ปูนใหญ่รุกอาเซียนรับมือบาทแข็ง


ผู้จัดการรายวัน(19 มิถุนายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เครือซิเมนต์ไทยฉวยจังหวะค่าเงินบาทแข็ง สยายปีกลงทุนอาเซียนเพิ่ม และชำระเงินลงทุนล่วงหน้าให้กับซัปพลายเออร์ เผยไตรมาสแรกปีนี้ จ่ายเงินลงทุนล่วงหน้าไปแล้ว 1.2 หมื่นล้านบาทจากงบลงทุนโครงการต่างๆ รวม 9.2 หมื่นล้านบาท ประเมินทั้งปีใช้เงินสดจ่ายลงทุน (Cashout) กว่า 3.5 หมื่นล้านบาท "กานต์"ชี้ประเทศอาเซียนที่ปูนใหญ่สนใจลงทุนมากที่สุด คือเวียดนาม และอินโดนีเซีย เร่งศึกษาโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ โรงงานบรรจุภัณฑ์ และโรงปูนซีเมนต์ มั่นใจปัญหาการเมืองไทยคลี่คลายภายใน 1 ปี

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เปิดเผยภายหลังงานสัมมนา SCG Go Regional Conference & Exhibition วานนี้ (18 มิ.ย.) ว่า จากวิสัยทัศน์ของเครือซิเมนต์ไทยที่ต้องการเป็นผู้นำตลาดในระดับภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืนในปี 2015 โดยเครือฯมองว่าประเทศอาเซียนที่มีความน่าสนใจในการลงทุนมากที่สุด คือ เวียดนาม และอินโดนีเซีย เพราะมีทรัพยากรมาก ตลาดใหญ่และมีกำลังซื้อดีขึ้น

ปัจจุบันเครือซิเมนต์ไทยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม โดยได้มีการเจรจากับพันธมิตรในเวียดนาม คาดว่าจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นในปี 2551 รวมทั้งยังศึกษาลู่ทางที่จะสร้างโรงงานบรรจุภัณฑ์ ซึ่งใช้เงินลงทุนน้อย และเวลาพิจารณาไม่นาน ซึ่งก่อนหน้านี้ เครือซิเมนต์ไทยมีการเข้าไปลงทุนโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกพีวีซี คอนกรีตผสมเสร็จ กระเบื้องหลังคาคอนกรีต และโรงงานกระดาษอุตสาหกรรม

"เวียดนามเป็นประเทศที่น่าลงทุน เนื่องจากมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีคุณภาพและปริมาณมากพอ รวมทั้งมีโอกาสเติบโตต่อไปได้นาน 10ปี ซึ่งการเข้าไปลงทุนของเครือฯในช่วงนี้เหมาะสม ไม่ถือว่าช้ากว่าคนอื่น โดยที่ผ่านมา เครือซิเมนต์ไทยส่งออกกระดาษและปิโตรเคมีไปจำหน่ายที่เวียดนามจำนวนมากพอสมควร รวมทั้งศึกษาที่จะลงทุนโรงงานกระเบื้องซีแพคแห่งที่ 2 ในฮานอยด้วย"

ส่วนอินโดนีเซีย เครือฯได้ได้ร่วมถือหุ้นในบริษัท พีที ทรานซ์-แปซิฟิกส์ ปิโตรเคมีคอล อินโดทามา จำกัดสัดส่วน 20% ขณะนี้โรงงานดังกล่าวได้กลับมาเดินเครื่องผลิตเรียบร้อยแล้ว และเป็นจังหวะที่ราคาอะโรเมติกส์ดีมากด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ปูนใหญ่กำลังดูลู่ทางการลงทุนเพิ่มเติมในอินโดนีเซีย อาทิ โรงงานปูนซีเมนต์ เป็นต้น

สำหรับฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างการพิจารณาตั้งโรงงานบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้เข้าไปลงทุนโรงงานวัสดุก่อสร้าง สำหรับกระดาษพิมพ์เขียนและเยื่อกระดาษส่วนใหญ่ยังอยู่ในไทยเป็นหลัก

นายกานต์ กล่าวต่อไปว่า จากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ปูนซิเมนต์ไทยจึงฉวยจังหวะในการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ช่วยลดเงินลงทุน และเร่งการชำระเงินลงทุนล่วงหน้า อาทิ ค่าเครื่องจักรให้กับซัปพลายเออร์ แม้ว่าบริษัทฯจะได้กำไรจากการนโยบายนี้ไม่มากนัก และมีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะดำเนินการได้ ส่งผลให้ปีนี้เป็นปีแรกที่ใช้เงินสดจ่ายลงทุน(Cash out) มากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย จากมูลค่าเงินลงทุนโครงการต่างๆของเครือรวมทั้งสิ้น 9- 9.2 หมื่นล้านบาท แต่ไตรมาสแรกปีนี้ มูลค่าเงินลงทุนลดลงเหลือ 8 หมื่นล้านบาท เพราะมีการจ่ายเงินลงทุนล่วงหน้าไปแล้ว 1.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ การเร่งรัดการจ่ายเงินลงทุนล่วงหน้ายังมีผลดีต่อธุรกิจปิโตรเคมี ทำให้ซัปพลายเออร์เร่งดำเนินโครงการเร็วขึ้นด้วย ซึ่งบริษัทฯได้มีการกำหนดราคาเครื่องจักรต่างๆไว้ล่วงหน้าแล้ว ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่ปรับขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทฯได้หันมาสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการ เพื่อให้มาร์จินชดเชยผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น เนื่องจากทุก 1บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่า ทำให้เครือฯมีกำไรลดลง 700-1,000 ล้านบาท และปีนี้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลง ทำให้ต้องมีการส่งออกเพิ่มขึ้น

นายกานต์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ มีผลทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนลดลง แต่เชื่อมั่นว่าปัญหาดังกล่าวจะถูกแก้ไขไปภายใน 1ปีข้างหน้า เพราะถ้าไม่เร่งแก้ไขจะทำให้เศรษฐกิจถอยลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

นายมนูญ สรรค์คุณาการ ผู้อำนวยการสำนักงานบุคคลกลาง เครือซิเมนต์ไทย กล่าวว่าการจัดงาน SCG Go Regional Conference & Exhibition ครั้งนี้ เพื่อต้องการแจ้งว่าฝ่ายบริหารฯเอาจริงนโยบายGo Regional ซึ่งเครือฯได้ออกแบบสอบถามความสนใจของพนักงานที่จะไปทำงานอาเซียน พบว่ามีพนักงานจำนวนมากให้ความสนใจ โดยบริษัทฯได้ประเมินว่าในอีก 5ปีข้างหน้า จะต้องรับพนักงานใหม่จำนวน 5 พันคนโดย 3 พันกว่าคนจะเป็นชาวต่างชาติ ที่เหลือเป็นคนไทย ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายการลงทุนในอาเซียน ซึ่งปัจจุบันพนักงานเครือฯไปทำงานอยู่ต่างประเทศแล้ว 140 คน

สำหรับงบประมาณในการพัฒนาบุคลากรในปีนี้ตั้งไว้ 600 ล้านบาท ซึ่งการส่งพนักงานไปทำงานที่สาขาในต่างประเทศนั้น เครือฯจะมีการอบรมให้ความรู้ทั้งภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นก่อน รวมทั้งจัดหาที่พัก โรงเรียนและอื่นๆ หากพนักงานพาครอบครัวไปด้วย

ชี้ศก.ไทยยังโตได้อีกมาก

Prof. Dr.Hellmut Schutte ,dean Asia Campus,INSEAD กล่าวว่า ปัญหาการเมืองไทยช่วงนี้ ตนไม่คิดว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศยังดีอยู่มาก อีกทั้งภาคเอกชนก็โตได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ได้พึ่งพิงการเมืองมาก คงมีผลเฉพาะการลงทุนบ้างเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่ไทยต้องเร่งดำเนินการเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ การพัฒนาด้านการศึกษา เพราะประเทศที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ขึ้นอยู่กับการศึกษาและการพัฒนาด้านผลิตผล ซึ่งควรศึกษาบทเรียนจากฟิลิปปินส์ที่เดิมเคยเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในอาเซียน แต่หลังจากเกิดปัญหาทางการเมืองและการทุจริต ทำให้ระบบการศึกษาของฟิลิปปินส์ตกต่ำลงอย่างมาก

พาณิชย์เชื่อครึ่งปีหลังส่งออกยังสดใส

นายการุณ กิติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาทางการเมืองไทยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าการส่งออกของไทย ซึ่งยังเติบโตได้ตามเป้าหมาย 12.5% แต่จะมีผลกระทบด้านการลงทุน หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน และไม่สามารถเลือกตั้งได้ตามที่กำหนด จะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนยิ่งตกต่ำมากกว่านี้

สำหรับปัญหาค่าเงินบาทแข็งนั้น ยอมรับว่าในช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงมี.คที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าเพียงสกุลเดียวเมื่อเทียบกับคู่แข่งทำให้ไทยเสียเปรียบ แต่หลังจากที่แบงก์ชาติออกมาตรการกันสำรอง 30% ทำให้เงินดอลลาร์กระจายไปยังประเทศอี่นๆ ส่งผลให้ค่าเงินสกุลอื่นๆแข็งค่าขึ้นตาม ทำให้ไทยไม่เสียเปรียบด้านค่าเงินอีกต่อไป ดังนั้นเชื่อว่าครึ่งปีค่าเงินบาทจะไม่ส่งผลกระทบต่อส่งออก ทำให้เชื่อว่าการส่งออกไทยน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.