|

ยกระดับอุตฯเหมืองแร่ปลอดมลพิษเอกชนขานรับแม้ต้นทุนเพิ่ม-ชี้ดีกว่า“ชุมชน”ต้าน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ก.อุตฯจับมือกพร.เร่งยกระดับมาตรฐานเหมืองแร่ไทยขีดเส้นปี 2551 ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องเหลือ 0% ด้านเอกชนขานรับพยายามลดมลภาวะให้ได้ตามเป้าหมาย แม้ต้นทุนประกอบการจะสูงขึ้นดีกว่าให้ชุมชนและประชาชนประท้วง-ต่อต้าน ขณะที่มูลค่าการผลิตแร่กว่า 40,000ล้านในปีที่ผ่านมาเชื่อปีนี้โตกว่าเดิมอีก 10%
กระทรวงอุตสาหกรรมและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)มีนโยบายยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการเหมืองแร่ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 4 ปีตั้งแต่ปี 2547 - 2551 เพื่อมุ่งหวังให้สังคมยอมรับการประกอบการของธุรกิจเหมืองแร่ โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2551 จะลดมลภาวะที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือ 0 % ขณะที่เอกชนก็ขานรับนำนโยบายไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลได้จริง
เกลือสินเธาว์สร้างมลภาวะมากสุด
ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวถึงการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ว่า ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในปัจจุบันทั้งในประเทศและต่างประเทศได้สร้างมลภาวะ และมลพิษต่อชุมชนใกล้เคียงจำนวนมากทางกพร.จึงได้พยายามยกระดับอุตสาหกรรมดังกล่าวก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 57 และขณะนี้ลดเหลือร้อยละ 22 จึงตั้งเป้าหมายให้เหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2551
สำหรับอุตสาหกรรมที่มีปัญหามากที่สุดคืออุตสาหกรรมเหมืองแร่เกลือสินเธาว์เป็นอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมากที่สุด จึงพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ลดการผลิตแร่ดังกล่าวส่วนใหญ่จะอยู่ภาคอีสานซึ่งทางกพร.มีแผนแม่บทที่ดูแลสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วโดยมีการกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมไว้ชัดเจน พร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบตามเหมืองแร่ต่างๆมีการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมได้ตามมาตรฐานหรือไม่
โดยผู้ประกอบทั้งรายเก่าและรายใหม่ที่จะเข้ามาจะปฏิเสธมาตรการดังกล่าวไม่ได้เพราะการทำเหมืองก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ การลงทุนจึงต้องทำตามระเบียบที่กพร.กำหนดไว้ทุกประการในการขอสัมปทานบัตรขุดเหมืองแร่ต่างๆ
“ข้ออ้างที่ว่าจะเพิ่มต้นทุนในการผลิตฟังไม่ได้ เพราะการขุดเจาะ เปิดหน้าดินต่างๆต้องกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการจึงควรคืนกำไรสู่สังคมให้สังคมในละแวกเหมืองอยู่ได้ด้วย ”รมช.อุตสาหกรรมระบุ
ฟันธงปีนี้ขยายตัวกว่า 10%
สำหรับแนวโน้มการลงทุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ปีนี้น่าจะขยายตัวในระดับ 10% จากมูลค่าการผลิตแร่ 4 หมื่นล้านบาท เพราะราคาแร่โลหะในต่างประเทศมีราคาสูง จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้เพิ่มขึ้นได้โดยนอกจากเหมืองแร่ทองคำที่สร้างรายได้ให้กับประเทศแล้วยังมีแร่ยิปซัม แร่ดีบุก ที่มีเอกชนให้ความสนใจลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหมืองแร่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ และช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศโดยในปีที่ผ่านมามีการผลิตแร่คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาทแบ่งเป็นผลิตเพื่อใช้ในประเทศ 3.5 หมื่นล้านบาทและการส่งออกแร่ที่มีการตกแต่งเพื่อสร้างมูลค่าแล้ว 1.7 หมื่นล้านบาททำให้รัฐสามารถเก็บค่าภาคหลวงได้ปีละ 1.6 พันล้านบาท
‘อัคราไมนิ่ง’ เดินหน้าทำเหมืองทอง
ขณะที่ตัวเลขล่าสุดจากกพร.มีผู้มายื่นขอเพิ่มเติม 3 รายทั้งผู้ลงทุนทำเหมืองทองคำอยู่และนักลงทุนรายใหม่ ได้แก่ 1. บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองทองคำ 9 แปลงบริเวณรอยต่อ จ.พิจิตรและเพชรบูรณ์ ซึ่งมีปริมาณสำรองทองคำ 23.9 ตันและโลหะเงิน 171 ตันมูลค่า 20,000 ล้านบาท 2.บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัดยื่นขออาชญา-บัตรพิเศษเพื่อสำรวจแหล่งแร่ทองคำจ.พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ 95 แปลง 3. บริษัทไทยโกล-บอล์เวนเจอร์ จำกัด จากออสเตรเลีย ยื่นขออาชญาบัตรสำรวจทองคำที่ จ.พิจิตร และเพชรบูรณ์ 5 แปลง
เอกชนขานรับยกรับสิ่งแวดล้อม
แหล่งข่าวจากสภาการเหมืองแร่ กล่าวว่า การทำเหมืองแร่ในปัจจุบันทางสภาการเหมืองแร่ได้ย้ำให้สมาชิกดำเนินการตามกรอบกติกาและกฎระเบียบของทางการอย่างเคร่งครัด พร้อมกับดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน โดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพราะหากชุมชนใกล้เคียงไม่ยอมรับก็เป็นไปได้ยากว่าโรงงานหรือเหมืองต่างๆจะอยู่ได้และหากบานปลายถึงขั้นมีการต่อต้านประท้วงจากชุมชนใกล้เคียงก็จะทำให้กระทบเรื่องธุรกิจที่กระทำอยู่ ซึ่งสภาการฯได้ย้ำกับสมาชิกว่าหลังการทำเหมืองแร่ปัจจุบันให้มีการพัฒนาพื้นที่ให้สามารถใช้ปลูกพืช เช่น มังคุด เงาะ ยางพารา เช่น ในภาคใต้ได้ นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มภายหลังการทำเหมืองแร่และนำธรรมชาติกลับคืนสู่ชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วย
“ทางสภาการฯได้ย้ำสมาชิกมานานแล้วและได้พยายามปรับตัวมาตลอดจึงเชื่อว่าภายในปี 2551 จะได้เห็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ไร้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้” แหล่งข่าว ระบุ
อย่างไรก็ตามแม้เศรษฐกิจไทยจะค่อนข้างชะลอตัวแต่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ก็ได้พยายามร่วมมือกับภาครัฐที่จะแก้ไขข้อขัดข้องหลายประการและช่วยลดต้นทุน เช่น การประกาศลดขั้นตอนต่างๆ ตลอดจนการปรับลดค่าภาคหลวง ซึ่งขณะนี้ได้ประสานงานกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่พยายามทำให้อุตสาหกรรมดีขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|