|

เตือนแบงก์เตรียมตั้งรับเกณฑ์คุมเข้มระบุหลังใช้บาเซิล2เงินกองทุนหด1.5%
ผู้จัดการรายวัน(8 มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท.เดินหน้าเร่งสถาบันการเงินปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี หรือความต้องการของผู้บริโภค รับหลังนำเกณฑ์บาเซิล 2 มาใช้จะทำให้เงินกองทุนของแบงก์พาณิชย์ทั้งระบบลดลง 1.5% จาก 13.5% เหลือ 12.5% ระบุปัญหาการเมืองเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้น มั่นใจหลังรัฐโหมกระตุ้นความเชื่อมั่นภาคเอกชน เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี ขณะที่การลงทุนและการบริโภคจะพุ่งแทนการส่งออกในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ภาวะเศรษฐกิจไทยและภาคธุรกิจ”ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ธนาคารแสตนดาร์ด ชาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด และบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาคูเปอร์ (ประเทศไทย) ว่า การขยายตัวเศรษฐกิจของไทยยังคงเติบโตดีอยู่ โดยไตรมาสแรกของปีนี้เท่ากับไตรมาส 4 ของปีก่อนที่ระดับ 4.3% ซึ่งภาคการส่งออกที่มีสัดส่วนถึง 80%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักส่วนหนึ่ง เพราะได้รับผลดีจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงขยายตัวดีอยู่ และภาคเอกชนหันมาส่งออกตลาดต่างประเทศมากขึ้นทดแทนการส่งออกตลาดในประเทศที่ยังคงชะลอตัวอยู่
ทั้งนี้ แม้ภาครัฐก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการออกนโยบายต่างๆ ที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจของภาคเอกชนและเพื่อรับช่วงต่อจากการส่งออกในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยการบริโภคไตรมาสแรกขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับปี 49 และปี 48 ขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3.1% และ 4.3% โดยเฉพาะสินค้าทุน อาทิ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิสก์ ส่วนการลงทุนก็มีการชะลอตัวจนติดลบในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยไตรมาสแรกลดลงถึง –2.4% เทียบกับปี 49 ขยายตัว 3.9% และปี 48 ที่ระดับ 10.9%
อย่างไรก็ตาม ธปท.เชื่อว่าจากการผ่อนคลายนโยบายด้านต่างๆของภาครัฐ ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังคงดีอยู่ทั้งภาคการต่างประเทศ รวมทั้งยังมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นหรือในรูปของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) และยิ่งหากการเมืองมีความชัดเจน จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
"ขณะเดียวกันปัจจัยอื่นๆก็เอื้ออำนวยอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่องที่เยอะ ดอกเบี้ยขาลง ราคาพืชผลสูง รวมทั้งการส่งออกที่ยังขยายตัวดีอยู่ ขาดแต่เพียงการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงแผ่วอยู่ ซึ่งปัญหาตัวใหญ่ คือ การเมืองที่ยังไม่นิ่ง รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะผ่านหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญด้วย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปัญหาการเมืองเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น เพราะขณะนี้บางธุรกิจที่มีการลงทุนระยะยาวก็ได้เดินหน้าไปบ้างแล้ว เหลือเพียงการเพิ่มความมั่นใจต่อนักลงทุนมากขึ้นการลงทุนในส่วนอื่นๆ ก็จะตามมา"ผู้ว่าการธปท.กล่าว
ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ในส่วนของภาคสถาบันการเงินและบริษัทจดทะเบียนก็ต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงตัวเองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี หรือแม้แต่ความต้องการของผู้บริโภค จึงจำเป็นที่ต้องมีการนำมาตรฐานสากลแบบใหม่ๆ มาใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วย โดยภาคสถาบันการเงินและบริษัทจดทะเบียนจะต้องเตรียมความพร้อมกับมาตรฐานใหม่ที่ธปท.จะนำมาใช้ด้วยใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การกำกับแบบรวมกลุ่ม 2. การเตรียมความพร้อมรองรับการใช้มาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 39 (IAS39) และ3.การดำรงเงินกองทุนตามหลัก บาเซล ทู
โดยเฉพาะการดำรงเงินกองทุนตามมาตรฐาน บาเซล ทู ที่จะเริ่มมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 51 นี้ ก็ยอมรับว่าจะมีผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส) จากปัจจุบันเฉลี่ยในระบบอยู่ที่ 13.5% ลดลง 1.5% ทำให้เงินกองทุนในระบบธนาคารพาณิชย์เหลือเพียง 12% เท่านั้น ขณะเดียวกันก็อาจมีผลต่อการปรับระบบการดำเนินงานภายในองค์กร ฐานข้อมูล รวมทั้งบุคคลากรด้วย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะส่งผลดีในแง่ของการพิจารณาสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ที่มีคุณภาพจะดีขึ้น โดยจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ถือเป็นการสอดคล้องกับความเสี่ยงธุรกิจลูกหนี้รายนั้น โดยเฉพาะลูกหนี้ประเภทธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) และลูกหนี้ที่ต้องการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วย
สำหรับการกำกับแบบรวมกลุ่ม เป็นการพิจารณาให้สินเชื่อ และเงินกองทุนของธุรกิจในเครือข่ายเข้าด้วยกันกับบริษัทแม่ ถือเป็นการพิจารณาเป็นกลุ่มแทนจากเดิมที่พิจาณาเฉพาะบริษัทในเครือที่เข้ามาขอสินเชื่อเท่านั้น ซึ่งจะเริ่มนำมาใช้ในปีหน้า เช่นกัน
ส่วนการนำมาตรฐานการบัญชีแบบใหม่อย่าง IAS39 เชื่อว่าจะไม่กระทบการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เพราะธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะมีการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มากกว่า ซึ่งหากมีการใช้ IAS39 ก็ยิ่งเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ประกอบกับเงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์โดยเฉลี่ยก็ยังมีสูง จึงเชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อฐานะของธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใด
โดยก่อนหน้านี้ นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า จากการประเมินของ ธปท. พบว่า หากมีการใช้มาตรฐาน IAS39 ธนาคารพาณิชย์ในระบบจะต้องมีการกันสำรองเพิ่มขึ้น 68,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้ได้มีธนาคารพาณิชย์ประมาณ 5-6 แห่งมีการกันสำรองไปแล้วถึง 40,000-50,000 ล้านบาท กันสำรองครบทั้ง 100% ภายในครั้งเดียวจากที่ธปท.อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถกันสำรองได้ 3 งวด คือ งวดสิ้นปี 2549 งวดกลางปี 2550 และให้เสร็จทั้งจำนวนในงวดสิ้นปี 2550 ทำให้ในปีนี้ทั้งปีธนาคารพาณิชย์จะต้องกันสำรองเพิ่มอีกเพียง 20,000 ล้านบาทเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|