|

อีโคคาร์มาแน่ไม่เกิน 5 แสน ฮอนด้าดันส่งออกสู้ปิกอัพ คาดตลาดรถมือสองอ่วม
ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
อีก 2 ปีข้างหน้าหลังประกาศมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา ให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรืออีโคคาร์ ผู้บริโภครถยนต์ชาวไทยจะมีโอกาสได้ใช้รถยนต์นั่งขนาดเล็ก ประหยัดพลังงาน และมีราคาต่ำลงกว่าในปัจจุบันประมาณ 80,000-100,000 บาท เป็นผลจากการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งทั่วไปที่กำหนดไว้ 25% ให้เหลือเพียง 17% สำหรับอีโคคาร์
โครงการอีโคคาร์ ดังกล่าว ได้รับการตอบรับจากผู้ผลิตรถยนต์ทั้งรายใหญ่และรายเล็กอย่างถ้วนหน้า ทั้งโตโยต้า ฮอนด้า และซูซูกิ ซึ่งตามหลักการของรถยนต์ประเภทดังกล่าวคือ ผู้ผลิตรถยนต์ที่จะใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ต้องผลิตรถยนต์ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันไม่ต่ำกว่า 5 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร หรืออัตราสิ้นเปลืองต้องสูงกว่า 20 กิโลเมตรต่อลิตรนั่นเอง
เครื่องยนต์ที่กำหนดไว้มี 2 ประเภทคือ เครื่องยนต์เบนซินไม่เกิน 1300 ซีซี และเครื่องยนต์ดีเซล ไม่เกินกว่า 1400 ซีซี. และต้องเป็นเครื่องยนต์ที่ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับยูโร 4 ขึ้นไป นอกจากนี้ผู้ผลิตจะต้องมีกำลังการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ภายใน 5 ปีหลังเริ่มผลิตรถยนต์ออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 100,000 คัน
โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ค่ายรถยนต์รายใหญ่ของไทย แสดงท่าทีชัดเจนในการให้ความร่วมมือกับโครงการต่างๆ ของภาครัฐ มิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ไม่ว่าผลสรุปรัฐบาลเกี่ยวกับอีโคคาร์จะเป็นเช่นไร โตโยต้ายืนยันพร้อมจะเป็นบริษัทรถยนต์รายแรกที่เข้าร่วมโครงการผลิตรถอีโคคาร์ และขณะนี้โตโยต้าก็มีรถยนต์ที่มีความเหมาะสมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า วีออส หรือยาริส
ส่วนการที่รัฐบาลต้องการจะให้ผลิตรถยนต์โมเดลใหม่ เป็นรถขนาดเล็กกว่าที่มีในท้องตลาดปัจจุบันนั้น คงต้องพิจารณากันดูว่า ตลาดมีความต้องการมากน้อยเพียงไร แต่จากการศึกษาตลาดของโตโยต้าโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก
ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้าฯ บอกว่า ปัจจุบันทั้งวีออส และยาริส มีสัดส่วนการจำหน่ายรวมกันจำนวนกว่า 50% ของจำนวนรถยนต์นั่งโตโยต้าที่จำหน่ายในแต่ละปี ขณะที่ตลาดรถยนต์นั่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 20% ของรถยนต์ที่โตโยต้าจำหน่าย ดังนั้นหาประเมินสัดส่วนของตลาดรถยนต์ประเภทอีโคคาร์ ไม่น่าจะมีปริมาณมากนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตลาดรถปิกอัพ ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
ดังนั้นการที่ตลาดอีโคคาร์จะมีจำนวนมากเท่าใด ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจของรถยนต์อีโคคาร์มีมากน้องเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา คุณภาพ และรูปทรงตัวรถ โดยเรื่องราคานั้นหากต่ำกว่ารถยนต์ที่มีอยู่ในตลาดไม่มากนัก ก็อาจไม่สามารถสร้างแรงจูงใจ หรือแม้แต่รูปทรงที่ไม่สวยงาม และไม่ตรงตามความต้องการของตลาด อีโคคาร์ก็อาจไม่ได้รับความสนใจเช่นกัน
โดยเฉพาะผลการวิจัยที่ผ่านมานั้น ทำให้ทราบว่าผู้บริโภคชาวไทยนิยมรถยนต์นั่งมีมีขนาดใหญ่ ให้ความสำคัญกับรูปทรงมากกว่าสมรรถนะของเครื่องยนต์
ในส่วนของตลาดส่งออกนั้น มิทซึฮิโระ โซโนดะ มองว่า รถประเภทนี้ที่ได้รับความนิยมมีอยู่เพียงไม่กี่ตลาด ได้แก่ ตลาดยุโรปที่มี เรโนลต์กับเปอโยต์ 206 ครองตลาดอยู่แล้ว ด้วยยอดขายใกล้เคียงกันยี่ห้อละประมาณ 4 แสนคัน อีกตลาดอยู่ที่อินเดียก็มีรถตาต้า และซูซูกิ ครองตลาด ส่วนอีกแห่งอยู่ที่มาเลเซียก็จะมีรถยนต์แห่งชาติโปรตอน และเพอโรดัวได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว
ดังนั้นทิศทางส่งออกอีโคคาร์ของโตโยต้า จึงเห็นว่า โอกาสส่งออกในจำนวนมากเหมือนการส่งออกปิกอัพ 1 ตันที่ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญแห่งเดียวของโลกจึงค่อนข้างริบหรี่
ศุภรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของโตโยต้า มีแนวทางในการคัดเลือกรถยนต์รุ่นที่ผ่านข้อกำหนดของโครงการไว้ 2-3 รูปแบบ เช่น อาจจะใช้ตัวถังของรถยนต์รุ่นที่ทำตลาดในปัจจุบันคือ โตโยต้า วีออส หรือโตโยต้า ยารีส แต่ต้องหาเครื่องยนต์ที่เข้าตามหลักเกณฑ์ ซึ่งหากเป็นเครื่องยนต์ที่มีทำตลาดอยู่แล้วในต่างประเทศก็อาจใช้เงินลงทุนไม่มากในการผลิตเครื่องยนต์ในประเทศ
ส่วนอีกวิธีการหนึ่งคือ การหาโมเดลรถรุ่นใหม่และเครื่องยนต์ที่ตรงมาตามเงื่อนไขของโครงการ ซึ่งวิธีการนี้ต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่ามาก เนื่องจากนโยบายของโตโยต้า จะต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศทั้งหมด 100% และต้องใช้เวลาในการจัดหาชิ้นส่วนของรถยนต์รุ่นใหม่พอสมควร
อย่างไรก็ดีเป้าหมายในเรื่องรถยนต์ประหยัดพลังงานของโตโยต้าไม่ได้อยู่ที่ โครงการอีโคคาร์ หรือรถยนต์ที่สามารถใช้น้ำมันเชิ้อเพลิง E20 เท่านั้น แต่ที่ผ่านมาโตโยต้ากำลังพุ่งเป้าไปที่รถที่ใช้เครื่องยนต์ไฮบริด หรือเครื่องยนต์ลูกผสมระหว่างเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้า เนื่องจากรถในกลุ่มนี้มีขนาดตัวถังที่ใหญ่ แต่ให้ความประหยัดสูงกว่ารถยนต์ขนาดเดียวกัน ซึ่งน่าจะเป็นตลาดที่มีปริมาณความต้องการมากกว่าอีโคคาร์
ทั้งนี้ปัจจุบันรถเครื่องยนต์ไฮบริดดังกล่าว ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนเนื่องจากมีระบบขับเคลื่อน 2 ระบบ ทำให้รถที่นำเข้ามาจำหน่ายมีราคาสูงมาก ซึ่งหากมีการพิจารณาทบทวนการคำนวณภาษีของรถยนต์ในกลุ่มนี้ น่าจะเป็นผลดีกับรถในกลุ่มประหยัดพลังงานของโตโยต้า
ส่วนอีโคคาร์นั้น โตโยต้าก็ยังต้องหาผลิตภัณฑ์เข้ามาทำตลาด และแข่งขันกับคู่แข่งสำคัญคือฮอนด้า เพื่อรักษาโอกาสทางการตลาด และความเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ในเมืองไทย
ด้านฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งแสดงท่าทีชัดเจนในการสนับสนุนโครงการอีโคคาร์มาโดยตลอด แสดงความเห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาลครั้งนี้ โดย พิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิลฯ คาดหวังว่า รถยนต์อีโคคาร์จะกลายเป็นโปรดักซ์แชมป์เปี้ยนอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งต่อจากรถยนต์ในกลุ่มปิกอัพ
แม้อัตราภาษีสรรพสามิตที่ทางภาครัฐตัดสินออกมาที่ 17 % จะไม่เป็นไปตามที่ฮอนด้าเคยคาดหวังไว้ และเงื่อนไขที่กำหนดออกมาเป็นเรื่องที่ท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 20 กิโลเมตรต่อลิตร , มาตรฐานมลพิษระดับยูโร 4, และมาตรฐานความปลอดภัยเช่นเดียวกับยุโรป ซึ่งทางฮอนด้าต้องพิจารณาหาผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามเงื่อนไขของโครงการ
สำหรับค่ายฮอนด้าในเมืองไทยนั้น เป็นบริษัทที่เน้นทำตลาดเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งเป็นหลัก โดยไม่มีผลิตภัณฑ์รถยนต์ประเภทปิกอัพเลย ที่ผ่านมาการส่งออกของฮอนด้าก็ยังอยู่ที่รถยนต์นั่งด้วยเช่นกัน ดังนั้นการที่รัฐบาลตัดสินใจให้การสนับสนุนโครงการผลิตรถอีโคคาร์ ซึ่งจะเป็นเซ็กเมนท์ใหม่ที่เกิดขึ้น น่าจะส่งผลดีในแง่การเพิ่มปริมาณการผลิตให้กับฮอนด้า และส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในอนาคต อีกทั้งฮอนด้าอาจจะหันมาใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถอีโคคาร์สำหรับส่งออก ไปยังตลาดสำคัญของฮอนด้าในแถบเอเชีย
ขณะที่ตลาดในประเทศ อีโคคาร์จะเป็นการแตกเซ็กเมนท์ใหม่ให้กับกลุ่มที่มีกำลังซื้อต่ำ โดยเฉพาะรถยนต์ที่มีราคาอยู่ในระดับ 350,000 ถึง 500,000 บาท
ซูซูกิ เป็นค่ายรถขนาดเล็กค่ายหนึ่งที่ประกาศตัวสนับสนุนโครงการดังกล่าว เคอิอิชิ อะซะโนะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซูซูกิ ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นก่อนหน้านี้เช่นกันว่า ได้ยื่นข้อเสนอขอร่วมโครงการอีโคคาร์ อย่างไรก็ตามไม่ว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินการหรือไม่ ซูซูกิก็จะทำตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กอยู่แล้ว
ขณะที่ตัวโปรดักส์ในการทำตลาดคงต้องพิจารณาในกรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า ซึ่ง ซูซูกิเพิ่งเริ่มประกอบรถรุ่น “สวิฟต์” ในมาเลเซีย เมื่อต้นปีที่แล้ว และมีโอกาสอย่างมากที่จะใช้ข้อตกลงดังกล่าวในการนำเข้ามาทำตลาดในไทย แต่คงต้องใช้เวลา 2-3 ปีในการพิจารณาแผนดังกล่าว
โดยซูซูกิ ทำยอดขายรถยนต์ในปีที่ผ่านมาได้ราว 881 คัน และคาดหมายยอดขายรถยนต์ในปีนี้น่าจะ 2,000 คัน ทั้งนี้ยอดขายกว่า 70% มาจากรถยนต์รุ่น แครี่ รถปิกอัพที่มีโครงสร้างพื้นฐาน เดียวกับรถอเนกประสงค์รุ่น เอพีวี และมีราคาต่ำสุดอยู่ที่ 329,000 บาท
การเกิดโครงการอีโคคาร์ครั้งนี้ แม้ผู้ผลิตหลายๆ รายจะแสดงท่าทีเห็นด้วย และพร้อมร่วมโครงการ แต่สำหรับตลาดรถยนต์มือสอง ซึ่งตลาดส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มรถยนต์ระดับราคา 300,000-600,000 บาท และหากมีรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีระดับราคา ไม่เกิน 500,000 บาท เกิดขึ้น บรรดาผู้ประกอบการเชื่อว่าจะมีผลกระทบอย่างมากกับตลาดรถยนต์มือสองแน่นอน
นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังเตรียมประกาศลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ที่เติมเอทานอล 20% หรือ E20 โดยจากการหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมได้ข้อสรุปว่าการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ใช้ E20 มีการจัดเก็บตามความจุของกระบอกสูบต่ำกว่าอัตราการจัดเก็บภาษีรถยนต์ทั่วไป 5% ดังนี้ รถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบ 2000 ซีซี. กำลังเครื่องยนต์ 220 แรงม้า เดิมเก็บภาษี 30% เปลี่ยนเป็นจัดเก็บที่ 25% รถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบ 2000 – 2500 ซีซี. กำลังเครื่องยนต์ 220 แรงม้า เดิมเก็บภาษี 35% เปลี่ยนเป็นจัดเก็บที่ 30%
รถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบ 2500– 3000 ซีซี. กำลังเครื่องยนต์ 220 แรงม้า เดิมเก็บภาษี 40% เปลี่ยนเป็นจัดเก็บที่ 35% ส่วนรถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบมากกว่า 3000 ซีซี. กำลังเครื่องยนต์ 220 แรงม้า จัดเก็บภาษีที่ระดับ 50% เท่าเดิม โดยอัตราการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2551
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|