การเลี้ยงกุ้งกุลาดำก็เหมือนกับการทำไร่เลื่อนลอย ที่ต้องเคลื่อนย้ายเปลี่ยนที่ทำกินไปเรื่อย
เมื่อที่เดิมหมดสภาพ วันนี้ธุรกิจกุ้งกุลาดำเคลื่อนตัวลงใต้จนครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลทุกตารางนิ้วแล้ว
บางแห่งเพิ่งจะเริ่ม แต่หลาย ๆ แห่งเริ่มนับถอยหลังแล้ว ไม่มีใครรู้ว่า ธรรมชาติจะปราณีให้อาชีพนี้มีอายุที่ยืนยาวเพียงใด
ว่ากันว่า อาชีพที่ลงทุนลงแรงไปแล้วได้ผลตอบแทนสูงและรวดเร็วที่สุดมีอยู่สองอย่างคือขายเฮโรอีนและเลี้ยงกุ้งกุลาดำ
ถ้าเป็นเมื่อสามสี่ปีที่แล้วที่ราคากุ้งอยู่ระหว่าง 250-280 บาทต่อกิโลกรัมพูดอย่างนี้ไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าไหร่นัก
แต่แม้ว่าราคากุ้งในตอนนี้ จะลดลงมาอยู่ระหว่าง 160-180 บาทต่อกิโลกรัม
อาชีพนี้ก็ยังให้ผลตอบแทนที่งดงามกว่าอาชีพอื่นใดที่ถูกกฎหมายที่เป็นเช่นนี้ก็
เพราะกุ้งกุลาดำเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมากโดยเฉพาะญี่ปุ่น
ถึงตอนนี้ไทยผลิตกุ้งได้ประมาณปีละ 100,000 ตัน 95% ถูกส่งออกไปต่างประเทศเกือบ
60% ของจำนวนนี้ส่งไปที่ญี่ปุ่นซึ่งนิยมกินกุ้ง แถมมีกำลังซื้อสูงที่จะบริโภคอาหารราคาพงแบบนี้ได้
อีกราว ๆ 20% ส่งไปที่สหรัฐอเมริกา
ญี่ปุ่นบริโภคกุ้งร้อยละ 22 ของกุ้งที่ทั้งเลี้ยงและจับตามธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกนี้
เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ ซึ่งบริโภคในอัตราร้อยละ 25 แต่ญี่ปุ่นนำเข้ามากกว่าคือนำเข้าร้อยละ
90 ของการบริโภค โดยนำเข้าจาก 5 ประเทศเป็นหลักคือ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย
ไทย และไต้หวัน กุ้งไทยมีส่วนแบ่งประมาณ 15% ในตลาดญี่ปุ่น
ด้วยเหตุนี้กุ้งกุลาดำจึงเป็นสินค้าภาคเกษตรกรรมตัวสำคัญในระยะสามสี่ปีมานี้
ปีที่แล้วมูลค่าการส่งออกสูงถึง 19,200 ล้านบาท
กุ้งกุลาดำเลี้ยงกันมานานแล้วในไทย แต่ว่าเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติคือในพื้นที่ที่น้ำทะเลท่วมถึง
เวลาน้ำขึ้น เชื้อกุ้งและอาหารกุ้งตามธรรมชาติจะลอยมากับน้ำด้วยชาวบ้านจะทำคันดินกักน้ำไว้เหมือนการทำนาเกลือ
แล้วก็ปล่อยให้กุ้งโตตามธรรมชาติ อาจจะให้อาหารเสริมบ้าง ถึงเวลาก็จับขาย
สมนึก เวชประเสริฐ กับหัสนัย กรองแก้วเป็นคนไทยสองคนแรกที่บุกเบิกการเลี้ยงกุ้งกุลาดำโดยไปทำฟาร์มให้กับบริษัทสหพัฒนพิบูลย์ที่คลองด่าน
สำโรง แต่ว่าไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไร ปัจจุบันสมนึกทำงานอยู่กับบริษัท อินอาร์ม
ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาและรับจ้างเลี้ยงกุ้ง ส่วนหัสนัยเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์น้ำขององค์การอาหารโลก
(FAO) หลังจากร่วมงานกับสมนึกที่อินอาร์มได้ระยะหนึ่ง
วีระศักดิ์ ช่วยพัฒน์ ผู้จัดการบริษัทยูนิคอร์ดอควาเทค และนายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงกุ้งเป็นอีกคนหนึ่งที่บุกเบิงการเลี้ยงกุ้ง
ปี 2529 เขาลงไปเลี้ยงกุ้งให้ฟาร์มของยูนิคอร์ดที่ปากแม่น้ำปราณบุรี อำเภอกุยบุรี
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 500 ไร่ เป็นการเลี้ยงแบบที่เรียกว่า กึ่งพัฒนา
(SEMI INTENSIVE) คือปล่อยลูกกุ้งบาง ๆ แค่ 14 ตัวต่อตารางเมตร ให้อาหารวันละ
2 มื้อ ซึ่งเป็นการเลี้ยงที่ใช้ต้นทุนต่ำคือประมาณ 80 บาทต่อกุ้งหนึ่งกิโลกรัมในขณะที่การเลี้ยงแบบพัฒนา
(INTENSIVE) มีต้นทุนระหว่าง 110-120 บาทต่อกิโลเพราะปล่อยกุ้งมากกว่า 30
ตัวต่อตารางเมตร ต้องให้อาหารวันละ 5-6 มื้อ
"ตอนนั้นคุณดำริห์ คิดว่าหัวใจของการเลี้ยงกุ้งที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้คือต้องมีต้นทุนต่ำที่สุด"
วีระศักดิ์พูดถึงที่มาของการเลี้ยงกุ้งแบบนี้ ดำริห์ที่เขาพูดถึงคือดำริห์
ก่อนันทเกียรตินั่นเอง
ฟาร์มยูนิคอร์ดที่กุยบุรีให้ผลผลิตไร่ละ 500 กิโลกรัม ถือว่าประสบผลสำเร็จพอสมควร
มีการเผยแพร่วิธีการเลี้ยงออกไป ข้อสรุปจากการเลี้ยงในครั้งนี้คือ จะเลี้ยงกุ้งให้ได้ดีต้องเลี้ยงในน้ำกร่อยมีระดับความเค็มที่
15
พื้นที่ที่จะเป็นน้ำกร่อยตามธรรมชาติคือ ปากแม่น้ำ ที่ที่เหมาะสมและใกล้มือที่สุดในตอนนั้นคือนาเกลือในย่านมหาชัย
แม่กลอง ที่น้ำทะเลหนุนขึ้นมาผสมกับน้ำจืดในแม่น้ำ ลำคลอง
"หลังจากที่ผมไปพูดในที่ต่าง ๆ เพียงหกเดือนพื้นที่แถบนี้ก็เต็มไปด้วยนากุ้ง"
วีระศักดิ์กล่าว แต่ฟาร์มที่กุยบุรีในระยะต่อมานั้นได้ผลผลิตไม่คุ้มกับการลงทุน
เพราะไม่ได้คิดคำนวณในเรื่องน้ำขึ้นน้ำลงเอาไว้ก่อนทำให้มีปัญหาในการถ่ายเทน้ำ
ปลายปี 2532 การเลี้ยงกุ้งก็ต้องยุติลง ที่ดิน 500 ไร่นี้ปัจจุบันกำลังประกาศขายอยู่
ช่วงปี 2528 บริษัทเพรสวิเดนท์ ฟีดจากในเครือต้าถุงแห่งไต้หวันเข้ามาสร้างโรงงานอาหารกุ้งที่มหาชัย
พร้อมกับสร้างฟาร์มเลี้ยงกุ้งขึ้นที่คลองโคนแม่กลองด้วย ฟาร์มแห่งนี้นับได้ว่าเป็นต้นแบบการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในแถบมหาชัย
แม่กลองก็ว่าได้ นักเลี้ยงกุ้งหลาย ๆ คนเริ่มต้นาจากการฝึกงานที่ฟาร์มแห่งนี้ก่อนที่จะไปลงทุนทำเอง
ไต้หวันนั้นได้ชื่อว่าเป็นเจ้าเทคโนโลยีในเรื่องการเลี้ยงกุ้งและอาหารกุ้ง
เป็นประเทศที่เคยส่งกุ้งกุลาดำไปขายให้ญี่ปุ่นมากที่สุด ก่อนที่ธุรกิจนี้จะพังพินาศไปในปี
2530 เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม
การเข้ามาของเพรสซิเด้นท์ ฟีดนับได้ว่าเป็นการนำเอาการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาคือ
ปล่อยลูกกุ้งหนาแน่น ให้อาหารวันละ 5-6 มื้อเข้ามาเผยแพร่อย่างกว้างขวางในแถบที่เรียกว่าสามสมุทรคือ
สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ก่อนที่เพรสซิเด้นท์ ฟีดจะเข้ามา ในพื้นที่เดียวกันซีพีเคยทำฟาร์มทดลองเลี้ยงกุ้งอยู่สามปี
แต่มีปัญหาเรื่องน้ำเลยเลิกราไป
โดยเนื้อแท้แล้ว ธุรกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำแอบแฝงอยู่ด้วยผลประโยชน์ของธุรกิจอาหารกุ้ง
อาหารกุ้งมีราคาสูงกว่าอาหารสัตว์อื่น ๆ ถึงสี่เท่าตัวเพราะใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงและมีมาร์จินสูงถึง
20%
ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งหนึ่งกิโลกรัมจะเป็นต้นทุนค่าอาหารระหว่าง 40-50% ยิ่งมีคนเลี้ยงกุ้งมาก
อาหารกุ้งก็ยิ่งขายดี การแนะนำการเลี้ยงกุ้งของเพรสซิเด้นท์ ฟีด จุดประสงค์หลักก็คือผลประโยชน์จากการขายอาหารกุ้ง
ซีพีเองเคยประกาศครั้งแล้วครั้งเล่าว่า การสนับสนุนการเลี้ยงกุ้งให้แรพ่หลายก็เพราะว่าเป็นตลาดรองรับธุรกิจอาหารกุ้งของตน
การเลี้ยงกุ้งที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศไทยนับจากปี 2530 เป็นต้นมา
จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นผลจากยุทธศาตร์การขยายธุรกิจอาหารกุ้งนั่นเองโดยเฉพาะพื้นที่ย่านมหาชัย
แม่กลอง มีพื้นที่ถึง 30,000 ไร่ในปี 2532 ผลิตกุ้งได้ถึง 40% ของกำลังการผลิตทั่วประเทศ
แต่ชั่วระยะเวลาไม่ถึงสามปี พื้นที่นากุ้งก็พังพินาศเพราะสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย
การเลี้ยงกุ้งนั้นเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับการเบียดบังธรรมชาตินั่นเอง ถึงจุดหนึ่งธรรมชาติต้านความโลภของคนไม่ไหว
นากุ้งก็ถึงคราวอวสาน
สิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือ น้ำ น้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งจะมีของเสียพวกขี้กุ้ง
เศษอาหารและเชื้อแบคทีเรียอยู่มาก จะต้องมีการเปลี่ยนน้ำทุก ๆ วัน น้ำทิ้งจากบ่อกุ้งถูกถ่ายลงคลอง
ส่วนน้ำใหม่ที่ถ่ายเข้าบ่อก็มาจากคลองเดียวกันนั่นแหละ เมื่อเลี้ยงกันมาก
ๆ ของเสียที่ปล่อยลงคลองก็มากเกินกว่าธรรมชาติจะรับไหว น้ำที่ดูดเข้าไปในบ่อก็คือน้ำเสียที่ทิ้งออกมาจากบ่อข้างเคียง
ในที่สุดน้ำทิ้งคลองก็ใช้เลี้ยงกุ้งไม่ได้อีกต่อไป
ความมักง่ายและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อีกรูปแบบหนึ่งคือ การฉีดเลนลงไปในคลอง
หลังจากการจับกุ้งขาย ต้องมีการทำความสะอาดก้นบ่อ ซึ่งมักจะทำกันโดยการระบายหน้าดินลงไปในคลองเชื้อโรคที่อยู่ในดินก็เลยลงไปวนเวียนผสมกับน้ำเสียจากบ่อในคลองสายเดิม
เมื่อสมดุลทางนิเวศวิทยาถูกทำลาย ธรรมชาติก็ลงโทษถึงแก่ชีวิตของกุ้ง อันส่งผลมาถึงความย่อยยับของนักลงทุน
พื้นที่แถวมหาชัย แม่กลองกลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่าตั้งแต่นั้นมาจนถึงเดี๋ยวนี้
ผลผลิตลดลงไปเหลือไม่ถึง 10% จากเดิม
มีคนเปรียบการทำนากุ้งเหมือนการทำไร่เลื่อนลอย เมื่อที่ที่เคยทำอยู่ทำต่อไปไม่ได้แล้วเพราะสภาพแวดล้อมเป็นพิษก็ต้องอพยพหาที่ใหม่
ธุรกิจกุ้งกุลาดำเคลื่อนย้ายไปอยู่ทางตะวันออกแทน ตั้งแต่ชลบุรีไปจนถึงตราด
ปัจจุบันผลผลิตในย่านนี้เป็นครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งประเทศ
ข้อจำกัดของพื้นที่แถบนี้คือ 1. ที่ดินมีราคาสูงจนไม่คุ้มต่อการลงทุนเลี้ยงกุ้ง
เพราะอยู่ในย่านอีสเทอร์ซีบอร์ด โดยเฉพาะชลบุรีและระยอง 2. การเลี้ยงในจังหวัดระยองและจันทบุรี
ส่วนใหญ่เลี้ยงตามปากแม่น้ำ สองจังหวัดนี้มีสวนผลไม้มาก เวลาฝนตก น้ำฝนจะชะล้างยาฆ่าแมลงลงไปในแม่น้ำซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตกุ้ง
3. วงจรเดิมที่เคยเกิดขึ้นที่ภาคกลางกำลังกลับมา เมื่อเลี้ยงกันมาก ๆ เข้าสภาพแวดล้อมก็เสียได้ผลผลิตไม่ดี
พื้นที่ฝั่งตะวันออกยังไม่ใช่พื้นที่ดีที่สุดเพราะมีอ่าวอยู่หลายอ่าว เป็นอุปสรรคในการไหลเวียนของน้ำทะเลสู่ทะเลลึก
ขบวนการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเริ่มเคลื่อนย้ายลงใต้ซึ่งมีฝั่งทะเลยาวเหยียด
ไล่กันลงไปตั้งแต่ชายฝั่งจังหวัดชุมพรไปจนถึงปัตตานี นราธิวาสแล้วในขณะนี้
ภาคใต้กำลังกลายเป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งที่ใหญ่ขึ้นทุกที ปีที่แล้วมีกำลังการผลิตประมาณ
30% ของผลผลิตทั้งประเทศ
แหล่งเลี้ยงใหญ่ที่สุดคือ พื้นที่ในเขตอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชและอำเภอระโนดจังหวัดสงขลา
ซึ่งอยู่ติดกัน ความยาวชายฝั่งจาหัวไทรถึงระโนดยาว 70 กิโลเมตร พื้นที่ที่นำนากุ้งได้นับจากชายฝั่งขึ้นมา
2 กิโลเมตร รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 200,000 กว่าไร่ ปัจจุบัน 70% ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นนากุ้ง
พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ที่ดีที่สุดในประเทศไทยในการเลี้ยงกุ้ง เพราะอยู่ติดกับอ่าวไทยฝั่งตะวันตกและทะเลตรงนี้เป็นชายฝั่งยาวขนานเป็นเส้นตรงไปกับแผ่นดินโดยไม่มีอ่าวมาคั่น
ทำให้น้ำไหลเวียนออกสู่ทะเลได้โดยตรง ในหน้ามรสุม ลงมรสุมจะพัดเอาน้ำซึ่งปล่องทิ้งจากบ่อกุ้งนับพัน
ๆ บ่อออกไปสู่ทะเลลึก เป็นการบำบัดสภาพแวดล้อมโดยธรรมชาติ
แต่อย่าลืมว่าไต้หวันเป็นเกาะที่ล้อมรอบด้วยทะเลทุกด้าน ก็ยังพังมาแล้วจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
"ตอนนี้ชายทะเลตั้งแต่ปากพนักลงไปจนถึงหัวไทรระโนดเต็มไปด้วยแบคทีเรีย"
แหล่งข่าวในวงการนักเพาะเลี้ยงกุ้งรายหนึ่งเปิดเผย
อย่างไรก็ตามคาดว่าพื้นที่แถบนี้น่าจะเลี้ยงกันได้ถึง 10 ปี โดยประเมินกันอย่างง่าย
ๆ จากการลงทุนของซีพีและแอควาสตาร์ในย่านนี้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องเลี้ยงกันอย่างถูกวิธี
แยกน้ำดีและน้ำที่มหาชัยให้เร็วขึ้น
แต่สำหรับพื้นที่เหนือขึ้นไปคือ ที่อำเภอปากพนังและปากแม่น้ำนครจังหวัดนครศรีธรรมราช
ที่มีผู้เลี้ยงรายย่อยนับพันรายขณะนี้ได้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในภาคกลาง
คือปัญหาน้ำเสีย ความสำเร็จและความล้มเหลวในย่านนี้อยู่ในอัตราส่วน 50 ต่อ
50
จากฝั่งอ่าวไทย ธุรกิจเลี้ยงกุลาดำเดินทางข้ามคาบสมุทรไปยังฝั่งทะเลอันดามันซึ่งถือว่ายังเป้นดินแดนบริสุทธิ์อยู่
จังหวัดตรัง กระบี่ สตูล คือพื้นที่เป้าหมายที่บัดนี้บริเวณทะเลที่จะเลี้ยงได้ถูกจับจองไปหมดแล้ว
ส่วนพังงานและภูเก็ตที่ดินมีราคาแพงเกินไป
พื้นที่ฝั่งอันดามันนี้ได้รับการคาดหมายว่าจะเลี้ยงได้นานที่สุด เพราะว่ามีพื้นที่น้อย
ไม่สามารถเลี้ยงเป็นแปลงใหญ่ได้ เมื่อเลี้ยงน้อยผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมก็น้อยลงไปด้วย
ในขณะที่น้ำทะเลจะขึ้นลงเร็วมาก ครั้งละ 3-4 เมตร ทำให้กวาดเอาของเสียจากบ่อกุ้งออกไปได้หมด
ความจำกัดของพื้นที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะควบคุมการขยายตัวของพื้นที่การเลี้ยง
ซึ่งจะรักษาสภาพแวดล้อมไปในตัว
อีกสิบปีข้างหน้าที่นี่อาจจะเป็นฟาร์มกุ้งกุลาดำแห่งสุดท้ายในประเทศไทยให้คนรุ่นหลังได้ดูเป็นอนุสรณ์
หลังจากที่ธุรกิจนี้ได้แผ่ขยายไปสร้างความเสียหายให้กับสภาพแวดล้อมทั่วทุกตารางนิ้วของชายฝั่งทะเลไทย