ลิปโป บีโอไอ จากแดนอิเหนา


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

งานหลักของเราในตอนนี้คือ แนะนำนักธุรกิจไทยให้รู้จักกับบริษัทของเรารวมไปถึงการชี้ช่องทางโอกาสของการลงทุนในอินโดนีเซีย" ดักลาส โลแกน พูดถึงความรับผิดชอบของเขาในฐานะกรรมการผู้จัดการของลิปโปเอเชีย (ประเทศไทย) ซึ่งเพิ่งจะมาเปิดสำนักงานในไทยได้เพียงหกเดือนเศษ ๆ เท่านั้น

โลแกนเป็นคนอเมริกันที่มาทำงานกับลิปโปได้ปีกว่าแล้วเขาเป็นคนหนึ่ง ในกลุ่มผู้บริหารมืออาชีพของลิปโปหลายร้อยคนที่มีทั้งคนเอเชียและตะวันตก แม้ว่าลิปโปโดยเนื้อแท้แล้วไม่ต่างจากธุรกิจของคนเอเชียส่วนใหญ่ที่ยังเป็นธุรกิจครอบครัว แต่การใช้มืออาชีพในการบริหารงานทั้งหมดทำให้ลิปโปมีสไตล์การบริหารแบบสมัยใหม่

ในขณะที่กลุ่มซาลิมมียุทธศาสตร์ในการขยายตัวด้วยการร่วมทุน และปล่อยหน้าที่ในการบริหารให้กับกลุ่มธุรกิจหุ้นส่วนลิปโปเองขยายธุรกิจ ด้วยฝีมือการบริหารจากมืออาชีพของตัวเอง และยุทธศาสตร์ในช่วงสามปีที่ผ่านมานี้คือ การสร้างเครือข่ายธุรกิจในย่านเอเชียแปซิฟิก จากสิงคโปร์ ฮ่องกงไทเป ออสเตรเลีย และข้ามฟากมหาสมุทรไปถึงสหรัฐฯ ซึ่งลิปโปมีธนาคารอยู่สองแห่งในลอสแองเจลิสและซานฟรานซิสโก

ชื่อลิปโปในเมืองไทยอาจจะต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมอีกมากว่าคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร แต่ในอินโดนีเซียแล้วลิปโปคือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่แม้จะไม่ใหญ่เท่ากลุ่มซาลิมของลิมซูเลียงที่คุ้นหกว่าแต่ก็เป็นหนึ่งใน 10 ยักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซียซึ่งมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศาในธุรกิจธนาคารและการเงิน

แกนกลางสำคัญในการขยายตัวของกลุ่มลิปโป คือ ลิปโปแบงก์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อจาก BANK PERGINAGANN เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว และอีกสามเดือนต่อมาก็ควบกิจการเข้ากับ BANK UMUM ASIA การรวมกันของสองธนาคารขนาดกลางนี้ส่งผลให้ลิปโปแบงก์พุ่งขึ้นมาท้าทายความยิ่งใหญ่ของ BANK CENTRAL ASIA หรือ BCA ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในสามปัจจัยของความเติบโต

อีกสองปัจจัยคือสายตาที่ยาวไกล เฉียบคมของมอคตาร์ ริเอดี้ ผู้ก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาเมื่อสามสิบปีที่แล้วและความเป็นมืออาชีพที่ผ่านประสบการณ์ด้านการเงินมากกว่า 10 ปีของลูกชายของเขา เจมส์ ริเอดี้ จุดเด่นของกลุ่มนี้คือการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และก้าวแกร่งด้วยสไตล์การบิรหารสมัยใหม่จากฝีมือของมืออาชีพชาวต่างประเทศทั้งเอเชียและตะวันตก

นอกเหนือจากธุรกิจการเงินและการธนาคารในอินโดฯ สหรัฐฯสิงคโปร์และฮ่องกงรวมกันแล้ว อีกสี่สายธุรกิจหลักของลิปโปคือ วาณิชธนกิจ, ประกันภัย, อสังหาริมทรัพย์, เทคโนโลยีสารสนเทศและอุตสาหกรรมซึ่งมีทั้งชิ้นส่วนรถยนต์สินค้าอิเล้กทรอนิกส์ และสิ่งทอทั้งหมดนี้อยู่ในรูปของกิจการในเครือรวมกันทั้งหมดประมาณ 40 บริษัท

ลิปโปเอเชีย (ประเทศไทย) คือสาขาของลิปโป เอเชีย ฮ่องกง ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่และเป็นเรือธงในสายธุรกิจวาณิชธนกิจของลิปโป นับเป็นก้าวแรกของการหยั่งเท้าเข้ามาบนแผ่นดินไทยของกลุ่มธุรกิจการเงินกลุ่มนี้

และเมื่อเดือนที่แล้วก็เป็นการเริ่มต้น ก้าวที่สองด้วยการเปิดสำนักงานตัวแทนของลิปโปแบงก์ซึ่งเป็นแกนในสายธุรกิจการเงินของกลุ่มนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

บทบาทแรกของลิปโปเอเชียในประเทศไทย คือการเป็นตัวแทนของสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกงในการหาข้อมูล และให้คำแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นไทยกับนักลงทุนจากฮ่องกง

"เราจะติดต่อกับอันเดอร์ไรเตอร์ที่นี่ เพื่อดูว่ามีหุ้นตัวไหนที่นักลงทุนที่ฮ่องกงอาจจะสนใจแล้วก็นำหุ้นเหล่านี้ไปขายให้กับลูกค้าของลิปโปที่ฮ่องกง"

โลแกน อธิบาย

ลิปโป ซีเคียวริตี้ที่ฮ่องกง มีที่นั่งในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ถึงสามที่ และยังสามารถเข้าไปซื้อขายในตลาดล่วงหน้าได้ด้วย

บทบาทสำคัญกว่านั้นคือ การทำหน้าที่เป็นตัวแทนในเรื่องของการลงทุนให้กับบริษัทในเครือของลิปโป ส่วนหนึ่งจะเป็นการลงทุนในประเทศไทย แต่เป็นหลักคือการชักชวนกลุ่มธุรกิจจากไทยให้เข้าไปลงุทนในอินโดนีเซียโดยผ่านเรือ ข่ายของลิปโป ซึ่งเป็นบทบาทที่สวนทางกับตัวแทนกลุ่มธุรกิจใหญ่ ๆ จากสหรัฐฯ ยุโรปหรือ ญี่ปุ่นที่จะเป็นผู้ดึงทุนเข้ามาในประเทศไทย

อินโดนีเซียวางแผนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ภายในห้าปีข้างหน้า ยุทธศาสตร์นั้นไม่ผิดเพี้ยนไปจากทางเดินของไทยเลย ด้วยการใช้ข้อได้เปรียบในเรื่องแรงงานราคาถูก วัตถุดิบและการผ่อนคลายการลงทุนจากต่างประเทศมาล่อให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้าไป

"เราคิดว่าอุตสาหกรรมบางอย่างที่เรียกว่า SUNSET INDUSTRIES เช่น สิ่งทอ เหมาะที่จะย้ายฐานการผลิตเข้าไปในอินโดนีเซีย" นอกจากความได้เปรียบในเรื่องค่าแรงต่ำ ที่ดินถูกแล้ว แรงจูงใจอีกอย่างหนึ่งคือสำหรับธุรกิจสิ่งทอที่โลแกนพูดถึงก็คือ โควตาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และอีอีซีที่ยังเหลืออยู่มาก ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่ญี่ปุ่น ไต้หวันและฮ่องกงเคยใช้มาแล้วกับการลงทุนในประเทศไทย

นอกจากธุรกิจสิ่งทอแล้ว ธุรกิจเป้าหมายของลิปโป คือ ประมงที่ไทยได้ชื่อว่ามีความสามารถมากที่สุดชาติหนึ่งในโลกในขณะที่อินโดนีเซียยังมีปลาให้จับอย่างเหลือเฟือ ยังมีธุรกิจแปรรูป มันฝรั่งและผลิตของขบเคี้ยว การลงทุนในเรื่องอสังหาริมทรัพย์ในอินโดนีเซียซึ่งลิปโปเป็นเจ้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรมหลาย ๆ แห่งและเคยส่งคนมาดูงานด้านนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยด้วย ไปจนถึงการขอซื้อลิขสิทธ์ระบบซอฟต์แวร์การซื้อขายหลักทรัพย์จากซอฟต์แว์เฮ้าส์ไทยแห่งหนึ่ง เพื่อไปขายต่อในอินโดนีเซียโดยบริษัทมัลติโพลาร์ซึ่งเป็นธุรกิจในสายเทคโนโลยีสารสนเทศของลิปโป

ตลอดระยะเวลาหกเดือนที่ผ่านมาของโลแกนหมดไปกับการพบปะกับกลุ่มธุรกิจไทยเพื่อชักชวนชี้ช่องให้ไปลงทุนในอินโดนีเซีย แต่เกือบทั้งหมดยังอยู่ในขั้นเจรจาเท่านั้น

"เรากำลังทำหน้าที่คล้าย ๆ บีโอไอของไทย" โลแกนสรุปถึงสถานนะของลิปโปในเมืองไทยตอนนี้

อย่างน้อยที่สุด การเข้ามาของลิปโปอาจจะช่วยให้เราอุ่นใจกันได้บ้างว่า ความใฝ่ฝันที่จะเป็นเสื่อตัวที่ห้าของเอเชียเริ่มเป็นสิ่งที่จับต้องได้บ้าง ในสายตาของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างอินโดนีเซีย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.