|

35 กลุ่มอุตฯประเมินปีนี้กำไรหด การเมืองฉุดแรงซื้อวูบ-บาทแข็ง
ผู้จัดการรายวัน(20 มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมพ.ค.จาก 35 กลุ่มอุตสาหกรรมส.อ.ท.มองแนวโน้มผลประกอบรวมปีนี้จะลดลงจากปีที่แล้วแต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เหตุบาทแข็งทำรายได้ลด ขณะที่การเมืองฉุดแรงซื้อวูบคนไม่ใช้จ่าย แนะรัฐเร่งฟื้นแรงซื้อครึ่งปีหลัง ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นพ.ค.กระเตื้องขึ้นจากเม.ย.แต่ยังต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 14 ขณะที่ 3 เดือนข้างหน้าหลายปัจจัยยังสุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะการเมืองในประเทศ
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือนพ.ค. 2550 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 478 ตัวอย่างครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของส.อ.ท.ว่า ผู้ประกอบการมองแนวโน้มของผลประกอบการในไตรมาส 2,3,4 จะชะลอตัวจากปี 2549 แต่จะมีทิศทางที่ดีขึ้นโดยไตรมาส 2 เอกชนมองผลประกอบการจะลดลง 47.8% ไตรมาส 3 มองว่าลดลง 43.8% และไตรมาส 4 มองว่าจะลดลง 41.4% ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเอกชนมองครึ่งปีหลังจะมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกแม้ภาพรวมทั้งปีจะชะลอตัวกว่าปีที่ผ่านมาก็ตาม
“ ครึ่งปีหลังหากรัฐบาลมีมาตรการที่จะฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับมาได้โดยเร็ว โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ความชัดเจนการเมืองที่จะนำไปสู่เลือกตั้งในสิ้นปีก็จะทำให้โอกาสที่ภาคอุตสาหกรรมจะดีขึ้นก็มีสูงมากและจีดีพีก็จะโตได้ตามเป้าหมาย 4% ”นายสันติกล่าว
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการมองผลประกอบการไม่ดีนักเนื่องจากภาคส่งออกเจอภาวะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง ขณะที่ปัญหาการเมืองส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชนในประเทศหรือแรงซื้อลดต่ำลง โดยในส่วนของเครือสหพัฒน์นั้นอยู่ที่ประเภทอุตสาหกรรมกรณีสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจำหน่ายเพิ่มมากขึ้นถึง 15-16% แต่กำไรลดลงเพราะต้นทุนเพิ่ม ขณะที่สินค้าประเภทเสื้อผ้ารวมอยู่ในภาวะทรงตัวฯลฯเล็งลงลึกแบงก์ชะลอปล่อยกู้หรือไม่
นายสันติกล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎร์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรมเป็นประธานเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาลงลึกรายละเอียดเกี่ยวกับสาขาก่อสร้างและธนาคาร ซึ่งในส่วนของภาคก่อสร้างจะมองในเรื่องเมกะโปรเจ็กต์เพื่อกระตุ้นการลงทุน
ส่วนแบงก์จะมีการดูทิศทางการปล่อยสินเชื่อว่ามีมากน้อยเพียงใด ชะลอตัวหรือไม่ เพื่อที่จะช่วยกันผลักดันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งปีหลังดัชนีเชื่อมั่นพ.ค.ยังต่ำกว่า100เป็นเดือนที่14
นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมพ.ค.เพิ่มขึ้นเป็น 86.1 จาก 77.0 ในเดือนเมษายนแต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 14 นับตั้งแต่มี.ค.2549 ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อ ภาวะการณ์อุตสาหกรรมในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก ซึ่งสาเหตุที่ดัชนีกระเตื้องขึ้นเพราะดอกเบี้ยลดลง ขณะที่รัฐมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นถือเป็นสัญญาณที่ดีมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
สำหรับอีก 3 เดือนข้างผู้ประกอบการมองว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ราคาน้ำมัน สภาวะเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากการเมืองในประเทศ จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ยกเว้นเพียงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มองว่าจะดีขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการได้เสนอให้รัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในประเทศในครึ่งปีหลังให้มากขึ้น รวมถึงการสร้างบรรยากาศทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ ควบคู่ไปกับการเร่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เป็นต้นยอดซื้อรถในปท.ยังชะลอตัว
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาพรวมการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศยังคงชะลอตัวอยู่แต่ก็มีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในช่วงต้นปีจึงหวังว่าครึ่งปีหลังหากรัฐมีมาตรการฟื้นเชื่อมั่นกลับมาก็จะทำให้การผลิตและจำหน่ายเป็นไปตามเป้าหมาย โดยการผลิรถยนต์ทั้งหมดในเดือนพ.ค. ทั้งสิ้น 111,585 คันเมื่อเทียบกับพ.ค.ปี 2549 เพิ่มขึ้น 3.24% ขณะที่การผลิตม.ค.-พ.ค. 488,200 คัน เมื่อเทียบกับ 5 เดือนกับปีที่ผ่านมาลดลง 1.9% ซึ่งในจำนวนนี้ผลิตเพื่อการส่งออก 251,924 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วระยะเวลาเดียวกัน 12.68% และเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 236,276 คัน ลดลงจาก 5 เดือนปีที่แล้ว 13.80%
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|