การปรับยุทธศาสตร์แบบครอบคลุมทั่วโลกให้เข้ากับตลาดท้องถิ่นของฮอนด้า


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

นับจากปีก่อตั้งเมื่อ ค.ศ.1948 ฮอนด้าเติบโตขึ้นเป็นบริษัทที่มียอดขายสูง 25,00 ล้านดอลลาร์ จากความสำเร็จของการขยายฐานกิจการในต่างประเทศ โดย 60% ของยอดขายรวมเป็นยอดขายจากตลาดนอกญี่ปุ่น ซึ่งกระจายอยู่กว่า 100 ประเทศ ยิ่งกว่านั้น ยังมีการผลิตสินค้าในโรงงาน 77 แห่งใน 44 ประเทศ ยกเว้นญี่ปุ่น และเมื่อรวมยอดการลงทุนในต่างประเทศแล้ว สูงถึงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ยังไม่นับรวมยอดการลงทุนเพิ่มเติมในกิจการสาขาของต่างประเทศอีกกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์

จริงอยู่ที่กิจการของฮอนด้าในทั่วโลกประสบความสำเร็จได้ เพราะการเป็นบริษัทข้ามชาติ แต่ก็มีลักษณะพิเศษตรงที่สามารถปรับตัวเข้ากับตลาดท้องถิ่น (LOCALISATION) ที่ตนเข้าไปขยายกิจการหรือดำเนินการเป็นอันดันแรกสุด ยุทธศาสตร์ในต่างประเทศประกอบด้วยแนวคิดเป้าหมาย 4 ประการ คือ การปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่น โดยเน้นที่ตัวสินค้า ผลกำไร การผลิต และการบริหาร

1. การปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นในแง่ของสินค้า นี่หมายถึงการพัฒนา การผลิต และการทำตลาดสินค้าให้เหมาะสมที่สุดกับความต้องการของลูกค้า สภาพทางเศรษฐกิจและสินค้าของท้องถิ่นแม้ว่าสินค้าที่ดีจริงนั้น จะไม่ถูกจำกัดจากขอบเขตของการเป็นประเทศ แต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่บ้างในตลาดแต่ละแห่ง ในแง่ของการใช้สินค้า และความคาดหวังของลูกค้าที่มีต่อสินค้า ถ้าหากบริษัทคิดเพียงง่าย ๆ ว่า สินค้าที่ประสบความสำเร็จในตลาดบางแห่งจะต้งประสบความสำเร็จในทั่วโลกด้วย ก็ดูเหมือนว่าบริษัทนั้นกำลังเผชิญกับความผิดพลาดราคาแพง และครั้งใหญ่จนอาจนำไปสู่ความล้มเหลวได้

กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ธุรกิจในส่วนมอเตอร์ไซค์ ผู้บริโภคในตลาดอเมริกาเหนือนิยมใช้รถมอเตอร์ไซค์เพื่อขับเล่นหรือแข่งกีฬา จึงต้องการรถที่มีความเร็วสูง ส่วนในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ผู้บริโภคนิยมใช้รถเป็นยานพาหนะขับขี่ จึงต้องการรถราคาถูกและบำรุงรักษาง่ายในออสเตรเลีย คนเลี้ยงแกะใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะต้อนฝูงแกะ จึงต้องการรถที่มีความเร็วต่ำและบำรุงรักษาง่าย ฮอนด้าจึงผลิตรถมอเตอร์ไซค์ที่เหมาะสมกับตลาดแต่ละแห่งด้วยความแตกต่างนี้ และไม่เพียงปรับใช้ในการผลิตรถยนต์กบรถมอเตอร์ไซค์เท่านั้น แต่ยังใช้กับ
สินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ด้วยความสามารถในการแยกแยะความแตกต่าง และผลิตสินค้าตามกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม

การปรับตัวสินค้าให้เข้ากับท้องถิ่นยังต้องอาศัยการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งในส่วนของตัวสินค้ากับประสิทธิภาพ การผลิตให้เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ฮอนด้าใช้งบประมาณ 5% ของยอดขายต่อปีของบริษัทแม่ สำหรับงานวิจัยและพัฒนาด้านสินค้าและเทคนิคการผลิต โดยไม่คำนึงถึงความผันผวนของผลกำไร ยิ่งกว่านั้นยังจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ยุโรปตะวันตก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีวิศวกรทั้งชาวญี่ปุ่นและในท้องถิ่นทำงานร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจตลาดท้องถิ่น และพัฒนาสินค้าที่เหมาะกับตลาดแต่ละแห่งที่สุด

2. การปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นในแง่ผลกำไร ส่วนนี้หมายถึงการเพิ่มการลงทุนในตลาดท้องถิ่นให้มากพอ ๆ กับผลกำไรเท่าที่จะทำได้ บริษัทที่ไปลงทุนในต่างประเทศควรคิดว่า ตนเป็นบริษัทท้องถิ่น และพยายามสร้างความมั่งคั่งร่วมกับประเทศที่ตนเข้าไปลงทุน การเพิ่มการลงทุนเป็นการบอกถึงความสนใจและตั้งใจอย่างชัดแจ้งของบริษัทข้ามชาติว่า มุ่งดึงเอาผลกำไรกลับบริษัทแม่ โดยไม่สนใจสร้างประโยชน์แก่ประเทศที่ตนเข้าไปลงทุนหรือไม่

ปี 1959 ฮอนด้าตั้งบริษัทลูกทางด้านการตลาดชื่อ "อเมริกัน ฮอนด้า" ขึ้นที่ ลอสแองเจลิส โดยใช้เงินลงทุน 250,000 ดอลลาร์ ตัวเลขที่ว่านี้ได้เติบโตขึ้นถึง 800 เท่าในปัจจุบันเป็น 200 ล้านดอลลาร์ จากการเพิ่มการลงทุนจากผลกำไรของ "อเมริกัน ฮอนด้า" นั่นเอง เงินลงทุนเพิ่มจากผลกำไรของ "อเมริกัน ฮอนด้า" กว่า 1,700 ล้านดอลลาร์ถูกนำไปก่อสร้างและขายโรงงานผลิตเครื่องยนต์และรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ในโอไฮโอ เป็นต้น

3. การปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นในแง่ของการผลิต วิธีการสร้างผลกำไรไม่ได้มาจากการส่งสินค้าสำเร็จรูปออกจำหน่ายยังต่างประเทศเท่านั้น แต่ต้องนำกิจกรรมการผลิตไปยังตลาดหลักที่มีอยู่ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาของประเทศที่ตนไปตั้งฐานอยู่และร่วมกันสร้างความมั่งคั่ง โดยปกติแล้ว บริษัทธุรกิจจะสำรวจหาตลาดใหม่โดยตั้งฐานการตลาดและนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป แต่เมื่อใดที่ประเทศเจ้าบ้านต้องการให้ผลิตสินค้านั้นภายในประเทศแล้ว ก็ควรจะพร้อมที่จะตั้งฐานการผลิตในประเทศได้ทันท่วงที เพื่อเป็นการสร้างการยอมรับทั้งตัวสินค้าและตัวบริษัท และจะได้รับผลดีในระยะยาว

วิธีการในการเพิ่มสัดส่วนของการดำเนินธุรกิจในท้องถิ่น ซึ่งทำให้เกิดความเร็วในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกวิธีการก็คือ สร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิตในท้องถิ่น ซึ่งไม่เพียงขยายโอกาสการลงทุนแต่ยังทำให้พนักงานมีความรับผิดชอบมากขึ้นและมีความภูมิใจที่ได้ผลิตสินค้าเอง

การตั้งฐานการผลิตในท้องถิ่นยังอาจหมายถึงการตกลงร่วมมือทางเทคนิคกับผู้ร่วมทุนท้องถิ่นที่ต้องการโอนย้ายเทคโนโลยี จึงร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นนั้น หรือจัดตั้งบริษัทลูกของตน 100% จึงต้องเลือกวิธีการ ที่เหมาะสมที่สุดต่อความต้องการและเงื่อนไขของประเทศเจ้าบ้าน รวมทั้งจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นระดับของการเป็นประเทศอุตสาหกรรม ขนาดของตลาด แรงต่อต้านจากความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคม และความต้องการและความสามารถของผู้ร่วมทุนท้องถิ่น ฮอนด้าเองเลือกที่จะตั้งบริษัทลูกที่ตนเป็นเจ้าของ 100% ในสหรัฐฯ และแคนาดา ขณะที่ยุโรปนั้นร่วมมือกับโรเวอร์ กรุ๊พแห่งอังกฤษ ส่วนในไทยก็ผลิตมอเตอร์ไซค์ร่วมกับบริษัทท้องถิ่นในอินโดนีเซียผลิตมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์เครื่องยนต์และส่วนประกอบโดยการร่วมทุนและร่วมมือทางเทคโนโลยีเพิ่มเติม

4. การปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นในแง่การบริหาร มีความหมายที่ก้าวไกลกว่าการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการดำเนินการด้านการบริหาร ผู้บริหารท้องถิ่นและพนักงานจะต้องเข้าใจถึงปรัชญาพื้นฐานขององค์กร ผู้บริหารที่มาจากสำนักงานใหญ่ควรได้รับการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน โดยทำความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น และวิธีคิดของคนในท้องถิ่น เพราะเทคนิคการบริหารหรือปรัชญาขององค์กรในรูปแบบใหม่อาจเป็นสิ่งที่แปลกและไม่คุ้นชินสำหรับคนเหล่านั้น จึงควรมีการขยายสิ่งเหล่านี้ให้มีความหมายกว้างขวางขึ้น เพื่อให้สะดวกและเหมาะสมกับเงื่อนไขของท้องถิ่น

จากประสบการณ์หลายปีในตลาดหลายส่วนของโลก ฮอนด้าพบว่า การสื่อสารที่ดีระหว่างฝ่ายบริหารกับพนักงานและการมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบ จะช่วยกระตุ้นให้พนักงานรู้สึกต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และในทางกลับกันก็ยังทำให้พนักงานมีความรู้สึกรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การปรับปรุงผลิตภาพการยกมาตรฐานคุณภาพและการบำรุงรักษาความริเริ่มของฝ่ายบริหาร จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายขององค์กร ความสำเร็จหรือความล้มเหลวล้วนขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับพนักงาน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.