ปุจฉาของไมเคิล อี.พอล์เตอร์"ทำไมบางประเทศเท่านั้น


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ทำไมบางประเทศถึงประสบความสำเร็จในการแข่งขันระหว่างประเทศ ขณะที่อีกหลายประเทศกลับล้มเหลว

ดูเหมือนจะเป็นคำถามเชิงเศรษฐกิจที่ได้ยินบ่อยครั้งมากในยุคของเรา

ทำไมเยอรมนีจึงเป็นฐานสำคัญของผู้ผลิตรถหรูหราราคาแพงชั้นนำของโลกมากมายนัก ?

ทำไมสหรัฐฯ จึงสามารถผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้เหนือกว่าคู่แข่งระดับโลกชาติอื่น ๆ มากนัก ?

แล้วอะไรทำให้บริษัทญี่ปุ่นแข็งแกร่งนักในแง่ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการอุปโภคบริโภค ?

คำอธิบายว่า ทำไมบางประเทศถึงมีความสามารถในเชิงแข่งขันมากนัก ขณะที่อีกหลายชาติกลับทำอย่างนั้นไม่ได้ ดูเหมือนจะเป็นความขัดแย้งอยู่เสมอ

บางคนอาจคิดว่าความสามารถในเชิงแข่งขันของแต่ละชาตินั้น เป็นปรากฏการณ์ในเชิงเศรษฐกิจระดับมหภาค โดยมีแรงผลักดันจากหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา อัตราดอกเบี้ย และยอดขาดดุลการค้าของรัฐบาล แต่ถ้ามองในแง่นี้ก็มีข้อโต้แย้งได้ในแง่ที่ว่า บางประเทศยังสามารถเพลิดเพลินกับการสร้างมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ค่าเงินของประเทศตนแข็งตัวขึ้นตลอดเวลา (เยอรมนี) หรือยอดขาดดุลงบประมาณพุ่งสูง (ญี่ปุ่น) และอัตราดอกเบี้ยที่ทะยานสูงขึ้น (เกาหลีใต้)

มีอีกลหายคนแย้งว่า ความสามารถในเชิงแข่งขันเกิดขึ้นได้เพราะปัจจัยจากแรงงานราคาถูก และหาได้ง่าย แต่ในหลายประเทศอย่างเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ ก็ยังรุ่งโรจน์ไปได้ ทั้งที่ค่าแรงสูงลิ่วและมีปัญหาขาดแคลนแรงงานต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานอยู่ตลอดเวลา

บริษัทของประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จจากการเอาชนะอุปสรรคด้วยการใช้ระบบการผลิตอัตโนมัติเข้ามาทดแทนแรงงาน ดังนั้น ความสามารถในเชิงแข่งขันที่เกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่ประเทศนั้นมีค่าแรงราคาแพงมาก จึงดูเหมือนจะเป็นยิ่งกว่าเป้าหมายสูงสุดที่แต่ละชาติพึงปรารถนาเสียอีก

ในความเห็นของอีกหลายคนคิดว่า ความสามารถในเชิงแข่งขันขึ้นอยู่กับการเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่นี้ ประเทศที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จด้านการค้าระหว่างประเทศสูงสุดอย่าง เยอรมนี ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และเกาหลีใต้ ก็ล้วนแต่เป็นชาติที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำกัดจำเขี่ยมาก และยังต้องนำเข้าวัตถุดิบปริมาณมหาศาลด้วย

อีกหลายต่อหลายคนเช่นกันที่โต้แย้งว่า อิทธิพลสำคัญที่สุดต่อความสามารถในเชิงการแข่งขันนั้นอยู่ที่นโยบายของรัฐบาล แต่บทบาทของภาครัฐในการช่วยส่งเสริมความได้เปรียบของชาตินั้น มักกลับกลายเป็นผลเสียต่อกิจการบริษัทในระยะยาวมากกว่า การแทรกแซงของรัฐบาลในนโยบายสำคัญ ๆ นั้น มักเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในระดับสากลอยู่มาก แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีก็เช่นกัน

และคำอธิบายสุดท้ายที่มักพูดถึงกันในแง่ของความได้เปรียบเชิงแข่งขัน คือ ความแตกต่างในเชิงบริหาร การบริหารสไตล์ญี่ปุ่นมีความโดดเด่นและประสบความสำเร็จสูงมากในช่วงทศวรรษ 1980 เช่นเดียวกับสไตล์อเมริกันเคยได้รับการยอมรับในทั่วโลกมาแล้วสมัยทศวรรษ 1950 และ 1960

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการอธิบายในลักษณะนี้อยู่ที่ความแตกต่างของแขนงอุตสาหกรรมจะเป็นตัวกำหนดความต้องการในสไตล์การบริหารที่ไม่เหมือนกัน วิธีการบริหารแบบหนึ่งซึ่งถือว่าดีมากในอุตสาหกรรมแขนงหนึ่ง อาจกลายเป็นการบริหารแย่มากในอีกอุตสาหกรรมหนึ่งก็ได้

ตัวอย่างเด่นชัดที่สุด คือ การบริหารสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการยอมรับว่าดีเยี่ยมและแข็งแกร่งนั้น หากพิจารณาในแขนงอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ อย่างเช่น เคมีสินค้าบรรจุภัณฑ์ หรือภาคบริการแล้ว จะเห็นได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับสากลน้อยมาก

หรือถ้าจะมองในแง่ของแรงงานสัมพันธ์แล้ว จะเห็นได้ว่าในเยอรมนีและสวีเดนนั้น สหภาพแรงงานมีอิทธิพลสูงมาก หากคิดว่าสหภาพแรงงานที่มีอิทธิพลสูงมาก หากคิดว่าสหภาพแรงงานที่มีอิทธิพลสูงนี้จะเป็นตัวกัดกร่อนความได้เปรียบในเชิงแข่งขันละก็เยอรมนีและสวีเดนก็ยังเจริญก้าวหน้าไปได้ด้วยดี

ถ้าอย่างนั้นในเบื้องแรกคงต้องถามกันว่า ประเทศที่มีความสามารถในเชิงแข่งขันนั้นเป็นอย่างไร ?

จะเป็นชาติที่ทุกบริษัทหรืออุตสาหกรรมมีความสามารถในเชิงแข่งขันใช่หรือไม่ ?

ถ้าใช่ละก็ จะไม่มีประเทศใดที่เข้าใกล้คุณสมบัติข้างต้นเลย

หรือจะเป็นประเทศที่มียอดได้เปรียบดุลการค้ามหาศาล ?

ถ้าอย่างนั้นละก็สวิสเซอร์แลนด์ถือเป็นประเทศที่ทำการค้าแล้วได้ดุล ส่วนอิตาลีนั้นมียอดเสียเปรียบดุลการค้าอย่างน่ากลัว แต่ทั้งสองประเทศก็มีรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ

ถ้าอย่างนั้นหรือจะเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดสินค้าส่งออกในทั่วโลกเพิ่มขึ้น ?

กรณีนี้ประเทศที่มีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกทั่วโลกลดลงอย่างช้า ๆ ก็สามารถสร้างอัตราเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีเพิ่มขึ้นอย่างมากมาแล้ว ดังนั้น เรื่องส่วนแบ่งในตลาดส่งออกทั่วโลกจึงไม่ใช่สิ่งที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้ทั้งหมด

แนวความคิดที่ใกล้เคียงที่สุดเกี่ยวกับความสามารถในเชิงแข่งขันระดับชาติจึงอยู่ที่ ผลผลิตของประเทศนั่นเอง

ผลผลิตที่ว่านี้ เป็นมูลค่าของผลิตผลที่ผลิตโดยหน่วยของแรงงานหรือเงินทุน มาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น จึงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของกิจการในประเทศนั้น ๆ ในการที่จะประสบความสำเร็จในผลผลิตทีละมาก ๆ และการเพิ่มผลผลิตในแต่ละช่วงเวลา

ดังนั้น การพยายามหาคำอธิบายเกี่ยวกับความสามารถในเชิงแข่งขันระดับชาติ จึงเป็นความพยายามหาคำตอบจากคำถามที่ตั้งขึ้นผิด ๆ

ที่ถูกต้อง คือ เราต้องไม่มุ่งเน้นไปที่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม แต่ต้องเจาะลงไปเฉพาะแขนงอุตสาหกรรม ความได้เปรียบระดับนานาชาตินั้นมักเน้นไปที่อุตสาหกรรมเฉพาะแขนงมากกว่า เห็นได้จากการส่งออกรถของเยอรมนีจะมุ่งที่รถหรูสมรรถนะสูง ขณะที่รถส่งออกของเกาหลี คือ รถเล็กและซับคอนแพคท์

หากจะถามว่า ทำไมแต่ละประเทศจึงประสบความสำเร็จในตลาดโลกในอุตสาหกรรมเฉพาะแขนง คำตอบอยู่ที่หลักการกว้าง ๆ 4 อย่างที่ช่วยสร้างความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน

1. เงื่อนไขขององค์ประกอบ

พูดง่าย ๆ คือ องค์ประกอบที่จำเป็นต่าง ๆ สำหรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมแต่ละประเภท เช่น แรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ เงินทุน และโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังต้องดูด้วยว่า พวกเขาใช้องค์ประกอบเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน

อันที่จริงแล้ว การริเริ่มเพื่อทดแทนความอ่อนแอนั้น สำคัญยิ่งกว่าการริเริ่มเพื่อฉวยประโยชน์จากความแข็งแกร่งเสียอีก จะเห็นได้ว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงสุดนั้น ล้วนเผชิญกับความเสียเปรียบในเชิงลบทั้งสิ้น จะมีปัจจัยที่ถือเป็นข้อได้เปรียบอยู่น้อยมาก อาทิ เยอรมนี ญี่ปุ่น และอิตาลี ล้วนได้ชื่อว่าเป็นผู้ปราชัยในสงคราม ประเทศเหล่านี้ต่างประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ค่าแรงพุ่งทะยาน ต้นทุนพลังงานถีบตัวอย่างรวดเร็ว และมีทรัพยากรจำกัดจำเขี่ยมาก

บริษัทญี่ปุ่นนั้นเผชิญอุปสรรคใหญ่หลวงทั้งในแง่ต้นทุนที่ดินแพงลิ่ว รวมทั้งขาดแคลนพื้นที่ตั้งตัวโรงงานอย่างยิ่ง จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการริเริ่มระบบการผลิตแบบ JUST-IN-TIME และใช้เทคนิคการประหยัดเนื้อที่ให้มากที่สุด ซึ่งยังช่วยลดสินค้าค้างสต็อคได้อย่างมากด้วย

2. เงื่อนไขของความต้องการ

ธรรมชาติของความต้องการในประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือบริการนั้น คุณภาพของความต้องการมีความสำคัญยิ่งกว่าปริมาณเสียอีกเห็นได้จากชาวเยอรมนีจะเอาใจใส่ล้างและขัดเงารถของตัวเองให้แวววับในวันอาทิตย์ เพื่อนำออกขับโชว์ด้วยความเร็วสูงตามประเพณีนิยม จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า รถของเยอรมนีจะประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกในแง่ของการเป็นรถที่มีความทนทานและสมรรถนะสูงมาก ขณะเดียวกับที่อิตาลก็มีชื่อเสียงในแง่ของแฟชั่นเสื้อผ้าทั่วโลกเช่นกัน

3. อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องและสนับสนุน

การคงอยู่หรือหายไปของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและอุตสาหกรรมสนับสนุนนั้น มีบทบาทสำคัญต่อความสามารถในเชิงแข่งขันระหว่างประเทศอย่างยิ่ง เห็นได้ชัดจากความแข็งแกร่งของสวีเดนในผลิตภัณฑ์เส้นใยเหล็กกล้านั้น ทำให้สวีเดนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่แกร่งในการผลิตเหล็กกล้าคุณภาพดีด้วย

4. ยุทธวิธี โครงสร้าง และการแข่งขันของบริษัท

เงื่อนไขของแต่ละประเทศจะเป็นตัวกำหนดว่า กิจการบริษัทได้รับการก่อตั้ง จัดการ และบริหารอย่างไร รวมทั้งกำหนดธรรมชาติของการแข่งขันภายในประเทศด้วย ในเยอรมนีนั้น มีบรรดาผู้บริหารระดับอาวุโสมากมายที่มีภูมิหลังด้านวิศวกรรมและเทคนิค จึงมีแนวโน้มสูงมากที่จะผลิตสินค้าด้วยระบบและมีการปรับปรุงตามกระบวนการ นำมาซึ่งความสำเร็จในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคนิคหรือวิศวกรรมขั้นสูง

หลายประเทศซึ่งมีบทบาทในตลาดโลกระดับแนวหน้านั้น มักมีอุตสาหกรรมหลักภายในประเทศที่มีการแข่งขันสูงมาก อาทิ ในสวิสเป็นอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ เยอรมนีด้านเคมี สหรัฐฯ ด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ สำหรับญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมในประเทศมีการแข่งขันกันเองสูงที่สุดในโลกอยู่แล้ว สำหรับภาวะการแข่งขันทั่วโลกนั้น ระบบผูกขาดหรือการรวมตัวเป็นสมาคม ก็จะพ่ายแพ้ต่อบริษัทที่มาจากประเทศที่มีสภาพแวดล้อมในเชิงแข่งขันสูงกว่า

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมอีก 2 อย่างที่มีอิทธิพลต่อระบบของประเทศอย่างมาก คือ โอกาสและรัฐบาล ปัจจัยในแง่ของโอกาส คือ การพัฒนาที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของบริษัทนั้น ๆ เช่น สงคราม ภาวะทางการเมือง และการฉีกแนวในเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน

ในส่วนของรัฐบาลนั้น ดูเหมือนจะมีความพยายามกำหนดให้เป็นปัจจัยที่ 5 เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง บทบาทที่แท้จริงของรัฐบาล คือ เข้าไปมีอิทธิพลต่อปัจจัยหรือหลักการทั้ง 4 อย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง

ประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จในเชิงอุตสาหกรรมนั้น เป็นประเทศที่ "เพชร" หรือ ระบบของปัจจัยหลักทั้ง 4 อย่าง วางอยู่ในลักษณะที่ได้ดุลที่สุด โดยที่ผลกระทบของปัจจัยหนึ่งจะสร้างเงื่อนไขที่เป็นลูกโซ่ไปสู่ปัจจัยอื่น ๆ เช่น เงื่อนไขของความต้องการจะไม่สามารถนำไปสู่ความได้เปรียบเชิงแข่งขัน ยกเว้นความกดดันของภาวะการแข่งขันจะหนักหน่วงเพียงพอที่จะเป็นสาเหตุให้กิจการบริษัทต่าง ๆ เกิดการตอบสนอง

ประเทศหนึ่ง ๆ จะประสบความสำเร็จในตลาดโลกได้ จึงไม่จำเป็นต้องมีข้อได้เปรียบในปัจจัยหลักทุกข้อก็ได้ โดยเฉพาะในประเทศที่เสียเปรียบในปัจจัยหนึ่งเท่านั้น มักจะมีข้อได้เปรียบในปัจจัยอื่น ๆ โดดเด่นอย่างมากเป็นสิ่งทดแทนด้วยเช่นกัน

"ญี่ปุ่น" เป็นประเทศที่ถูกหยิบยกขึ้นมาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในยุคหลังสงครามบ่อยครั้งมาก และเรื่องราวที่พูดถึงมักเน้นไปที่บทบาทของรัฐบาลและสไตล์การบริหารแบบญี่ปุ่นเป็นหลัก

สำหรับ PORTER แล้วมีแง่มุมการมองความสำเร็จของญี่ปุ่นทีแตกต่างออกไป คือ ญี่ปุ่นก็เหมือนอีกทุกประเทศในแง่ที่ว่า ประสบความสำเร็จจากความได้เปรียบเชิงการแข่งขันในบางแขนงอุตสาหกรรม แต่ก็ล้มเหลวในอุตสาหกรรมอีกมากแขนงด้วยกัน ดังนั้นเป็นที่เห็นได้ชัดว่า อะรไก็ตามที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นไม่สามารถเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมทั้งหมดได้

ที่สำคัญ คือ การบริหารเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏเป็นความสำเร็จได้ รัฐบาลก็มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสร้างความรุ่งโรจน์ แต่บทบาทนั้นก็กำลังเบี่ยงเบน ซึ่งมีความสำคัญที่แตกต่างจากสิ่งที่เคยปรากฏและยอมรับกัน

เงื่อนไขขององค์ประกอบ สิ่งที่สำคัญเหนือปัจจัยที่มีอยู่ก็คือ ญี่ปุ่นสามารถสร้างและยกระดับปัจจัยที่จำเป็นในอัตราซึ่งเหนือกว่าทุกประเทศมาก การสะสมเงินทุนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากอัตราการออมที่สูงเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับทรัพยากรบุคคลอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง บริษัทญี่ปุ่นยังมีความสามารถพิเศษในแง่การแสวงหาแหล่งเทคโนโลยีจากต่างประเทศด้วย

ในบางกรณีสิ่งที่สำคัญที่สุดในปัจจัยของการสร้างสรรค์ในญี่ปุ่น คือ ข้อมูล จะเห็นได้ว่าทุกบริษัทและญี่ปุ่นทุกคนต่างมีข้อมูลทางเศรษฐกิจอยู่ในสมองอย่างเต็มปรี่ ข้อมูลที่ว่านี้มาจากสื่อมวลชน หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งต่างแข่งขันกันออกรายงานหรือหนังสือกันไม่ขาดสาย ข้อมูลเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการแข่งขันระหว่างบริษัทญี่ปุ่นด้วยกัน มันทำให้พวกเขาต้องมองไปข้างหน้า และต้องตรวจสอบความก้าวหน้ากับคู่แข่งตลอดเวลา

เงื่อนไขของความต้องการ ตลาดที่มีบทบาทสำคัญในการชี้นำการพัฒนาอุตสาหกรรม คือ ตลาดในประเทศไม่ใช่ตลาดต่างประเทศ เมื่อมีการพัฒนาถึงระดับหนึ่งในภายหลังแล้วเท่านั้นที่การส่งออกจึงเข้ามามีบทบาท

ตลาดในประเทศของญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างใหญ่มากมีประชากรราว 120 ล้านคน สินค้าประเภทคอนซูเมอร์อิเล็คทรอนิกส์เป็นเครื่องบอกสถานภาพที่สำคัญมากสำหรับชาวญี่ปุ่น จากการที่มีพื้นที่อยู่อาศัยจำกัดจำเขี่ย มีเวลาว่างน้อยมาก และยังไม่สามารถบริโภค ที่อยู่อาศัยได้อย่างใจต้องการ ชาวบ้านจึงต้องหันมาบริโภคสินค้าประเภทอื่น ๆ เป็นการทดแทน อาทิ รถ กล้องถ่ายรูป และสินค้าคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพวกเขาต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูงและบริการที่ดีเยี่ยม

ชาวญี่ปุ่นจะปฏิเสธไม่ยอมซื้อสินค้าที่มีตำหนิเพียงนิดเดียว และพวกเขาไม่รีรอที่จะเปลี่ยนยี่ห้อสินค้า ถ้าพิสูจน์ได้อย่างเด่นชัดถึงความแตกต่างในคุณภาพ

เพราะเหตุที่ตลาดขนาดใหญ่ในประเทศถูกซอยย่อยผูกขาดในหมู่บริษัทหลายแห่งด้วยกัน ทำให้บริษัทญี่ปุ่นไม่ได้ยินดีปรีดาหรือมีความสุขกับตลาดในบ้านมากนัก พวกเขาได้รับแรงผลักดันให้ต้องขยายตลาดสู่ต่างประเทศต้องพัฒนาสู่ความเป็นสากล

นอกจากนี้ ภาวะตลาดในประเทศอิ่มตัวอย่างรวดเร็ว ก็นำไปสู่ความพยายามอย่างหนักหน่วงของบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นคู่แข่งกัน ในการต้องพัฒนาสินค้ารุ่นใหม่ ๆ ออกวางตลาด และทำให้ช่วงเวลาของการพัฒนาสินค้ารุ่นใหม่นั้นสั้นลงด้วย

แต่เงื่อนไขความต้องการในประเทศก็เป็นตัวอธิบายได้อย่างหนึ่งว่า ทำไมญี่ปุ่นถึงไม่ประสบความสำเร็จมากนักในระดับระหว่างประเทศ เห็นได้จากความต้องการสินค้าประเภทอาหารในญี่ปุ่นเอง ซึ่งจะเน้นที่ข้าวและปลาสดเป็นหลักนั้น มีความแปลกแยกจากประเทศสำคัญอื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นที่ทำกิจการประเภทนี้เสียเปรียบคู่แข่งเมื่อออกสู่ตลาดโลก

อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องและสนับสนุน อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จมักมีการเติบโตที่แยกตัวออกจาอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องอื่น ๆ นอกจากนี้ บริษัทญี่ปุ่นก็มีการขยายแนวธุรกิจสู่อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น ในธุรกิจผลิตเครื่องโทรสารปรากฏว่าคู่แข่งบางรายเป็นริษัทผลิตกล้องถ่ายรูป อาทิ แคนนอน ริโก มินอลต้า และโคนิก้า บางรายเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์สำนักงาน เช่น มัตซูชิตะ ชาร์ป โตชิบา และบางรายจากวงการโทรคมนาคม ได้แก่ เอ็นอีซี ฟูจิตสุ โอกิ โดยคู่แข่งหน้าใหม่ต่างนำความเชี่ยวชาญจากแขนงธุรกิจอื่นเข้ามาใช้ เป็นการกระตุ้นการริเริ่มสร้างสรรค์มากขึ้น

บริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ต่างมีเครือข่ายของซับคอนแทรคเตอร์และซัพพลายเออร์ขนาดเล็กและขนาดกลางมากมาย โดยที่บริษัทและซัพพลายเออร์ของตนมักมีที่ตั้งอยู่ใกล้กัน ทำให้การไหลเวียนของข้อมูลเป็นไปอย่างเสรี บริการที่ดีเลิศ และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ยุทธวิธี โครงสร้าง และการแข่งขันของบริษัท ในบริษัทการผลิตของญี่ปุ่นที่อยู่ระดับแนวหน้ามากมาย จะเห็นได้ว่ามีวิศวกรอยู่ในตำแหน่งบริหารระดับสูงในกรณีนี้ญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นในงานวิจัยและพัฒนาอย่างแรงกล้า รวมทั้งในอุปกรณ์และเครื่องมือล้ำสมัยที่สุด ซึ่งถือเป็นทัศนคติที่เกือบจะเป็นสากลเลยทีเดียว

บริษัทญี่ปุ่นเป็นผู้พัฒนายุทธวิธีของการทำให้เป็นมาตรฐานและการผลิตทีละมาก ๆ ทำให้บริษัทเหล่านี้มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันในเบื้องแรก ด้วยการผลิตสินค้ารุ่นที่มีมาตรฐานทีละมากๆ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากที่ใช้งานฝีมือเป็นเทคนิคการผลิตทีละหมู่หรือประเภท แล้วไปสู่เทคนิคของสายการผลิตในขั้นต่อไป เมื่อเวลาผ่านไปก็สามารถประสบความสำเร็จในการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติขั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ

บริษัทญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายของพวกเขาในแง่ของปริมาณการผลิตและส่วนแบ่งตลาด บริษัทเหล่านี้จะเปรียบเทียบคู่แข่งของตนในแง่ของส่วนแบ่งตลาดบนพื้นฐานต่อเนื่อง และการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดถือเป็นเรื่องน่าละอายอย่างยิ่ง และทัศนคตินี้ได้ขยายวงกว้างไปสู่ส่วนแบ่งในการผลิตระดับโลกด้วย

ปัจจัยของแรงงานและเงินทุนก็เป็นพันธะสำคัญต่อบริษัทและอุตสาหกรรมในแง่ที่ว่า หากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ก็จะช่วยลดต้นทุนของเงินทุนให้ต่ำลงและเป็นการส่งเสริมการลงทุนด้วย

อาจพูดได้ว่าปัจจัยสำคัญที่สุดแห่งความสำเร็จของญี่ปุ่น คือ ธรรมชาติของการแข่งขันภายในประเทศนั่นเอง บรรดาคู่แข่งต้องศึกษากันและกันด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง และการเคลื่อนไหวก็ต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องรวดเร็ว

ทุก ๆ คนในแต่ละองค์กรจะเน้นที่การปะทะกับคู่แข่งสำคัญอย่างจริงจัง อาทิ โซนี่มีสโลแกนสุดฮิตของตนเอง คือ "BMW" ซึ่งหมายถึง "BEAT MATSUSHITA WHATEVER" สำหรับบริษัทญี่ปุ่นแล้ว การต้องแข่งขันกับคู่แข่งต่างชาตินั้น มักหมายถึงความโล่งใจมากกว่าเสมอ

ขณะที่ภาวะแข่งขันภายในประเทศมีความเข้มข้นสูงมากในทุกแขนงอุตสาหกรรม เป็นที่น่าสังเกตว่า ญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ในแขนงอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ และมีขนาดใหญ่ เช่น ก่อสร้าง เกษตร อาหาร และกระดาษ ก็ยังมีข้อจำกัดในแง่ของการแข่งขัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า เกือบจะทุกแขนงอุตสาหกรรมเหล่านี้ แทบไม่ประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศเลย

รัฐบาล สำหรับการสร้างความสำเร็จในระยะแรกนั้น รัฐบาลจะเข้ามามีบทบาทสูงมากและเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้ รวมทั้งจำกัดการเข้ามาแข่งขันของต่างชาติ การควบคุมทิศทางของเงินทุน การตรึงระดับอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในอุตสาหกรรมเหล็กกล้า รถยนต์ และคอมพิวเตอร์ บริษัทญี่ปุ่นกลับไม่เต็มใจจะผูกมัดตัวเองกับแผนรวมตัวให้เป็นปึกแผ่นของรัฐบาล ซึ่งในภายหลังก็สามารถพิสูจน์ให้ประจักษ์กันว่า เป็นการกระทำที่ถูกต้อง เพราะเมื่อต้องแข่งขันกันหนักในบ้านของตัวเองแล้ว กิจการเหล่านี้ประสบความสำเร็จด้วยดีในตลาดต่างประเทศด้วย

ในระยะต่อมา การเข้าแทรกแซงโดยตรงของรัฐบาลก็ลดลงอย่างมาก จนกระทั่งรัฐบาลเหลือบทบาทสำคัญที่สุดเพียงแค่การคอยช่วยชี้นำเท่านั้น ด้วยการที่รัฐบาลจะตอกย้ำถึงความท้าทายที่อุตสาหกรรมแต่ละแขนงต้องเอาชนะให้ได้ จากโครงการเผยแพร่รายงานและการรณรงค์อย่างหนัก ขณะเดียวกันก็คอยกระตุ้นให้บริษัทเหล่านี้มีการปฏิบัติตามด้วย เช่น โครงการรณรงค์ให้เอาใจใส่กับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

เป็นที่น่าสังเกตว่า นโยบายรัฐบาลสามารถสร้างความสำเร็จให้ญี่ปุ่นได้มากเพียงใด ก็มีผลต่อการทำลายภาวะแข่งขันได้มากเพียงนั้น รวมทั้งเป็นการปกป้องบริษัทที่ไม่มีประสิทธิภาพในเชิงแข่งขันด้วย ซึ่งต่อมาจะเป็นการทำให้ผลผลิตโดยรวมของเศรษฐกิจญี่ปุ่นลดลงด้วย

หากมองกันจริง ๆ ด้วย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีลักษณะของเศรษฐกิจ 2 ระบบในหลาย ๆ แง่ด้วยกัน ระบบหนึ่งเป็นการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ขณะเดียวกันที่อีกระบบหนึ่งก็แทบปราศจากการแข่งขันและความไร้ประสิทธิภาพก็มีอยู่อย่างแพร่หลาย

สำหรับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ของเอเชีย หรือ "นิกส์" ซึ่งผงาดขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการแข่งขันระดับนานาชาตินั้น ดูเหมือน "เกาหลีใต้" จะเป็นชาติที่มีศักยภาพดีที่สุด ในการที่จะก้าวสู่และบรรลุสถานภาพขั้นสูง และการพัฒนาความได้เปรียบระดับชาติในอุตสาหกรรมสำคัญหลาย ๆ แขนง

เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศนิกส์อื่น ๆ คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวันแล้ว เกาหลีใต้ได้ชื่อว่า ประสบความสำเร็จโดยสมบูรณ์ ในขั้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผลักดันด้วยการลงทุนในช่วงทศวรรษ 1980 ด้วยการใช้เส้นทางพัฒนาที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ในการจำกัดบทบาทของบริษัทข้ามชาติ การพยายามสร้างรากฐานแก่อุตสาหกรรมดั้งเดิม และการกู้เงินมหาศาลจากต่างประเทศ เพื่อเป็นแหล่งเงินสำคัญของการลงทุนอย่างหนักหน่วง

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกาหลีใต้โดดเด่นออกมา คือ ภาวะการแข่งขันในประเทศซึ่งเข้มข้นมากและความสามารถในการรับและดัดแปลงเทคโนโลยีต่างชาติ ในอุตสาหกรรมเฉพาะแขนงซึ่งเกาหลีประสบความสำเร็จด้วยดีนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการเลียนแบบญี่ปุ่น และมีลักษณะพิเศษที่กำหนดโดยสินค้าที่มีมาตรฐานและผลิตทีละมาก ๆ ต้องการการติดต่อจากลูกค้าค่อนข้างน้อย และสามารถใช้ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีจากคู่แข่งตะวันตกที่กำลังง่อนแง่น

ถึงอย่างไรก็ตาม ความสามารถของเกาหลีในการสร้างข้อได้เปรียบเชิงแข่งขันระดับชาติก็ยังคลุมเครืออยู่ มันขึ้นอยู่กับว่า เงื่อนไขของความต้องการและอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องหรือสนับสนุน จะสามารถนำมาเป็นบทบาทสำคัญหรือไม่ และขึ้นอยู่กับความสามารถของเกาหลีเองในการที่จะต้านทานต่อคู่แข่งได้

สำหรับสิงคโปร์นั้น ขณะที่สร้างความรุ่งเรืองก้าวหน้าอย่างรวดเร็วด้วยดี ก็ยังได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่ระบบเศรษฐกิจต้องอาศัยแรงผลักดันจากปัจจัยเป็นหลัก สถานภาพของสิงคโปร์เองนั้น ส่วนใหญ่มีบทบาทในเชิงเป็นฐานการผลิตให้บริษัทข้ามชาติมากกว่า โดยมีสิ่งดึงดูดใจในด้านต้นทุนค่อนข้างต่ำ แรงงานมีการศึกษาดี และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภครองรับอย่างเพียงพอ

แม้บริษัทระดับยักษ์ของสิงคโปร์เองยังไม่สามารถพัฒนาไปถึงระดับก้าวกระโดดได้อย่างเด่นชัด นอกจากนี้ ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนักจากนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม การที่สิงคโปร์สามารถยกระดับมาตรฐานการครองชีพขึ้นมาได้นั้น มีสาเหตุมาจากการยกระดับคุณภาพของทรัพยากรบุคคล และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพของงาน จากสิ่งเหล่านี้เองทำให้สิงคโปร์มีความโดดเด่นจากประเทศคู่แข่งพอสมควร

ขณะนี้สิงคโปร์ยังคงเป็นฐานการผลิตของต่างชาติอยู่ก็จริง แต่ศักยภาพในเชิงบวกก็มีอยู่สูงมากจนกว่าจะสามารถพัฒนาตนเองให้กลายเป็นฐานการผลิตของบริษัทในประเทศอย่างแท้จริง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.