|

ย้อนรอย ! พฤติกรรมโกง ชนวนยึดทรัพย์กว่า5 หมื่นล.
ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
การระบุพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ มีการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของทักษิณ ชินวัตร โดยคตส. นั้น พุ่งเป้าไปยังกล่องดวงใจอาณาจักรชินคอร์ปของทักษิณ และตระกูลชินวัตร แบบเต็มๆ โดยมีจุดโฟกัสที่การเมืองเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายใต้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส และธุรกิจดาวเทียม ภายใต้บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ จำกัด(มหาชน) หรือชินแซท
พฤติการณ์ที่คตส. ได้ระบุแบ่งออกเป็น 6 ส่วนหลักๆ ได้แก่ การแก้ไขสัญญาข้อตกลงลดส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (พรีเพด) เพื่อประโยชน์แก่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ ADVANC และการแก้ไขสัญญาข้อตกลงปรับเกณฑ์การตัดส่วนแบ่งรายได้ให้บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ ADVANC
ใน 2 พฤติการณ์แรกนี้ การแก้ไขสัญญาพรีเพดและโพสต์เพดทำให้รัฐสูญเสียงรายได้ถึง 9 หมื่นล้าน ทั้งนี้เอไอเอส ได้รับสัมปทานจากบริษัท ทีโอที ให้บริการระบบจีเอสเอ็มทั่วประเทศ ระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2533 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2553 โดยต้องจ่ายส่วนแบ่งให้ทีโอที ในอัตรา 20% 25% และ 30% ในช่วง 4 ปีสุดท้าย ซึ่งต่อมาได้เปิดให้บริการในระบบเติมเงิน(พรีเพด) โดยยึดส่วนแบ่งเช่นเดียวกับโพสต์เพด
ต่อมาเอไอเอได้แก้ไขสัญญาเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2544 ปรับลดส่วนแบ่งรายได้ในส่วนของพรีเพดจาก 25% เหลือ 20% ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้ทีโอทีต้องสูญเสียรายได้รวม 9 หมื่นล้านบ่าท
ที่สำคัญการแก้ไขสัญญาดังกล่าว เกิดขึ้นหลังปี 2535 แต่ไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินงานของรัฐ พ.ศ.2535 ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความและผลการตีความ คือผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน แล้วขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการเจรจาส่วนแบ่งรายได้ใหม่ โดยไอซีทีต้องการให้ปรับขึ้นเป็น 30% ทั้งโพสต์เพดและพรีเพด ตามสัญญาเดิมที่กำหนด เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป จะส่งผลให้ทีโอทีต้องสูญเสียรายได้มากถึง 1.4 แสนล้านบาท
นอกจากที่จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลจากการแก้ไขสัญญาสัมปทานแล้ว ยังทำให้ธุรกิจของเอไอเอสสามารถทำธุรกิจได้ดีกว่าบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นด้วย เหมือนการที่ถือไพ่เหนือกว่าคู่แข่งขันเรื่องสัมปทานที่จ่ายให้รัฐน้อยกว่าคู่แข่งขันทางธุรกิจอย่างมาก ผู้ให้บริการรายอื่นจึงไม่สามารถที่จะสู้กับเอไอเอสทั้งในแง่ของฐานผู้ใช้ รายได้และผลกำไร
พฤติการณ์ต่อไป ที่คสต.ได้ระบุไว้ คือ การตราพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม และได้มีมติคณะรัฐมนตรีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตเพื่อประโยชน์แก่ ADVANC
ในประเด็นนี้ เกิดขึ้นสมัยครม.ทักษิณ ได้มีมติผ่าน พรก.เก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมในอัตรา 50% กำหนดให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องเสียงภาษีสรรพสามิตและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2546 พร้อมทั้งให้กระทรวงการคลังประกาศลดภาษีโทรคมนาคมแบ่งเป็นโทรศัทพ์มือถือ 10% และโทรศัพท์พื้นฐาน 2%
และเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2546 ครม.ทักษิณมีมติให้บริษัทร่วมการงานของทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ทุกราย ได้แก่ เอไอเอส ทรู คอร์ปอเรชั่น ทีทีแอนด์ที ดีแทคและดิจิตอลโฟน หรือดีพีซี สามารถนำภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม ที่เอกชนต้องจ่ายให้กับทีโอที และกสท หักออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายให้กับทีโอที และ กสท ได้ส่งผลให้ทั้งสองหน่วยงานต้องแบกภาษีแทนคู่สัญญาตั้งแต่ปี 2546-2548 รวม 4 หมื่นล้านบาท เฉพาะในส่วนของเอเอสและดีพีซี คิดเป็นมูลค่า 30,667 ล้านบาท ด้วยการให้เหตุผลว่ารัฐบาลขณะนั้น ต้องการภาษีมาใช้โดยตรง ไม่ผ่านหน่วยงานเจ้าของสัมปทาน เนื่องจากในช่วงเวลานั้นรัฐบาลต้องการรายได้มาบริหารประเทศโดยตรง แทนการรอรายได้จากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง
ทั้งสามพฤติการณ์ข้างต้นเน้นไปที่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเอไอเอสโดยเฉพาะ สำหรับอีก 3 พฤติการณ์ของคตส.โฟกัสมายังธุรกิจดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็น การให้ทีโอทีเช่าและลงทุนระบบคลื่นความถี่ดาวเทียมของบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด(มหาชน) หรือ SATTEL โดยไม่จำเป็น การสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เพื่อซื้อสินค้าและบริการของ SATTEL ในจำนวนเงินกู้ 1 พันล้านบาท และการอาศัยการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำผลประโยชน์ของชาติแลกเปลี่ยนบุกเบิกตลาดธุรกิจดาวเทียมให้แก่สายธุรกิจดาวเทียมในเครือ SATTEL เพิ่มมูลค่าธุรกิจดาวเทียมของ SATTEL เป็นอันมาก
ทักษิณได้ใช้การเมืองเข้ามาเอื้อประโยชน์โดยกำหนดให้ทีโอที เช่าใช้สัญญาของดาวเทียมไอพีสตาร์ โดยบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ ผู้ให้บริการดาวเทียมไทยคม และไอพีสตาร์ได้เสนอบริการเครือข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมและสถานีภาคพื้นดินโดยใช้เทคโนโลยีไอพีสตาร์ หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม ด้วยการให้เช่าระบบเครือข่ายไอพีสตาร์เป็นเวลา 7 ปี เพื่อเพิ่มศักยภาพโครงข่ายโทรคมนาคม ของทีโอที ซึ่งทีโอทีจะเป็นผู้ให้บริการหลักในประเทศ ของดาวเทียมไอพีสตาร์ หรือไทยคม 4 แต่เพียงผู้เดียว ส่งผลให้ต้นทุนการให้บริการของทีโอทีถูกลง โดยเฉพาะค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมจากดวงอื่นจากเดิมที่มีค่าเช่าสูงถึงปีละ 2.2 พันล้านบาท เหลือเพียงไม่เกินปีละ 524 ล้านบาท
การเช่าใช้ช่องสัญญาณไอพีสตาร์ครั้งนั้น ทีโอทีไม่ได้มีแผนระยะยาว ว่าจะต้องถึงจุดคุ้มทุนภายในปีใด แต่คณะกรรมการ ทีโอที มีมติเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2548 ให้เช่าใช้เครือข่ายของไอพีสตาร์ ในปีแรก 400 ล้านบาทต่อปี และปีที่ 2-7 อัตรา 475 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งอนุมัติให้ทีโอทีจัดซื้ออุปกรณ์เชื่อมต่อสาธารณะ หรือเอทีเอ (Analog Telephone Adapter) ในราคาประมาณ 8 พันบาทต่อจุดจากชิน แซท ได้ตามความเหมาะสม
ในความเป็นจริงแล้ว ทีโอที ไม่จำเป็นต้องเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมของไอพีสตาร์ทั้งหมด ระหว่างที่ยังสามารถหาลูกค้าได้เต็มจำนวน ส่งผลให้ ทีโอที ต้องสูญเสียรายได้ 700 ล้านบาททันที
คตส. ยังได้ระบุถึงการใช้อำนาจหน้าที่ทางด้านการเมือง ผลักดันให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 ให้บุคคลต่างด้าวถือหุ้นในบริษัทสื่อสาร จากเดิมไม่เกิน 25% เป็นไม่เกิน 50% พร้อมๆ กับการเจรจาเพื่อขายหุ้นชินคอร์ปที่ถืออยู่ 49.2% ให้แก่กองทุนเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ โดยได้รับเงินจากการขายหุ้นทั้งหมด 73,271 ล้านบาท
การแก้ไขพรบ.ดังกล่าวเป็นการแก้ไขก่อนที่ตระกูลชินวัตรจะตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดให้กับกองทุนเทมาเส็กเพียงไม่กี่วันเท่านั้น พฤติการณ์ดังกล่าวจึงน่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ในการขายหุ้นที่มูลค่าสูงสุดของประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยขึ้นมาก่อน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|