ตระกูล'ล่ำซำ'ผนึกภัทร-เมืองไทย


ผู้จัดการรายวัน(19 มิถุนายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ตระกูลล่ำซำ จับ "ภัทร-เมืองไทยประกันภัย" ควบรวม หวังเสริมศักยภาพธุรกิจ ดันมาเก็ตแชร์ติดท็อปไฟว์ภายใน 5 ปี ระบุขั้นตอนต่อไปคืนใบอนุญาต 2 แห่ง พร้อมจัดตั้งบริษัทใหม่แทน ยันยังถือหุ้นใหญ่ 40%-เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มั่นใจไม่กระทบผู้ถือหุ้น-พนักงาน ด้าน"นวลพรรณ"ปัดข่าวทิ้งธุรกิจประกันหันเล่นการเมือง ระบุยังร่วมบริหาร

นายโพธิพงษ์ ล่ำซำ ในฐานะประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด และประธานกรรมการ บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมของคณะกรรมการของบริษัท เมืองไทยประกันภัยและภัทรประกันภัยมีมติเห็นชอบให้มีการควบรวมกิจการได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะมีบริษัทประกันวินาศภัยใหม่เกิดขึ้น โดยขั้นตอนต่อไปทางภัทรและเมืองไทยประกันภัยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาวางแผนนโยบายและกำหนดกรอบการบริหารจัดการต่อไปทั้งในส่วนของโครงสร้างการบริหารจัดการ โครงสร้างผู้บริหาร รวมทั้งชื่อบริษัทใหม่ และรายละเอียดแผนธุรกิจ

ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทประกันภัยใหม่ที่เกิดขึ้นมาใหม่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ในเดือนมี.ค.2551 และทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ซึ่งจะขึ้นมาอยู่อันดับที่ 7 ของธุรกิจประกันภัย ขณะที่บริษัทประกันภัยขนาดใหญ่ 5 แห่ง มีส่วนแบ่งการตลาดรวมเพียง 37.4%เท่านั้น รวมทั้งตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะมีเบื้ยประกันภัยที่เติบโตเป็น 2 เท่า หรือกว่า 7,000 ล้านบาท และจะขยับอันดับขึ้นมาติด 1 ใน 5 ของธุรกิจประกันภัย และยังจะส่งผลดีให้เงินกองทุนสูงถึง 10 เท่าตามที่กฎหมายกำหนด หรือประมาณ 2,600 ล้านบาทด้วย

"การควบรวมกิจการระหว่างภัทรประกันภัยกับเมืองไทยประกันภัยในครั้งนี้มีการคิดมาเป็นปีแล้ว จากคนรุ่นหลังอย่างผมและจากการสอบถามพี่ๆ น้องๆ ในตระกูลล่ำซำก็เห็นด้วยเหมือนกันว่าในเมื่อเรามีบริษัทที่ประกอบธุรกิจประกันภัยทั้ง 2 แห่ง และอยู่ในเครือเดียวกัน จึงควบรวมกิจการกัน ส่วนรายละเอียดที่เหลือของบริษัทที่เกิดใหม่นี้จะให้คนรุ่นใหม่ช่วยสานต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าในส่วนของผู้ถือหุ้น ผู้เอาประกัน และพนักงานจะไม่เสียผลประโยชน์ในการควบรวมครั้งนี้ ส่วนชื่อใหม่ยังมีชื่อเดิมติ่งๆติดอยู่ แต่ยังบอกไม่ได้ แต่มีชื่อใหม่อยู่ในใจแล้ว ขณะที่เอ็มดีคนใหม่ก็คงยังต้องเป็นผู้หญิงเหมือนเดิม”นายโพธิพงษ์กล่าว

นายโพธิพงษ์ กล่าวว่า ในมุมมองส่วนตัวมองว่าธุรกิจประกันภัยปีนี้ยังคงมีการแข่งขันอย่างรุนแรงอยู่ ขณะเดียวกันการเติบโตของธุรกิจนี้ก็ขึ้นอยู่กับการขยายตัวเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ ดังนั้น หากเศรษฐกิจชะลอตัวลง การเติบโตของธุรกิจประกันภัยจะน้อยลงด้วย และในส่วนของภัทรและเมืองไทยประกันภัยก็มีการเติบโตลดลงเช่นกัน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับบริษัทประกันภัยรายอื่นๆ ในเครือด้วย ดังนั้น จากปัจจุบันที่มีบริษัทประกันวินาศภัยในธุรกิจนี้กว่า 70 แห่ง แต่หากมีการควบรวมกิจการเกิดขึ้นก็จะช่วยเป็นการเสริมความแข่งแกร่งให้บริษัทประกันภัยมากขึ้น ถือเป็นการสนองนโยบายรัฐด้วย

"บริษัทประกันภัยที่จะเกิดขึ้นใหม่คาดว่าค่าใช้จ่ายในช่วงแรกๆ ยังคงไม่ลดลง และยังคงไม่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ขณะที่พนังานเดิมที่ทำงานร่วมกับภัทรและเมืองไทยประกันภัยเรายืนยันว่าจะไม่มีเลิกจ้าง แต่จะจัดสรรให้ไปอยู่ในสายธุรกิจใหม่ๆที่เหมาะสม ส่วนอัตราเงินเดือนอาจจะมีการเกลี่ยใหม่ เพื่อปรับฐานะเงินเดือนใหม่ให้เหมาะสม”นายโพธิพงษ์กล่าว

นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด กล่าวว่า การควบรวมกิจการในครั้งนี้ยืนยันว่าไม่ใช่เกิดจากตัวเองต้องการหันไปเล่นการเมือง แต่ยังคงทำงานด้านธุรกิจประกันภัยอยู่ ซึ่งยังคงอยู่ในบริษัทประกันภัยที่จะเกิดขึ้นมาใหม่นี้ด้วย ส่วนเรื่องการเมืองนั้นยังไม่มองไปไกลนัก ดังนั้น การควบรวมกิจการของบริษัทประกันภัยทั้ง 2 แห่งนี้ เพื่อช่วยเสริมความแข่งแกร่งให้แก่บริษัทจะเกิดขึ้นมาใหม่ในภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรง ถือเป็นการเพิ่มความสามารถ และศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจ พร้อมทั้งรองรับการเปิดเสรีประกันภัยมากขึ้นในอนาคต

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัทประกันภัยที่จะเกิดขึ้นมาใหม่นี้ หลังจากที่มีการควบรวมกิจการแล้ว ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นครอบครัวล่ำซำอยู่ประมาณ 40% ธนาคารกสิกรไทย 7% Fortis Insurance International NV ประมาณ 11-13% และที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จากในปัจจุบันบริษัท เมืองไทยประกันภัย มี Fortis Insurance International NV ถือหุ้นในสัดส่วน 25% บริษัท เมืองไทย โพร์ทิส โฮลดิ้ง จำกัดถือหุ้นอยู่เกือบ 80% และผู้ถือหุ้นอื่นๆ อีก 0.01%

ด้านนางกฤตยา ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ภัทรประกันภัย กล่าวว่า ตามผลของกฎหมาย (Amalgamation)การควบรวมกิจการครั้งนี้ เมื่อเกิดบริษัทใหม่เกิดขึ้นทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน และทุกอย่างของทั้งภัทรและเมืองไทยประกันภัยต้องมีการโอนทุกอย่างเข้ามาในบริษัทใหม่ ส่วนหุ้นทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของภัทรก็ยังคงมีการซื้อขายต่อไปจนกว่าจะมีการรวมกิจการเกิดขึ้น คือ ในช่วงเดือนมี.ค.2551 และจะมีการพักการซื้อขายหุ้นประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งในช่วงนี้จะมีการเวียนคืนใบหุ้นเดิมและออกหุ้นใหม่ของบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการนี้จะเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แทน

"การควบรวมครั้งนี้ศึกษาอย่างละเอียดมีประมาณ 3-4 วิธี และดูในทุกเรื่องทั้งภาษี หน้าที่ ความคงอยู่ของบริษัทหลายด้าน แต่สุดท้ายมีความเห็นตรงกันที่จะเลือกใช้วิธีสูตร A บวก B และผลลัพธ์จะเกิดมาเป็น C ฉะนั้น ตามกฎหมายทั้งในส่วนของภัทรและเมืองไทยต้องคืนใบอนุญาตทั้ง 2 ใบ และขอใบอนุญาตตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตาม ด้วยความมั่นคงที่มีอยู่จะไม่น่าจะมีปัญหา และเชื่อว่าวิธีนี้ดีที่สุดสำหรับในแง่ของผู้ถือหุ้น และตัวองค์กรเอง”นางกฤตยา กล่าว

กรรมการผู้จัดการ บมจ.ภัทรประกันภัย กล่าวว่า ในการควบรวมกิจการครั้งนี้ของทั้งภัทรและเมืองไทยประกันภัยจะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 10 ต.ค.นี้อีกครั้ง เพื่อขออนุมัติการดำเนินการควบกิจการ รวมถึงขอความเห็นชอบจากจากเจ้าหนี้ รวมถึงผู้เอาประกันภัยทุกราย ทำให้บริษัทใหม่มีทุนจดทะเบียน 590 ล้านบาท ณ มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท หรือเท่ากับ 59 ล้านหุ้น โดย 1 หุ้นของภัทรประกันภัย จะสามารถแปลงเป็น 1.9588 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นของเมืองไทยประกันภัย จะสามารถแปลงเป็น 0.5083 หุ้นในบริษัทใหม่ ซึ่งต้องหลังการจ่ายปันผลของภัทรประกันภัยและการปรับมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นบริษัทเมืองไทยประกันภัยแล้ว

อนึ่ง ภัทรประกันภัย ซึ่งมีเงินกองทุนสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดมากนั้น คณะกรรมการบริษัทได้มีมติประกาศจ่ายเงินปันผลพิเศษ 50 บาทต่อหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นตามที่มีชื่อในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ณ วันที่ 5 พ.ย.นี้ และจะจ่ายภายในวันที่ 9 พ.ย. นี้ ส่วนเมืองไทยประกันภัยที่อนุมัติให้บริษัทมีการปรับมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้น จากหุ้นละ 100 บาทเป็น หุ้นละ 10 บาท ทำให้บริษัทเมืองไทยประกันภัยมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 39 ล้านหุ้น ที่ทุนจดทะเบียน 390 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทใหม่จะมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยจะผ่านสถาบันการเงิน(แบงก์แอสชัวรันส์)ประมาณ 34% ตัวแทนขายและนายหน้า 31% ทีมขายตรง 16% ผ่านพันธมิตรประกันภัยรถยนต์ 15% และช่องทางการตลาด เช่น การขายประกันภัยผ่านโทรศัพท์ประมาณ 4% จากเดิมที่ภัทรจะเน้นแบงก์แอสชัวรันส์ ขณะที่เมืองไทยประกันภัยเน้นช่องทางการจำหน่ายผ่านตัวแทน และคู่ค้าธุรกิจรถยนต์ รวมทั้งการขายตรง

ส่วนฐานเบี้ยประกันภัยจะมีความหลากหลายและครอบคลุมมากขึ้นซึ่งจะมีการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมและสมดุลมากขึ้น โดยจะมีฐานเบี้ยประกันภัยรถยนต์ประมาณ 35% ขณะที่มีฐานเบี้ยประกันอัคคีภัยประมาณ 28% จึงเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการลดความเสี่ยงในด้านการดำเนินงาน ที่ไม่มีการพึ่งพารายได้จากผลิตภัณฑ์หลักใดเป็นการเฉพาะ จากปัจจุบันที่ภัทรมีจุดแข็งด้านงานอัคคีภัย ซึ่งมีเบี้ยรับเป็นสัดส่วนถึง 50% งานเบ็ดเตล็ด 46% และงาน Marine 4% ส่วนเมืองไทยประกันภัยมีจุดแข็งงานประกันภัยรถยนต์เป็นหลักถึงสัดส่วน 60% งานเบ็ดเตล็ด 26% อัคคีภัย 11% และMarin 3%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.