แบงก์ชาติเจ๊งค่าบาทซ้ำซาก ปีนี้ส่อขาดทุนขั้นต่ำ 2.2 พันล้านบาท


ผู้จัดการรายวัน(20 มิถุนายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท.ติดหล่มอัตราแลกเปลี่ยน ปีนี้ส่อแววขาดทุนต่อเนื่อง เผยหมายเหตุประกอบงบการเงินระบุภาระผูกพันและหนี้สินจากปี 49 ที่อาจจะต่อเนื่องไปถึงปี 50 อีก 2,242 ล้านบาท จากการทำการซื้อขายล่วงหน้า ส่วนงบการเงินประจำปี 49 สรุปสุดท้ายขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 1 แสนล้านบาท

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุถึงรายงานงบการเงินประจำปี 2549 สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2549 ที่ผ่านมา อย่างเป็นทางการโดยสรุปยอดขาดทุนสุทธิจำนวน 102,287 ล้านบาท ในส่วนนี้เฉพาะผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 99,727.5 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ดี เป็นตัวเลขการขาดทุนที่ลดลงจากที่ นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการธปท. แถลง ซึ่งนางอัจนาแถลงว่าผลขาดทุน 173,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในหมายเหตุประกอบงบการเงินฉบับดังกล่าวยังระบุถึงภาระผูกพันและหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2550 จากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2549 ที่ผ่านมาด้วย โดยธปท.คาดว่าจากภาระการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าที่ทำไว้จะมีผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในงวดปี 2550 อีก 2,242 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

ทั้งนี้ ผลขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 2550 อีก 2,242 ล้านบาท เกิดจากการทำสัญญาซื้อขายเงินดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้าที่ค้างอยู่ 6,941.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ณ วันที่ 29 ธ.ค.2549 ที่อยู่ระดับ 36.04 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงคาดได้ว่าจะเกิดผลขาดทุนเกิดขึ้นอีก 1,699.8 ล้านบาท นอกจากนี้เป็นผลมาจากการทำสัญญาซื้อขายแลกเปลี่ยนล่วงหน้ากับเงินสกุลอื่น ที่จะครบกำหนดในปี 2550 โดยมีภาระผูกพันสุทธิต้องซื้อเงินเยน เป็นเงิน 189,282.2 ล้านเยน เงินยูโรจำนวน 2,991 ยูโร และเงินปอนด์สเตอร์ลิง 838..8 ล้านปอนด์ และต้องขายเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงิน 7,208.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2549 ทำให้จะเกิดผลขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นอีก 542.2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ณ เดือน มิ.ย.2550 ที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ผลขาดทุนจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าของธปท.ที่ทำไว้ย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดย ธปท.บันทึกผลขาดทุนดังกล่าวตามอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แท้จริง ณ วันครบสัญญา

นอกจากนั้น จากค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ธปท.ต้องแทรกแซงลดความผันผวนของค่าเงินบาท ด้วยการซื้อขายเงินตราต่างประเทศทันทีและล่วงหน้าในปี 2550 เพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ณ วันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ธปท.มีฐานะการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าอยู่ที่ 10,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 357,000 ล้านบาท และมีทุนสำรองทางการระหว่างประเทศอยู่ที่ 71,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.47 ล้านล้านบาท (35 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ )

ก่อนหน้านี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยนายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายระบบการเงิน เสนอแนะแนวทางกำกับดูแลค่าเงินบาทในกรณีที่ยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ว่า แนวทางกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐตามอัตราที่ ธปท.ต้องการเห็น แล้วพยายามตรึงไว้ให้คงที่ คล้ายกับเมื่อตอนก่อนปี 2540

"แบงก์ชาติจะต้องรับซื้อดอลลาร์สหรัฐอยู่ตลอดเวลา โดยต้องตั้งโต๊ะรับซื้อเพื่อไม่ให้ดอลลาร์สหรัฐตกต่ำไปกว่าอัตราที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่แบงก์ชาติต้องทำด้วยความมุ่งมั่นรักษาเป้าหมายอย่างแน่วแน่และห้ามถอดใจครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งการปกป้องค่าเงินในขณะที่ค่าเงินแข็งทำได้ง่ายกว่าและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าการปกป้องค่าเงิน ในขณะที่ค่าเงินอ่อนเช่นในปี 2540"

ผลดีคือสามารถรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้ไม่แข็งไปกว่าอัตราที่แบงก์ชาติประกาศรับซื้อ แต่ก็มีข้อเสียที่แบงก์ชาติประกาศรับเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญตลาด (นักค้าเงินระหว่างประเทศ นักลงทุน นักเก็งกำไรต่างประเทศ) อาจไม่เชื่อว่าแบงก์ชาติจะทำได้สำเร็จ ก็อาจจะมีการทดสอบโดยนำดอลลาร์สหรัฐเข้ามาขายให้แบงก์ชาติเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะทำให้ธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ประสบความสำเร็จก็คือความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ประเทศเหล่านั้นประสบความสำเร็จในการป้องกันค่าเงิน เพราะตลาดเชื่อในคำพูด การกระทำและยึดมั่นพันธะที่แน่วแน่ของธนาคารกลาง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.