เมื่อปลายปี 2533 ที่ผ่านมา มีสมาคมเกี่ยวข้องกับการผลิตและจำหน่ายเทปวิดีโอแห่งสหรัฐอเมริกาได้ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยต่อ
คราร่าฮิลล์ ผู้แทนการค้าของเขาให้พิจารณาใช้มาตรการอย่างแข็งกร้าวถึงขั้นเสนอใช้มาตรา
301 กับไทยที่ไม่เข้มงวดในการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์และไม่จริงจังในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล
รวมไปถึงการไม่มีความพยายามที่จะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
พ่อค้าสหรัฐอเมริกาใช้สิทธินี้ในฐานะที่เป็นสมาชิกองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก
ซึ่งได้ตกลงกันไว้ในอนุสัญญากรุงเบิร์นที่ประเทศสมาชิกจะต้องให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต่อกัน
และประเทศไทยก็เป็นสมาชิกและได้ลงนามในสัญญาดังกล่าวนั้นด้วย
องค์กรการค้าของสหรัฐที่ยื่นข้อเสนอเรียกร้องดังกล่าวนั้น มี 3 สมาคม คือ
THE INTERNATIONAL INTELLECTUAL PROPERTY ALLIANCE THE RECORDING INDUSTRY
ASSOCIATION OF AMERICA และ THE MOTION PICTURE EXPORT ASSOCIATION
ข้อเรียกร้องว่า ในปีหนึ่ง ๆ พ่อค้าเจ้าของลิขสทธิ์เทปวิดีโอของสหรัฐอเมริกาต้องได้รับความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์สินค้าหรืองานสร้างสรรค์ประเภทนี้
โดยพ่อค้าคนไทยไม่น้อยกว่า 2,500 ล้านบาท เรียกว่าอยู่ในขั้นที่จะอดทนต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
ถ้าไม่ติดสงครามอ่าวเปอร์เซียเสียก่อน ประมาณต้นปีนี้ พวกเขาจะต้องเดินทางเข้ามาเพื่อเจรจาเรื่องนี้กับทางการไทย
การละเมิดลิขสิทธิ์หรือขโมยงานสร้างสรรค์นี้ออกมาในรูปของการลอกเลียนแบบ
หรือดัดซ้ำ หรือที่เรียกกันว่าก๊อปปี้จากต้นฉบับเดิมเพื่อจำหน่ายแข่งกับเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริงอีกทีหนึ่ง
สำหรับประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์เป็นกฎหมายรองรับเอาผิดทางอาญากับผู้ที่กระทำการละเมิดหรือลักขโมยลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น
ขบวนการก๊อปปี้หรือขโมยงานสร้างสรรค์ด้านเพลงและภาพยนตร์วิดีโอจากต่างประเทศของไทยเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่คงยากที่จะลำดับได้
แต่คงเกิดขึ้นพร้อมกับการเข้ามาของเครื่องเล่นวิดีโอเทปเพลงสำหรับคนชั้นสูง
ก่อนที่จะแพร่กระจายเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน บางคนบอกว่ามีมาก่อนที่จะเกิดบริษัทผู้นำเข้าลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องเสียด้วยซ้ำ
"แรก ๆ ก็คงขอก๊อบปี้กันไปมาในหมู่พรรคพวกเพื่อนฝูง ไม่ใช่ลักษณะที่ทำกันเป็นธุรกิจอย่างเช่นปัจจุบัน"
คนในวงการวิดีโอคนหนึ่งให้ความเห็น
เมื่อเกิดความนิยมมากขึ้นจึงมีการทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และพัฒนาใหญ่โตขึ้นมาในระดับมีเงินหมุนเวียนกันนับสิบ
ๆ ล้านบาทต่อเดือนอย่างเช่นปัจจุบัน
โดยเฉพาะบรรดาเจ้าของโรงหนังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่กระจายความนิยมเครื่องเล่นวิดีโอนี้โดยตรง
เมื่อประมาณปี 2525 เป็นต้นมา มีโรงหนังหลายโรงทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่างก็ปิดตัวเองอย่างนับไม่ถ้วน
ในขณะที่กลุ่มโรงหนังบางแห่งก็สามารถปรับตัวเองเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
โดยหันมาค้าขายลิขสิทธิ์หนังวิดีโอไปด้วย แทนที่จะซื้อหนังมาฉายตามโรงหนังเพียงอย่างเดียวก็ซื้อลิขสิทธิ์ในการทำวิดีโอจำหน่ายด้วยอีกทางหนึ่ง
อย่างเช่นบริษัทวีซีดี ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำเข้า และผลิตหนังวิดีโอที่ได้รับลิขสิทธิ์จากผู้สร้างและจำหน่ายในต่างประเทศมากที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน
ก็เกิดการปรับตัวของผู้สร้าง เจ้าของโรงและผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ อย่างเช่น
กำพล ตันสัจจา เจริญ เอี่ยมพึ่งพร ศุภวัฒน์ จิระมงคล และอีกหลายคนร่วมกับชอว์บารเดอร์แห่งฮ่องกงตั้งบริษัทวีซีดีนี้ขึ้นมาเพื่อนำเข้า
ผลิต และจำหน่ายเทปหนังวิดีโอจากต่างประเทศ
แต่เนื่องจากการสื่อสาร และการเดินทางระหว่างประเทศในยุคนี้มีความรวดเร็วทันสมัยมากขึ้น
ฉะนั้นการที่ใครก็ตามจะไปเดินซื้อเทปวิดีโอในตลาดนิวยอร์ก ฮ่องกง สิงคโปร์
แล้วใส่กระเป๋าเดินทางเข้ามาในประเทศจึงไม่ใช่เรื่องยากเลยในปัจจุบันคนที่เห็นช่องทางนี้ได้นำมาทำเป็นธุรกิจกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
แทนที่จะซื้อเข้ามาดูคนเดียวหรือเฉพาะในหมู่พรรคพวกเหมือนอย่างแต่เก่าก่อนก็เล่นก็อบปี้ขายจนเป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาได้ในปัจจุบัน
แต่ก่อนที่จะมีคำว่า "วิดีโอผี" ก็คงต้องรู้ว่าวิดีโอไม่ผีนั้นเป็นอย่างไร
วิดีโอไม่ผีนั้น คือวิดีโอที่นำเข้ามาจำหน่ายโดยได้รับอนุญาตหรือซื้อลิขสิทธิ์จากเจ้าของเขาในต่างประเทศอย่างถูกต้องหรือจะเรียกวว่าวิดีโอลิขสิทธิ์ก็คงไม่ผิด
ต่างกับวิดีโอเถื่อน ซึ่งนำเข้ามาโดยไมม่เสียภาษีหรือดำเนินการตามพิธีการทางศุลกากรให้ถูกต้อง
กลุ่มบริษัทที่ทำกันโดยถูกต้องเปิดเผยและมีชื่อเสียงในปัจจุบันมีประมาณ
10 กว่าราย (โปรดดูตารางประกอบ) บริษัทเหล่านี้จะติดต่อผู้สร้างหรือจัดจำหน่ายหนังรายใหญ่ๆที่มีชื่อในต่างประเทศเพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์หนังเข้ามาผลิตจำหน่ายในประเทศไทยอีกช่วงหนึ่ง
ส่วนสัญญาซื้อขายนั้นจะมีเงื่อนไขอย่างไรก็แล้วแต่จะตกลงกัน เช่นจ่ายเงินเป็นรายปีเพื่อให้นำการค้าเข้ามาใช้ในฐานะตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว
ส่วนซื้อหนังเรื่องอะไรเข้ามาจำหน่ายบ้างก็แล้วแต่ผู้ซื้อจะเลือก โดยคิดราคาค่าลิขสิทธิ์กันเป็นเรื่องๆไปอีกต่างหากเป็นต้น
หรืออาจมีเงื่อนไขด้านปริมาณที่จะก็อบปี้ออกจำหน่ายในแต่ละเรื่อง ซึ่งอาจมีการคุมยอด
แล้วแต่จะตกลงกัน
เช่นกลุ่มวีซีดีซึ่งเป็นที่มีสัญญากับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายในต่างประเทศมากที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเมเจอร์ พาราเม้าท์ ยูนิเวอร์แซล วอร์เนอร์ เอสเค-ทีวีบีฮ่องกงและไฟว์สตาร์
ไม่มีใครเปิดเผยราคาค่าลิขสิทธิ์และเงื่อนไขต่างๆ สัญญาให้ใครทราบ เพราะคนในวงการถือว่า
เรื่องนี้เป็นความลับทางการค้าที่สำคัญที่สุด แต่ละรายจะบอกเพียงว่าซื้อมาแพงลิบลิ่วทีเดียว
แหล่งข่าวบอกว่าขึ้นต่ำตกประมาณ 200,000 บาทต่อเรื่อง
เมื่อนำเข้ามาแล้วก็อัดลงในม้วนมาสเตอร์เพื่อนำออกจำหน่ายแก่ศูนย์ให้เช่าโดยจะมีสัญญากับศูนย์ให้เช่าในลักษณะเรียก
เก็บค่าลิขสิทธิ์กันเป็นรายปี โดยเก็บเงินล่วงหน้าเป็นรายเดือน 3 เดือน 6
เดือน แล้วแต่จะต่อรอง ซึ่งแต่ละศูนย์จะไม่เหมือนกัน
ปัจจุบัน ค่าลิขสิทธิ์รายปีนี้จะตกประมาณ 36,000-24,000 บาทต่อปี หรือประมาณ
3,000-20,000 บาทต่อเดือน โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทผู้นำเข้าและผลิตจะป้อนเทปหนังวิดีโอเป็นจำนวนเรื่องและจำนวนมม้วนเท่านั้นเท่านี้ต่อเดือน
ซึ่งถ้าคิดโดยเฉลี่ยต่อม้วนจะตกประมาณ 500 บาทต่อม้วนขึ้นไป
ศูนย์ให้เช่ารายใดมีสัญญากับผู้นำเข้า ผลิตและจำหน่ายหนังเทปวิดีโอลิขสิทธิ์จากต่างประเทศจะมีป้ายบอกไว้หน้าร้าน
จากนั้นศูนย์วิดีโอให้เช่าจะนำหนังจากม้วนมาสเตอร์ที่ได้มาจากผู้ผลิตมาก็อบปี้ลงในม้วนเปล่าอีกต่อหนึ่งเพื่อนำออกบริการให้แก่ลูกค้า
โดยคิดอัตราเช่าตั้งแต่ 10-30 บาท แล้วแต่ว่าใครจะตีราคา ทั้งนี้อยู่ที่ทำเล
คุณภาพและความนิยมในหนังแต่ละเรื่อง
แต่เนื่องจากหนังวิดีโอที่ผ่านขบวนการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์กันอย่างถูกต้องดังกล่าวมีวางขายและสามารถหาซื้อได้จากตลาดนิวยอร์ก
ฮ่องกง สิงคโปร์ ในราคาต้นทุนไม่กี่ร้อยบาท จึงมีคนเห็นช่องทางค้ากำไร โดยการซื้อเข้ามาอัดขายกันอย่างแพร่หลาย
คนในวงการธุรกิจวิดีโอ เปิดเผยว่าต้นทุนในการนำเข้าเทปวิดีโอโดยไม่ผ่านการซื้อขายลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง
นอกจากราคาซื้อขายกันในท้องตลาดต่างประเทศจะถูกแล้ว เมื่อรวมค่าเครื่องบินและภาษีนำเข้าแล้วจะตกประมาณหมื่นกว่าบาทเท่านั้นเอง
บุคคลเหล่านี้จึงสามารถนำหนังเข้ามาอัดขายต่อในราคาต่ำๆ เพียงม้วนละ 90-150
บาทได้อย่างสบาย ๆ มีกำไรเกินกว่าครึ่งเข้าไปแล้ว
ในขณะที่มาสเตอร์เทปจากผู้นำเข้าอย่างถูกต้องจะมีราคาสูงถึง 500 บาทต่อม้วน
เทปวิดีโอพวกนี้จะขายให้แก่ศูนย์ให้เช่าราคาแพงที่สุดประมาณ 150-200 บาทต่อม้วน
เรียกว่า ถูกกว่าที่ซื้อมาโดยวิธีถูกต้องตามกฎหมายกว่าครึ่งหนึ่งทีเดียว
เพราะฉะนั้น ร้านที่รับวิดีโอผีเข้าไปในร้านไม่ว่าจะในรูปของการขายหรือให้เช่าก็ล้วนแต่มีความผิดในหมวดเดียวกันทั้งสิ้น
คือ ละเมิดลิขสิทธิ์ เจ้าของที่แท้จริงสามารถร้องทุกข์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีได้
เรียกว่า เข้าไปอยู่ในขบวนการวิดีโอผีอีกประเภทหนึ่ง นอกเหนือจากขบวนการนำเข้าดังที่กล่าวแล้ว
มีประเด็นน่าสังเกตว่าทำไมศูนย์ให้เช่าวิดีโอพวกนี้จึงต้องเข้าไปร่วมขบวนการละเมิดลิขสิทธิ์กับเขาด้วย
ทั้ง ๆ ที่มีหนังลิขสิทธิ์ให้ซื้ออยู่แล้ว
เป็นที่ยอมรับกันในวงการธุรกิจให้เช่าวิดีโอว่า ร้านเหล่านี้จำเป็นต้องมีหนังเถื่อนหรือวิดีโอผีพวกนี้ไว้เกือบทุกร้าน
เพื่อลดต้นทุนของร้าน และบางครั้งก็ซื้อวิดีโอผีเพราะหนังได้รับความนิยมดีกว่า
และก็มาถึงตลาดกรุงเทพฯ เร็วกว่าพวกที่นำเข้ามาโดยถูกต้องตามกฎหมายและอีกหลายเหตุผลซึ่งมีดังนี้
หนึ่ง - การจ่ายค่าลิขสิทธิ์เป็นปีให้แก่ผู้นำเข้าและผลิตนั้นมีการกำหนดส่งหนังเป็นจำนวนเรื่องหรือม้วนแน่นอนก็จริง
แต่บางครั้งก็คัดเลือกหนังที่ไม่ดีส่งมาให้แบบ 50 : 50 ผสมผสานกันระหว่างหนังที่มีความนิยมพอขายได้กับหนังที่ขายไม่ค่อยได้เลย
สอง - ความล่าช้า เพราะผู้สร้างหนังอเมริกันเขามีข้อตกลงกันว่า หนังของบริษัทผู้สร้างอเมริกันแต่ละเรื่องจะทำเป็นเทปวิดีโอออกจำหน่ายได้ก็ต่อเมื่อหนังออกจากโรงไปแล้ว
6 เดือน
สาม - เทปวิดีโอผีนอกจากจะต้นทุนต่ำกว่าแล้ว ความนิยมของตลาดก็สูง สามารถทำรายได้เป็น
10 เท่าตัวของหนังลิขสิทธิ์
ประการสุดท้าย ระบบการขายของพวกวิดีโอผีมีโอกาสได้เลือก เรื่องไหนชอบก็ซื้อ
เรื่องไหนไม่ชอบก็ไม่ต้องซื้อโดยไม่ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าแต่อย่างใดเลย
ความจริงแล้วธุรกิจเทปวิดีโอที่ละเมิดลิขสิทธิ์มีเหตุจูงใจให้กระทำจุดใหญ่อยู่ที่ราคาการลงทุนถูกกว่านั่นเอง
ซึ่งจุดใหญ่ตรงนี้จะโยงเข้าประเด็นว่า ทำไมเทปวิดีโอที่นำเข้ามาถูกต้องจึงแพง
คำตอบก็คงอยู่ที่ว่า เพราะต้องซื้อลิขสิทธิ์มาในราคาแพงทำให้การขายในช่วงต่อไปมีราคาแพงตามไปด้วย
สาเหตุที่ค่าลิขสิทธิ์จากต่างประเทศแพงมาก เพราะผู้สร้างหรือจำหน่ายในสหรัฐฯ
เห็นว่า ตลาดเมืองไทยเป็นตลาดเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ ผู้ซื้อจากไทยจึงไม่มีกำลังต่อรองในเรื่องราคามากนัก
นอกจากนี้แล้ว การแข่งขันกันอย่างรุนแรงในการซื้อลิขสิทธิ์จากผู้สร้างในสหรัฐฯ
ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าลิขสิทธิ์แพง เพราะลักษณะการขายลิขสิทธิ์ของพ่อค้าสหรัฐฯ
ที่ขายให้แก่คนไทยจะเป็นแบบให้ผู้ซื้อเสนอราคา ถ้าราคาไม่เป็นที่พอใจก็จะไม่ขายให้
ฉะนั้นถ้าผู้ซื้อเมืองไทยอยากจะได้หนังเรื่องนั้นมาก ๆ ผู้นำเข้าไทยเองก็จะต้องแข่งขันกันเอง
โดยการเพิ่มราคาขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ขายจะพอใจ
"มันเป็นระบบการขายแบบกึ่งประมูล" แหล่งข่าวกล่าว
กลุ่มสหมงคลฟิล์มเคยมีประสบการณ์มาแล้ว กว่าจะได้ลิขสิทธิ์หนังเรื่องแรมโบ้
3 ไปนั้น จะต้องประมูลราคาสูงถึง 10 ล้านบาททีเดียว
เทปวิดีโอที่นำเข้าถูกต้องแต่ต้องมีจุดอ่อนมากมายเช่นนี้ จึงเปิดโอกาสให้พวกพ่อค้าที่ทำมาหากินกับการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นได้มากมาย
และมีระบบการดำเนินงานอย่างมืออาชีพและมีฐานการเงินเติบโตขึ้นมาเป็นเงาตามตัว
ขบวนการนี้เริ่มต้นจากการเดินทางไปชอปปิ้งซื้อหามาเองได้พัฒนาสู่การมีตัวแทนดำเนินการในต่างประเทศให้
ซึ่งตัวแทนจะเป็นคนที่จับกระแสความนิยมในธุรกิจบันเทิงได้เร็วมาก เพราะจะต้องจัดซื้อจัดส่งมายังเมืองไทยให้เร็วที่สุดเพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสดูหนังดี
ๆ พร้อมกับคนนิวยอร์ค จากนั้นก็จะมีการส่งผ่าน "สาย" ซึ่งอาจเป็นนักท่องเที่ยว
บริษัททัวร์ หรือแม้แต่พนักงานของสายการบินก็เป็นสายให้แก่ขบวนการนี้ด้วยถือเป็นการหารายได้พิเศษ
บางกลุ่มถึงขนาดเลือกส่งกันทางพัสดุไปรษณีย์ก็มี
ธุรกิจเริ่มจากคนคุ้นเคยกลายเป็นการขายอย่างมีระบบตามแบบฉบับการขายสมัยใหม่
มีพนักงานวิ่งขายส่งตามแผงและศูนย์ให้เช่าชนิดที่เรียกว่าวันเดียวขายให้หมด
"พอของมาถึงเขาก็จะรีบนำเข้าเครื่องอัดก๊อปปี้ซึ่งจะต้องใช้เครื่องอัดเป็นจำนวนมาก
เพื่อให้ได้ปริมาณออกมามาก ๆ ในเวลาจำกัด ในระหว่างนั้นก็จะวิ่งส่งตลาดในทันทีไม่ให้มีของตกค้าง
ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงวันเดียวหนังเต็มตลาดแล้ว" แหล่งข่าวเล่าให้ฟังถึงฉากหนึ่งของขบวนการทำงาน
ในการอัดหรือการผลิต เดิมทีก็ใช้สถานทีเดียวทำ เช่น ร้าน ส. ย่านสีลม หรือร้าน
ต. ย่านตลาดพลู แต่ขณะนี้มีการแยกออกไปหลายสถานที่ และบางกลุ่มได้พัฒนาไปถึงขั้นใช้รถโมบายเป็นที่ผลิตระหว่างนั้นก็เคลื่อนไปเรื่อย
ๆ
สำหรับกลุ่มที่ปรับตัวเองเข้ามาอยู่ในระบบก็อาศัยสถานที่เดียวกันนั้นบังหน้าแอบทำวิดีโอผีผสมกันไปด้วย
แม้จะไม่สามารถจับได้ชัดแจ้ง แต่คนในวงการก็รู้กันว่าหนังผีเรื่องนี้เป็นของใครทำ
"พวกนี้ถ้าเอ่ยชื่อก็รู้กันหมด เพราะล้วนแต่มีบริษัทดัง ๆ ทั้งนั้น"
แหล่งข่าวกล่าว
พัฒนาการของผู้ประกอบธุรกิจวิดีโอผีในปัจจุบันใหญ่โตขึ้นมาในระดับที่เรียกว่า
"มาเฟีย" ได้อย่างสบาย ๆ เพราะเงินที่เพิ่มขึ้นทุกวันนั้น ย่อมเป็นที่มาทั้งบารมีและอิทธิพล
แม้แต่กับคนในวงการตำรวจที่มีหน้าที่ปราบปราม เงินที่ได้จากอามิสสินจ้างทำให้การเคลียร์ปัญหาสามารถทำได้ทุกระดับ
ตั้งแต่ชั้นสอบสวนไปจนถึงชั้นอัยการ "ว่ากันในวงการผู้ประกอบการธุรกิจวิดีโอว่า
โรงพักกว่า 50% เป็นเขตปลอดลิขสิทธิ์ และด้านอัยการมีประมาณ 4 แผนกที่เป็นเขตปลอดลิขสิทธิ์เช่นกัน
พวกนี้จะไม่ค่อยเต็มใจรับแจ้งความ อิดเอื้อน และทำสำนวนอ่อนปวกเปียก เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิด"
นักสืบหัวเห็ดรายหนึ่งที่เอาชีวิตเข้าไปอยู่ในวงการนี้เล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟัง
เขากล่าวว่า ตำรวจและอัยการรับเงิน ซึ่งมีการจ่ายกันทั้งแบบรายเดือนและเป็นรายกรณีๆ
ด้วย แม้แต่ตำรวจกองปราบปรามก็มีระดับรองผู้กำกับคนหนึ่งทำตัวเป็นคนปลอดลิขสิทธิ์
นอกจากมีอิทธิพลในวงการตำรวจแล้ว ยังต่อถึงผู้มีอิทธิพลระหว่างกลุ่มด้วยกันได้
เช่น อาจไม่ก๊อปปี้ของบางบริษัทที่มีเจ้าพ่อหนุนหลังอยู่หรือถ้าเกิดพลาดพลั้งขึ้นก็จะเรียกกันไปเคลียร์
หรืออาจขอร้องให้เวลาวิดีโอลิขสิทธิ์ออกตลาดไปก่อนสักสิบวันแล้วค่อยเอาวิดีโอผีออกทีหลัง
ลักษณะหลังนี้จะเน้นตลาดขายมากกว่าตลาดเช่า เพราะสามารถขายได้ในราคาถูกกว่าอยู่แล้ว
จนปัจจุบันคนนิยมซื้อวิดีโอสะสมมากกว่าการเช่าและก็มีการแบ่งปันผลประโยชน์กันระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์กับคนทำวิดีโอผี
เช่น บังคับให้ซื้อวิดีโอลิขสิทธิ์เป็นเรื่อง ๆ ไป เพื่อให้นำไปขายให้แก่ประชาชนอีกต่อหนึ่ง
โดยการเก็บค่าลิขสิทธิ์ล่วงหน้า หรือใช้วิธีจ่ายค่าคุ้มครองกันตรง ๆ เป็นรายเดือน
มีอยู่คู่หนึ่งที่ไม่สามารถตกลงกันได้จนถึงทุกวันนี้ คือ นาย ต. กับ นาย
ส. ซึ่งระหว่างนี้ก็ยังเป็นคดีฟ้องร้องกันอยู่ในศาล และมีการปล่อยข่าวจะฆ่ากันในเร็ว
ๆ นี้ ต. ประกาศจะก๊อปปี้หนังที่เป็นของ ส. โดยเฉพาะ โดยไม่เกรงกลัวต่อการถูกจับกุม
การแข่งขันในตลาดระหว่างวิดีโอลิขสิทธิ์กับวิดีโอผีดูเหมือนฝ่ายแรกจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาโดยตลอด
จนพ่อค้าสหรัฐอเมริการ้องว่า หนังวิดีโอกว่า 50% ในตลาดเมืองไทยเป็นวิดีโอผีที่ละเมิดลิขสิทธิ์
ด้วยความที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบนี่เอง ทำให้ผู้นำเข้าและผลิตของไทยต้องพลิกตำราสู้อย่างถึงพริกถึงขิง
ทางออกก็คือ อาศัยสิทธิ์ตามกฎหมายไล่กว้านจับศูนย์ให้เช่า
วิธีการก็คือ ตั้งสำนักงานทนายความขึ้นมาทุ่มงบประมาณหลายล้านบาทเพื่อกวาดล้างวิดีโอผีโดยมีบุคคลระดับเจ้าพ่อ
ตำรวจ เข้าร่วมขบวนการด้วย บริษัทพวกนี้ด้านหนึ่งทำตัวเยี่ยงมาเฟีย อีกกลุ่มหนึ่งที่มีกฎหมายรองรับ
ความล้มเหลวเกิดขึ้นเพราะว่าพวกเขาแยกไม่ออกว่าอะไรคือธุรกิจ อะไรคือการใช้สิทธิ์ตามกฎหมายในการปราบปรามคนอื่นที่มาล่วงละเมิดลิขสิทธิ์ตนเอง
ก่อนหน้านี้มีบริษัทผู้นำเข้าและผลิตหนังลิขสิทธิ์รายใหญ่รายหนึ่งร่วมกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในต่างประเทศใช้งบประมาณถึงปีละ
10 ล้านบาทตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อดำเนินการทางด้านสืบสวนและดำเนินคดีกับขบวนการละเมิดลิขสิทธิ์ชื่อ
"ทิปโป้" เมื่อประมารปี 2529 แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร จนต้องปิดกิจการลง
จากข้อมูลที่ทางทิปโป้รายงานไปยังต่างประเทศ บอกว่า จากการดำเนินงาน 3 ปี
(2530-2532) สามารถสืบทราบถึงแหล่งละเมิดลิขสิทธิ์ถึง 400 กว่าแห่ง ซึ่งปรากฏว่า
สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้เพียง 28 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 6 เท่านั้น เช่น
ในปี 2530 สืบทราบการกระทำความผิด 120 ราย ดำเนินคดีได้เพียง 13 ราย ในปี
2531 สืบทราบได้ 170 ราย แต่ไม่สามารถดำเนินคดีได้แม้แต่รายเดียว และในปี
2532 สืบทราบได้ 140 ราย แต่ดำเนินคดีได้เพียง 15 รายเท่านั้น
ปัจจุบัน บริษัททิปโป้ได้ปิดตัวเองลงไปแล้ว เหตุผลมี 2 ด้าน หนึ่ง - เพราะไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการ
ไม่คุ้มกับการทุ่มทุนลงไปอย่างมหาศาล และสอง - มีพระราชบัญญัติควบคุมเทปและวัสดุโทรทัศน์ออกมาและมีผลในทางปฏิบัติที่เกิดความสมประโยชน์แล้ว
จึงไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนให้มีบริษัทนี้อีกต่อไป
"ผู้ผลิตทำตัวเป็นมาเฟียที่มีนักเลงใหญ่ระดับเจ้าพ่อให้ความคุ้มครอง
เลี้ยงทนายความและตำรวจบางคนไว้คอยรับใช้ออกตระเวนตามศูนย์ให้เช่าวิดีโอต่าง
ๆ ที่ยังไม่ได้จ่าค่าสิทธิ์ให้แก่ตน เมื่อพบว่ามีเทปหนังที่ตนเองเป็นผู้นำเข้าอย่างถูกต้องอยู่ก็เข้าจับกุม
นำขึ้นโรงพักจากนั้นก็จะขู่ให้จ่ายค่าเสียหายอย่างน้อย 20,000 บาทขึ้นไป
ถ้ายอมจ่ายก็จบกันไป ถ้าไม่ยอมจ่ายก็ต้องหาเงินมาประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีต่อไป
แต่พ่อค้าทุกคนไม่ชอบยุ่งเรื่องพวกนี้อยู่แล้วก็ต้องจ่ายให้ จากนั้นก็มีการทำสัญญาจ่ายค่าสิทธ์กันเป็นรายปี
ปีละ 200,000 บาทเพื่อแลกกับการเอาป้ายคุ้มครองมาแขวนไว้หน้าร้าน ผู้นำเข้าและผลิตที่เป็นคนไทยเกือบทั้งหมดทำกันเช่นนี้มาเป็นเวลานาน
โดยเฉพาะรายใหญ่ ๆ ที่มีหนังลิขสิทธิ์ของหลายค่าย ยิ่งมีโอกาสรีดไถได้มากกว่าคนอื่น
เพราะว่าสร้างหนัง ค้าหนังมันก็มีอยู่ไม่กี่ค่ายในโลกนี้" แหล่งข่าวที่เป็นเจ้าของศูนย์แห่งหนึ่งระบายกับ
"ผู้จัดการ"
วิธีการอย่างนี้ได้ก่อให้เกิดมาเฟียขึ้นมาในวงการในอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า
มาเฟียนอกระบบ คือ การให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของศูนย์ว่า จะไม่ถูกรบกวนจากผู้นำเข้าและผลิต
รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยต่างหาก
"คือร้านที่ไม่อยากถูกรบกวนมากก็ต้องหาคนที่มีอิทธิพลหรือบารมีไม่ว่าจะเป็นพวกมีสี
หรือพวกนักเลงอันธพาลก็แล้วแต่มาให้การคุ้มครอง หรืออย่างน้อยก็เอาชื่อมาเป็นยันต์กันผีได้ว่าจะไม่ถูกรบกวนจากพวกมาเฟียที่รับใช้บริษัทนำเข้าและผลิต
ค่าบริการถูกกว่าจ่ายค่าสิทธิครึ่งต่อครึ่ง" แหล่งข่าวเล่าถึงการหากินของพวกมาเฟียอีกกลุ่มหนึ่ง
ประมาณปี 2528-2529 ก่อนที่พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทป และวัสดุโทรทัศน์
จะออกมาบังคับใช้ผู้นำเข้าและผลิตรายใหญ่ ๆ การคิดค่าสิทธิ์ตกประมาณ 180,000-200,000
บาทต่อปี แต่จ่ายค่าคุ้มครองนอกระบบแบบนี้จ่ายกันเป็นรายเดือนเพียงเดือนละ
5,000-8,000 บาท หรือประมาณปีละ 120,000 บาทเท่านั้นเอง โดยสามารถเลือกหนังมาไว้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างอิสระไม่ถูกรบกวนมาก
ถ้าเผื่อมีปัญหาก็มีคนช่วยจัดการให้เสร็จเรียบร้อย
ลักษณะของการให้ความคุ้มครองแก่ศูนย์ให้เช่าวิดีโอในลักษณะนี้ขยายผลออกไปในวงกว้างจนเป็นที่รู้จักกันในวงการ
และมันได้พัฒนาการไปถึงขนาดขึ้นป้ายชื่อร้านเป็นชื่อเดียวกันกับผู้มีอิทธิพลที่ให้การคุ้มครอง
เช่น ร้านที่ขึ้นต้นด้วยตัว "ส" และ "ป" และบางรายจะใช้ชื่อท้องถิ่นของผู้มีอิทธิพลเป็นชื่อร้าน
ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจว่าชื่อนั้น ๆ อยู่ในความดูแลของใครไม่ว่าจะเป็นย่านธนบุรี
ประตูน้ำ เตาปูน
ร้านที่อยู่ในความคุ้มครองผู้มีบารมีเหล่านี้จะไม่ถูกรบกวนในเรื่องลิขสิทธิ์
หรือถ้าเผื่อมีใครหลงเข้ามาตรวจสอบจับกุมก็จะมีคนจัดการให้เรียบร้อย การคุ้มครองนี้บางครั้งก็พึ่งพาได้ถึงปัญหาทางด้านหน่วยงานราชการ
โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ที่เป็นสถานที่รับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับลิขสิทธิ์และพวกเทปวิดีโอโป๊ด้วย
"แม้แต่ในกองปราบปรามก็มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่าสารวัตรคอยให้การช่วยเหลือแก่ร้านที่ได้จ่ายเงินผ่านคนกลางไปให้แล้ว
ซึ่งจะมีรายชื่อและรู้จักกันในหมู่พวกเขากันเอง" แหล่งข่าวกล่าว
"แต่ผู้มีบารมีบางคนก็ไม่เรียกค่าคุ้มครองเป็นตัวเงินตัวทองแน่นอน
ก็แล้วแต่ว่าทางเจ้าของร้านจะช่วยค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูแลลูกน้องของเขาเท่าไหร่"
นักสืบเอกชนจากบริษัทรับจ้างสืบสวนที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ถึงเหตุผลหนึ่งที่ผู้มีอิทธิพลรับคุ้มครองให้
ลักษณะการเกิดของมาเฟียอันหลังนี้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเดือดร้อนของศูนย์ให้เช่าจากการกระทำของกลุ่มมาเฟียในระบบ
โดยใช้กฎหมายลิขสิทธิ์เป็นเครื่องมือในการขูดรีด ทำให้ต้องดิ้นรนหาผู้ที่จะมาช่วยเหลือคุ้มครอง
ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นผู้มีอิทธิพลในย่านนั้น ๆ
แหล่งข่าวที่เป็นนักสืบคนเดียวกัน บอกว่า ลักษณะหลังนี้จะเกิดขึ้นในย่านประตูน้ำ
เตาปูน เป็นต้น โดยที่ผู้มีอิทธิพลคนนั้นไม่ได้ต้องการหารายได้จากค่าคุ้มครองประเภทนี้
เพียงแต่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือคนในย่านของตนไม่ให้ถูกรังแก
เมื่อกระบวนการละเมิดลิขสิทธิ์ขยายวงออกไปมีผู้เกี่ยวข้องหลายกลุ่มเช่นนี้
บริษัทผู้สร้างหนังอเมริกันเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่มีทางจับได้ไล่ทันขบวนการเหล่านี้ได้
ทางออกจึงมาอยู่ที่การใช้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือกดดันทางการไทย
ส่วนบริษัทผู้ค้ายักษ์ใหญ่ที่ทำกันถูกกฎหมายก็ต้องอ่อนล้าลงอย่างเห็นได้ชัด
หลังจากผลักดันให้มีการออกกฎหมายควบคุมเทปและวัสดุโทรทัศน์
พระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอโดย ปรีดา กนกนาค ส.ส.กรุงเทพฯ ซึ่งถูกฆาตกรรมล่วงลับไปแล้ว
เมื่อปี 2533 เป็นผู้เสนอ
มีการกล่าวกันว่า เป็นกฎหมายที่ออกมาโดยมีเจตนาเคลือบแฝงและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากพอสมควร
เจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในคำเสนอนั้น ดูสวยหรู เพราะอ้างว่าเป็นการคุ้มครองเยาวชน
วัฒนธรรมอันดีงาม ตลอดทั้งความมั่นคงของชาติ จากกรณีที่ถูกรุกรานโดยหนังวิดีโอที่มีเนื้อเรื่องเต็มไปด้วยความรุนแรง
ปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศ ซึ่งมีการจัดจำหน่าย ให้เช่า และบริการฉายให้ดูกันอย่างแพร่หลายในรูปแบบต่าง
ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงฉายขนาดย่อมเก็บค่าผ่านประตู ตามร้านอาหาร โรงแรม คาเฟ่
โดยไม่ได้รับการตรวจสอบเพื่อรับอนุญาตเช่นเดียวกับภาพยนตร์ตามโรงใหญ่ ๆ หรือผ่านคณะกรรมการบริหารวิทยุและโทรทัศน์หรือ
กบว. อย่างการเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ จึงจำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกมา
แต่เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้เสนอและผ่านออกมาจากสภาผู้แทนรัฐสภา
โดยการผลักดันของผู้นำเข้าและผลิตวิดีโอรายใหญ่ ๆ บางราย (ซึ่งอยู่ในกลุ่ม
10 บริษัทยักษ์ใหญ่) อันเป็นการส่อเจตนาไปถึงการออกกฎหมายนี้ก็เพื่อให้การคุ้มครองผู้นำเข้าและผู้ผลิตโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมากกว่าเจตนารมณ์ตามที่เสนอไว้
เพราะในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้วยังเรียกไม่ได้ว่าได้บรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ดังกล่าว
เผด็จ หงส์ฟ้า นายกสมาคมผู้ค้าและผลิตวิดีโอเทป เคยกล่าวว่า สมาคมฯ เป็นผู้ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมา
โดยเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าว คือ ควบคุมกิจการสถานที่จำหน่าย ให้เช่า แลกเปลี่ยน
โดยใครจะประกอบธุรกิจประเภทนี้จะต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเสียก่อนจึงจะทำได้
ควบคุมตัดต่อ หรือพิจารณาอนุญาตหรือที่เรียกว่า เซ็นเซอร์ บรรดาหนังวิดีโอทั้งหลายที่มีในร้านจำหน่าย
ให้เช่า แลกเปลี่ยน และควบคุมและอนุญาตให้ฉายหนังวิดีโอตามสถานที่บริการต่าง
ๆ
แต่การนำเข้าและผลิตวิดีโอเทปอย่างถูกกฎหมายนั้นจะไม่ถูกควบคุมตรวจสอบและพิจารณาอนุญาตตามพระราชบัญญัติฉบับนี้แต่อย่างใด
ทั้งที่เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้ทั้งหมดซึ่งถ้าควบคุมแล้วจะให้ผลตามเจตนารมณ์ได้ดีกว่าการไปควบคุมสถานประกอบการที่ปลายเหตุ
หมายความว่า ผู้นำเข้าและผลิตเทปวิดีโอไม่ต้องขออนุญาตหรือรับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่
เช่น ผู้ประกอบการอื่น ๆ ในธุรกิจเดียวกัน เว้นแต่จะเป็นการนำเข้าวิดีโอตามที่รัฐมนตรีได้ออกคำสั่งห้ามแล้วเท่านั้น
แต่ก็เป็นความผิดที่ใช้กับคนทุกคน เพราะกฎหมายใช้คำว่า "ผู้ใด"
ไม่เฉพาะเจาะจงถึงผู้ผลิตหรือนำเข้าเป็นธุรกิจ
พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ มีการกำหนดโทษทางอาญารวมแล้วทั้งสิ้น
17 กระทงความผิด โดยมีอัตราโทษตั้งแต่จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาทถึงอัตราสูงสุดจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
โดยกระทงความผิดจะระบุไปที่เจ้าของศูนย์วิดีโอให้เช่า จำหน่าย และแลกเปลี่ยนมากกว่า
10 กระทงความผิด ส่วนที่เหลือเป็นกระทงความผิดสำหรับสถานบริการต่าง ๆ ที่เปิดฉายวิดีโอ
มีเพียงกระทงความผิดเดียวที่ระบุถึงการนำเข้าเทปวิดีโอตามที่รัฐมนตรีได้ประกาศสั่งห้ามเอาไว้
เนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้จึงชี้ชัดให้เห็นตัวบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังของมันอย่างชัดเจนที่สุดว่า
ไม่ใช่เป็นกลุ่มผลประโยชน์อื่นใดเลย แท้จริงคือกลุ่มผลประโยชน์ที่หากินกับธุรกิจลิขสิทธิ์วิดีโอนี้เอง
ในทางปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ก็คือ ศูนย์ให้เช่าวิดีโอทุกศูนย์จะต้องยื่นขอจดทะเบียนรับอนุญาตจากกรมตำรวจสำหรับในเขตกรุงเทพฯ
และยื่นต่อกองกำกับการตำรวจภูธร สำหรับศูนย์ที่อยู่ต่างจังหวัด
ในลักษณะเช่นนี้เจ้าของศูนย์จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขตามกฎหมายกำหนดอย่างเข้มงวด
ซึ่งหัวใจสำคัญก็คือจะต้องเปิดบริการให้เช่าได้เฉพาะหนังวิดีโอที่ผ่านการเซ็นเซอร์และมีรับรองสำเนาอัดหรือบันทึกเทปเท่านั้น
ในทางปฏิบัติผู้นำเข้าและผลิตเทปวิดีโอจะนำหนังที่ตนเองซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาอย่างถูกต้อง
การที่จะนำออกจำหน่ายหรือให้เช่า ต้องมีใบสำคัญแสดงแหล่งที่มาของหนังเรื่องนั้น
ๆ ไปให้เจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ก่อน เมื่อผ่านการเซ็นเซอร์เรียบร้อยแล้วเจ้าหน้าที่จะออกหนังสือรับรอง
รหัส และแสตมป์ให้แล้วจึงนำไปอัดลงในมาสเตอร์เทปนำออกจำหน่ายแก่ศูนย์ให้เช่า
พร้อมกับมอบสำเนารับรองและแสตมป์หรือที่เรียกว่าสติ๊กเกอร์ผ่านเซ็นเซอร์แล้วใแก่ศูนย์ติดในม้วนวิดีโอที่อัดออกมาให้เช่าทุกม้วน
ถ้าไม่มีสติ๊เกอร์และสำเนารับรองดังกล่าวถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
เจ้าหน้าที่กองทะเบียนที่รับผิดชอบจะมีสายตรวจออกตรวจศูนย์เช่าและแผงขายต่าง
ๆ ประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้งเพื่อดูว่าศูนย์ต่าง ๆ ได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่
หมายความว่า ถ้าพบวิดีโอที่ไม่ผ่านการเซ็นเซอร์ เจ้าของศูนย์จะมีความผิดทางอาญาทันที
ซึ่งในประเด็นนี้นี่เองที่ถูกมองว่าเป็นการผ่อนแรงผู้นำเข้าและผลิตอย่างมากทีเดียว
เพราะแทบจะเรียกได้ว่าไม่ต้องส่งกำลังตำรวจและทนายความออกตามล่าศูนย์ให้เช่าเหมือนที่เคยผ่านมา
แหล่งข่าวในวงการวิดีโอ กล่าวว่า จากงบประมาณที่บริษัทเหล่านี้ตั้งไว้ในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ปีละกว่า
10 ล้านบาทก็ลดลงเหลือเพียงปีละประมาณ 2 ล้านบาทในทันที
ในขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าและผลิตก็สามารถต้อนศูนย์ให้เช่าหรือผู้ค้าปลีกอื่น
ๆ เข้ามาอยู่ในระบบของตนเองได้อย่างอยู่หมัดพร้อมกับขึ้นราคาค่าสิทธิเกือบจะเรียกว่าในทันทีด้วยกฎหมายฉบับนี้
โดยไม่ต้องออกแรงและใช้กลยุทธ์อะไรที่ซับซ้อนทางการบริหาร การจัดการ หรือการตลาดแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ยกตัวอย่าง เช่น ซีวีดีเคยเรียกค่าสิทธิ์จากศูนย์ให้เช่าก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ออกมาบังคับใช้เดือนละ
12,000 บาท โดยจะป้อนหนังให้เดือนละ 35 ม้วน เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 บาททันทีหลังจากที่พระราชบัญญัตินี้คลอดออกมา
หรือบางรายก็ขึ้นราคาโดยการแยกประเภทหนังออกจากกันระหว่างหนังฝรั่ง หนังจีน
และหนังไทย เพื่อเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์อีกต่างหากจากราคาเดิมที่เคยเรียกค่าลิขสิทธิ์รวมกัน
แม้จะไม่มีกฎหมายกำหนดให้มีแผนกกองทะเบียนเป็นหน่วยงานตามพระราชบัญญัตินี้ดูแลทางด้านลิขสิทธิ์ด้วย
แต่ในทางปฏิบัติได้มีการประสานงานของผู้นำเข้าและผลิตจะส่งรายชื่อหนังที่ตนเองได้รับลิขสิทธิ์มาให้แก่เจ้าหน้าที่เก็บไว้
เมื่อปรากฏว่ามีการขอเซ็นเซอร์ซ้อนกันมาอีกก็จะไม่ผ่านให้หรือถ้าพบในศูนย์ให้เช่าใดก็จะแจ้งให้เจ้าของลิขสิทธิ์ทราบ
เพื่อให้มาดำเนินการร้องทุกข์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ต่อไป
พ.ต.อ.วิชอบ ปลอดภัย ผู้กำกับการกองทะเบียน 3 กล่าวว่า การประสานงานในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นจากคำเรียกร้องของสมาคมผู้ค้าและผลิตวิดีโอ
แม้จะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐก็ยินดีจะให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้
"จริง ๆ แล้ว การดูแลทางด้านลิขสิทธิ์ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือ
ออกใบอนุญาตในการประกอบการและตรวจสอบสถานประกอบการว่าปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่
เช่น วิดีโอที่นำมาให้เช่าในร้านผ่านเซ็นเซอร์หรือไม่ ส่วนเรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องของเจ้าของที่จะต้องดำเนินการเองแต่ก็มีคนเข้าใจผิดโวยวายมาว่า
เราไม่เอาใจใส่ในปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ เราก็เลยบอกว่า ยินดีจะให้ความร่วมมือหากเจ้าของลิขสิทธิ์ส่งรายชื่อหนังที่ตนเองเป็นลิขสิทธิ์ส่งมาให้"
พ.ต.อ.วิชอบ กล่าว
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะต้องใช้ทรัพยากรมากพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องนี้ กองกำกับการ
3 กองทะเบียน กรมตำรวจ ซึ่งดูแลเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานซึ่งเดิมรับผิดชอบเกี่ยวกับยานพาหนะ
ได้ลงทุนเกี่ยวกับเครื่องไม้เครื่องมือ เช่น เครื่องและห้องเซ็นเซอร์ประมาณหนึ่งล้านบาท
รถยนต์สองคัน มีกำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 150 นาย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวน
45 นาย และชั้นต่ำกว่าประทวน 105 นาย
พ.ต.อ.วิชอบ ปลอดภัย เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า ในการทำงานมีการแบ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบออกเป็น
4 แผนก คือ แผนกยานพาหนะหัวเมืองเดิมให้รับผิดชอบงานทางด้านการควบคุมใบอนุญาต
กล่าวคือ เป็นผู้ดำเนินการออกใบอนุญาตให้แก่ร้านให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย
และใบอนุญาตให้ฉายหรือให้บริการ
แผนกตรวจสอบสภาพรถยนต์ให้รับผิดชอบงานทางด้านการควบคุมเทปและวัสดุโทรทัศน์ที่เรียกว่า
งานเซ็นเซอร์ แผนกขับขี่รถยนต์ให้รับผิดชอบงานตรวจกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ในเขตกองกำกับการตำรวจนครบาล
1-9 และแผนกทะเบียนรถยนต์รับผิดชอบงานตรวจในเขตกองกำกับการตำรวจนครบาล 10-19
โดยจะออกตรวจผู้ประกอบกิจการประมาณ 3 ครั้งต่อสัปดาห์
จากรายงานผลการดำเนินงานล่าสุด ในปี 2533 (สิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน) ได้มีการพิจารณาเซ็นเซอร์เทปวิดีโอไปแล้วทั้งสิ้น
2,556 เรื่อง ส่วนทางด้านการตรวจจับผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติประมาณ 300
ราย ส่วนใหญ่เป็นแผงลอยที่ขายวิดีโอโดยไม่ได้รับอนุญาต รองลงมา คือ เจ้าของศูนย์ให้เช่าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและเงื่อนไขอนุญาต
และสุดท้ายคือสถานบริการที่ฉายวิดีโอโดยไม่ได้รับอนุญาต
ผู้การวิชอบ กล่าวให้ความเห็นว่า ในการพิจารณาเซ็นเซอร์น่าจะให้มาอยู่ที่กองทะเบียน
3 เพียงแห่งเดียวแทนที่จะกระจัดกระจายอยู่ตามกองกำกับการตำรวจภูธรในจังหวัดต่าง
ๆ ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกและเป็นแนวเดียวกันในการพิจารณา เพราะที่ผ่านมามีหนังบางเรื่องที่ไม่ผ่านการพิจารณาของกองทะเบียน
3 แล้วนำไปขอเซ็นเซอร์ที่ต่างจังหวัดก็ผ่านการพิจารณามาได้อย่างนี้ เป็นต้น
อีกประเด็นหนึ่ง น่าจะให้มีการควบคุมผู้นำเข้าและผลิตด้วย เพราะเหตุว่ากลุ่มธุรกิจดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจทั้งหมดในวงการ
ซึ่งอาจเพิ่มอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรในการตรวจอนุญาตการนำเข้าด้วย
ในทางปฏิบัติอาจเป็นได้ว่า ให้กรมศุลกากรเก็บเทปวิดีโอที่นำเข้านั้นส่งมาให้กองทะเบียนตรวจพิจารณาก่อนที่จะให้มีการนำเข้า
ซึ่งปัจจุบันนี้มีแต่ดูทางด้านภาษีเท่านั้น กล่าวคือถ้านำเทปวิดีโอเข้ามาโดยจ่ายภาษีถูกต้องก็ไม่มีสิทธิที่จะไปกักเก็บของเขาได้
แต่อย่างไรก็ตาม ผลของพระราชบัญญัติควบคุมเทปวิดีโอและวัสดุโทรทัศน์ออกมานี้
ด้านนึ่งทำให้ความเถื่อน ๆ ในวงการลดน้อยลงอย่างมาก ร้านให้เช่าวิดีโอหลายแห่งโดยเฉพาะรายเล็กรายย่อยต้องปิดกิจการลง
เพราะทนกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ "คือเมื่อกฎหมายออกมาผู้ผลิตต่าง
ๆ ก็พากันขึ้นราคา วิดีโอผีก็ลดน้อยลง แม้การเก็บค่าคุ้มครองกันนอกระบบลดน้อยลงก็จริง
แต่มันได้เข้ามาอยู่ในระบบมีเครื่องไม้เครื่องมือและกฎหมายรองรับการกระทำของพวกเขามากขึ้น
ที่ยังเหลืออยู่ก็แต่รายที่มีทุนมาก ๆ ยอมจ่ายค่าคุ้มครองที่ถูกต้องตามกฎหมายและก็เปิดเผยกันอย่างสบาย
ๆ
เพราะเมื่อเข้ามาอยู่ในระบบแล้ว การที่จะทำธุรกิจวิดีโอผีก็ทำได้ยากมากขึ้น
ในขณะที่ค่าสิทธิ์ในระบบก็ถีบตัวสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อนไม่น้อยกว่า 30%
"ก็ลองคิดดูว่า ถ้าเราจ่ายค่าสิทธิ์ให้แก่ผู้นำเข้าและผลิตทุกรายเพื่อให้มีวิดีโอให้เช่าแก่ลูกค้าอย่างหลากหลาย
ต้องใช้จ่ายในส่วนนี้ประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน ปีละหนึ่งก็ตกประมาณ 360,000
บาท หรืออย่างน้อยวันละ 1,000 บาทยังไม่รวมค่าเทปเปล่า ค่าอัด ค่าน้ำค่าไฟ
ค่าพนักงานอีกมากมาย นั่นหมายความว่า จะต้องมีรายได้จากการให้เช่าวันละ 2,000
บาทขึ้นไป ซึ่งศูนย์เล็ก ๆ ไม่มีทางทำได้ เพราะค่าเช่าขณะนี้อยู่ในระดับม้วนละประมาณ
10-30 บาทเท่านั้น แล้วแต่คุณภาพและความนิยมของหนังแต่ละเรื่องนั้น หมายความว่าจะต้องมีลูกค้ามาเช่าอย่างน้อยวันละ
200 ม้วนจึงจะอยู่ได้" เจ้าของร้านวิดีโอให้เช่าแห่งหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ถึงค่าใช้จ่ายดำเนินการ
ผลกระทบของกฎหมายดังกล่าวได้ขยายตัวไปถึงขบวนการวิดีโอผีด้วย ซึ่งขบวนการนี้จากเดิมซึ่งเคยนำเข้าและผลิตขายแบบสบาย
ๆ ก็ทำงานกันด้วยความลำบากมากขึ้น ทั้งนี้เพราะศูนย์ให้เช่าได้ถูกควบคุมจนจะเรียกได้ว่าอยู่หมัดแล้ว
ส่วนมาเฟียในระบบก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการใหม่ให้ทันสมัย รัดกุม
และสอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น
"เดิมวิดีโอผีที่เดินไปซื้อจากเมืองนอกมาอัดขายกันแบบสบาย ๆ ในบ้านเรานั้น
มีอยู่ประมาณ 10 ราย ปัจจุบันนี้เหลืออยู่ประมาณ 4-5 รายเท่านั้นเอง เช่น
ต.สำเหร่ เอวีเอส คิว และกำนันชื่อดังแห่งย่านฝั่งธนบุรี พวกนี้เป็นรายที่ใหญ่และมีบารมีมากทีเดียว
ทำกันอย่างเปิดเผยท้าทาย สามารถคุยกับผู้นำเข้าอย่างถูกต้องรู้เรื่องทั้งในด้านผลประโยชน์และความเป็นนักเลงด้วยกัน
ส่วนที่เหลืออีกพวกหนึ่งก็เป็นพวกหารายได้พิเศษ คือ พวกนี้จะเป็นพวกที่นำเข้าและผลิตที่นำเทปหนังเข้ามาแบบเสียค่าสิทธิ์ถูกต้อง
แต่จะลักลอบทำเทปผีเป็นคราว ๆ ถือเป็นการหารายได้พิเศษ ซึ่งก็สามารถทำเงินได้มหาศาลทีเดียว"
คนในวงการวิดีโอคนหนึ่งกล่าว
พวกมาเฟียที่อยู่ในระบบเดิม คือ พวกที่ทำงานเป็นเส้นสายให้กับเจ้าของผู้นำเข้าและผลิตจะแปรสภาพมาเป็นเอเย่นต์
แบ่งเขตกันคุม เช่น ย่านธนบุรีก็เป็นย่านของกำนันชื่อดังของวงการ ซึ่งปัจจุบันได้รุกกินพื้นที่ควบคุมไปถึงเขตภาคเหนือทั้งหมดตั้งแต่เชียงใหม่
เชียงรายลงมา
ย่านเยาวราชซึ่งเป็นตลาดใหญ่อีกตลาดหนึ่งทั้งด้านการขายและให้เช่าวิดีโอ
"เฮียปด" ถือว่าเป็นผู้กว้างขวางที่ก้าวขึ้นมาเป็นเอเย่นต์ให้แก่ผู้นำเข้าและผลิตหลายบริษัทในปัจจุบัน
ส่วนเสี่ย ป. กับ เสี่ย ส. แบ่งส่วนกันคุมฝั่งธนบุรีกับกรุงเทพฯ
ระบบเอเย่นต์ ความหมายของมันคือ เป็นการต้อนมาเฟียที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น
เพื่อให้ผู้ผลิตได้รับประโยชน์มากขึ้นโดยไม่ต้องออกแรงมาก
"ศูนย์และแผงขายวิดีโอผีทุกวันนี้จะต้องจ่ายเงินให้พวกเอเย่นต์ของผู้ผลิตทุกราย
ไม่มีทางรอดสายตาพวกนี้ไปได้ เพราะจะมีการแบ่งกันหากินเป็นเขต ส่วนจะถึงมือผู้ผลิตเท่าไหร่ไม่มีใครยืนยัน"
แหล่งข่าว กล่าว
ปัจจุบันเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มีศูนย์ให้เช่าประมาณ 2,700 รายและมีแผงขายประมาณ
200 แผง เขตที่มีแผงขายวิดีโอผีมากที่สุด คือ ถนนพัฒน์พงศ์ มีประมาณ 30 แผง
มาบุญครองประมาณ 20 แผง ตลาดคลองเตย (ปีนัง) ประมาณ 10 แผง นอกนั้นจะกระจัดกระจายตามย่านการค้าทั่วไป
ในแต่ละย่านจะมีมาเฟียทั้งในระบบและนอกระบบคอยเก็บค่าคุ้มครอง เช่น เอเย่นต์ท้องที่เจ้าหน้าที่กองเซ็นเซอร์
กองปราบปราม เทศกิจ จ่ายโดยตรงให้แก่บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่อีกสองราย
"วิดีโอผีที่อยู่ในระบบนี้ก็ค้าขายกันได้อย่างสบาย ๆ ซึ่งมันก็คุ้ม
เช่น ที่พัฒน์พงศ์ แผงที่เป็นรถเข็นธรรมดาจ่ายค่าคุ้มครองรวมกันทั้งระบบก็ประมาณเดือนละ
10,000 บาท แต่ขายได้เดือนละประมาณเกือบล้านบาท ส่วนที่มาบุญครองร้านที่ใหญ่ที่สุดที่นั่นจ่ายค่าคุ้มครองประมาณเดือนละ
60,000 บาท ยอดขายของเขาเดือนละประมาณ 6 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นกำไรสุทธิ"
แหล่งข่าวกล่าว
กำไรงาม ๆ อย่างนี้ การหากินกับการละเมิดลิขสิทธิ์โดยมีมาเฟียคุ้มครองจึงเจริญแพร่สะพัด
และดูเหมือนสิ่งนี้เจ้าหน้าที่ทางการไทยไม่รู้สึกยินดียินร้ายใด ๆ
การละเมิดลิขสิทธิ์ที่ท้าทายและอื้อฉาวนี้ คือ การทำมาหากินของนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งที่บริษัทผู้สร้างหนังอเมริกันทนไม่ได้
จนต้องขอแรงคราล่า ฮิลล์ แห่งสำนักงานการค้าสหรัฐฯ เล่นงานไทยด้วยมาตรา 301
ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ