|
ดัชนีความเชื่อมั่นดิ่งเหวติด 8 ด.
ผู้จัดการรายวัน(15 มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
สำรวจความเชื่อมั่นคนไทยช่วงกลางเดือนมิ.ย. ดิ่งเหวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 หลังการเมืองร้อน การชุมนุมประท้วงขยายวง คาดการบริโภคชะลอตัวไปจนถึงไตรมาส 4 หอการค้าไทยห่วงเศรษฐกิจครึ่งปีหลังแย่ หลังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว เพราะการบริโภคชะลอตัว ลงทุนไม่เพิ่ม ก่อสร้างไม่เกิด รัฐจ่ายงบประมาณล่าช้า แถมนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลอ่อนปวกเปียก “ประมนต์”ชี้ต่างชาติชะลอลงทุน ขณะที่ญี่ปุ่นส่อแววทิ้งไทย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนายการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 897 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 9-12 มิ.ย. ซึ่งเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคอย่างไม่เป็นทางการ และเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินเกี่ยวกับคดียุบพรรค และสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ท้องสนามหลวง พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลางเดือนมิ.ย. ตกลงทุกกรายการติดต่อกันต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8
โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมกลางเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 71.0 ลดจากเดือนพ.ค. ที่ระดับ 71.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน 71.6 ลดจาก 72.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต 86.7 ลดจาก 87.1 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลางเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 76.4 ลดจากเดือนพ.ค. ที่ระดับ 76.9 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 74.4 ลดจาก 74.9 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต 74.3 ลดจาก 74.8
ปัจจัยที่ทำให้ดัชนีทุกรายการปรับตัวลดลง เป็นผลจากความไม่ชัดเจนทางการเมือง ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มทางการเมือง ณ ท้องสนามหลวง ได้ส่งผลต่อจิตวิทยาเชิงลบต่อผู้บริโภคอย่างหนัก โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่าการเมืองในปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงได้ในอนาคต ซึ่งผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่มการเมืองนี้ ได้หักล้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินเกี่ยวกับคดียุบพรรคจนหมด ทำให้คาดว่าการบริโภคของประชาชนจะยังชะลอตัวไปจนถึงไตรมาส 3 นี้
“การสำรวจที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งต้องรอรวบรวมความคิดเห็นของผู้บริโภคเกี่ยวกับความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยในภาพรวมของเดือนมิ.ย.อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็เป็นสัญญาณที่บอกว่าปัจจัยทางด้านการเมืองเริ่มมีผลรุนแรงมากขึ้น และเป็นปัจจัยที่ทำให้การบริโภคหดตัวลงเรื่อยๆ”นายธนวรรธน์กล่าว
ทั้งนี้ หากการเมืองยังไม่นิ่ง มีแนวโน้มว่าการบริโภคภายในประเทศ การลงทุน อาจชะลอตัวไปจนถึงไตรมาส 4 ทำให้ปีนี้ต้องฝากความหวังไว้ที่ภาคการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้มีปัญหามากระทบภาคการส่งออก โดยควรรักษาระดับค่าเงินบาทให้อยู่ที่ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังน่าวิตก โดยพิจารณาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเพียง 1.3% ตัวต่ำสุดในรอบ 7 ปี การลงทุนต่ำสุดในรอบ 5 ปี ขยายตัวติดลบ 2.4% การก่อสร้างติดลบ 0.7% เครื่องจักรขยายตัวติดลบ 2.9% การใช้จ่ายภาครัฐเพียง 50% ต่ำกว่าแผนการใช้งบประมาณปี 2550 ถึง 28.68% และยังมีปัญหาการว่างงานสูงถึง 5 แสนคน ซึ่งได้มอบหมายให้แต่ละอุตสาหกรรมไปหาสาเหตุเพื่อหาแนวทางแก้ไขแล้ว
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยแม้จะมีปัจจัยช่วยจากภาคการส่งออก โดยไตรมาสแรกขยายตัว 18% ก็จริง แต่ธุรกิจยังกังวลปัญหาค่าบาทแข็ง ผู้ผลิตหันส่งออกชดเชยยอดขายในประเทศที่ลดลง ซึ่งแม้จะขาดทุนก็ยอมขาย ส่วนการเกินดุลการค้าคิดเป็นเงินบาทเพิ่มเพียง 7% ที่สำคัญขณะนี้ ตู้คอนเทนเนอร์ขากลับเข้าไทยว่างเปล่าถึง 30% แสดงว่านำเข้าสินค้าสำคัญลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณไม่ดีต่อภาคการส่งออกในอนาคต
“ยังไม่มีสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะดีขึ้น มาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้ก็ยังไม่เห็นผล เช่น ลดหย่อนด้านอสังหาริมทรัพย์ก็ให้ประโยชน์กับคนซื้อบ้านเกิน 1 ล้านบาท ที่ต่ำกว่าล้านบาทก็มีมาก แต่ไม่ได้รับประโยชน์ และหากเจอการเมืองซ้ำ ข่าวลบ และน้ำมันที่แพงขึ้น จะตอกย้ำทำให้ความเชื่อมั่นลดลงไปถึงปีหน้า เมื่อลงแล้วการจะฟื้นตัวก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-9 เดือน”นายดุสิตกล่าว
ดังนั้น แนวทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้น รัฐบาลต้องเร่งผลักดันการใช้งบประมาณตามเวลาที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเซ็นสัญญาการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ เร่งรัดแก้ปัญหาด้านกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ปัญหาสิทธิบัตรยา ซึ่งต่างชาติกังวลเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เร่งให้มีการเลือกตั้ง แก้ปัญหาภาคใต้ให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งในด้านความปลอดภัย ความมั่นใจ และทางเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากกว่า 35-37 บาท
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้หอการค้าต่างประเทศมีการแสดงความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทยอย่างมาก แต่ก็เข้าใจในสถานการณ์ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติได้มีการรอดูสถานการณ์ และชะลอการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่บ้างแล้ว ส่วนญี่ปุ่นพบว่า มีการสำรวจประเทศที่น่าลงทุนในแถบเอเชียอยู่ ซึ่งหากเหตุการณ์บานปลาย มีการดำเนินการทางทหาร ก็จะทำให้บรรยากาศยิ่งแย่ลง ดังนั้น รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นว่าจะไม่มีความรุนแรง และดึงความเชื่อมั่นให้กลับคืน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับ 3.5-4% ได้
ส่วนกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ควรเดินทางกลับประเทศไทยในระยะนี้หรือไม่ นายประมนต์ กล่าวว่า คงเป็นสิทธิส่วนบุคคลและวิจารณญาณของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะกระทำได้ แต่หากเดินทางเข้ามาประเทศไทยแล้วก่อให้เกิดปัญหาต่อส่วนรวมก็ไม่ควร และมีโอกาสเกิดผลกระทบต่อส่วนรวมแน่นอน ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยก่อให้เกิดความหวาดระแวงและกังวลใจ
สำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วม (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันธนาคารไทย) กับพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในเดือนก.ค.นี้ จะเสนอให้มีมาตรการช่วยเหลือจังหวัดภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้าย ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่เพียงพอ โดยจะขอเพิ่มพื้นดูแลและการได้สิทธิพิเศษเพิ่มเติม เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพิ่มวงเงินการกู้เงิน ปรับลดภาษี เพิ่มสนับสนุนส่วนต่างเบี้ยประกันภัยที่เพิ่มขึ้นจากการก่อการร้าย และขยายพื้นที่ดูแลความปลอดภัย ในจังหวัดสงขลา เป็นต้น รวมถึงการ.เร่งรัดการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การลดต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|