4 ปีเศษ ๆ ที่มาโนชเข้าแก้ปัญหาความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อจำนวนเกือบ
5,000 ล้านบาท มีหลายรายที่เขายอมรับว่าแบงก์ต้องตัดเป็นค่าใช้จ่ายหนี้สูญทันที
แต่ก็มีอยู่จำนวนหนึ่งที่เขาและทีมงานมีความรู้สึกภูมิใจอยู่เงียบ ๆ ในการฟื้นฟูฐานะหนี้ที่เรียกได้ว่าเป็นหนี้เสียแล้ว
ให้กลับคืนมาเป็นหนี้ที่สามารถเดินบัญชีได้ตามปกติ
"เวลานี้เราคืนซอฟต์โลนแล้ว เหลือหนี้ที่ถูกจัดชั้นสงสัยประมาณ 3,160
ล้านบาท ผมเชื่อว่ากว่าครึ่งเราคงต้องตัดเป็นหนี้สูญ" มาโนชเล่าให้ฟังถึงสถานะของสินเชื่อที่อยู่ในข่ายสงสัยจะสร้างความเสียหาย
หนี้บริษัทน้ำตาลไทยของวิเทศ ว่องวัฒนะสินเป็นตัวอย่างหนึ่งของบรรดาหนี้ที่ถูกจัดชั้นว่าสูญไปแล้ว
แต่ด้วยความกล้าเสี่ยงของมาโนชและทีมงาน ทุกวันนี้หนี้รายนี้กลายเป็นหนี้ที่มาโนชกล่าวได้อย่างไม่อาจใครถึงความพยายามที่จะแก้ปัญหาหนี้เสียของแบงก์ได้สำเร็จ
บริษัทน้ำตาไทยมีหนี้สินหมุนเวียนกับแบงก์มาตั้งแต่สมัยคำรณ เตชะไพบูลย์จำนวนเกือบ
500 ล้านโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันกับแบงก์เลย "เงินทุนหมุนเวียนนี้คำรณเปิดวงเงินให้วิเทศประมาณ
600 ล้านเพื่อแลกกับเงินฝาก 300 ล้านที่วิเทศมาฝากไว้ที่ทรัสต์ของคำรณที่ฮ่องกงบริษัทเฟิร์สบางกอกซิตี้"
สุนทร โภคาชัยพัฒน์ นักกฎหมายของวิเทศเคยเล่าถึงที่มาของหนี้จำนวนนี้ให้"
ผู้จัดการ" ฟังเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน
หนี้รายนี้เริ่มมีปัญหาหมักหมมมาตั้งแต่ปีการผลิต 2523/24 เมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกดิ่งลงจาก
40 เซนต์/ปอนด์ปีก่อนหน้าเหลือ 16 เซนต์ บริษัทน้ำตาลไทยซึ่งก่อนหน้าถูกจำกัดการส่งออกจากมาตรการแก้ปัญหาน้ำตาลในประเทศขาดแคลนของตามใจ
ขำภะโตรัฐมนตรีพาณิชย์สมัยนั้น และการขาดแคลนปรมาณอ้อยป้อนโรงงานไม่เพียงพอทำให้บริษัทเจอปัยหาสภาพคล่องการหมุนเวียนเงินสด
ที่ซ้ำร้ายการตกต่ำของราคาน้ำตาลในตลาดโลกติดต่อกันนานถึง 5 ปีจนปี 2528
ราคาน้ำตาลดิ่งลงเหลือปอนด์ละ 2 เซนต์เท่านั้น
ใครทำน้ำตาลเวลานั้นทุกรายาขาดทุนป่นปี้
น้ำตาลไทยเจอเข้าเต็มรัก เจ้าหนี้ทุกรายยกเว้นมหานคร ซึ่งเวลานั้นกำลังเผชิญมรสุมฐานะการดำเนินงานใกล้ล่มสลายจนแบงก์ชาติต้องเข้าควบคุมโดยส่งปกรณ์
มาลากุลจากผู้อำนวยการสาขาภาคเหนือแบงก์ชาติมาดูแล ต่างก็เข้ารุนทึ้งเพราะถือว่ามีหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลหนี้
สิ้นปี 2528 บริษัทน้ำตาลไทยมีหนี้สิน 1,200 ล้าน มีสินทรัพย์ที่จดจำนองกับเจ้าหนี้
3 รายคือไทยพาณิชย์ ทหารไทย กรุงศรีอยุธยามีมูลค่าประมาณ 700 กว่าล้านเป็นเครื่องจักร
ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างโรงงาน และสต็อกน้ำตาลอีก 400 กว่าล้านเป็นหนี้ที่มีกับมหานครโดยปลดจำนอง
ในสถานะนี้แบงก์มหานครอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบที่สุด
หนทางเลือกมีอยู่หนทางเดียวของมหานครเพื่อให้ได้หนี้คือนและหลักทรัพย์ค้ำประกันคือ
การรับซื้อหนี้ติดจำนอง 700 กว่าล้านจากเจ้าหนี้ 3 รายและการเข้าอัดฉีดวงเงินหมุนเวียนจำนวนหนึ่งเพื่อให้บริษัทเดินธุรกิจต่อไปได้
แต่ห้วงเวลานั้นมหานครไม่อยู่ในฐานะที่จะเลือกทำเช่นนี้ได้ เพราะแบงก์กำลังถูกกดดันจากปัญหาความเสียหายของสินทรัพย์
และการปริวรรตอย่างหนัก วงเงินหมุนเวียนต่าง ๆ ที่เปิดให้กับใครต่อใครถูกเรียกกลับหมด
หน้าที่การแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องของเจ้าหนี้รายอื่น ซึ่งเวลานั้นดูเหมือนจะเดินหน้าฟ้องลูกเดียวเพราะไม่สามารถตกลงกันได้ในการแบ่งสันรายได้จากการขายน้ำตาลตามสัดส่วนมูลหนี้
การอัดฉีดเงินเพื่อให้โรงงานสามารถเปิดหีบอ้อยได้จึงต้องพับไป
เวลานั้นโรงงานน้ำตาลไทยมีกำลังการผลิตวันละ 12,000 ต้นอ้อย แต่ราคาน้ำตาลส่งออกมันเหลือปอนด์ละ
2 เซนต์เจ้าหนี้ทุกรายนั่งคำนวณรายได้จากเม็ดเงินที่ขายน้ำตาลแล้วได้นิดเดียวมาแบ่งกันไม่พอ
ฤดูการผลิตปี 29 และ 30 โรงงานน้ำตาลไทยซึ่งตั้งอยู่ที่ท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรีจึงตกอยู่ในสภาพปิดตาย
ฤดูการผลิตปี 2530/31 ราคาน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มฟื้นตัวกลับไปที่ปอนด์ละกว่า
10 เซนต์ตามาวัฏจักรวงจรค้าน้ำตาล ประพันธ์ ศิริวิริยกุลและสมชัย ถวิลเติมทรัพย์เถ้าแก่โรงงานน้ำตาลนครสวรรค์
และหนองใหญ่ก็เข้ามาช่วยเหลือ บริษัทน้ำตาลไทยตามการร้องขอของสุนทร โภคาชัยพัฒน์และอำนวย
ปะติ เสที่อาสาวิเทศเข้ามาเจรจาแก้ปัญหาหนี้สินกับเจ้าหนี้
ประพันธ์และสมชัยเข้าอัดฉีดเงินจำนวนหนึ่งประมาณ 100 กว่าล้านเพื่อให้โรงงานสามารถเปิดหีบได้
และเข้าบริหาร
ตรงจังหวะนี้เองเป็นรอยต่อของความพยายามแก้ปัญหาหนี้เสียของแบงก์มหานครในสมัยมาโนช
"เราต้องเลือกเอาระหว่างหนี้เสีย 400 กว่าล้านโดยไม่มีหลักประกันอะไรเลยกับโอกาสที่เราจะเสียอย่างมากที่สุดไม่เกิน
200 ล้านถ้าเราปลดจำนองหนี้ 700 กว่าล้านและอัดฉีดเงินหมุนเวียนให้ 200 ล้านเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ตลอดรอดฝั่ง
" มาโนชเล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจเข้าอุ้มชูหนี้รายนี้
ถ้าเราตัดสินการตัดสินใจของมาโนช จากเงื่อนเวลาของณะนี้ก็ต้องเรียกว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
เพราะอย่างน้อยที่สุดหนี้รายนี้ก็สามารถชำระหนี้คืนก้อนแรก 75 ล้านตามสัญญาการประนีประนอมแล้ว
แต่ในเวลานั้นเมื่อ 2 ปีก่อน ใครจะไปรู้ว่าราคาน้ำตาลมันจะดิ่งลงอีกเมื่อไรหรือถ้ามันจะขึ้นไปอีกนานแค่ไหนและราคาเท่าไร
มองจากจุดนี้ ก็ต้องเรียกว่ามาโนชตัดสินใจเข้าเสี่ยงเอามาก ๆ ทั้งที่แบงก์กำลังอยู่ในฐานะสร้างตัวจากความเสียหาย
มาโนชวางแผนการฟื้นหนี้น้ำตาลไทยทันที แบงก์เข้าซื้อหนี้ติดจำนอง 700 กว่าล้านจากกรุงศรี
ทหารไทย และไทยพาณิชย์โดยขอให้แบงก์เจ้าหนี้ทั้งสามรายลดมูลหนี้ ลง 30% เมื่อผ่านจุดนี้ไปได้
แบงก์จะอัดฉีดเงินหมุนเวียนให้บริษัทน้ำตาลไทยอีกก้อนหนึ่งประมาณ 200 ล้านเพื่อให้โรงงานมีทุนหมุนเวียนเปิดหีบอ้อยได้
บริษัทน้ำตาลไทยโอนหนี้สิน ทรัพย์สินให้บริษัทใหม่คือบริษัทน้ำตาลไทยกาญจนบุรีเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด
โดยมีคนของแบงก์เป็นกรรมการบริหารเข้าควบคุมอย่างใกล้ชิด
บริษัทน้ำตาลไทยกาญจนบุรีกลายเป็นหนี้รายใหม่ที่มาแทนน้ำตาลไทยโดยมีหลักทรัพย์จดจำนองกับแบงก์มหานครมูลค่าประมาณ
800 ล้าน มาโนชกล่าวว่าแผนการชำระคืนกำหนดไว้ 10 ปี ถ้าแผนการฟื้นฟูนี้มีอันต้องล้มเหลวลงอีกแบงก์ก็สามารถเอาหลักทรัพย์ที่ติดจำนองออกขายได้"
ขายได้ 600 ล้านบาทก็ยังดี เราก็สามารถลดความเสียหายจากหนี้รายนี้ลงได้เหลือ
300 ล้านจากเดิมถ้าไม่ทำอะไรเลยเราจะเสียหายฟรี ๆ 400 กว่าล้าน" มาโนชพูดถึงด้านที่ร้ายที่สุดของผลแผนการเข้าฟื้นฟูหนี้เสียรายนี้
เมื่อมาโนชเอาแผนนี้เข้าบอร์ดแบงก์ ทุกคนเห็นด้วยกับการแผนของมาโนช
แล้ววันนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการตัดสินใจของมาโนชต่อการแก้ปัญหาหนี้เสีย
400 กว่าล้านเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
น้ำตาลไทยฯสามารถชำระหนี้ก้อนแรกคืนได้ตามปรกติและฐานะหนี้รายนี้ถูกจัดชั้นเป็นหนี้ปกติแล้ว
เป็นเวลานับปีกว่ามาโนชจะเห็นผลงานการตัดสินใจของเขา
แม้นว่ามันต้องผ่านการตรึกตรองอย่างเด็ดเดี่ยว กล้าได้กล้าเสียที่บอกตรง
ๆ ว่าในแวดวงแบงเกอร์เกอร์ด้วยกันแล้วหาคนใจถึงอย่างนี้ไม่ง่ายนักก็ตาม
และสิ่งนี้คือฉากหนึ่งของการบริหารแบงก์มหานครยุคมาโนช ที่สามารถให้คำตอบถึงเบื้องหลังว่าอะไรคือสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้แบงก์ฟื้นตัวจากความเสียหายได้เร็ว