การประกาศตัวอย่างเป็นทางการของ "ออสก้ามายเออร์" ในการบุกตลาดอย่างจริงจังในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ได้สร้างความคึกคักให้กับตลาดผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่มีคู่แข่งอยู่มากราย
ถึงแม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันมาก่อนล่วงหน้าแล้วว่า ซีพีได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัทออสก้ามายเออร์แห่งสหรัฐอเมริกาในสัดส่วน
60 : 40 มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2529 โดยการจัดตั้งบริษัท ออสก้ามายเออร์-ซีพี
จำกัด ขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาทเพื่อผลิตสินค้าในชื่อยี่ห้อของออสก้ามายเออร์ออกวางตลาดในประเทศไทย
แต่จากความไม่พร้อมในเรื่องของโรงงานผลิตทำให้สินค้าของออสก้ามายเออร์ต้องล่าช้าออกไป
การสร้างโรงงานระบบปิดเพื่อควบคุมความเย็น 12-15 c การติดตั้งเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีที่นำสมัยในการผลิต
เทคนิคในการรักษาความสดสะอาดในทุกขั้นตอน กรรมวิธีการบรรจุด้วยระบบสูญญากาศ
(VACUUM PACK) เพื่อให้สินค้าเก็บได้นานโดยไม่เสื่อมคุณค่าทางโภชนาการ และการพัฒนาสินค้าเป็นสาเหตุที่สำคัญของการล่าช้าครั้งนี้
และสาเหตุที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือ ในการปรับปรุงโรงงานเพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกับที่ผลิตในอเมริกานั้นต้องดำเนินการไปพร้อม
ๆ กับการผลิตสินค้าไส้กรอกของซีพีที่มีอยู่เดิม ทำให้การปรับปรุงต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
ภายหลังจากการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ทำให้โรงงานออสก้ามายเออร์-ซีพี ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนครั้งนี้มีมูลค่ากว่า
300 ล้านบาท
สินค้าที่ออกวางตลาดในช่วงแรกมีอยู่ด้วยกัน 6 ชนิด คือ ไส้กรอกหมูเวียนเนอร์,
สโมกกี้ ลิงค์, จัมโบ้สโมกกี้, แฮม, โบโลน่า และเบคอน โดยใช้ชื่อ "คราฟท์
อสก้า มายเออร์" เนื่องจากปัจจุบันออสก้ามายเออร์เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกรายหนึ่ง
คือ บริษัทคราฟท์ เยนเนอรัลฟู้ด ซึ่งอยู่ในคเรือข่ายของบริษัท ฟิลิปมอริส
และการใช้ชื่อคราฟท์ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านผลิตภัณฑ์เนยแข็งควบคู่ไปด้วยน่าจะเป็นการการันตีและช่วยในการทำตลาดให้ง่ายขึ้นด้วย
การเข้ามาในตลาดของออสก้ามายเออร์ครั้งนี้ ได้สร้างความหวั่นไหวให้กับคู่แข่งในตลาดไม่น้อยด้วยเหตุผลประการสำคัญ
คือ ความพร้อมและความใหญ่ของซีพี
หากพิจารณาถึงคู่แข่งขันในตลาดของซีพี ซึ่งมีด้วยกันหลายราย อย่างเช่น หมูตัวเดียวของบางกอกแฮม,
หมูสองตัวของไทยซอสเซส, บีลักกี้, อีเก้ง, สวิฟ แล้วนับว่าซีพีเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด
เพราะนอกเหนือจากจะมีโรงงานผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่แล้ว ส่วนหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ
คือ การมีฟาร์มเลี้ยงหมูและฟาร์มเลี้ยงไก่ของตนเอง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบป้อนให้กับโรงงาน
ซึ่งนัยว่าคนที่จะเข้ามาอยู่ในธุรกิจประเภทนี้อย่างจริงจังควรจะก้าวไปให้ถึงจุดนี้
นั่นคือการทำธุรกิจแบบครบวงจร ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีคู่แข่งรายใดของซีพีก้าวขึ้นมาถึงขั้นนี้
ซีพีจึงอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าคู่แข่งทุกรายในเรื่องของความพร้อม
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ซีพีจะบุกตลาดจนมียอดขายรวมทั่วประเทศมากเป็นอันดับหนึ่ง
แต่ในสมรภูมิรบอย่างห้างสรรพสินค้าในเขตกรุงเทพฯ ซีพีกลับได้ชื่อว่า เป็นรองค่ายบางกอกแฮมที่มีหมูตัวเดียวเป็นหัวหอกสำคัญ
การที่เข้าตลาดมานาน และรสชาติเป็นที่คุ้นลิ้นคนไทย ทำให้หมูตัวเดียวยึดตลาดได้อย่างเหนียวแน่นและได้ชื่อว่ามีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด
โดยที่ไม่มีคู่แข่งรายใดตีตลาดได้แม้กระทั่งซีพี แต่การที่บางกอกแฮมเน้นตลาดเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ
โดยเฉพาะจุดขายในห้างสรรพสินค้าทำให้ตลาดค่อนข้างจำกัด จุดนี้เองที่ทำให้ซีพีซึ่งก้าวเข้ามาทีหลังแต่มีความพร้อมมากกว่าเจาะเข้ายึดตลาดทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว
คู่แข่งที่สำคัญของซีพี นอกเหนือจากบางกอกแฮมแล้วยังมีบีลักกี้และสวิฟซึ่งนับได้ว่าเป็นคุ่แข่งที่นำหน้าซีพีไปในเรื่องของบรรจุภัณฑ์แบบสูญญากาศ
บีลักกี้เข้าตลาดด้วยการเจาะเซ็กเม้นท์ช่องทางด้านโรงแรมหรือภัตตาคารใหญ่
รวมถึงสายการบินโดยให้ความสำคัญกับตลาดนี้มากเป็นพิเศษ ในขณะที่สินค้าที่วางขายในห้างสรรพสินค้าเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น
บีลักกี้จึงได้ชื่อว่าแข็งที่สุดในตลาดโรงแรม ว่ากันว่าโรงแรมในประเทศไทย
80% ใช้ผลิตภัณฑ์ของบีลักกี้ ซึ่งในตลาดนี้คู่แข่งอย่างซีพีก็พยายามที่จะเข้าให้ได้
แต่การที่บีลักกี้มีผลิตภัณฑ์มากประเภทกว่าจึงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก
สำหรับ "สวีฟ" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของซีพี
(ในช่วงเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปลายปี 2531) เนื่องจากเป็นแบรนด์ระดับอินเตอร์ที่ทางบริษัท
ไทย-อาร์.เอฟ.เอ็ม. ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มอาร์.เอฟ.เอ็ม.ของฟิลิปปินส์กับกลุ่มนักธุรกิจไทยที่รู้จักกันดี
อย่างณรงค์ วงศ์วรรณ มงคล ศิริสัมพันธ์ โดยมีสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ นั่งเป็นประธานกรรมการบริษัทฯ
ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาผลิตในประเทศไทย
ด้วยเงินลงทุนสร้างโรงงานขนาดใหญ่ถึง 700 ล้านบาทซึ่งไม่เพียงแต่เป็นโรงงานผลิตอาหารแปรรูปจากสัตว์เท่านั้น
ยังเป็นโรงงานฆ่าและชำแหละเนื้อสัตว์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
โดยได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอพร้อมกับเงินกู้จากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจำนวน
257.7 ล้านบาท และจากยูเสดอีก 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้สวีฟดูเพียบพร้อมมากที่สุดในขณะนั้น
แต่หลังจากที่สวีฟวางตลาดได้ไม่นานก็มีอันต้องเงียบหายไปจากตลาด
แหล่งข่าวในไทย-อาร์.เอฟ.เอ็ม. เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้สวีฟหายจากตลาดไปพักหนึ่ง
เนื่องมาจากปัญหาเรื่องตู้แช่ ซึ่งมีความเย็นไม่เหมาะสมพอ ทำให้สินค้าซึ่งต้องอาศัยความเย็นในการเก็บรักษาต้องประสบกับปัญหาตามไปด้วย
ในขณะที่ทีมงานระดับบริหารซึ่งรับผิดชอบสินค้าตัวนี้ก็ไม่มีความถนัดในการทำสินค้าประเภทบริโภค
"ต้องยอมรับว่า ทีมบริหารที่เข้ามาทำสวีฟนั้นแข็งมากในเรื่องของมาร์เก็ตติ้ง
ไม่ว่าจะเป็นการกระจายสินค้าอย่างทั่วถึง การโปรโมชั่นแบบไม่อั้นจนทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในตลาด
แต่สิ่งที่สำคัญที่ลืมนึกถึง คือ สินค้าตัวนี้มีอายุในการวางตลาดได้ไม่นาน
จำเป็นต้องใช้การดูแลเป็นพิเศษ ในขณะที่ทีมงานวางแล้ววางเลยประกอบกับปัญหาเรื่องตู้แช่ไม่ได้มาตรฐานพอด้วย
ทำให้สวีฟต้องถอยทัพไปพักอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งในระยะนั้นมีการเปลี่ยนทีมผู้บริหารอีกหลายชุดด้วย"
จนกระทั่ง กลุ่มเฟิสท์ แปซิฟิก เข้ามาเทคโอเวอร์ไทย-อาร์.เอฟ.เอ็ม. และเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็นไทย-แปซิฟิค
ฟู้ดส์เมื่อต้นปี 2533 ทำให้ผลิตภัณฑ์ของสวีฟหวนกลับเข้าตลาดอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้น การเข้ามาในตลาดของออสก้ามายเออร์จริง ๆ แล้วคงต้องเผชิญกับคู่แข่งหลัก
คือ สวีฟ ซึ่งเป็นแบรนด์อินเตอร์ฯ เหมือนกัน และวางตำแหน่งสินค้าสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
โดยปล่อยให้แบรนด์ซีพีต่อสู้ในตลาดที่เรียกว่า ตู้แช่ (ตักขาย) ต่อไป
แต่การที่ธุรกิจหลักของบริษัทไทย-แปซิฟิก ฟู้ดส์เป็นธุรกิจการชำแหละเนื้อสัตว์เพื่อส่งออกถึง
75% สวีฟจึงเป็นเพียงผลพลอยได้จากการทำธุรกิจหลักของบริษัทเท่านั้น และถึงแม้ว่าสวีฟจะถูกโอนมาให้ทางเบอร์ลี่ยุคเกอร์เป็นผู้จัดจำหน่ายในอนาคตอันใกล้นี้ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในไทย-แปซิฟิค
ฟู้ดส์ โดยแบ่งหน้าที่ให้ไทยแปซิฟิค ฟู้ดส์ เป็นเพียงผู้ผลิตเท่านั้น แต่การที่เบอร์ลี่ยุคเกอร์มีความเชี่ยวชาญในสินค้าอุปโภคมากกว่าบริโภค
ซึ่งในจุดนี้เองที่ทำให้ออสก้ามายเออร์ค่อนข้างมั่นใจว่า จะสามารถเข้าไปยึดหัวหาดในตลาดสินค้าระดับบนนี้ได้อย่างไม่ยากนัก
ถึงแม้ว่าตัวเลขมูลค่าตลาดที่แท้จริงจะยังไม่มีใครสามารถประเมินออกมาได้
แต่จากการประมาณการของซีพีน่าจะอยู่ในราว 1,000 กว่าล้าน ซึ่งซีพีเองถือว่ายังเป็นตลาดที่เพิ่งเริ่มต้นและยังมีอัตราการเติบโตได้อีกมาก
ดังนั้น การที่จะมีคู่แข่งรายอื่นเข้ามาทำกิจกรรมทางการตลาดน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยกระตุ้นให้ตลาดนี้โตขึ้น
และนั่นคงไม่ใช่สิ่งที่ซีพีหวังเพียงรายเดียว