SCBคาดจีดีพีครึ่งปีหลังโต3.8-4.5%จับตาปัจจัยการเมือง-ตปท.ยังเสี่ยง


ผู้จัดการรายวัน(13 มิถุนายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ไทยพาณิชย์ประเมินเศรษฐกิจครึ่งหลังปี 50 โต 3.8-4.5% ยังต้องพึ่งการส่งออกเป็นตนัวขับเคลื่อนหลัก พร้อมจับตาใกล้ชิดอีกหลายประเด็นที่มีผลต่อกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ JTEPA การเปิดเสรีภาคบริการ ปัญหาทางการค้ากับสหรัฐ และการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนสิ้นปีมีโอกาสแตะค่าเงินบาทแะระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีแนวโน้มปรับลงต่อ คาดสิ้นปีอาร์พีอยู่ที่3.25%

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB)เปิดเผยในงานสัมมนา SCB Business Banking ในหัวข้อ "แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและการเงินครึ่งปีหลัง"ว่า ธนาคารคาดการณ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวที่ 3.8-4.5% โดยได้แรงหนุนจากภาคการส่งออกที่แม้ว่าจะถูกจำกัดโดยความผันผวนของค่าเงินบาทก็ตาม รวมทั้งยังได้รับแรงหนุนจากการเบิกจ่ายงบลงทุนที่จะเร่งตัวขึ้นของภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปีด้วย ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่สะดุดและการบริโภคภาคเอกชนติดลบ คงยังไม่สามารถฟื้นคืนมาได้เร็ว แต่คาดว่าไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป สถานการณ์ต่างๆจะเริ่มดีขึ้น หากการเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้ตามกำหนด มีความชัดเจนว่าพรรคการเมืองใดจะเข้ามาบริหารประเทศ และนโยบายเศรษฐกิจจะออกมาเป็นเช่นไร เพื่อเดินหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

"เศรษฐกิจไทยก็เหมือนกับเครื่องบินที่มีเครื่องยนต์เป็นตัวขับเคลื่อน โดยเครื่องยนต์ที่ใส่เกียร์ 5 สามารถเดินหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีคือภาคการส่งออก แต่ภาคที่แผ่วลงไปคือภาคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายของภาครัฐที่ในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมายังมีการเบิกจ่ายน้อย"นายวิรไท กล่าว

ในส่วนของค่าเงินบาทปัจจัยที่ส่งผลให้เงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐอเมริกา เป็นผลจากแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ค่าเงินเอเชียที่แข็งค่าขึ้น และเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่มีความผันผวน รวมทั้ง อาจมีเงินทุนไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์ จากการที่ตลาดหุ้นไทยราคายังถูกเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆช่วยหนุนให้ทิศทางเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทย คือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2550 โดยความตกลงดังกล่าวจะส่งผลเรื่องการลดภาษีนำเข้าและการให้โควตาพิเศษของญี่ปุ่นจะช่วยขยายตลาดส่งออกของไทย และเพิ่มการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ขณะเดียวกันการลดภาษีนำเข้าของไทยยังจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ เช่น เหล็กบางประเภท ผลไม้เมืองหนาว แต่อาจมีผลกระทบทางลบต่อสินค้าที่ผลิตในประเทศได้ เช่นชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร ซึ่งผู้ประกอบการมีเวลา 5-8 ปีในการปรับตัว นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเปิดเสรีภาคบริการโดยการให้บริษัทไทย คนไทยเข้าไปจัดตั้งกิจการ ให้บริการทำงานในญี่ปุ่น รวมถึงการให้ผู้ป่วยญี่ปุ่นมารับการรักษาพยาบาลในไทยและเบิกค่าใช้จ่ายจากรัฐบาลได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจโรงบาลเอกชนในไทย

สำหรับประเด็นในเรื่องของปัญหาทางการค้ากับอเมริกา ซึ่งไทยได้ถูกปรับลดระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา จากเดิมที่อยู่ในบัญชีจับตา เป็นบัญชีจับตาพิเศษ หลังไทยประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิในผลิตภัณฑ์ยา 3 รายการ โดยไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีจับตาพิเศษจึงอาจทำให้ไทยมีความน่าสนใจน้อยลงในสายตานักลงทุนต่างชาติ

และที่สำคัญคือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในประเด็นทางเศรษฐกิจ อาทิ แนวทางการกำหนดให้จัดทำงบประมาณประจำปี และการใช้จ่ายของรัฐบาลมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ เป็นต้น ส่วนปัจจัยต่างประเทศนั้น คือความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก การปรับนโยบายทางการเงินของจีน เป็นต้น

ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริหารการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่เหลือของปีว่า ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าขึ้นและมีความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินคือปัจจัยภายในประเทศซึ่งประกอบด้วย ภาวะเศรษฐกิจมหภาคของไทย การบริโภคภาคเอกชน การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออกสุทธิ การเมืองและความเชื่อมั่นในประเทศ ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศ ประกอบด้วยอัตราอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศเทียบกับต่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ทิศทางของค่าเงินสกุลหลักๆ และค่าเงินในภูมิภาค โดยในอนาคตคาดการณ์ว่าแนวโน้มค่าเงินบาทจะแข็งค่าถึง 34.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะเป็นผลจากแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และค่าเงินในเอเชียที่แข็งค่าขึ้น รวมทั้งอาจมีเงินทุนไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อได้ปรับลดลงเช่นเดียวกัน โดยในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบันต่อไปหรืออาจปรับลดลงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง โดยในสิ้นปีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) จะอยู่ที่ 3.25% จากปัจจุบันที่ 3.50% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนจะอยู่ที่ 1.75-2.00% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.25% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์น่าจะอยู่ที่ 6.50-6.75% จากปัจจุบันที่ 7%

"โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะปรับลดลงมีอีกไม่มาก อีกทั้งตลาดได้คาดการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้แล้ว ส่วนการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นคงเป็นเรื่องที่ยาก แต่ในอนาคตก็มีสิทธิ์ปรับขึ้น”นายภากร กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.