AT & T ยกสมุดหน้าเหลืองให้ชินวัตรฯ พร้อมเงินสด 370 ล้าน


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2543 เป็นต้นไปกิจการจัดพิมพ์สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ (ไดเร็คทอรี่ส์) จะอยู่ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มบริษัทในเครือบริษัทชินวันคอมพิวเตอร์ จำกัด ทั้งนี้เป็นผลจากการเจรจาระหว่าง ดร.ทักษิณ ชินวัตร ประธานกลุ่มบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์กับทางบริษัท เอที แอนด์ ที อินเตอร์เนชั่นแนลที่มีตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว

เหตุผลสำคัญที่ทำให้เอทีแอนด์ที ต้องการที่จะถอนตัวจากธุรกิจสมุดโทรศัพท์ เพราะเป็นนโยบายจากบริษัทแม่ที่ไม่ต้องการจะทำธุรกิจด้านนี้ ซึ่งปัจจุบันยังเหลือเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่บริษัทยังทำอยู่ตามสัมปทานที่ได้มาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และยังเหลือเวลาในสัญญาสัมปทานอีก 2 ปี

โดยที่บริษัทแม่ต้องการที่จะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวทุ่มเทให้กับงานโครงการโทรคมนาคมที่ทำร่วมกับกลุ่มชินวัตร รวมถึงการคุ้มครองแรงงานของพนักงานกว่า 300 คน ภายหลังจากการสิ้นสุดสัญญากับทศท.แล้ว

ในขณะที่ ดร.ทักษิณ กล่าวถึงเหตุผลในการเข้าไปรับช่วงบริหารงานบริษัท เอทีแอนด์ที ไดเร็คทอรี่ส์ แทน ก็เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ และภาพพจน์ที่ดีกับเอทีแอนด์ที ทศท. และชินวัตรฯ เนื่องในปัจจุบันทั้ง 3 ฝ่ายมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันหลายเรื่อง (ชินวัตรฯ เป็นตัวแทนขายอุปกรณ์โทรคมนาคมของเอทีแอนด์ที และยังมีโครงการร่วมทุนกับเอทีแอนด์ทีอินเตอร์เนชั่นแนลทำเคเบิลใยแก้ว เพื่อซัพพลายให้กับซีพีในโครงการ 3 ล้านเลขหมาย)

นอกจากนี้ ผลกำไรโดยตรงที่จะได้จากการเข้าดำเนินกิจการ จากการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายลง จะทำให้บริษัทสามารถสร้างกำไรขึ้นมาได้ตลอดช่วง 2 ปีของสัญญากับทาง ทศท.หมด กรณีไม่มีการต่อสัญญาปัญหาเรื่องพนังกานทั้ง 300 กว่าคนของเอทีแอนทีจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากกลุ่มชินวัตรมีบริษัทในเครื่อข่ายมากพอที่จะรองรับบุคลากรจำนวนดังกล่าวนี้

ภายใต้ข้อตกลงกับบริษัทเอทีแอนด์ที กลุ่มบริษัทชินวัตรฯ เข้าบริหารงานโดยไม่ต้องลงทุนแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทเอทีแอนด์ที อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทแม่ได้ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 40 ล้านบาทเป็น 1,033 ล้านบาทเพื่อใช้เป็นทุนในการสะสางหนี้เก่าที่มีอยู่เดิมกว่า 600 ล้านบาทและเพื่อรองรับการขาดทุนที่ประมาณการไว้จนถึงสิ้นสุดสัญญาในปี 2536 โดยชณะนี้มีเงินสดคงเหลือประมาณ 370 ล้านบาทและทรัพย์สินหมุนเวียนอื่น ๆ ประมาณ 130 ล้านบาทรวมเป็น 500 ล้านบาท

ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนี้ได้ถูกโอนให้เป็นเงินทุนที่กลุ่มชินวัตรฯ จะนำไปใช้ในการบริหารงานในกิจการนี้ต่อไป

"อาจจะดูว่า เป็นเรื่องแปลกที่กลุ่มชินวัตรไม่ต้องจ่ายเงินในการเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทเอทีแอนด์ทีแม้แต่บาทเดียว แต่กลับได้เงินอีกจำนวนหนึ่งมาใช้ในการบริหารงานด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาบวกกับความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่มีต่อกัน ทำให้เอทีแอนด์ทียอมเป็นผู้ควักกระเป๋า ซึ่งเงินจำนวน 1,000 กว่าล้านบาทหรือประมาณ 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถ้าจะพูดไปแล้ว ก็เป็นเงินเพียงเล็กน้อยสำหรับเอทีแอนด์ที ในการที่จะถอนตัวออกจากธุรกิจที่ตนเองไม่ต้องการจะทำอีกต่อไปให้ออกมาอย่างสวยงามที่สุด" ผู้บริหารคนหนึ่งของกลุ่มชินวัตรอธิบายเพิ่มเติม

สำหรับการจ่ายเงินค่าสิทธิ์หรือผลตอบแทนในปี 2534 ให้กับ ทศท. จำนวนประมาณ 290 ล้านบาท (43% ของรายได้ของบริษัทซึ่งคาดว่าจะอยู่ในราว 675 ล้านบาท) นั้นได้แบ่งจ่ายออกเป็น 4 งวด โดยงวดแรกทางบริษัทเอทีแอนด์ทีเป็นผู้จ่ายไปเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาจำนวน 56 ล้านบาท ส่วนงวดต่อไปเป็นหน้าที่ของทางชินวัตรฯ ซึ่งเมื่อวันที่ 5 เมษายนชินวัตรณ ก็ได้จ่ายเงินงวดที่ 2 ให้กับทศท.จำนวน 67 ล้านบาท

หลังจากการรับโอนกิจการแล้วสัดส่วนผู้ถือหุ้นในบริษัท เอทีแอนด์ที ไดเร็คทอรี่ส์ใหม่ประกอบด้วย บริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ถือหุ้น 42% หจก.ไอซีเอสไอ (เป็นหจก.เดิมที่บริษัทชินวัตรฯ ถือหุ้นใหญ่ 90%) ถือหุ้น 20% ส่วนที่เหลืออีก 38% ถือหุ้นโดยบริษัทส่วนตัวของดร.ทักษิณ

ที่ผ่านมาธุรกิจสมุดโทรศัพท์มีภาระในการจัดพิมพ์สมุดหน้าขาวฟรีแก่ผู้ใช้โทรศัพท์ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นทุกปี สาเหตุเนื่องมาจากจำนวนเลขหมายโทรศัพท์ที่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่สมุดโทรศัพท์หน้าขาวมีเพียงไม่กี่ร้อยหน้าและอยู่เล่มเดียวกัน ปัจจุบันเลขหมายโทรศัพท์มีทั้งหมดกว่า 1.3 ล้านเลขหมาย จึงต้องพิมพ์แยกถึง 2 เล่ม

ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เองที่มีผลต่อการขาดทุนในการบริหารงานของเอทีแอนด์ทีในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นนโยบายที่ดร.ทักษิณเน้นหนักในการรับช่วงบริหารงานต่อคือ พยายามลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการพิมพ์ พร้อมทั้งปรับปรุงการตลาดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจุดนี้จะทำให้ฐานะการเงินของบริษัทฯ ดีขึ้น

เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ รักษาการกรรมการผู้จัดการบริษัทเอทีแอนด์ที ไดเร็คทอรี่ส์ อธิบายถึงแนวทางในการหารายได้เพิ่มว่า "เราจะเปลี่ยนวิธีการขายค่อนข้างมาก โดยหันไปจับลูกค้าใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจที่ลงโฆษณาอยู่มีเพียง 12-13% เมื่อเทียบกับธุรกิจที่จดทะเบียนทั้งหมด ดังนั้นที่เหลืออีก 80% จึงเป็นตลาดเป้าหมายที่สำคัญ

ที่ผ่านมาการเติบโตของยอดขายโฆษณาในสมุดหน้าเหลืองเพิ่มขึ้นในอัตราที่สู่งมากคือ ในปี 2532 เพิ่มขึ้นจากปี 2531 ถึง 66% ในปี 2533 เพิ่มขึ้นอีก 42% และคาดว่าในปี 2534 นี้อัตราเพิ่มของยอดขายโฆษราจะอยู่ในราว 33-35% หรือประมาณ 675 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับงบโฆษณาโดยรวมผ่านทุกสื่อแล้ว โฆษณาในสมุดหน้าเหลืองมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 5% เท่านั้น และจากการคาดการณ์ของผู้บริหารชินวัตรฯ คาดว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าสัดส่วนในแง่ของจำนวนเงินจะขึ้นไปถึง 8-10% นั่นหมายถึงยอดขายที่ตั้งเป้าไว้ถึง 1,050 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2536 อันเป็นปีสิ้นสุดสัญญากับ ทศท.

ส่วนเรื่องการต่ออายุสัมปทานนั้นในสัญญามีโอกาสต่อได้อีก 5 ปี แต่จะต่อสัญญาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างชินวัตรฯ กับทศท. ภายใต้เงื่อนไขใหม่ที่ชินวัตรฯ กำหนดคือ ผลตอบแทนที่จะให้กับ ทศท.ต้องไม่ใช่ตัวเลขที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ (ตลอดอายุสัญญา 5 ปีจ่าย 1,275 ล้านบาท)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.