|

สินเชื่อบัตรเงินสดครึ่งปีหลังแข่งดุเตือนเสี่ยงสูงหวั่นเศรษฐกิจยังไม่เอื้อ
ผู้จัดการรายวัน(14 มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้แนวโน้มสินเชื่อบัตรเงินสดครึ่งหลังปี 50 แข่งดุ เหตุแบงก์พาณิชย์หันมารุกตลาดรายย่อยมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของลูกค้าต่างจังหวัด และฐานลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท เตือนแม้ตลาดรายย่อยจะยังขยายตัวได้และเป็นตลาดใหญ่ แต่มีความเปราะบางหากเศรษฐกิจซบจะรับผลกระทบมากกว่า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มสินเชื่อประเภทบัตรเบิกเงินสดซึ่งเป็น 1 ในสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ว่า น่าจะยังคงขยายตัวได้ดี และจะมีการแข่งขันกันรุนแรงขึ้น โดยธนาคารพาณิชย์เริ่มมีการหันมาทำตลาดบัตรเบิกเงินสดมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงกลุ่มนอน แบงก์ และสาขาธนาคาร่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดสินเชื่อไม่ให้หยุดอยู่กับที่ ถึงแม้ว่าสถาบันการเงินจะมีผลิตภัณฑ์สินเชื่ออเนกประสงค์และสินเชื่อบัตรเครดิต แต่คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทบัตรเบิกเงินสดมีความแตกต่างจากสินเชื่อบุคคลประเภทอื่น โดยเป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อพร้อมใช้หรือเงินกู้ชนิดหนึ่งที่ผู้ประกอบการได้มีการปรับรูปแบบให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภค สินเชื่อประเภทนี้จะไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งเมื่อได้รับอนุมัติวงเงินแล้ว ผู้ขอสินเชื่อสามารถใช้บัตรเบิกเงินสดจากเครื่อง ATM และจะคิดดอกเบี้ยเมื่อมีการเบิกถอน และจะคิดดอกเบี้ยเฉพาะเงินส่วนที่ถูกถอนออกไปจากบัญชีนับจากวันที่มีการถอนออกไปจนถึงวันที่ชำระคืน ในเพดานอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 28%
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่เริ่มเข้ามาทำตลาดสินเชื่อบัตรเบิกเงินสดมากขึ้นได้มีการปรับเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ไม่ต่ำ 10,000 บาทต่อเดือน จากที่เคยเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายดังกล่าว น่าจะมีความจำเป็นหรือความต้องการใช้เงินในยามฉุกเฉินได้มากกว่ากลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง และกลุ่มลูกค้าดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถทำบัตรเครดิตได้ อันเนื่องมาจากไม่ผ่านเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนด เช่น ในเรื่องรายได้ขั้นต่ำ
รวมถึงการเน้นขยายฐานลูกค้าไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น จากที่ผู้ประกอบการหลายแห่งเล็งเห็นถึงการเติบโตของสินเชื่อประเภทบัตรเบิกเงินสด เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ค่อนข้างสะดวกต่อผู้ใช้ โดยบัตรเบิกเงินสดผู้ถือบัตรสามารถที่จะใช้เบิกถอนเงินจากเครื่อง ATM อีกทั้งระดับรายได้รายได้ขั้นต่ำของลูกค้าในการสามารถขอสินเชื่อบัตรเบิกเงินสดของผู้ประกอบการบางรายอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 7,000 บาทต่อเดือน จากปริมาณลูกค้าในกลุ่มรายได้ดังกล่าวที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในต่างจังหวัด ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่สามารถที่จะขอสินเชื่อแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือไม่มีคุณสมบัติเพียงพอในการขอสินเชื่อบางประเภทได้ ทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงแหล่งสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งย่อมสามารถจะสร้างความต้องการสินเชื่อจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ได้ไม่ยากนัก และสามารถลดช่องว่างในการทำธุรกิจเงินด่วนนอกระบบได้ระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ กลยุทธ์การตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 น่าจะประกอบไปด้วย การแข่งขันด้านราคา โดยอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายประเภทค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นสิ่งแรกที่ผู้ขอสินเชื่อใช้ในการเปรียบเทียบกันระหว่างสถาบันการเงินต่างๆก่อนตัดสินใจในการขอสินเชื่อ ทำให้มีการนำกลยุทธ์ด้านราคามาใช้ในการจูงใจลูกค้า ได้แก่ กลยุทธ์ด้านอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยมีการปรับลดลง ซึ่งส่งผลทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการหันมาออกผลิตภัณฑ์ที่จูงใจลูกค้า เช่น อัตราดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 2 เดือน ก่อนที่จะปรับเป็นอัตราจริงที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารกำหนด ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของผู้ขอสินเชื่อและวงเงิน เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่าผู้ที่มีรายได้น้อยมีความเสี่ยงด้านเครดิตน้อย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบมีการสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าจ่ายชำระสินเชื่อเต็มจำนวน เช่น การเสนอรายการคืนเงินเมื่อมีการจ่ายชำระสินเชื่อเต็มจำนวน หรือ การเสนอลดดอกเบี้ยหากมีการชำระตรงเวลา เป็นต้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในด้านการปล่อยสินเชื่อลง นอกจากนี้กลยุทธ์ด้านราคาที่ถูกนำมาใช้ ได้แก่ ฟรีค่าธรรมเนียมรายปี ฟรีค่าธรรมเนียมในการขอสินเชื่อ และฟรีค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนดเป็นต้น
ส่วนระยะเวลาในการอนุมัติสินเชื่อที่มีความรวดเร็ว ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า จากเดิมที่ลูกค้าต้องรอคำตอบในการขออนุมัติสินเชื่อเป็นเวลา 5-7 วัน แต่จากการแข่งขันที่รุนแรง และระบบการตรวจสอบข้อมูลประวัติของผู้ขอสินเชื่อจากเครดิตบูโร ทำให้ผู้ประกอบการสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ภายในระยะเวลาที่เร็วขึ้น และยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้มากขึ้นในภาวะการแข่งขันที่สูง
และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างจากคู่แข่ง สิทธิประโยชน์จากบัตรเบิกเงินสดคล้ายคลึงกับบัตรเครดิต เช่น การสะสมคะแนนเพื่อแลกเป็นเงินสด เพื่อนำไปเป็นเครดิตในการชำระสินเชื่อ ซึ่งนับว่าเป็นกลยุทธ์ที่แปลกใหม่ในธุรกิจนี้ การใช้บัตรเพื่อเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า ทั้งนี้การที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของบัตรเบิกเงินสด เนื่องจากผู้ที่ได้รับการอนุมัติวงเงินอาจจะไม่เบิกถอนเงินในบัตรออกมาใช้ก็เป็นได้ ซึ่งนั่นหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงทำให้ผู้ประกอบการบางรายต้องใช้กลยุทธ์ในเรื่องค่าธรรมเนียมเข้ามาแข่งขัน เช่น ฟรีค่าธรรมเนียม เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม การปล่อยสินเชื่อดังกล่าวก็มีระดับความเสี่ยงสูงเนื่องจากกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ ถึงแม้ว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาระรายจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มเกิดปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อธุรกิจสินเชื่อ แต่เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการควบคุมคุณภาพของสินเชื่อที่ปล่อยไป ทำให้การอนุมัติสินเชื่อของผู้ประกอบการทุกกลุ่มเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ Non-Bank ที่เน้นการขยายฐานลูกค้าที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 7,000 บาทต่อเดือน ถึงแม้ว่าจะเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ แต่ลูกค้ากลุ่มนี้น่าจะมีความเปราะบางมากกว่ากลุ่มผู้ที่มีรายได้มากกว่าหากได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|