ผ่าตัดใหญ่ ธ.ก.ส.


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

เร็ว ๆ นี้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แหล่งเงินทุนราคาถูกสำหรับเกษตรกร ชาวนาชาวไร่และบรรดาหัวคะแนนของอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลาย

แหล่งข่าวระดับสูงใน ธ.ก.ส. เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ตอนนี้คณะกรรมการธนาคารฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานกฤษฎีกาฯ กำลังดูถ้อยคำในตัวร่างแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารฯ อยู่คาวด่าอีกไม่นานคงจะเรียบร้อยส่งให้ท่านรัฐมนตรีฯ พิจารณานำเข้าที่ประชุมสภาฯ เพื่อขออนุมัติได้"

กล่าวกันว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติ ธ.ก.ส.ต้องใช้เวลายาวนานมาก ฟังแล้วคล้ายเรื่องอาถรรพ์ กระทั่งตัวผู้จัดการ ธ.ก.ส.เองก็เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก

หากความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.ครั้งนี้บรรลุก็เท่ากับเป็นการล้างอาถรรพ์ได้สำเร็จ

เพราะร่างแก้ไข พ.ร.บ.นั้นผ่านรัฐมนตรีมาถึง 3 คน 3 ครั้งแต่ก็มีอันเป็นไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งเสมอ จนมาถึงมือรัฐมนตรีคลังคนที่มาจากการแต่งตั้งครั้งนี้ - ดร.สุธี สิงห์เสน่ห์ หลายฝ่ายที่ลุ้นการแก้ไขกันมานานจึงได้โอกาสวาดฝันให้เป็นจริง

ประเดิมด้วยการเพิ่มช่องทางการหารายได้ให้ ธ.ก.ส. โดยเฉพาะในเรื่องของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

นายสุวรรณ ไตรผล ผู้จัดการธนาคารฯ ได้พยายามเสนอเรื่องนี้ต่อรัฐมนตรีว่การกระทรวงการคลังคนก่อนคือนายบรรหาร ศิลปอาชาตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นจังหวะที่ธนาคารพาณิชย์และธนาคารกรุงไทยร่วมกันลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทต่าง ๆ ลงประมาณร้อยละ 0.5

ในที่สุด ธ.ก.ส.ก็ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภทลงได้ร้อยละ 0.5 ทำให้อัตราดอกเบี้ยฯ ของ ธ.ก.ส. เท่ากับของธนาคารกรุงไทยซึ่งต่างเป็นรัฐวิสาหกิจ

ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นหลังจากการยึดอำนาจทางการเมืองของคณะรสช. เพียงไม่กี่วัน

ในส่วนของการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้นได้มีการอนุมัติไปเรียบร้อยแล้ว โดยผู้กู้ในวงเงินตั้งแต่ 60,000-1,000,000 บาทจะปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีก 2% จากปัจจุบันที่คิดอัตราดอกเบี้ย 12.5% อัตราดอกเบี้ยใหม่จะเท่ากับ 14.5% สำหรับผู้กู้รายย่อยจะไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ย

นอกจากเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยแล้ว ยังจะมีการแก้ไขมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติฯ คือเรื่องการขยายเพิ่มเติมวัตถุประสงค์การทำธุรกิจของธนาคารฯ ให้ครอบคลุมการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มอาชีพขนาดย่อยหรือเกษตรกรที่อยู่ในโครงการเกษตรผสมผสาน

การแก้ไขที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือในมาตรา 7 ซึ่งมีการกำหนดขนาดทุนจดทะเบียนไว้ 4,000 ล้านบาท ปัจจุบันเรียกชำระไปแล้ว 3,505 ล้าบาท ทั้งนี้ได้มีการแก้ไขเพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 10,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรได้ต่อไป

"มันเป็นเรื่องไม่มีเหตุผลเลยที่ไปจำกัดเงินทุนจดทะเบียนไว้ไม่ให้เกิน 4,000 ล้านบาท" แหล่งข่าวพูดถึงกฎหมาย ธ.ก.ส.มาตรา 7 ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดการเติบโตของธนาคารฯ

แหล่งข่าวระดับสูงกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ด้วยว่า "เมื่อแก้กฎหมายสมบูรณ์แล้ว ธ.ก.ส.จะมีบทบาทต่อเกษตรกรรายย่อยได้มากขึ้น"

ปัจจุบัน ธ.ก.ส.มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารชาติโออีซีเอฟและเงินกู้จากรัฐบาลแคนาดา ธ.ก.ส.นำเงินเหล่านี้มาปล่อยกู้แก่เกษตรกรในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอย่างมาก ๆ จนกล่าวกันว่าหากกู้แล้วเอามาฝากกับ ธ.ก.ส.อีก ก็ยังได้กำไร

วงเงินสินเชื่อทั้งหมดที่ ธ.ก.ส.ปล่อยให้กู้ ณ 31 มีนาคม 2533 มีรวมทั้งสิ้น 33,600 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีสินเชื่อรายใหญ่วงเงินตั้งแต่ 1,000,000 บาท ขึ้นไปประมาณ 6% หรือคิดเป็น 2,016 ล้านบาทของวงเงินสินเชื่อทั้งหมด ที่เหลือเป็นผู้กู้รายย่อย

ว่ากันว่า วงเงินที่เกิน 1,000,000 บาทขึ้นไปนี้คนกู้ส่วนใหญ่ไม่ใช่เกษตรกร แต่เป็นพวก ส.ส.นักการเมืองทั้งสิ้นเพราะดอกเบี้ยต่ำกว่าแบงก์พาณิชย์มาก ประมาณ 3-4% และผลเช่นนี้ทำให้การจัดสรรเงินทุนในภาคเกษตรบิดเบี้ยวไปจากเป้าหมายที่กำหนดกันไว้

อย่างไรก็ดี ดูเหมือน ธ.ก.ส. จะประสบความสำเร็จอยู่บ้าง ในแง่ที่สามารถประคับประคองตัวเองให้อยู่รอดมาได้ทั้งที่ต้องเผชิญกับมรสุมการะเมืองมาทุกยุคทุกสมัย

ไหนจะต้องสนองนโยบายเฉพาะหน้าของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อประสบภัยพิบัตรเป็นครั้งคราว และเกือบต้องดำเนินตามนโยบายของพรรคการเมืองเรื่องการยืดเวลาการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ การขยายเพดานเงินกู้แก่เกษตรกรที่กู้เต็มวงเงินแล้ว ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งไม่ได้มีจุดหมายในเรื่องการหาผลกำไร แต่ก็ต้องบริหารตัวเองให้อยู่รอดให้ได้โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากธนาคารชาติในเรื่องการขอเพิ่มวงเงินกู้ซอฟต์โลน ธ.ก.ส.จำเป็นที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารอย่างเต็มที่ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีต้นทุนที่แพงกว่าทุกแบงก์

แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยว่าต้นทุนการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.สูงถึง 4.86% ขณะที่ธนาคารทั่วไปมีต้นทุนแค่ 2% เท่านั้น

"PROFIT MARGIN ของ ธ.ก.ส.อยู่ที่ 5% แต่เมื่อหักต้นทุนการดำเนินงานแล้วจะเหลือ NET MARGIN ไม่ถึง 0.5%" แหล่งข่าวกล่าวถึงประสิทธิภาพการบริหารของ ธ.ก.ส.

ในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ ธ.ก.ส.ครั้งนี้ แหล่งข่าวกล่าวว่ามีการตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะลดต้นทุนให้ลงมาเป็น 4% โดยส่วนที่ต้องปรับปรุงคือการปรับสัดส่วนบุคลากรต่อการเพิ่มจำนวนการดูแลครัวเรือนให้มากขึ้น ใช้ระบบว่าจ้างบุคลากรชั่วคราวในงานด้านเอกสาร เพื่อลดจำนวนเจ้าหน้าที่ในแผนกที่ไม่ใช่ธุรกิจลง

"หากลดต้นทุนลงเหลือ 4% ได้ ธ.ก.ส.อาจจะมีกำไรประมาณ 1%" แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ดี การทำกำไรไม่ใช่เป้าหมายสำคัญของ ธ.ก.ส. สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ธ.ก.ส.ต้องสามารถบริหารงานเพื่อเลี้ยงตัวเองได้และสนองตอบนโยบายของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ

นี่คือหัวใจของการผ่าตัดครั้งสำคัญครั้งนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.