หุ้นโรงพยาบาลมีความเสี่ยงน้อย แต่ราคาไม่หวือหวา

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลพวงของภาวะสงครามในอ่าวเปอร์เซีย ได้เริ่มแสดงออกมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว จากฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานงวดสิ้นสุดปี 2533 ของบริษัทจดทะเบียนและรับอนุญาตที่ได้ทยอยรายงานมายังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งปรากฏว่า ส่วนใหญ่จะมีตัวเลขกำไรสุทธิลดต่ำลงมากกว่าที่เคยทำได้ในปี 2532 แทบทั้งสิ้น

อัตราส่วนของกำไรที่ลดลงมานั้น มีมากน้อยลดหลั่นกันไปตามแต่ละประเภทกิจการ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น กลุ่มสิ่งทอ, เดินเรือ หรือกิจการที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น บริษัทหลักทรัพย์ก็อาจจะมีตัวเลขกำไรที่ลดลงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ

ปรากฎการณ์ที่น่าจะมีการบันทึกเอาไว้อย่างหนึ่งก็คือ ในระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานับเป็นครั้งแรกที่กิจการในตลาดหุ้นต้องมีการชี้แจงถึงสาเหตุที่ผลการดำเนินงานในช่วงปี 2533 ที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือทำได้ต่ำกว่าในงวดก่อน ผ่านทางเอกสารสรุปข่าวธุรกิจหลักทรพัย์ของตลาดหลักทรัพย์ออกมามากที่สุด

เหตุผลที่แต่ละบริษัทหยิบยกขึ้นมาอ้างนั้น จากการประมูลดูแล้วพบว่า มีประเด็นหลักที่เหมือนกัน คือ หนึ่ง - ต้นทุนการผลิต เช่น ค่าเชื้อเพลิงและค่าขนส่งสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลาง หรือสอง - อัตราดอกเบี้ยในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และสาม - การปรับตัวของบริษัทคู่ค้าเพื่อรับกับวิกฤตการณ์ดังกล่าว มีผลทำให้รายได้ของบริษัทในตลาดหุ้นที่ได้รับในงวดสิ้นปีมีน้อยกว่าในงวดก่อน

ในสถานการณ์เช่นนี้ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายคนได้เคยออกมาพูดไว้แล้วว่า ถ้าต้องการจะลงทุนนักลงทุนควรพิจารณาเลือกซื้อในกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวน้อยที่สุด

หุ้นประเภทที่ว่านั้น มีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่ม ซึ่งนอกจากกลุ่มอาหารที่ได้เคยกล่าวถึงไปแล้ว หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

"กลุ่มโรงพยาบาล เป็นหุ้นกลุ่มที่นักลงทุนต่างชาติชอบเล่นกันมาก" ศิริวัฒน์ วรเวทย์วุฒิคุณ ที่ปรึกษาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด กล่าวถึงความน่าสนใจของหุ้นกลุ่มนี้

การที่หุ้นโรงพยาบาลได้รับความนิยมจากนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะพวกกองทุนต่าง ๆ นั้น มีเหตุผลมาจากกิจการโรงพยาบาลเป็นกิจการที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง ตามอัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมหรือชุมชน รวมทั้งการพัฒนาพฤติกรรมของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้น ๆ เป็นหลัก จึงทำให้รายได้ของโรงพยาบาลมีอัตราการเติบโตอย่างคงที่ ถึงแม้จะไม่หวือหวาเหมือนกิจการอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่ก็ไม่ผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบันอัตราการขยายตัวของชุมชนที่มีสูงกว่าจำนวนเตียงของโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนจะสามารถรองรับได้ ทำให้นักลงทุนต่างมั่นใจในแนวโน้มของกิจการโรงพยาบาลว่า มีโอกาสที่จะขยายตัวต่อไปได้อีกมาก

ว่ากันว่าเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน กองทุนต่างชาติทุกกองทุนจะต้องซื้อหุ้นของโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่งในพอร์ต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการลงทุนระยะยาวด้วยจำนวนหนึ่ง นอกเหนือจากหุ้นกลุ่มแบงก์และปูนซีเมนต์ที่เป็น "บลูชิพ" อยู่แล้ว

"หุ้นโรงพยาบาล เราจัดอยู่ในประเภทหุ้นเชิงรับ คือ จะมีราคาเคลื่อนไหวขึ้นลงไม่หวือหวาเหมือนหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์หรืออุตสาหกรรมบางประเภท แต่เป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี จะเห็นได้ว่าเมื่อหุ้นกลุ่มอื่น ๆ ถูกไล่ราคาขึ้นไปจนสูงแล้วคนค่อยเริ่มหันกลับมาสนใจลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ที่ราคาวิ่งช้ากว่า" สุธี วัฒนลี ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์เอกธำรงจำกัด ชี้ถึงพฤติกรรมของหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล

ปัจจุบันโรงพยาบาลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 4 บริษัท สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มคร่าว ๆ ได้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นโรงพยาบาลที่เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายระดับบน คือ คนที่มีฐานะตั้งแต่ปานกลางขึ้นไป ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณถนนสุขุมวิทและใกล้เคียง ประกอบด้วยบริษัท สุขุมวิทเวชกิจ (โรงพยาบาลสมิติเวช) และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

กลุ่มที่สอง เป็นโรงพยาบาลที่เจาะกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ระดับกลางลงมา ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ และโรงพยาบาลกรุงธน ที่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพนักงานในโรงงานที่ตั้งอยู่ในย่านฝั่งธนฯ พระประแดง และสำโรง

การเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของทั้ง 4 โรงพยาบาลต่างก็มีวัตถุประสงค์ระดมเงินทุนไปใช้ในการขยายงานของแต่ละแห่ง โดยสำโรงการแพทย์ ซึ่งเข้ามาจดทะเบียนในตลาดเป็นแห่งแรกของกลุ่มนี้เพิ่งมีการขยายอาคารรับผู้ป่วย ขึ้นไปเป็น 7 ชั้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการสร้างโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ขึ้นบนเนื้อที่ 7 ไร่ริมถนนศรีนครินทร์ ใช้ชื่อว่า "โรงพยาบาลศรีนครินทร์" ใช้เงินลงทุน 250 ล้านบาทตามโครงการ จะเป็นโรงพยาบาลขนาด 150-200 เตียง การก่อสร้างได้เริ่มต้นแล้วเมื่อกลางปี 2533 และคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปีนี้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งที่ 3 ขึ้นในเมืองอุตสาหกรรมเทพารักษ์ ซึ่งคาดว่าจะสร้างได้ในปี 2537 เมื่อเมืองอุตสาหกรรมแห่งนี้มีโรงงานตั้งขึ้นมามากพอสมควร

ส่วนโรงพยาบาลกรุงธนก็มีโครงการก่อสร้างอาคารพยาบาลหลังใหม่ สูงประมาณ 12-14 ชั้น เพื่อเพิ่มปริมาณการรับผู้ป่วยนอกได้อีกวันละ 1,00 คน ใช้เงินลงทุนประมาณ 150 ล้านบาทสำหรับการก่อสร้าง และอีก 65 ล้านบาทสำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

สำหรับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีโครงการร่วมทุนกับบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เมดิคัล เอ็นเตอร์ไพรซ์ลิเซ่ แห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ขนาด 550 เตียง มูลค่าการลงทุน 1,750 ล้านบาท ขึ้นบนถนนนานา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2534

สุดท้ายโรงพยาบาลสมิติเวชก็มีโครงการสร้างโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ขึ้นบนถนนศรีนครินทร์เช่นกัน แต่อยู่คนละย่านกับโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ ตามโครงการจะสร้างโรงพยาบาลขนาด 500-600 เตียง ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,700 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในปี 2535

อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนหลายคนมองว่ากิจการโรงพยาบาลเอกชน เป็นกิจการที่มีความเสี่ยงแฝงอยู่เช่นกัน เพราะเมื่อมีโครงการลงทุนขยายงานแต่ละครั้ง ต้นทุนส่วนใหญ่ นอกจากจะไปในด้านของค่าก่อสร้างแล้ว อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ก็มีมูลค่ามหาศาล และลักษณะการลงทุนของธุรกิจโรงพยาบาล จะเป็นไปในรูปแบบที่ต้องจ่ายเงินทั้งหมดออกไปก่อน แล้วค่อยๆ เรียกเก็บตามมาในภายหลัง ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าธุรกิจอื่น ๆ

นอกจากนี้ ธรรมชาติของธุรกิจโรงพยาบาลเป็นกิจการที่จำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องตามการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดังนั้น ความสามารถในการจัดหารายได้ให้มีความสมดุลกับต้นทุนดังกล่าวนี้ จึงเป็นความจำเป็นมากสำหรับผู้บริหารโรงพยาบาลทุกแห่ง

"จากที่เคยพูดคุยกับพวกพ่อค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ พวกนี้เชื่อมั่นว่า แนวโน้มการแข่งขันของกิจการโรงพยาบาลหลังจากนี้เป็นต้นไป จะเน้นไปที่อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยเป็นหลัก" แก้วกมล ตันติเฉลิม หัวหน้าแผนกฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์อุตสาหกรรมโรงพยาบาลกล่าว ซึ่งก็หมายความว่า โรงพยาบาลทุกแห่งจะต้องมีการลงทุนในด้านนี้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

"แต่ก็ต้องยอมรับกันว่า ถึงแม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็จะมีผลดีในแง่ภาพพจน์และชื่อเสียงของโรงพยาบาล เพราะธุรกิจประเภทนี้ถูกควบคุมจากภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถโฆษณาได้เหมือนธุรกิจประเภทอื่น" สุธี วัฒนลี จากบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง ชี้ให้มองในแง่ดีของการแข่งกันในลักษณะดังกล่าว พร้อมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่า ผู้บริหารโรงพยาบาลทุกแห่งคงต้องคำนึงถึงปัจจัยข้อนี้และต้องมีแผนการเตรียมรับไว้แล้ว

ในด้านแนวโน้มของกิจการโรงพยาบาลในตลาดหุ้นทั้ง 4 บริษัทนั้น สุธีมองว่า กลุ่มโรงพยาบาลที่มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในระดับชนชั้นสูงอย่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์หรือสมิติเวชนั้นค่อนข้างจะได้เปรียบ เพราะในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลงขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้นเช่นนี้ โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งจะสามารถแก้ปัญหาโดยการเพิ่มอัตราค่าบริการให้กับลูกค้าได้ง่ายกว่า เพราะลูกค้าส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว ต่างจากโรงพยาบาลที่เจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางลงมา

"คนระดับนี้จะ SENSITIVE กับเรื่องของราคา ดังนั้น โรงพยาบาลที่จับลูกค้าระดับนี้จะปรับอัตราค่าบริการแต่ละครั้งลำบาก" สุธีกล่าวถึงโรงพยาบาลที่หากินกับผู้ป่วยที่มีฐานะระดับกลางลงมา

"ผมมองว่า โรงพยาบาลที่ดูมีอนาคตน่าจะเป็นสำโรงการแพทย์" ดร.ธรรมนูญ อานันโทไทย ผู้แทนสำนักงานตัวแทนบริษัท โนมูระ ซีเคียวริตี้ ประจำประเทศไทย ให้ความเห็น โดยยกเหตุผลที่ว่า การที่โรงพยาบาลดังกล่าวตั้งอยู่กลางชุมชนที่กำลังมีการเติบโตสูงเช่นนี้ เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ดีให้กับขยายตัวของโรงพยาบาลในอนาคต

นอกจากนี้ การที่สำโรงการแพทย์มีโครงการจะไปตั้งโรงพยาบาลใหม่ที่ถนนศรีนครินทร์ขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น จัดได้ว่าเป็นการขยายฐานลูกค้าจากเดิมที่เป็นกลุ่มคนระดับกลางลงมา ไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีฐานะดีขึ้น ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลมีความคล่องตัวในการปรับอัตราค่าบริการ กับลูกค้าส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของรายได้ของโรงพยาบาลจะมีสูงขึ้น

สำหรับโรงพยาบาลกรุงธน ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การบริหารงานค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยม โดยยังไม่มีโครงการขยายตัวขนาดใหญ่เหมือนเช่นโรงพยาบาลอื่น ๆ นอกจากการขยายพื้นที่รับคนไข้ให้มากขึ้นจนทำให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนน้อยกว่าอีก 3 แห่งนั้น นพ.ไศล สุขพันธ์โพธาราม กรรมการผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงธน กล่าวว่า บางครั้งการมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อโรงพยาบาลเสียทั้งหมด เพราะธุรกิจโรงพยาบาลมียังมีตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้อยู่อีกหลายประการเช่นกัน

"สมมุติว่า ผมไปลงทุนสร้างโรงพยาบาลใหม่ ผมแน่ใจได้อย่างไรว่า จะมีคนไข้มารักษาตามที่เราตั้งเป้าหมายไว้ ปัจจุบันนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่มีห้องว่างทิ้งค้างไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากสาเหตุที่ไม่มีคนไข้เข้ามารักษาแล้ว ยังมาจากไม่สามารถหาหมอหรือพยาบาลมาทำงานได้ เพราะทุกวันนี้ก็มีการแย่งตัวกันอย่างรุนแรงอยู่แล้ว สู้เราขยายตัวตามความจำเป็น แล้วพยายามบริหารงานให้ได้ผลตอบแทนคุ้มค่าสำหรับผู้ถือหุ้นของเราจะดีกว่า" นพ.ไศล ให้เหตุผลถึงข้อจำกัดในการขยายการลงทุน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.