สำลี ใจดี เป็นผู้หญิงร่างสูงใหญ่กว่ามาตรฐานหญิงไทยทั่วไป เธอสอนหนังสืออยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์มานานหลายสิบปี
บรรดานักศึกษาเภสัชศาสตร์ต่างรู้จัก "อาจารย์สำลี" เป็นอย่างดี
สำลีเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มศึกษาปัญหายาและมูลนิธิเกี่ยวกับยาอีกมากมาย
จุดมุ่งหมายของเธอต้องการให้ประชาชนได้ใช้ยาที่มีคุณภาพดี ราคาถูก ไม่ตกเป็นเหยื่อบริษัทยาทั้งในและนอกประเทศที่อาศัยช่องว่างจากความไม่รู้และวัฒนธรรมการบริโภคยาอย่างผิด
ๆ ของประชาชนมาเป็นเครื่องมือหากิน
สำลีเป็นผู้ที่เสนอให้ใช้คำว่า "ร้านยาหรือห้องยา" แทน "ร้านขายยา"
เพราะเธอถือว่าร้านยาเป็นสถานพยาบาลอย่างนึ่งที่คอยให้บริการและความรู้เกี่ยวกับยาแก่ประชาชน
ไม่ใช่แต่การขายสินค้าอย่างเดียว
เธอถือว่ายาไม่ใช่สินค้าธรรมดาที่ประชาชนหรือผู้บริโภคทั่ว ๆ ไปจะตัดสินได้ด้วยตัวเอง
แต่มีความจำเพาะ มีอันตรายที่ต้องการผู้รู้มาดูแลจัดการ ทั้งนี้มียากลุ่มหนึ่งที่ชาวบ้านสามารถตัดสินใจซื้อและใช้ได้ด้วยตัวเอง
แต่ก็มีอีกกลุ่มใหญ่ที่ต้องได้รับคำแนะนำจากผู้รู้โดยตรง
โดยทั่วไปนั้น วงจรของระบบยาจะเริ่มตั้งแต่การคัดเลือก ขึ้นทะเบียนยา ผลิต
แล้วจึงจะกระจายไปถึงมือผู้ใช้ หมอสั่งใช้เภสัชฯ สั่งจ่าย ประชาชนบริโภค
ประเด็นเรื่องขายยานั้น อยู่ในขั้นตอนของการกระจายยาซึ่งในสังคมไทยมีการกระจายอยู่
3 ทางด้วยกัน คือ ทางรัฐโดยผ่านทางกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม
โรงพยาบาล/ห้องยาชุมชน และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ถ้าผ่านทางคณะเภสัชศาสตร์ของทบวงมหาวิทยาลัยก็โดยทางสถานปฎิบัติการเภสัชกรรมชุมชน
หรือที่เห็นชัดเจน คือ โอสถศาลาตรงคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และโดยผ่านทางกระทรวงกลาโหม คือ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ
การกระจายทางที่สองเป็นส่วนของเอกชน คือ ร้านขายยาซึ่งเวลานี้เจ้าของร้านขายยารวมตัวกันเป็น
2 กลุ่มใหญ่ คือ เสภัชกรชุมชน ในเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย กับสมาคมร้านขายยา
คือ กลุ่มพ่อค้ายากลุ่มเก่าที่มีร้านขายยาของตัวมาดั้งเดิม นอกจากนี้ก็มีทางรถเร่ขายยา
คลินิกแพทย์ซึ่งสามารถจ่ายยาให้ผู้ป่วยของตนได้ และร้านยาตามศูนย์การค้า
ทางที่สาม คือ ผ่านองค์กรการกุศลที่ไม่ได้แสวงหากำไร เช่น มูลนิธิเภสัชชนบท
มูลนิธิแพทย์ชนบท ซึ่งอาจคิดค้นรูปแบบการบริการเป็น หอยา กองทุนยา คลินิกร่วมใจ
ใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุก คือ ให้หน่วยงานเหล่านี้ไปตั้งในชุมชน ถ้าโรงพยาบาลชุมชนมีเภสัชฯ
2 คนก็ให้คนหนึ่งอยู่ประจำโรงพยาบาล อีกคนหนึ่งอยู่ที่หน่วยงานนี้ทำหน้าที่ดูแลกองทุนยา
แนวคิดเรื่องห้องยาชุมชนนั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะทำสถานบริการยาที่ดี มีคุณภาพ
ให้ความรู้ให้การศึกษาแก่ประชาชน ไม่ใช่เป็นที่ที่แสวงหากำไร
นี่คือ รูปแบบการพัฒนาการบริการด้านสาธารณสุขที่สำคัญยิ่ง
ระหว่างกันยายน 2528 - ธันวาคม 2529 เภสัชกรวิทยากุลสมบูรณ์และคณะได้ร่วมกันทำวิจัยโดยจัดตั้งห้องยาชุมชนบริเวณตลาดอำเภอสูงเนิน
นครราชสีมา เพื่อเป็นสถานบริการจำหน่ายยาและรักษาโรค โดยได้รับการสนับสนุนด้านบุคลากร
ยาและเวชภัณฑ์จากโรงพยาบาลสูงเนิน ถือว่าห้องยาฯ นี่เป็นกิจกรรมหนึ่งของโรงพยาบาล
ผลการวิจัย พบว่า มีผู้ป่วยมาใช้บริการจากห้องยาฯ คิดเป็น 10% ของผู้ป่วยที่มาใช้บริการจากโรงพยาบาล
ซึ่งในชั้นนี้นับว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งมีการคิดกำไรจากการจำหน่ายยาแก่ผู้ป่วยสูง
30% จากราคาทุน
แม้ว่าโครงการจะไม่สำเร็จเพราะใช้เวลาน้อยเกินไปจนไม่สามารถดำเนินการให้ถึงจุดคุ้มทนุได้
แต่การทดลองครั้งนี้ให้ข้อมูลที่ดีมากในการจัดการเรื่องห้องยาชุมชน
วิทยา เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า เขาได้พยายามเสนอและผลักดันแนวคิดห้องยาชุมชนให้กระทรวงสาธารณสุขรับไปพิจารณาดำเนินการ
โดยให้ใช้โรงพยาบาลเป็นฐานในขอบเขตที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ใช้เภสัชกรจากเภสัชกรคู่สัญญาเป็นผู้ปฏิบัติการ
ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญส่วนหนึ่งของห้องยาชุมชน คือ ต้องพยายามแก้ไขปัญหาเรื่อพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมของชุมชนนั้น
ๆ ด้วย
วิทยา ทบทวนประสบการณ์งานสาธารณสุขในภาคอีสานว่า "เวลาผู้ป่วยมาหาหมอจะเล่าอาการว่า
"หายใจไม่อิ่ม กินข้าวไม่แซบ นอนไม่หลับ" ซึ่งว่าตามจริงแล้ว มันเป็นความทุกข์
ไม่ใช่อาการป่วย ผู้ป่วยสามารถหายได้โดยไม่ต้องใช้ยา ภาษาวิชาการเรียก PLACEBO
EFFECT หรือยาหลอก หมอจับตัวพูดคุยด้วยก็หายแล้ว มันเหมือนกับเป็นไสยศาสตร์
หรือถ้าจะต้องให้ยาจริง ๆ ก็มีอยู่เพียง 3 ตัวเท่านั้นที่หมอและเภสัชฯ ทั่วไปแถบภาคอีสานนิยมใช้
คือ พาราเซตฯ ซึ่งเป็นยาแก้ปวด สองแวเลี่ยมหรือไดอะซีแฟม ซึ่งเป็นยากล่อมประสาท
และสามวิตามิน บางทีเราเรียกว่า พาราไดซ์ คือ พาราเซตฯ บวกไดอะซิแฟม คนไข้ก็จะสบายไม่มากวนอีก
เพราะกินยาแล้วง่วงนอน หลับและหายปวดเมื่อยด้วย"
สำลีวิจารณ์ระบบการเรียนการสินในมหาวิทยาลัยซึ่งก่อปัญหาประการหนึ่ง คือ
"มักจะสอนเน้นหนักพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มาก ทำให้มองคนเป็นวัตถุสิ่งของ
มีความรู้สึกว่าจะต้องรักษาโรคด้วยยาเท่านั้น ทั้งแพทย์และเภสัชฯ ต่างพยายามคิดว่า
ถ้าผู้ป่วยมีอาการเช่นนี้ ๆ จะให้ยาอะไรกินได้บ้าง ทั้งที่ความจริงแล้ววิธีการรักษามีหลายแบบ
รักษาด้วยยา ด้วยจิต ด้วยธรรมชาติ เราไม่ควรสร้างมโนสำนึกว่า การใช้ยาเป็นทางเลือกทางเดียวเท่านั้น
เมื่อใดก็ตามที่คิวด่ามีทางเลือกนี้เพียงทางเดียว ดิฉันถือว่าเป็นหายนะ"
สำลี ร่วมงานกับกลุ่มศึกษาปัญหายามานานกว่า 13 ปี เป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการรณรงค์ปัญหาเกี่ยวกับยา
และร่วมผลักดันการตั้งสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน (โอสถศาลา) เพื่อให้เป็นต้นแบบห้องยาชุมชนที่ถูกต้อง
เป็นตัวแบบของสถานบริการทางยาที่ได้มาตรฐาน
เป็นแนวคิดที่กระทรวงสาธารณสุขน่าจะได้นำมาพิจารณาอย่างจริงจังเสียอีก !