ปี 2534 จะเป็นปีของการท้าทายสำหรับเร็นโทคิลในการที่จะสร้างธุรกิจของคาลมิค
เพื่อทำกำไรให้ทดแทนดอกเบี้ย หรือค่าใช้จ่ายจากการซื้อกิจการนี้มาจากเวลคัม
สำหรับประเทศไทยแล้วเร็นโทคิลอาจจะไม่ใช่บริษัทใหม่ แต่เมื่อเทียบกับเวลคัมแล้วยังเล็กกว่ามากนัก
การสร้างชื่อเร็นโทคิลให้เป็นที่รู้จักเพื่อทดแทนชื่อเวลคัมในธุรกิจหลัก
คือ "กำจัดแมลง" ซึ่งจะหมดสัญญาลงใน 1 ปีภายใต้เงื่อนไขของการซื้อขายกิจการ
จึงเป็นงานหลักที่จะต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่ คือ คาลมิลพร้อมไปกับการทำกำไรตามเป้าที่บริษัทแม่กำหนด
คือ ต้องไม่น้อยกว่า 20%คลิฟ ทอมสัน ประธานคณะบริหารของบริษัทเร็นโทคิลได้กล่าวเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมาว่า
"การได้คาลมิคมาทำให้เรามีโอกาสเติบโตได้เต็มที่ ใน 2-3 ปีข้างหน้าในหลาย
ๆ ประเทศและจะทำให้เราถึงจุด "CRITICAL MASS" คือเป็นบริษัทที่มีขนาดธุรกิจใหญ่มากจนเราต้องขยายไปอย่างรวดเร็วเพราะฉะนั้นจากนี้ไปบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพจะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ควบคู่ไปกับการกำจัดแมลง
สุขอนามัยของผู้หญิงและธุรกิจไม้ประดับให้เช่า"
เร็นโทคิลกับเวลคัมได้มีการเจรจาเพื่อซื้อขายกิจการคาลมิคในช่วงกลางปี
2533 หลังจากตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เวลทคัมจึงได้ประกาศให้ผู้บริหารของคาลมิคได้รับรู้ประมาณเดือนกันยายนและในเดือนถัดมาจึงเปิดเผยเรื่องดังกล่าวกับพนักงาน
คาลมิคเป็นแผนกบริการด้านสุขอนามัยของเวลคัมที่มีมากกว่า 40 ปีแล้วโดยการให้เช่าและบริการเครื่องรักษาสุขอนามัยในห้องน้ำ,
บริการสุขอนามัยของผู้หญิง, สบู่, กระดาษเช็ดมือ เป็นต้น โดยมีธุรกิจอยู่ในออสเตรีย,
เบลเยียม, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, สวิสเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย,
ฮ่องกง, สิงคโปร์, แอฟริกาใต้, สเปน, ประเทศไทย, นิวซีแลนด์, แคนาดา, สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ
และมีพนักงานรวมกันประมาณ 900 คน โดยที่ประเทศไทยและสิงคโปร์มีบริการด้านกำจัดแมลงรวมอยู่ในแผนกนี้ด้วย
ในปี 2533 ที่ผ่านมาแผนกบริการคาลมิคมีรายได้รวมทั่วโลกประมาณ 33.5 ล้านปอนด์โดยไม่รวมกิจการที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นกับเกาหลีซึ่งเป็นกิจการที่เวลคัมร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นที่นั่นโดยทำรายได้รวมกันประมาณ
11 ล้านปอนด์ ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้รวมของเวลคัมทุกแผนกแล้ว แผนกคาลมิคจะมีส่วนแบ่งรายได้ประมาณ
3% เท่านั้น
เวลคัมขายกิจการคาลมิคให้กับเร็นโทคิลบริษัทคู่แข่งที่ทำธุรกิจด้านอุตสาหกรรมบริการและเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษเหมือนกันในราคา
26.2 ล้านปอนด์หรือประมาณ 1,200 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ปอนด์ = 45.5
บาท) เป็นการขายกิจการทั้งหมดใน 23 ประเทศซึ่งไม่รวมญี่ปุ่นและเกาหลีที่ยังไม่มีการขาย
จากนโยบายของเวลคัมที่ต้องการขยายฐานทางด้านธุรกิจหลักคือยารักษาโรคคน
ส่วนธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องให้ขายทิ้งไป จึงกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เวลคัมตัดสินใจขายแผนกบริการคาลมิค
ซึ่งก่อนหน้านี้ เวลคัมได้ทยอยขายกิจการออกไปบ้างแล้วนั่นคือแผนกยารักษาโรคสัตว์
ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อนด้วยการ่วมทุนกับบริษัท ไอ ซี ไอ ในอัตราส่วน
50:50 โดยใช้ชื่อบริษัท ANIMAL HEALTH และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเวลคัมก็ได้ขายหุ้นส่วนทั้งหมดที่มีอยู่ให้กับไอ
ซี ไอ ไปนับเป็นกิจการแรกที่เวลคัมขาย (เมื่อปีที่แล้ว ไอ ซี ไอได้ขายกิจการนี้ให้กับบริษัทอเมริกันไป)
และเมื่อประมาณปลายเดือนกันยายน 2533 เวลคัมได้ขายบริษัทไบโอเทคซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตวัคซีนออกไปอีกบริษัทหนึ่ง
ปัจจุบันเวลคัมยังคงเหลือกิจการในเครือข่ายอีกหลายแผนกนั่นคือแผนกคอนซูเมอร์โปรดักส์ซึ่งมีสินค้าที่รู้จักกันดีคือเฮสลีนสโนว์แผนกยาฆ่าแมลงและแผนก
DIACNOSTIC ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้สำหรับตรวจเชื่อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อเอดส์
ในขณะที่คนในวงการคาดกันว่าเวคัมคงจะประกาศขายกิจการที่ยังคงอยู่นี้ต่อไปในไม่ช้านี้
เร็นโทคิลเป็นบริษัทของอังกฤษที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2470 โดยทำธุรกิจด้านอุตสาหกรรมบริการ
นอกเหนือจากบริการกำจัดแมลงซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทแล้วเร็นโทคิล ยังมีบริการอื่นหลายด้าน
คือบริการทำความสะอาดสำนักงาน, บริการไม้ประดับให้เช่า, บริการสุขอนามัยของผู้หญิง,
บริการด้านรักษาพยาบาล, บริการระบบประปาและระบายอากาศ, การดูแลอสังหาริมทรัพย์,
การอนุรักษ์ป่าไม้และการเก็บรักษาเครื่องจักรกลในสำนักงาน
เร็นโทคิลมีเครือข่ายกิจการทั่วโลกมากกว่า 50 ประเทศ ผลประกอบการในปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปี
2532 ปรากฏว่ายอดรายได้รวมเพิ่มขึ้น 10.7% คือเพิ่มจาก 279.3 ล้านปอนด์เป็น
309.1 ล้านปอนด์ในขณะที่กำไรก่อนหักภาษีเพิ่มขึ้นจาก 62.0 ล้านปอนด์เป็น
74.7 ล้านปอนด์หรือ 20.4%
รายได้เกือบครึ่งหนึ่ง มาจากผลประกอบการในประเทศอังกฤษคือ 151.2 ล้านปอนด์
ที่เหลือมาจากกลุ่มประเทศในแถบภูมิภาคอื่นคือที่ยุโรป 79.7+ ล้านปอนด์, อเมริกาเหนือ
35 ล้านปอนด์, เอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา 43.3 ล้านปอนด์
และกิจการที่ทำรายได้หลักให้กับเร็นโทคิล คือ บริการด้านจำกัดแมลง ในประเทศอังกฤษแผนกกำจัดแมลงทำรายได้ให้กับบริษัทเกือบ
2,200 ล้านบาทหรือ 47.5 ล้านปอนด์หรือกว่า 30% เมื่อเทียบกับรายได้รวมทั้งหมดทุกแผนก
การที่เร็นโทคิลเป็นบริษัทข้ามชาติที่จะต้องขยายธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ต่อไป
ดังนั้นการซื้อกิจการคาลมิคจึงเป็นตัวอย่างทีดี่อันหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจของเร็นโทคิลที่มีอยู่ทั่วโลก
สามารถขยายออกไปได้และประการสำคัญการซื้อคาลมิลทำให้เร็นโทคิลสามารถเปิดธุรกิจในประเทศอิตาลีและไต้หวันได้
นอกจากนี้ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเติบโตของเร็นโทคิลในปีนี้ด้วย
สำหรับประเทศไทยการเข้ามาของเวลคัมในแผนกบริการคาลมิคนั้น กลายเป็นเรื่องที่น่าศึกษา
โดยเฉพาะการเปิดบริการกำจัดแมลงขึ้นในแผนกนี้เป็นประเทศแรกและประเทศเดียวนานเกือบ
20 ปีก่อนหน้า ที่จะขยายไปเปิดบริการด้านนี้ในสิงคโปร์เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
และที่เวลคัมนี่เอง ที่ถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของกาแรตกตัวในธุรกิจกำจัดแมลงที่ปัจจุบันมีมากกว่า
116 บริษัทเวลคัมเข้ามาเริ่มงาน ทางด้านบริการคาลมิคในประเทศไทยตั้งแต่ ปี
2514 หลังจากนั้น 1 ปี เวลคัมจึงเริ่มธุรกิจบริการ กำจัดแมลงด้วยการซื้อแผนกกำจัดแมลงจาก
บริษัทบอร์เนียว ประเทศ ไทย มาดำเนินงานต่อ" ในช่วงนั้นทางเวลคัม เห็นว่าตนเาองมีประสบการณ์ทางด้านบริการสุขอนามัยและมีแผนกยาฆ่าแมลงอยู่แล้ว
จึงอยาก ใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่มารับจ้างให้บริการกำจัดแมลงด้วย ซึ่งในอังกฤษเวลคัมไม่มีแผนกนี้
มีแต่บริการให้คำแนะนำและปรึกษา ซึ่งจุดนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้เวลคัมเทคโอเวอร์กิจการของบอร์เนียวกำจัดแมลง
โดยนำเอาตัวยาพร้อมทั้งเทคโนโลยีที่มีอยู่มาปรับใช้ที่เมืองไทยเป็นแห่งแรก"
วิสุทธิ์ โลหิตนาวี อดีตผู้จัดการแผนกคาลมิค ที่ปัจจุบันหันมาเป็นผู้บริหารของเร็นโทคิลภายหลังการเทคโอเวอร์คาลมิคในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการพูดถึงที่มาของบริการกำจัดแมลงของเวลคัมในอดีต
และด้วยเหตุที่บริษัทบอร์เนียว และบริษัทเวลคัมมีความเกี่ยวพันธ์กันทางธุรกิจมาก่อนหน้านั้นหลายสิบปี
โดยการเป็นผู้แทนจำหน่ายยารักษาโรคและยาฆ่าแมลงให้กับเวลคัม ดังนั้นการเจรจาซื้อกิจการจากบอร์เนียวจึงไม่ใช่เรื่องยากนัก
สืบสาวประวัติของธุรกิจขายบริการกำจัดแมลงในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นในปี
2484 โดยบริษัทโทมัส โควาน จำกัด (TOMAS COWAN CO., LTD) ได้เปิดดำเนินงานธุรกิจกำจัดแมลงขึ้นควบคู่ไปกับธุรกิจสัมปทานป่าไม้
โดยมีผู้บริหารและพนักงานเป็นคนไทยที่ได้รับการฝึกอบรมวิธีการสำรวจและกำจัดปลวกเป็นอย่างดี
ต่อมาในปี 2500 บริษัท บอร์เนียว ประเทศไทย ได้รับช่วงกิจการธุรกิจกำจัดแมลงต่อจากบริษัทโทมัส
โควานโดยใช้ชื่อว่า "บอร์เนียวกำจัดแมลง" ทั้งนี้จากคำบอกเล่าเป็นเพราะบริษัทโทมัสโควานประสบปัญหาด้านบุคลากร
เพราะงานบริการกำจัดแมลงนั้นคุณภาพของงาน 30% ขึ้นอยู่กับสารเคมีที่ใช้และอีก
70% อยู่กับพนักงานที่ไปให้บริการฉีดพ่น
จนกระทั่งปี 2515 เวลคัมจึงได้ซื้อกิจการต่อจากบอร์เนียว และบริการกำจัดแมลงก็ถือว่าเป็นสินค้าตัวหนึ่งของเวลคัม
ประเทศไทยเรื่อยมาจนถึงปี 2533 ก่อนหน้าที่จะมีการขายกิจการคาลมิค
ในขณะที่กิจการของเร็นโทคิลเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทยโดยการที่บริษัทแองโกล-ไทยซื้อลิขสิทธิ์ธุรกิจบริการกำจัดแมลงมาจากบริษัทเร็นโทคิลและเปิดเป็นแผนกหนึ่งของบริษัท
ต่อมาจึงได้ยกเลิกการเป็นแฟรนไชส์กับเร็นโทคิลและโอนกิจการกำจัดแมลงให้กับมอริสเคอร์
โดยใช้ชื่อบริษัท แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ดังนั้นชื่อของเร็นโทคิลจึงหายจากธุรกิจนี้ไประยะหนึ่ง
กระทั่งปี 2527 เร็นโทคิลกลับเข้ามาอีกครั้งด้วยการซื้อกิจการของบริษัทแคร์อินเตอร์ฯ
จากมอริสเคอร์ในราคาประมาณ 7-8 ล้านบาท และได้จัดตั้งบริษัทเร็นโทคิล (ประเทศไทย)
ขึ้นให้บริการทางด้านกำจัดแมลงเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีบริการด้านสุขอนามัย
ซึ่งเริ่มเมื่อไม่กี่ปีมานี้และมีเพียงบริการติดตั้งกล่องทิ้งผ้าอนามัย SANITACT
เท่านั้น
ในปี 2533 ที่ผ่านมาแผนกคาลมิคของเวลคัมประเทศไทยสามารถทำกำไรได้ 25 ล้านบาทจากยอดรายได้รวมทั้งหมด
93 ล้านบาท แยกเป็นส่วนบริการสุขอนามัยจำนวน 49 ล้านบาทและส่วนบริการกำจัดแมลงจำนวน
44 ล้านบาท ในขณะที่เร็นโทคิลประเทศไทยมีผลกำไรเพียง 1 ล้านบาทจากยอดขายรวม
16 ล้านบาทเป็นรายได้จากธุรกิจบริการกำจัดแมลง 15 ล้านบาทและธุรกิจบริการด้านสุขอนามัย
อีก 1 ล้านบาทหากเปรียบเทียบยอดขายข้างต้นของทั้ง 2 บริษัทแล้วจะเห็นว่าแผนกบริการของเวลคัมสามารถทำรายได้มากกว่าเร็นโทคิลเกือบ
6 เท่า และนี่เองที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เร็นโทคิลเติบโตขึ้นหลังการผนวกกิจการคาลมิคเข้ามาอย่างเห็นได้ชัด
ผลพวงจากการเจรจาซื้อขายกิจการระหว่างบริษัทแม่ของเวลคัมและเร้นโทคิลส่งผลมาถึงกิจการของทั้ง
2 บริษัทในประเทศไทยโดยตรง นั่นหมายถึงแผนกบริการคาลมิคซึ่งรวมถึงแผนกกำจัดแมลงในประเทศไทยถูกขายออกไปให้เร็นโทคิลในราคา
46 ล้านบาท โดยสัญญาได้ระบุไว้ว่าทางเวลคัมให้เร็นโทคิลใช้ชื่อเวลคัมในแผนกกำจัดแมลงซึ่งให้บริการเฉพาะในประเทศไทยและสิงคโปร์เพียง
2 แห่งในระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นให้เร็นโทคิลหาชื่อยี่ห้อเอง
วิสุทธิ์กล่าวว่า "สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เร็นโทคิลซื้อกิจการบริการของเวลคัมก็คือค่าความนิยมหรือ
GOODWILL ของเวลคัมซึ่งเป็นชื่อที่ตลาดยอมรับเพราะลำพังเครื่องมือที่บริษัทผู้ซื้อได้ไปแทบไม่มีความหมายอะไรเลย"
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือสัญญาว่าจ้างบริการของลูกค้า ซึ่งตามปกติการให้บริการไม่ว่าจะเป็นสุขอนามัยหรือกำจัดแมลงจะทำสัญญากันเป็นปีละปีต่อปี
ในกรณีที่ลูกค้าพอใจในบริการของบริษัทนั้นก็จะต่อสัญญาหรืออาจจะเลิกสัญญาในปีต่อไปหากลูกค้าไม่พึ่งพอใจในการให้บริการช่วงปีที่ผ่านมา
โดยที่ลูกค้าจะต้องจ่ายเงินค่าบริการตลอดทั้งปีล่วงหน้าในวันทำสัญญา
แหล่งข่าวคนหนึ่งในวงการกำจัดแมลง กล่าวว่า "การซื้อขายกิจการด้านบริการจริง
ๆ แล้วก็คือการซื้อขายใบสัญญาของลูกค้านั่นเอง ซึ่งคนที่ซื้อกิจการไปค่อนข้างเสี่ยงมากกว่าคนขาย
เมื่อมีการโอนกิจการกันไปแล้วและหากตัวเองไม่มีความสามารถเพียงพอ หรือไม่พร้อมในการให้บริการเมื่อครบกำหนดสัญญาหนึ่งปี
ลูกค้าเก่าที่มีอยู่ไม่ต่อสัญญาก็เป็นอันว่าจบกันไป"
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ลูกค้ายอมรับในบริการที่ถูกเปลี่ยนมือ
คือทีมงานหรือบุคลากรที่ทำหน้าที่บริการ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ว่าบริการที่จะได้หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงแล้วยังคงเหมือนเดิม
ดังนั้นจึงเป็นความพยายามร่วมระหว่างเร็นโทคิล และเวลคัมที่จะจูงใจให้พนักงานทั้งหมดของคาลมิคสมัครเข้าร่วมงานในบริษัทใหม่โดยรับเงื่อนไขที่เร็นโทคิลเสนอให้ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ตอบแทนที่มากขึ้นกว่าเดิม
เร็นโทคิลเสนอเงื่อนไขการรับพนักงานเก่าของเวลคัมด้วยการจ่ายโบนัสพิเศษ
3 เดือน โดย 1 เดือน จ่ายสิ้นเดือนกันยายนและอีก 2 เดือนจ่ายเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม
2534 ซึ่งโดยสรุปแล้วจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2534 พนักงานทุกคนที่เข้าร่วมกับ
บริษัทเร็นโทคิลจะได้รับเงินโบนัสพิเศษเท่ากับ 4 เท่าของเงินเดือนจากเวลคัม
และอีก 3 เดือนจากเร็นโทคิลนอกเหนือไปจากโบนัสตามผลงาน ตามเงื่อนไขการ ว่าจ้างและเงินเดือนเดือนที่
13 อีก 2 เดือน นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการอื่น ๆ ที่ไม่แตกต่างจากเวลคัมนัก
การโอนกิจการระหว่างเวลคัมกับเร็นโทคิลในประเทศไทยเสร็จสิ้นในวันที่ 23
มกราคมที่ผ่านมาโดยมีพนักงานจากแผนกคาลมิคและกำจัดแมลงของเวลคัมมาอยู่ที่เร็นโทคิลจำนวน
188 คนจากจำนวนทั้งหมด 200 กว่าคน ในจำนวนที่มานั้นเป็นแผนกคาลมิคประมาณ
50 คนที่เหลือเป็นคนในแผนกบริการกำจัดแมลงรวมถึงวิสุทธิ์ โลหิตนาวีผู้บริหารเดิมของคาลมิคที่ย้ายไปรับตำแหน่งใหมที่สิงคโปร์เมื่อปี
2530 ส่วนทางด้านเร็นโทคิลซึ่งเดิมมีพนักงานอยู่เพียง 70 คนอยู่ในส่วนของกำจัดแมลง
65 คนอีก 5 คนอยู่แผนกสุขอนามัย SANITACT
ภายใต้ข้อตกลงที่ให้เร็นโทคิลใช้ชื่อเวลคัมกำจัดแมลงได้เพียงปีเดียว จึงค่อนข้างมีปัญหาบ้างในประเทศไทย
เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดกำจัดแมลงของเวลคัมเป็นที่รู้จักและยอมรับกันในตลาดมากกว่าเร็นโทคิลเมื่อเปรียบเทียบจากยอดขายของเวลคัมที่มาก
กว่าเร็นโทคิล เกือบ 3 เท่าตัว
"มันมีปัญหาบ้างในเรื่องที่เราจะต้องทำให้ลูกค้าของเวลคัม 40 กว่าล้านบาทเข้าใจและยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้
กระทั่งยอมรับชื่อของเร็นดทคิล รวมถึงตลาดในอนาคตข้างหน้าก็ต้องยอมรับชื่อนี้ด้วย
เราจึงจำเป็นต้องสร้างชื่อเร็นโทคิลเพื่อทดแทนเวลคัม ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเราได้แจ้งไปยังลูกค้าต่าง
ๆ ให้รับทราบ รวมถึงการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ควบคู่ไปด้วย และนอกเหนือจากงานหลัก
2 ด้านนี้แล้วยังมีแผนที่จะขยายบริการอื่นเพื่อรองรับลูกค้าที่มีอยู่เพิ่มเติมอีก
อย่างเช่นบริการทางด้านไฟฟ้า หรือประปา เป็นต้น" วิสุทธิ์เล่าถึงสิ่งที่จะต้องทำทั้งในวันนี้และในอนาคต
นโยบายหลักที่บริษัทแม่ของเร็นโทคิลได้มอบหมายให้บริษัทในเครือข่ายทั่วโลกถือปฏิบัติคือการทำกำไรไม่น้อยกว่า
20% ในแต่ละปี และนั่นเป็นเรื่องที่วิสุทธิ์ ในฐานะผู้บริหารงานในตำแหน่งกรมการผู้จัดการของเร็นโทคิล
ไทยจะต้องฝ่าฟันให้สำเร็จ
วิสุทธิ์ได้ตั้งเป้ายอดขายในปี 2534 ไว้ดังนี้คือ ยอดขายที่จะได้รับจากการให้บริการทางด้านสุขอนามัยจำนวน
63 ล้านบาทและบริการด้านกำจัดแมลงอีก 66 ล้านบาท
ที่ผ่านมาบริการด้านสุขอนามัยเป็นตลาดที่มีคู่แข่งขันน้อยราย การเติบโตของธุรกิจจึงเป็นไปตาม
ความต้องการของตลาด ซึ่งแตกต่างกับธุรกิจบริการ กำจัดแมลงที่มีคู่แข่ง มากราย
และเป็นสาเหตุสำคัญ ประการหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการด้านนี้จนทำให้ตลาดในช่วง
10 ปี ที่ผ่านมาเติบโตในอัตราที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว นอกเหนือจากปัจจัยอื่นอย่าง
เช่น การเติบโตของอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยเป็นต้น
หากสืบสาวถึงการเกิดขึ้นของบริการบริการกำจัดแมลงแต่ละแห่งแล้ว ภาพที่ออกมาอย่างเด่นชัดคือ
การแตกตัวที่เริ่มมาจากต้นกำเนิดเพียง 1 หรือ 2 จุดเท่านั้น
ภาพแรกคือการแตกตัวที่เริ่มมาตั้งแต่ครั้งบอร์เนียวรับโอนกิจการมาจากบริษัทโทมัส
โควาน จนกระทั่งเวลคัมซื้อกิจการนี้ต่อมาจากบอร์เนียวอีกทีหนึ่ง ซึ่งที่เวลคัมนี่เองที่เปรียบเสมือนแหล่งผลิตบุคลากรในระดับเจ้าของกิจการให้กับวงการกำจัดปลวกตั้งแต่ปี
2516 เป็นต้นมาและเรื่อยมาจนกระทั่งเวลคัมขายกิจการให้กับเร็นโทคิล การแตกตัวของคนจากเวลคัมก็ยังไม่มีที่ท่าว่าจะจบสิ้นลง
อีกภาพหนึ่งเป็นการแตกตัวที่จากทางบริษัทแองโกล-ไทย ซึ่งหากวาดภาพออกมาอย่างละเอียดแล้วทั้ง
2 ภาพมีความเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างเช่นบริษัท คิงส์ เซ็นเตอร์
เซอร์วิส จำกัดเป็นบริษัทที่แตกตัวมาจากบริษัท แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งรับโอนกิจการมาจากแองโกล-ไทย
ความเกี่ยวเนื่องที่ว่าคือเจ้าของบริษัทคิงส์เดิมเป็นคนจากเวลคัมที่ออกไปอยู่กับบริษัทแคร์และออกมาเปิดกิจการของตัวเอง
ในขณะเดียวกันคนของคิงส์ก็ออกไปเปิดบริษัท เพซท์คอ (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท
ซี.คอน กำจัดแมลง
กว่า 20 ปีของการแตกตัวจากบริษัทกำจัดแมลงเพียงไม่กี่แห่งขณะนั้นเพิ่มมากขึ้นจนในปัจจุบันมีมากถึง
116 แห่ง
ปัญหาที่สำคัญที่สุดของธุรกิจบริการอยู่ที่บุคลากร เพราะงานบริการเป็นงานที่ต้องเอาใจลูกค้าทำให้ลูกค้าพึงพอใจและคนที่ใกล้ชิดลูกค้ามากที่สุดคือ
พนักงานบริการ ดังนั้นการที่งานจะออกมาดีหรือไม่นั้นพนักงานบริการเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น
องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดน่าจะมาจากระบบงาน นั่นหมายถึงการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพของผู้บังคับบัญชาระดับสูง
อะไร ทำให้พนักงานในระดับผู้จัดการฝ่ายของเวลคัมในแผนกบริการลาออกและหันมาเปิดธุรกิจแข่งขันกันเองตลอดช่วง
10 กว่าปีที่ผ่านมา
ดนัย จันทร์พิทักษ์ อดีตผู้จัดการแผนกกำจัดแมลงของเวลคัมคนหนึ่ง ได้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้คนในเวลคัมแตกตัวออกมาทำธุรกิจกำจัดแมลงว่า
"สาเหตุหนึ่งอาจเนื่องมาจากปัญหาภายในที่เกิดจากระบบการบริหารงานที่ไม่เป็นธรรมได้สร้าง
ความคับแค้นให้กับพนักงานระดับกลางในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายหลายต่อหลายคน ประกอบกับคนที่เคยทำงานด้านนี้ได้รู้เห็นว่าธุรกิจนี้สามารถทำเงินได้ไม่ยากนักโดยเฉพาะใช้เงินลงทุนไม่มาก
แต่ได้เงินมาใช้ก่อนส่วนเรื่องบริการซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ตามมาค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง"
ซึ่งแน่นอนว่าการแตกตัวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ทำให้เกิดบริษัทที่ให้บริการอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐานและไม่มีคุณภาพ
สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับบริษัทที่ให้บริการกำจัดแมลงคือ "ใบอนุญาตใช้รับจ้าง"
เพราะสารเคมีที่นำมาใช้ฉีดเป็นวัตถุมีพิษ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
รวมถึง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย โดยที่ใบอนุญาตใช้รับจ้างนี้จะต่ออายุกันปีต่อปี
สำหรับปัจจุบันบริษัทที่ได้รับใบอนุญาติใช้รับจ้างมีประมาณ 60 กว่ารายเท่านั้น
เมื่อมีบริษัทที่ทำธุรกิจแบบเดียวกันเกิดขันมากโดยเฉพาะการเกิดที่มาจากต้นตอเดียวกันดังนั้นเพื่อความอยู่รอด
กลยุทธ์ทางการตลาดที่มักจะใช้กันจึงหนีไม่พ้นเรื่องการตัดราคากันเพื่อเอาสัญญาของลูกค้าไว้ก่อน
ซึ่งบางครั้งราคาจะแตกต่างกัน 30-40%
และการแข่งขันที่ร้อนระอุนี่เองที่ช่วยกระตุ้นตลาดให้เติบโตขึ้น เพราะตลาดด้านนี้มีอยู่แล้วเพียงแต่คนหรือผู้บริโภคไม่รู้ว่าตนเองมีความต้องการหรือไม่
ยกตัวอย่างจากการรวบรวมข้อมูลของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งเมื่อปี 2529 จากสัญญาของลูกค้าที่มีอยู่ในมือแต่ละบริษัทรวมกันมีมูลค่าประมาณ
178 ล้านบาท ในขณะที่ตลาดซึ่งได้ตัวเลจจากการสำรวจจำนวนของกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นลูกค้าปรากฏว่ามีมูลค่าถึง
375 ล้านบาท ในขณะที่ตัวเลขจากการสำรวจกลุ่มเป้าหมายของ สมาคมผู้ประกอบกิจการกำจัดแมลงในปี
2531 เพิ่มขึ้นจาก 375 ล้านบาทเป็น 700 ล้านบาท
และแน่นอนว่าการซื้อแผนกบริการคาลมิคซึ่งรวมเอากิจการกำจัดแมลงในประเทศไทยเข้าด้วยตามนโยบายของบริษัทแม่ที่ต้องการตัดคู่แข่งด้วยการเทคโอเวอร์กิจการนั้น
จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งในตลาดให้กับเร็นโทคคิลประเทศไทยตามที่บริษัทแม่มุ่งหวังหรือไม่นั้น
ยังเป็นเรื่องที่จะต้องรอดูกันต่อไป เพราะปัจจุบันเป็นเพียงการเริ่มต้นธุรกิจใหม่เท่านั้น
เร็นโทคิลยังจะต้องฝ่าฟันต่อไปเพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาดในบริการด้านนี้เช่นเดียวกับที่เวลคัมได้ทำมา
การเผชิญหน้าครั้งสำคัญของเร็นโทคิลเริ่มขึ้นแล้ว
ประการสำคัญที่หลายคนจับตามองอยู่ก็ คือการแตกตัวของธุรกิจบริการกำจัดแมลงที่อาจจะมีขึ้นอีกในในสายใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเร็นโทคคิลแทนการแตกตัวจากเวลคัมที่ถือว่าจบลงแล้ว
ประวัติศาสตร์จะต้องซื้อ ประวัติศาสตร์คงไม่เปลี่ยน