กองทุนรวมบริหารพอร์ตฯ 40,000 ล้านบาท ใช้หลักการซื้อขาย OVER OR UNDER VALUE


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีนับแต่ก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวมในความอุปถัมภ์ค้ำชูของรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสินบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรรมฯ (IFCT) และบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) ที่มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและบริษัทโบรกเกอร์ นักลงทุนทั่วไปอย่างดุเด็กเผ็ดมันเปิดเผยวิธีการลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ การบริหารงานของบริษัทฯ ที่มาแห่งรายได้ของบริษัทฯ อย่างละเอียดลออ

แถมเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวรุกซักถามอย่างตั้งตัวไม่ติด ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นกรณีแรก ๆ ในวงการธุรกิจการเงินไทยที่ใจกว้างถึงขนาด

เหตุทั้งหลายทั้งปวงของเรื่องมาจากกระแสข่าวที่ปรากฏทั่วไปในหนังสือพิมพ์ว่ากองทุนรวมเป็นผู้ชักนำการขึ้นลงของราคาหุ้น ทุบหุ้นบ้าง ไล่ซื้อหุ้นาบางตัวบ้างซึ่งในฐานะผู้บริหารเงินกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดเพียงรายเดียวในเมืองไทยแล้วใคร ๆ ย่อมเชื่อว่ากองทุนรวมสามารถทำได้

แต่นักลงทุนที่เชื่อข่าวลือทำนองนี้ไม่เคยเฉลียวใจคิดบ้างหรือว่า กองทุนรวมจะทำอะไรตามอำเภอใจได้ปานฉะนั้น ผู้มีหน้าที่ควบคุมกติกาและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ อย่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และธนาคารชาติทำไมไม่จัดการแก้ปัญหานี้

ทวีเกียรติ กฤษณามระ ประธานกรรมการฯ อุดมวิชยาภัย กรรมการจัดการและดำรงสุข อมาตยกุล ผู้จัดการกองทุน ได้ร่วมกันแถลงข่าวโดยมีเป้าหมายที่จะเคลียร์เรื่องราวทั้งหลายให้จบสิ้นไป

ทวีเกียรติเปิดเผยว่า "วัตถุประสงค์หลักของบริษัทหลักทรัพย์กงทุนรวม คือการระดมเงินทุนจากภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศมาร่วมลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งที่ผ่านมากองทุนรวมก็ประสบความสำเร็จในการช่วยทำให้ตลาดหลักทรัพย์มีการเคลื่อนไหวเป็นอย่างดี ทำความเจริญให้กับหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอย่างมาก แม้ว่าจะเป็นการช่วยในทางอ้อมหลายอย่าง"

ปัจจุบันกองทุนรวมบริหารกองทุนทั้งหมด 17 กองทุนเป็นกองทุนระหว่างประเทศ 10 กองทุนและกองทุนในประเทศ 7 กองทุน มูลค่าเงินกองทุนทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก 81 กองทุน (ณ สิ้นปี 2533) มูลค่าประมาณ 764 ล้านบาท

ขอบข่ายการดำเนินงานของกองทุนรวม นอกจากทำหน้าที่บริหารกองทุน 17 กองทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก 81 กองทุนแล้ว ยังได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้เป็นนายทะเบียนพันธบัตรรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ได้แก่ พันธบัตรองค์การโทรศัพท์ฯ การรถไฟฯ การสื่อสารฯ การนิคมอุตสาหกรรมฯ และการเคหะแห่งชาติด้วย

กิจกรรมล่าสุดคือ การจัดตั้งบริษัทวาณิชธนกิจใจฮ่องกง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการลงทุนให้กับสถาบัน นิติบุคคลและบุคคลทั่วไปที่สนใจการลงทุนในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก บริษัทนี้มีชื่อว่า MFC INTERNATIONAL LTD., ยังไม่ได้ดำเนินงานเพราะอยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกจที่ปรึกษาการลงทุนกับรัฐบาลฮ่องกง

อุดมเปิดเผยว่า "รายได้หลักของบริษัทฯ มาจากค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนเราไม่มีรายได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ และเราต้องวื้อขายผ่านโบรกเกอร์ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นเหมือนนักลงทุนอื่น ๆ ส่วนรายได้ประเภทที่สองคือค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งค่อนข้างแข่งขันกันอย่างมาก และรายได้จากการเป็นนายทะเบียนพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ"

ทั้งนี้เมื่อสิ้นปี 2532 กองทุนรวมมีรายได้จากค่าธรรมเนียมในธุรกิจหลักทรัพย์สูงถึง 156.66 ล้านบาท และเมื่อรวมเข้ากับรายการกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ ดอกเบี้ยและเงินปันผลแล้ว ปรากฏว่าในปี 2532 มีรายได้ถึง 195.06 ล้านบาท เทียบกับปี 2533 รายได้ทะยานไปถึง 287.97 ล้านบาท

ในส่วนของรายจ่ายนั้นปรากฏว่าค่าใช้จ่ายที่สูงสุด คืออัตราเงินเดือนพนักงาน อุดมกล่าวว่า "เราต้องพยายามรักษาให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ อยู่กับเราให้นานที่สุด ค่าใช้จ่ายด้านนี้จึงค่อนข้างสูง"

ด้วยเหตุนี้ กำไรสุทธิในปี 2532 และ 2533 จึงลดลงกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ เป็น 82.30 และ 127.41 ล้านบาทตามลำดับ

ว่าไปแล้วผลการดำเนินงานของกองทุนรวมยังดีกว่าบริษัทจดทะเบียนและรับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกเป็นจำนวนมาก

ดำรงสุขเปิดเผยวิธีการทำงานในการบริหารกองทุนแต่ละกองทุนว่า "ในโครงสร้างการทำงานของบริษัทจะมีกระบวนการตัดสินใจในการลงทุน (DECISION MAKING PROCESS) ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานวิจัยและวางแผน มีคณะกรรมการจัดการลงทุนของแต่ละกองทุนแต่ละชาติ มีเจ้าหน้าที่สั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของฝ่ายการตลาดและมีผู้จัดการกองทุนของแต่ละกองทุนซึ่งจะไปร่วมงานกับคณะกรรมการฯ ของกองทุนนั้น ๆ "

หน่วยงานวิจัยและวางแผนทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนเก็บไว้เป็นดาต้าเบสของบริษัททำหน้าที่เยี่ยมเยียนบริษัทในตลาดฯ ในทุกไตรมาสเพื่อนำข้อมูลมาเขียนรายงานสรุป โดยนักวิจัยนจะเป็นผู้ประเมินว่าบริษัทไหนควรลงทุนในระดับราคาเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังทำการวบรวมข้อมูลวิจัยจากโบรกเกอร์ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีความเห็นไม่ตรงกับนักวิจัยของกองทุนรวม ข้อมูลทั้งหมดจะส่งไปให้ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้พิจารณาดำเนินการลงทุนตามระเบียบการของธนาคารชาติ

ในส่วนของคณะกรรมการจัดการลงทุนจะมีคณะกรรมการประจำแต่ละกองทุนโดยมีคนของกองทุนต่างประเทศมาร่วมงานด้วย ทำหน้าที่ปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดนโยบายว่าจะซื้อขายหลักทรัพย์ตัวไหนเท่าไหร่ ในอุตสาหกรรมแต่ละประเภทจะลงทุนเท่าไหร่ ซึ่งต้องไม่เกินอัตราที่ธนาคารชาติกำหนด

ดำรงสุขกล่าว่า "ผู้จัดการกองทุนคนหนึ่งต้องติดต่อกับฝรั่ง คนหนึ่งติดต่อกับญี่ปุ่นคนหนึ่งติดต่อกับยุโรป ทั้งนี้นโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนจะไม่เหมือนกัน เช่น ญี่ปุ่น ต้องการลงทุนในหุ้นที่ให้เงินปันผลสูง เราก็ต้องซื้อหุ้นแบงก์ให้ แต่ยุโรปต้องการลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงเป็นต้น"

ในด้านของการสั่งซื้อขายนั้น ผู้จัดการกองทุนไม่สามารถยกหูโทรศัพท์สั่งซื้อขายได้ตามสะดวกใจ ดำรงสุขเปิดเผยว่า "เราใช้ระบบอเมริกากัน คือ มีเจ้าหน้าที่สั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในห้องค้าของเรา ผู้จัดการกองทุนจะส่งคำสั่งซื้อขายไปที่ห้องค้าแล้วเจ้าหน้าที่จะสั่งไปยังโบรกเกอร์อีกที เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่มีการตัดสินใจเลย ทำตามที่ผู้จัดการกองทุนสั่ง ทุกวันนี้เราใช้โบรกเกอร์ประมาณ 4-5 รายเท่านั้น เราพยายามแบ่งแยกการทำงานของแต่ละหน่วยงานให้เป็นอิสระแก่กัน และคำสั่งซื้อขายของผู้จัดการกองทุนแต่ละคนก็จะเป็นรายการวันต่อวันไม่มีการสั่งล่วงหน้า หากซื้อขายไม่ได้ คำสั่งจะยกเลิกโดยปริยายในห้องค้าจะไม่มีการทราบว่าพรุ่งนี้จะมีการสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ใดก่อนหน้าเป็นอันขาด"

ดำรงสุขเปิดเผยต่อไปถึงหลักการในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "ในการซื้อนั้น ผมต้องดูว่าหลักทรัพย์นั้น UNDER VALUE อยู่หรือเปล่า ซึ่งคำนี้ก็มีความหมายต่าง ๆ กันในความเห็นของผู้จัดการกองทุนแต่ละคน นอกจากนี้เราดูด้วยว่าหากหลักทรัพย์ทั้งหมดมีแนวโน้มที่จะขึ้นเราก็ซื้อ และอีกส่วนก็เป็นการจองซื้อตามสิทธิต่าง ๆ เมื่อมีการเพิ่มทุนมีส่วนที่เราซื้อผิดคือซื้อไปแล้วหุ้นตก เราก็ต้องซื้อเพิ่มเพื่อเฉลี่ยต้นทุนให้ลดลง ในส่วนที่ต้องทำตามระเบียบของธนาคารชาติก็คือเราจะถือเงินสดเกิน 25% ของกองทุนไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องคอยบริหารให้เป็นไปตามกฎ"

ส่วนเกณฑ์ในการขายหุ้นดำรงสุขกล่าวว่า "เราจะขายเมื่อมันมีราคาขึ้นไปมากพอสมควรหรือที่เรียกว่า OVER VALUE และขายในกรณีที่เมื่อเทียบราคาหุ้นกับเงินปันผลแล้วไม่คุ้มกัน เราจะขายเมื่อราคาหุ้นขึ้นไปถึงเป้าหมายราคาที่เรากำหนดไว้ หรือมีการลงทุนเกินกำหนดไว้ หรือมีการลงทุนเกินกำหนดที่แบงก์ชาติตั้งไว้ ในอีกกรณีหนึ่งคือเมื่อเทียบกับหุ้นที่เรามีกับหุ้นที่เราไม่มี ผลตอบแทนดีกว่าเราก็จำเป็นต้องขายหุ้นที่เรามีไปซื้อหุ้นที่เราไม่มี แต่ผลตอบแทนดีกว่า ในบางกรณีเราต้องขายหุ้นบางส่วนเพื่อจะเอาเงินไปจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน"

หลักการที่กล่าวมาทั้งหมดดูเป็นเรื่องธรรมดาที่นักลงุทนอาชีพหรือผู้บริหารพอร์ทฯ ทั้งหลายจำเป็นต้องยึดถือ แต่ในรายละเอียดที่ยิ่งกว่านี้นั้นจำเป็นต้องอาศัยชั้นเชิงและความได้เปรียบในวงเงินลงทุนเป็นเครื่องมือ

แน่นอนว่าผู้จัดการกองทุนในกองทุนรวมจะบริหาร "ซี้ซั้ว" ได้อย่างไร ในเมื่อมีระเบียบการของทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และแบงก์ชาติดูแลกำกับอยู่

กองทุนรวมต้องส่งรายงานมูลค่าพอร์ทฯ ลงทุนให้กับธนาคารชาติทุกสัปดาห์ และยังต้องมีเรคคอร์ดการซื้อขายหลักทรัพย์ปรากฏที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย

มาตรการเหล่านี้คงจะทำให้เกิดการทุบขายและทุ่มซื้อได้ยาก

อุดมแจกแจงตัวเลขมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุนรวมในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า "มูลค่าการซื้อขายในแต่ละวันมีไม่เกิน 10% อย่างต่ำสุดมี 2% และสูงสุดมี 9.5% ถ้าคิดเฉลี่ยก็ประมาณ 5-6% ของมูลค่าการซื้อขายรวมของตลาดซึ่งตอนนี้มีประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท เท่ากับว่ากองทุนรวมซื้อขายสูงสุดไม่เกินวันละ 530 ล้าน"

หลักทรัพย์ที่กองทุนรวมถืออยู่ในปัจจุบันมีประมาณ 70 หลักทรัพย์ ในส่วนหลักทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีเช่นกลุ่มแบงก์ก่อสร้าง ไฟแนนซ์ ถือเก็บระยะยาว หรือกล่าวได้ว่าประมาณ 80% ของมูลค่าพอร์ทฯ แทบจะไม่ได้ขายเลย

อุดมโต้ข้อกล่าวหาที่ว่ากองทุนรวมทุบขายหุ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคมว่า "ในวันนั้นกองทุนรวมซื้อขายหลักทรัพย์เพียง 6.8% ซึ่งถือเป็นการซื้อขายตามปกติ"

ในส่วนของข้อกล่าวหาเรื่องความเกี่ยวพันของกองทุนรวมกับบริษัทเอ็นอีพี
อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรม จก. อุดมชี้แจงว่า "กองทุนรวมลงทุนในหุ้นเอ็นอีพีฯ น้อยมาก ไม่ถึง 1% เหตุที่ลงทุนเพราะมันมีราคาต่ำมาก แต่ไม่ได้ลงทุนมากเพราะเกรงปัญหาเรื่องการขัดแย้งในผลประโยชน์ธุรกิจ"

ทั้งนี้ ประธานกองทุนรวมฯ คือทวีเกียรติดำรงตำแหน่งประธานเอ็นอีพีฯ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

กองทุนรวมลงทุนหุ้นกระสอบอิสานซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็นเอ็นอีพีฯ ตั้งแต่เมื่อพฤษภาคม 2533 เมื่อหุ้นมีราคาที่ 30 กว่าบาทจำนวน 2 แสนหุ้นปัจจุบันกองทุนรวมถืออยู่เพียง 60,000 หุ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมด 50 ล้านหุ้น และมีการซื้อขายวันละ 2-3 ล้านหุ้น

กองทุนรวมไม่สามารถแก้ไขความข้องใจของนักลงทุนได้อย่างหมดจด แต่ข้อหนึ่งที่นักลงทุนพึงสังวรคือ เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าธุรกิจอย่างกองทุนรวมนั้นดำเนินไปภายใต้ระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานราชการ เมื่อกองทุนรวมยืนขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต้องเข้ามาอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นกัน

หวังว่าการเปิดเผยข้อมูลในครั้งต่อ ๆ ไปที่จะมีขึ้น จะช่วยไขความกระจ่ายให้ผู้ลงทุนมากกว่าที่เป็นอยู่ และผู้บริหารในกองทุนรวมก็ควรจะทำตัวให้เปิดเผยมากกว่าเดิม ในฐานะที่เป็นบริษัทมหาชนและมีนักลงทุนรายย่อยชาวไทยเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.