นด้านหนึ่งเป็นเพราะท่าทีที่แข็งกร้าวของทางฝ่ายแอควาสตาร์ที่ต้องการให้เกษตรกรยอมตามเงื่อนไขทุกข้อ อีกด้านหนึ่งนั้นเป็นการเล่นแกมกดดันให้ทางแอควาสตาร์เหลือทางออกอยู่ทางเดียวนั่นคือ ยกเลิกสัญญากับเกษตรกรที่ไม่ยอมตามเงื่อนไข ซึ่งวิธีนี้ผู้ที่จะได้ประโยชน์ คือ เกษตรกรที่มีทุนพอที่จะไปลงทุนทำระบบการเลี้ยงด้วยตัวเอง "แอควาสตาร์เข้ามาสอนวิธีการเลี้ยง การวางระบบให้แล้ว ช่วงที่ผ่านมาเขาก็เก็บเกี่ยวรายได้จากการเลี้ยงไปจนคุ้มทุนแล้ว ถ้าออกไปทำเองเขาก็เชื่อว่าทำได้และจะมีรายได้มากขึ้นด้วย เพราะจะปล่อยกุ้งเท่าไรก็ได้ จะขายให้ใครก็ได้ เขาอาจจะทำอย่างพี่ดำที่ไปลงทุนทำระบบสาธารณูปโภคให้แล้วคอยเก็บค่าบริการกิโลละ 15 บาทก็ได้" "พี่ดำ" ที่พูดถึงคือทรงศักดิ์นั่นเอง

มีสมาชิกอย่างน้อย 11 คนในกลุ่มนี้ที่ได้ทำผิดสัญญา คือปล่อยลูกกุ้งเกิน ขายกุ้งให้กับคนอื่น รายหนึ่งซึ่งอยู่ในฐานะแกนนำของกลุ่มได้รับการทาบทามจากยักษ์ใหญ่ทางด้านอาหารกุ้งรายหนึ่งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายให้ด้วย จึงต้องการหลุดพ้นไปจากสัญญาที่ทำกันมาแต่แรก แต่ครั้นจะบอกเลิกสัญญาเองก็กลัวจะถูกฟ้อง วิธีเดียวคือต้องเล่นเกม "อึด" จนอีกฝ่ายหนึ่งหมดความอดทน

แอควาสตาร์เองก็มีภาพพจน์ที่ไม่ดีนักในเรื่องของการคอร์รัปชั่นกันภายในบริษัท จนเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกไปอธิบายว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีปัญหาทางการเงินจึงต้องหาทางออกด้วยการผลักภาระให้กับเกษตรกร

ตอนที่เข้าไปบุกเบิกธุรกิจกุ้งกุลาดำนั้น แอควาสตาร์ ใช้วิธีดึงเอาคนท้องถิ่นเข้ามาเป็นพนักงานของบริษัทตามนโยบายการสร้างงานในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเงื่อนไขข้อหนึ่งที่ยื่นต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

"คนที่ได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งก็จะดึงเอาพรรคพวกของตัวเข้ามาช่วยทำงานด้วย พอทำไปสักระยะหนึ่งทำงานไม่ได้ผล ก็ต้องลาออก แต่ลูกน้องที่ตัวเองดึงมาไม่ได้ออกตามไปด้วย พอคนใหม่เข้ามาก็ดึงเอาพรรคพวกของตนเข้ามาอีก เท่ากับว่ามีคนเพิ่มขึ้นมาเป็นสองเท่าในงานปริมาณเดิม" ชาวระโนดคนหนึ่งพูดถึงปัญหาเรื่องคนของแอควาสตาร์

คนเหล่านี้ที่เดิมเป็นคนท้องถิ่น เมื่อเข้าทำงานเป็นพนักงานแอควาสตาร์ ในสายตาชาวบ้านที่มองก็คือคนของแอควาสตาร์ พฤติกรรมต่าง ๆ เช่นการคอร์รัปชั่น การไม่ดูแลเอาใจใส่แนะนำการเลี้ยงกุ้งการเอาเปรียบเกษตรกร ก็เลยมีผลต่อภาพพจน์ของแอควาสตาร์ไปด้วย

ปัญหาการคอร์รัปชั่นจะมีอยู่แทบทุกจุด ตั้งแต่การบรรทุกกุ้งจากบ่อไปส่งที่ห้องเย็น ซึ่งจะใช้รถปิคอัพขน "คนขับรถบางคนพอขับผ่านบ้านตัวเองก็จะเอากุ้งลงสัก 5 กิโล หรือไม่ก็เอาไปฝากนักร้องตามห้องอาหาร" นี่เป็นตัวอย่างที่รู้กันทั่วไป

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ตอนดึก ๆ จะมีการขโมยลูกกุ้งไปขายถูก ๆ แค่ตัวละ 4-5 สตางค์ โดยพนักงานของบริษัทเองไปจนถึงกระทั่งการขโมยอาหารกุ้งไปขายครั้งละหลาย ๆ ตันและการทุจริตของฝ่ายจัดซื้อวัตถุดิบของโรงงานอาหารกุ้ง

"ยกตัวอย่างเปลือกกุ้งป่น ส่งมาที่เรา ปรากฏว่าไม่ได้มาตรฐาน เราไม่รับ ตัวเจ้าของอุตส่าห์มาถึงโรงงาน เราบอกว่าไม่รับก็คือไม่รับ เขาบอกว่าเคยไปส่งที่แอควา เขาไม่ต้องไปเองแค่ยกโทรศัพท์ คุยกับคนที่รับผิดชอบ แล้วก็เอาเข้าไปได้เลย" เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของโรงงานอาหารสัตว์ในย่านนั้นพูดถึงตัวอย่างของการจ่ายใต้โต๊ะที่มีผลไปถึงคุณภาพอาหารกุ้งที่ออกมาด้วย

เรื่องที่สำคัยคือการรู้เห็นเป็นใจกับสมาชิกที่ทำผิดสัญญาในการปล่อยลูกกุ้งเกิน และลักลอบขายกุ้งในห้องเย็นข้างนอกซึ่งทำให้บริษัทสูญเสียรายได้และทำให้สมาชิกรายที่ทำตามสัญญาทุกอย่างไม่พอใจ

ปัญหาเรื่องคนที่สำคัญที่สุดคือประสิทธิภาพของคนที่จะต้องดูแล บริหารฟาร์มเลี้ยงกุ้ง คนที่จะได้ตำแหน่งผู้จัดการฟาร์มนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้จัดการฟาร์มของแอควาสตาร์คือคนที่เป็นนายหน้าช่วยหาสมาชิกมาเข้าโครงการตอนเริ่มใหม่ ๆ

ในขณะที่นักวิชาการที่จะต้องเป็นพี่เลี้ยงเกษตรกรในการเลี้ยงกุ้ง ส่วนใหญ่แล้วจะมีประสบการณ์ในเรื่องการเลี้ยงกุ้งกุลาดำน้อย ซึ่งสวนทางกับระบบการเลี้ยงที่จะต้องเชี่ยวชาญและให้ความเอาใจใส่เป็นอย่างมาก ปัญหาเรื่องคุณภาพคนตรงนี้ทำให้เกษตรกรรู้สึกว่า แอควาสตาร์ไม่สนใจติดตามช่วยเหลือหลังจากที่ชักชวนให้มาเข้าร่วมโครงการแล้วและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กุ้งไม่โตเต็มที่ ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร เวลาจับขึ้นมาทางห้องเย็นตีราคาให้ต่ำ ซึ่งกลายเป็นความบาดหมางกันในเรื่องราคากุ้งด้วย

ปัญหาการขาดการติดตาม ดูแลการเลี้ยงกุ้งอาหารไม่มีคุณภาพ ตีราคากุ้งให้ต่ำ ทำให้เกษตรกรมีความรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบจริง ๆ เมื่อแอควาสตาร์มาขึ้นค่าบริการ และบังคับให้เกษตรกรเซ็นสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ จึงไม่ยากที่จะวาดภาพให้แอควาสตาร์เป็นคนบาปในคราบของนักบุญที่เข้ามาสูบเลือดจากเกษตรกร

กลางปี 2533 แอควาสตาร์ปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ โดยแบ่งงานออกเป็นสองสายคือ สายพัฒนามีบริษัทแอควาสตาร์ดีเวลลอปเมนต์ ทำหน้าที่ในการรวบรวมกลุ่มสมาชิกกับริษะทแอควาฟาร์มบริการ สายนี้มีกานต์ คูนซ์ดูแลอยู่

อีกสายหนึ่งคือ สายธุรกิจหรือกลุ่มพาณิชย์สัมพันธ์ ประกอบด้วยบริษัทแอควา แล็บซึ่งทำหน้าที่ค้นคว้า วิจัย บริษัท แอควาสตาร์ เพาะลูกกุ้งและผลิตอาหารกุ้ง บริษัท แอควาฟู้ดส์ เป็นโรงงานแปรรูป คนที่เป็นประธานของสายนี้คือ วินัย วามวาณิชย์

วินัยเคยเป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไปของบริษัท เดอะเมตัลบ๊อกซ์ ประเทศไทยซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นซีเอ็มบี แพคเกจจิ้ง เขาลาออกเมื่อเดือนมีนาคม 2532 หลังจากที่มีความขัดแย้งกับผู้บริหารคนอื่น ๆ ที่รับไม่ได้กับวิธีการบริหารงานและบุคลิกส่วนตัวของเขา

หลังจากนั้นเขาไม่ได้ทำงานที่ไหนจนถึงกลางปี 2533 เขาบินไปเนเธอร์แลนด์ไปพบกับผู้บริหารระดับสูงของทราว อินเตอร์เนชั่นแนลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในแอควาสตาร์ จุดประสงค์ของการเดินทางไปครั้งนั้นก็เพื่อสัมภาษณ์เข้าทำงานในแอควาสตาร์

"ความจริงผมไม่จำเป็นต้องทำงานก็ได้ แต่โครงการนี้เป็นโครงการที่น่าสนใจมาก" วินัยพูดถึงสาเหตุที่เขามาทำงานกับแอควาสตาร์

หลังจากวินัยเข้าทำงานไม่นานก็มีใบปลิวออกมาจากแอควาสตาร์โจมตีวินัยว่าบีบบังคับให้คนที่อยู่มาก่อนหลาย ๆ คนต้องออกไป เพื่อที่จะเอาคนของตัวเองเข้ามาทำงานและบริหารงานผิดพลาดจนบริษัทเสียหาย

วินัยเป็นคนที่สั่งเปลี่ยนวิธีการจับกุ้งที่สร้างความไม่พอใจให้กับเกษตรกร เขาบอกว่า เพื่อให้เข้ากับกรรมวิธีการผลิตของโรงงานซึ่งออกแบบมาแล้วและวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดตามหลักการสากล

"จังหวะของเราไม่ดี ตอนที่เปลี่ยนวิธีจับกุ้งที่เราสุ่มขึ้นมาเพื่อคัดขนาดและคุณภาพมันไม่ได้มาตรฐาน วิธีนี้ใครทำก่อนก็เจ็บตัว แต่ถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครทำ" วินัยกล่าว

เดือนตุลาคมปีเดียวกัน ทางแอควาสตาร์ก็ได้ทาบทามอัษฎางค์วัลลภ ขุมทอง เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการแอควาฟาร์ม อัษฎางค์วัลลภเคยโอนสัญชาติเป็นอเมริกัน แล้วโอนกลับมาเป็นไทยอีกครั้งหนึ่งเขาเคยทำงานกับบริษัท ซิโนทัย คอนสตรัคชั่น ก่อนที่จะมาอยู่ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ ทำหน้าที่เข้าไปดูแลกิจการของลูกหนี้ที่มีปัญหาอย่างเช่น บริษัทเสถียรภาพและบริษัทใบยาเอเชีย จำกัด
อัษฎางค์วัลลภพเพิ่งจะมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแอควาฟาร์มเมื่อต้นปีนี้

คนที่สามที่เข้ามาใหม่คือ สำเรียน สุทธิวงศ์ จากบริษัท ไฟร์สโตน สำเรียนเข้ามาเป็นผู้จัดการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลซึ่งรับผิดชอบในเรื่องคนที่เป็นปัญหาใหญ่ของแอควาสตาร์

การเข้ามาของวินัย อัษฎางค์วัลลพ และสำเรียนเป็นสัญญาการเปลี่ยนยุคของแอควาสตาร์จากยุคพัฒนาที่กานต์คูนซ์ เป็นผู้บุกเบิกสร้างฐานในการผลิตเข้าสู่ยุคธุรกิจที่ทุกสิ่งทุอย่างตัดสินกันด้วยผลประโยชน์อย่างเดียว

"ตั้งแต่วันที่เริ่มปล่อยกู้ลงบ่อจนถึงก่อนหน้าวันที่จะจับกุ้งหนึ่งวัน ผมถือว่าพวกเขาเป็นเกษตรกรแต่วันไหนที่จับกุ้ง ผมถือว่าเขาเป็นนักธุรกิจ ผมจะคุยกับเขาแบบนักธุรกิจคุยกัน" วินัยเคยเปิดเผยถึงทัศนะของเขาเช่นนี้

คนที่ตกที่นั่งลำบากคือ กานต์ คูนซ์ วิธีการ "พูดกันให้เข้าใจ" ของเขาถูกทีมผู้บริหารใหม่มองว่าเป็นการประนีประนอมมากเกินไป ทั้ง ๆ ที่ทุกคนก็รู้กันอยู่ว่าเรื่องนี้เป็นเกมของผู้นำกลุ่มเกษตรกรเพียงไม่กี่คนแต่เขาก็ถูกดันอกมาให้เผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้ามเพียงลำพัง เพียงเพราะว่าเป็นคนรับผิดชอบมาตั้งแต่ต้น

"เราได้ให้เวลา กานต์ คูนซ์ มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เราไม่สามารถรอต่อไปได้อีก วิธีการของคูนซ์ประนีประนอมมากเกินไป" หนึ่งในทีมงานบริหารใหม่กล่าว

คูนซ์ถูกขีดเส้นตายให้จัดการปัญหาให้เสร็จภายในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งในที่สุดเขาก็ทำไม่ได้ วันที่ 15 เมษายน เขายื่นใบลาออก แต่ถูกยับยั้งไว้พร้อม ๆ กับถูกลดบทบาทในการเจรจาลงไปอย่างสิ้นเชิง "วิธีการของผมคงใช้ไม่ได้ผลเท่าไรนัก" คูนซ์กล่าวอย่างปลงตก หลังจากนั้นเขาก็หายหน้าหายตาไปจากระโนดเข้ามาอยู่ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพ

"คุณกานต์เหมาะกับงานบุกเบิกงานที่ต้องลงไปคลุกคลีทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ซึ่งเขาทำได้สำเร็จแล้ว แอควาสตาร์ไม่จำเป็นต้องพึ่งเขาในเรื่องนี้อีกต่อไป หมดเวลาของเขาแล้ว "ข้อสรุปของสมาชิกโครงการคนหนึ่งเช่นนี้ชัดเจนที่สุดสำหรับการจากไปของกานต์ คูนซ์

การเจรจาภายใต้การนำของ วินัย อัษฎางค์วัลลภและสำเรียนนั้นเป็นไปอย่างแข็งกร้าว ความเชื่อมั่นประการหนึ่งของพวกเขาก็คือ ทุกคนยังยอมรับว่าการเลี้ยงกุ้งได้ผลตอบแทนที่ดี เพียงแต่ว่าจะได้มากหรือได้น้อยเท่านั้น ครั้งจะไปทำเองก็ไม่มีทุนพอที่จะทำระบบสาธารณูปโภค "อย่างไรเสีย แอควาสตาร์ก็จะยังอยู่ที่ระโนดต่อไป คอยดูวิธีการของผมบ้าง" หนึ่งในทีมบริหารใหม่กล่าวแสดงความมั่นใจ

บนพื้นฐานความมั่นใจเช่นนี้ แอควาสตาร์ดำเนินกลยุทธ์ตีโต้สองแนวทาง ในขณะที่การเจรจาบนโต๊ะยังดำเนินต่อไปก็มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเคลื่อนไหวคุยกับตัวเกษตรกรโดยตรงให้ยอมเซ็นชื่อในสัญญาพร้อม ๆ กันไปด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มาประมาณ 800 กว่ารายแล้วจากจำนวนเต็มโครงการทั้งหมด 1,200 กว่าราย

สำหรับคนที่ไม่ยอมเซ็น แอควาสตาร์ใช้วิธีจัดการอย่างเด็ดขาดด้วยการตัดน้ำ ตัดไฟในทันทีนับเป็นยุทธวิธีเชือดไก่ให้ลิงดูที่ค่อนข้างได้ผล แต่ในขณะเดียวกันก็หมินเหม่ต่อความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

กลยุทธ์ของแอควาสตาร์โดยเนื้อแท้แล้วคือการกำหนดท่าทีต่อเกษตรกรอย่างจำแนก ค่อย ๆ แยกคนที่ต้องการเลี้ยงต่อไปออกจากพวกที่ ต่อต้านความแตกแยกของคนบ้านเดียวกันกำลังจะเกิดขึ้นระหว่าง 1. กลุ่มผู้เลี้ยงเก่าด้วยกันคือคนที่เซ็นสัญญากับคนทีไม่เซ็น 2. ระหว่างกลุ่มเก่าที่ไม่เซ็น กับกลุ่มที่จะเข้าร่วมโครงการใหม่แต่ยังเลี้ยงไม่ได้เพราะว่าเรื่องยังไม่ยุติเสียที

ใครจะรับผิดชอบถ้าเรื่องนี้ลุกลามขยายตัวออกไปจนตัดสินกันด้วยความรุนแรง ?

ในขณะเดียวกัน แผนการผ่าตัดระบบการบริหารภายในก็เริ่มขึ้นด้วยการไล่พนักงานออกเป็นระลอก คือ เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะที่ผ่านมามีคนล้นงานมากเกินไป

แต่เหตุผลที่แท้จริงแล้ว คือ การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ คัดเอาคนที่ไม่มีประสิทธิภาพ คนที่คอร์รัปชั่น หรือคนที่สมรู้ร่วมคิดกับการทำผิดสัญญาของเกษตรกรบางกลุ่มออกไป เพราะที่ผ่านมามีคนล้นงานมากเกินไป

การดำเนินโครงการธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนท้องถิ่นเป็นจำนวนมากนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนซับซ้อนกว่าธุรกิจธรรมดาทั่ว ๆ ไป ยิ่งเป็นธุรกิจการเกษตรที่มีผลประโยชน์สูงอย่างกุ้งกุลาดำแล้วคนที่จะลงมาเล่นด้วยไม่ได้มีเพียงเกษตรกรธรรมดา ๆ เท่านั้น แต่ยังแฝงไว้ด้วยเกษตรกรจำแลงอีกไม่น้อย ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีจึงเป็นเรื่องสำคัญ

แอควาสตาร์ โดย กานต์ คูนซ์ เริ่มต้นด้วยเจตนาดีที่ต้องการพัฒนาฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรควบคู่ไปกับเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัท แต่ยุทธวิธีในการสร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มข้าราชการและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น คือ ความผิดพลาดข้อแรกที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเองในภายหลัง

ความผิดพลาดข้อที่สอง คือ ระบบความสัมพันธ์กับเกษตรกรที่ยึดถือเอาสัญญา ลายลักษณ์อักษรเป็นแบบแผนที่ตายตัวตามสไตล์ฝรั่ง ปราศจากชั้นเชิงทางจิตวิทยาที่จะเข้ามาจัดการกับปัญหาอย่างยืดหยุ่น บทจะปล่อยปละละเลยก็ทำกันเกินขอบเขต ครั้นจะเอาจริงก็หันมาเล่นไม้แข็งขึ้นทันทีทันใด

ความผิดพลาดประการที่สาม คือ ประสิทธิภาพของคนและระบบงานภายในก็ไม่ส่งเสริมให้เกษตรกรมีศรัทธาต่อตัวเองเลยแม้แต่น้อย

เรื่องแบบนี้แอควาสตาร์ยังต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้อีกมาก และบทเรียนที่ดีที่พอจะเทียบเคียงกันได้อย่างใกล้เคียงที่สุดก็คือ ธุรกิจกุ้งกุลาดำแบบครบวงจรของซีพี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.