นโยบายอีโคคาร์จุดประกายฝัน ดันหุ้นนิคม-ชิ้นส่วนยานยนต์เด่น


ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 มิถุนายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

อุตฯอีโคคาร์เห็นแววได้ตั้งท้องแน่หลัง ครม.ทำกิ๊ฟลดภาษีเหลือ 17% ผู้ประกอบการในสายการผลิตที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนิคม-ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ยิ้มหวานเตรียมรับข่าวดีมีออเดอร์-ยอดขายเพิ่ม

หลังจากที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแผนส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) โดยอีโคคาร์จะต้องมีความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 1,300 ลูกบาศก์เซนติเมตร สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน และความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 1,400 ลูกบาศก์เซนติเมตร สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล โดยให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 17 จากเดิมซึ่งเก็บในอัตราร้อยละ 20 และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ทำให้คาดว่าบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าวก็จะได้รับอานิสงค์ตามไปด้วย

ในทัศนะของ เผดิมภพ สงเคราะห์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)บัวหลวง มองว่า จากนโยบายดังกล่าวมีหุ้นอยู่ 2 กลุ่มหลักๆที่น่าจะได้ผลดีตามไปด้วย คือ กลุ่มแรกเป็นหุ้นยานยนต์และชิ้นส่วนซึ่งถือว่าได้รับประโยชน์ทางตรง ขณะที่อีกกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ทางอ้อมก็คือหุ้นนิคมอุตสาหกรรม

สำหรับในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์เราชอบ บมจ.พรพรหม เม็ททอล(PPM) มากสุดในแง่ของยอดคำสั่งซื้อที่จะเข้ามามากขึ้นในอนาคต ขณะที่ภาพรวมก็ยังมีความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมประเภทนี้มีศักยภาพ

ขณะที่ด้านหุ้นนิคมฯก็มีตัวที่โดดเด่นอยู่ 2 ตัวคือ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน(HEMRAJ)และ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ(ROJANA) สำหรับ HEMRAJ ราคาได้ขยับขึ้นมามากพอสมควรแล้วแนะนำเพียงแค่"ถือ" และมองว่า ROJANA น่าจะมีอัพไซด์ได้มากกว่า

ด้านบทวิเคราะห์ของ บล.กรุงศรีอยุธยา แนะนำ "ซื้อ" ROJANA โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 17.50 บาท ซึ่งจะสะท้อนการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ดีกว่าคาดการณ์การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เป็นไปตามแผนงานระยะยาวของบริษัท และฐานลูกค้ารายใหญ่ดังเช่น HONDA ที่เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงในโครงการอีโคคาร์ที่เพิ่งได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขด้านภาษีสรรพสามิต

โดยมองว่า ROJANA จะเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์ทางตรงจากโครงการอีโคคาร์มากที่สุด และสอดคล้องกับมุมมองของฝ่ายวิจัยฯที่มีต่อกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนว่าจะเป็นปัจจัยผลักดันการขอสิทธิพิเศษ BOI หลังจากผ่านครึ่งปีแรกเป็นไป

จุดเด่นของ ROJANA คืออัตราเติบโตที่ต่อเนื่องของ Recurring Income เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมรายอื่นๆ โดยมีโครงการที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 55 เมกะวัตต์ และกำหนดกำลังการผลิตรวมระยะยาว เท่ากับ 400 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี 2555 คาดว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าจะทรงตัวอยู่ในระดับ 60-70% ของรายได้รวมนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป

ฝ่ายวิจัยฯจึงปรับเพิ่มสมมติฐานการขายที่ดินในปี 2550 และปี 2551 เป็น 600 ไร่ จากเดิมที่คาดไว้ที่ปีละ 500 ไร่ หลังยอดขายที่ดินในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้เท่ากับ 229 ไร่ ถือว่าดีกว่าคาดการณ์ โดยมีสาเหตุหลักจากการขยายการลงทุนของลูกค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา รวมทั้งการขยายการลงทุนของลูกค้ารายใหญ่ที่มีฐานการผลิตเดิมอยู่กับ ROJANA ได้แก่ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับโมเดลรถยนต์ของ HONDA และ TICON รวมถึงการขยายการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนในครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยบวกหลักจากโครงการอีโคคาร์ที่คาดว่า HONDA ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ ROJANA จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่สำหรับโครงการนี้

ด้านบทวิเคราะห์ของ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ ระบุว่า อีโคคาร์เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีกับหมวดธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมมาก เพราะกระบวนการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ต่างๆ และการประกอบจะต้องเกิดขึ้นตามมาอีก สืบเนื่องจากมีการผลิตแบบใหม่ๆ ทำให้เกิดความต้องการพื้นที่นิคมเพื่อขยายงานอีกมาก อย่างไรก็ตามต้องวัดใจผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ต่างๆ ด้วยว่า อัตราภาษี 17% จะเป็นไปได้ทางธุรกิจมากน้อยเพียงใด

ฝ่ายวิจัยฯจึงแนะนำ ถ่วงน้ำหนักปานกลางในหมวดนี้ หลังภาพการเมืองมีความชัดเจน หลักทรัพย์หมวดนี้ได้รับประโยชน์ในประเด็นการที่นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจต่อการลงทุนมากยิ่งขึ้น Top Pick แนะนำ "ซื้อ" HEMRAJ ราคาพื้นฐานที่ 1.17 บาท และแนะนำ"ถือ" ROJANA โดยให้ราคาพื้นฐาน 14.77 บาท

ทั้งนี้มองว่าทั้งสองรายได้เปรียบเรื่องการที่มีค่ายรถยนต์ใช้พื้นที่อยู่แล้วโดย HEMRAJ มี FORD ,MAZDA ส่วน ROJANA มี HONDA ขณะที่แนะนำ"ขาย" AMATA โดยให้ราคาพื้นฐาน 10.78 บาท เพราะไม่ค่อยมีความชัดเจนว่ามีค่ายรถยนต์ใดใช้พื้นที่อยู่ ยกเว้น ชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อ Supply ให้กับค่ายรถยนต์ต่างๆ มากกว่า

ขณะที่ บล.กิมเอ็ง ประเมินว่า หุ้นที่น่าจะได้ประโยชน์มากสุด จากนโยบายส่งเสริมอีโคคาร์ คือ STANLY โดยให้ราคาเหมาะสมที่ 160 บาท เนื่องจากปัจจุบันเป็นผู้ผลิตไฟหน้าและไฟท้ายให้กับรถยนต์ขนาดเล็กหลักๆของประเทศ

ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยฯมีมุมมองต่อกลุ่มยานยนต์เป็นลบในระยะสั้น เนื่องจากภาวะตลาดรถยนต์ และการผลิตรถยนต์ยังมีแนวโน้มจะชะลอตัวต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่แนวโน้มระยะยาวเป็นบวกจากการย้ายฐานการผลิตของค่ายรถยนต์ต่างๆเข้ามาในไทยเพื่อเป็นฐานในการส่งออก รวมถึงโครงการอีโคคาร์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.