|

จับตาอีโคคาร์เซกเมนท์ใหม่ตลาดรถยนต์ไทย
ผู้จัดการรายวัน(20 มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินรถอีโคคาร์เป็นเซกเมนท์ใหม่ในตลาดรถยนต์ของไทย โดยจะส่งผลดีในหลายๆด้าน ทั้งผลดีต่อผู้บริโภคให้มีทางเลือกมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการใช้รถยนต์นั่งขนาดเล็กไม่เกิน 1,300-1,400 ซีซี. ยิ่งไปกว่านั้น จากการที่ภาครัฐได้กำหนดเงื่อนไขคุณภาพมาตรฐานไว้สำหรับรถอีโคคาร์ในระดับที่สูงมาก จะทำให้ผู้บริโภคทุกระดับมีโอกาสใช้ยานยนต์ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งการประหยัดเชื้อเพลิง การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสูง ด้วยราคาที่ประหยัด ซึ่งคาดว่าราคารถอีโคคาร์จะตกอยู่ที่ประมาณคันละ 4 แสนบาท ผลดีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน ที่น่าจะทำให้อนาคตของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยคึกคักขึ้นอีกครั้งหนึ่งและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้มีการขยายกำลังการผลิตรถยนต์ในไทยเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น หากความนิยมในรถรถอีโคคาร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต รถอีโคคาร์ก็จะกลายเป็นโปรดักซ์ แชมเปียนตัวใหม่เคียงข้างรถบรรทุกปิกอัพที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน และได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่มีการส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเติบโตไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก
ขณะเดียวกันส่งผลดีต่อสังคมและส่วนรวม เนื่องจากการที่รัฐกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานระดับสูงไว้สำหรับรถอีโคคาร์นับเป็นการสร้างมิติใหม่ให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐในการประหยัดพลังงาน การควบคุมมลพิษและดูแลสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถยนต์ ทั้งนี้เงื่อนไขมาตรฐานสำหรับรถอีโคคาร์ โดยเฉพาะมาตรฐานควบคุมมลพิษในระดับยูโร 4 และมาตรฐานความปลอดภัยของ UNECE ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไปที่มีการใช้งานอยู่ในประเทศปัจจุบัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อต่อสังคมและสวัสดิภาพของประชาชนส่วนรวม
สำหรับผลกระทบจากเซกเมนท์อีโคคาร์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการมีรถอีโคคาร์เป็นเซกเมนท์ใหม่ในตลาดรถยนต์ไทย อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านต่างๆ ทั้งผลกระทบต่อโครงสร้างต่อตลาดและผู้ประกอบการ เนื่องจากการเกิดเซกเมนท์ใหม่ในตลาดรถยนต์ไทยของรถอีโคคาร์ อาจจะเบียดเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์บางเซกเมนท์อื่นที่มีอยู่แล้วในตลาด โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดเล็ก-กลาง
นอกจากนี้การที่ภาครัฐกำหนดขนาดเครื่องยนต์ของรถยนต์อีโคคาร์ให้มีขนาดเล็ก คือสูงสุดไม่เกิน 1,300/1,400 ซีซี. นั้น แม้จะช่วยลดผลกระทบโดยตรงต่อรถยนต์ที่มีอยู่แล้วในตลาด เนื่องจากปัจจุบันรถยนต์นั่งที่มีการผลิตในไทยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดมีขนาดความจุของกระบอกสูบเครื่องยนต์เกิน 1,400 ซีซี แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีผลให้เกิดการแยกตลาดของเซกเมนท์ใหม่นี้ออกจากรถยนต์ที่มีอยู่ในท้องตลาดอย่างชัดเจน ซึ่งถ้าหากค่ายผู้ผลิตใดไม่มีรถยนต์ในเซกเมนท์ใหม่นี้ ก็อาจเสียเปรียบคู่แข่งได้
นอกจากนี้จะส่งผลต่อรายได้ภาครัฐในส่วนของผลกระทบต่อรายได้ภาษีอากรภาครัฐจากการกำหนดภาษีสรรพสามิตรถยนต์อีโคคาร์ไว้เพียงร้อยละ 17 เทียบกับอัตราภาษีรถยนต์นั่งทั่วไปที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี. ที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 30 นั้น ซึ่งทางการได้ประเมินว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิตประมาณ 70,000 บาทต่อคัน อย่างไรก็ตามภาครัฐเองก็ยอมรับว่า สิ่งที่ได้ภาครัฐและสังคมจะได้รับประโยชน์ในระยะยาว คือ การประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และการลดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจตีมูลค่าในรูปเงินไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็เชื่อว่าจะคุ้มค่าเงินรายได้ที่รัฐสูญเสียไป นอกจากนี้ เมื่อภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ตลอดจนตลาดรถยนต์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวก็จะเท่ากับเป็นการเสริมสร้างฐานรายได้ภาษีอากรให้กับภาครัฐเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
อีกทั้งยังส่งผลต่อนโยบายภาครัฐและส่วนรวม ซึ่งมีประเด็นข้อสังเกตว่า จริงอยู่หากความนิยมในรถอีโคคาร์ส่งผลให้โครงสร้างตลาดเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ทำให้ผู้บริโภคที่กำลังจะเลือกซื้อรถยนต์นั่ง หันมาซื้อรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดเชื้อเพลิงอย่างอีโคคาร์แทนที่จะซื้อรถยนต์ประเภทอื่นแล้ว ก็ย่อมจะเป็นการสนับสนุนนโยบายการประหยัดพลังงานของรัฐ
อย่างไรก็ตาม ในทางตรงข้าม ถ้าหากอีโคคาร์กลับมีผลกระตุ้นให้ผู้ที่ยังไม่มีรถยนต์เป็นของตนเอง หันมาซื้อรถยนต์ส่วนตัวที่มีราคาถูกลงกันมากขึ้นๆ รวมทั้งจูงใจให้ผู้บริโภคที่มีรถยนต์อยู่แล้ว ซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นในลักษณะเป็นรถยนต์คันที่ 2 ซึ่งก็อาจจะไม่ช่วยให้มีการประหยัดพลังงานได้เท่าที่คาดหวังไว้
ดังนั้น เพื่อไม่ให้โครงการรถอีโคคาร์ อันมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนนโยบายประหยัดพลังงาน กลับจูงใจให้ประชาชนซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้นแทนการใช้บริการขนส่งมวลชน ซึ่งจะยิ่งเพิ่มปัญหาการสิ้นเปลืองพลังงานและปัญหาจราจรมากยิ่งขึ้นไปอีก รัฐจึงควรเร่งดำเนินการแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการส่วนขยายรถไฟฟ้ามวลชนให้ครอบคลุมกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงโดยเร่งด่วน ตลอดจนพัฒนาระบบเครือข่ายคมนาคมขนส่ง ซึ่งรวมไปถึงการปรับปรุงบริการรถโดยสารสาธารณะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน
อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าความสำเร็จในการสร้างเซกเมนท์ใหม่ให้กับตลาดรถยนต์ในประเทศของรถอีโคคาร์ นับเป็นเงื่อนไขที่ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ที่จะลงทุนในโครงการรถอีโคคาร์ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ตามติดมาด้วยศักยภาพของรถยนต์อีโคคาร์ในตลาดส่งออก ทั้งนี้เนื่องจากผู้ลงทุนต้องมั่นใจว่าจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ในปริมาณมากพอที่ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) หรือคุ้มต่อการลงทุนเปิดสายการผลิตเพื่อรถยนต์ประเภทใหม่นี้
ดังนั้น ผู้ผลิตรถยนต์ที่สนใจจะลงทุนในโครงการอีโคคาร์จึงประสงค์ให้ภาครัฐมีการสนับสนุนและให้สิทธิประโยชน์ต่างๆอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ปัจจุบันความสำเร็จของรถยนต์บรรทุกปิกอัพที่เริ่มจากตลาดภายในประเทศ ก่อนจะขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ ได้กลายเป็นแม่แบบแห่งความสำเร็จของอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย ในทำนองเดียวกัน เงื่อนไขแห่งความสำเร็จของรถอีโคคาร์ก็ต้องตั้งอยู่บนฐานความนิยมจากตลาดในประเทศควบคู่กับศักยภาพในตลาดโลก ทั้งนี้ หากมาตรการส่งเสริมการลงทุนในโครงการรถอีโคคาร์ได้รับการตอบรับที่ดีจากค่ายผู้ผลิตรถยนต์ คาดว่าการลงทุนจะเริ่มเดินหน้าได้ และรถอีโคคาร์จากสายการผลิตคงจะออกสู่ตลาดได้ประมาณปลายปี 2552 และน่าจะมีการส่งออกได้ในเวลาต่อมาไม่นาน ซึ่งอีโคคาร์จะเริ่มมาเสริมปริมาณส่งออกรถยนต์ปิกอัพ
ทั้งนี้ บทบาทของอีโคคาร์ที่จะสามารถเป็นโปรดักซ์ แชมเปียนตัวใหม่ได้หรือไม่นั้น น่าจะชัดเจนขึ้นหลังจากนั้น ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากอีโคคาร์จะเป็นความหวังสำหรับการส่งออกของประเทศแล้ว การที่จะทำให้โครงการรถอีโคคาร์มีบทบาทสำคัญในการตอบสนองนโยบายประหยัดพลังงานของชาติได้อย่างจริงจังนั้น รัฐจะต้องเร่งขยาย ปรับปรุง และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในประเทศให้มีประสิทธิภาพสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยเร็ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|