ความแตกแยกใน "อินกรุ๊ป" จนต้องแยกทางกัน เดินต่างคนต่างทำมาหากินในเส้นทางธุรกิจเดียวกัน
กลายเป็นคู่แข่งขัน ซึ่งกันและกันระหว่างพิษณุ นิลกลัด กับธัชเวชช์ เวชชวิศิษฎ์
แม้จะดูเป็นเรื่องธรรมดา ๆ ในวงการธุรกิจ แต่ก็เป็นเรื่องน่าศึกษา เพราะมันเป็นเพียงบทเรียนแรกๆ
ในการทำธุรกิจที่คนหนุ่มคนสาวร่วมสมัยในยุคนี้มักจะมองข้ามไปเสมอ ๆ
ในขณะที่องค์กรธุรกิจขนจาดใหญ่ยุคปัจจุบัน พยายามที่จะวิ่งเต้นเจรจาร่วมทุนกับคู่แข่งขัน
เพื่อลดการแข่งขันระหว่างกันและเสริมพลังในตลาดให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่กรณีของ
"อินกรุ๊ป" มันช่างดูจะตรงข้ามกับแนวความคิดร่วมสมัยนี้อย่างสิ้นเชิง
พ่อค้าคนจีนใช้ความไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริตที่มีต่อกันเป็นรุ่น ๆ
มาตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจร่วมลงทุน แต่นักธุรกิจทางตะวันตกอิงกฎเกณฑ์กติกาทางกฎหมาย
และสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรที่มีกฎหมายรองรับเป็นหลักในการสร้างความเชื่อมั่นต่อกัน
พิษณุ นิลกลัด เป็นคนหนุ่มที่มีความรู้ดีขั้นปริญญาตรีรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มีความอดทน เพียรพยายาม มุมานะในการเรียนรู้ด้วยใจรักอาชีพนักข่าวกีฬา เขาใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์
โดยไม่เคยคิดจะถอนตัวออกจากวงการเป็นเวลานานนับสิบปี จนในที่สุดมันได้กลายเป็นความรู้ความสามารถในขั้นที่เรียกว่าเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ไม่มีใครจะเป็นอย่างเขาได้ในระยะเวลาอันสั้น
หลังจากจบรัฐศาสตร์จุฬา พิษณุสอบติดปลัดอำเภอ แต่เขาไม่ไปรายงานตัวเพื่อบรรจุเข้าทำงาน
เพราะรักที่จะเป็นนักข่าวมากกว่า
เพราะฉะนั้นพื้นฐานทางความคิดของพิษณุคงมีแต่งานที่เขารัก นั่นคือข่าวความเคลื่อนไหวทุกชั่วโมงในวงการกีฬาทั้งในและต่างประเทศ
มีโอกาสน้อยมากที่เขาจะได้มีโอกาสคิดและติดตามข่าวและความรู้เกี่ยวกับการตลาด
การบริหาร การจัดการ
การตัดสินใจในการร่วมทุนของเขาจึงมีประเด็นพิจารณาเพียงเพื่อนผู้มีเงินที่สนใจจะให้การสนับสนุนงานของเขา
และโอกาสดีที่จะทำให้เขาได้ทำงานในสิ่งที่ถนัด
ธัชเวชช์ เวชชวิศิษฎ์ เป็นลูกชายคนมีเงิน พ่อแม่ส่งไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่เด็ก
มีความรู้สึกสนุกกับการติดตามข่าวกีฬา จุดนี้นำพาให้เขาเข้าสู่วงการข่าวกีฬาโดยการเป็นช่างภาพ
ในวงการช่างภาพข่าวกีฬาด้วยกันแล้ว ธัชเวชช์เป็นช่างภาพที่มีอุปกรณ์ในการหากินส่วนตัวครบสมบูรณ์และทันสมัยที่สุดตามประสาลูกคนมีเงิน
แม้งานข่าวจะเป็นงานที่หนัก แต่ไลฟ์สไตล์ของธัชเวชช์ก็ยังเป็นคนชอบบันเทิงเริงรมย์
และมีชีวิตแบบสบาย ๆ อยู่ร่ำไป
พื้นฐานความคิดของธัชเวชช์นั้น คิดว่าวันหนึ่งก็คงต้องมีกิจการอะไรสักอย่างที่เป็นของตัวเอง
ประเด็นที่เขาพิจารณาในการร่วมลงทุนกับพิษณุ คือ เพื่อนที่ว้ใจและมีความสามารถในระดับที่จะกลั่นออกมาเป็นตัวเงินได้สบาย
ๆ
ทั้งสองพบกันครั้งแรกเมื่อสมัย 10 ปีก่อนในโอกาสเดินทางไปทำข่าวฟุตบอลยุโรป
ทั้งความเกี่ยวพันในอาชีพและนิสัยใจคอที่ดีต่อกันตลอดมา ก่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันแน่นหนาขึ้นเรื่อย
ๆ
และด้วยเหตุที่การสื่อสารทั้งในและต่างประเทศเจริญทันสมัยและรวดเร็วมากขึ้นในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา
จึงทำให้ประชาชนตื่นตัวต่อข่าวสารทางด้านกีฬามากขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวกับการขายข่าวสารทางด้านกีฬาที่ไม่ค่อยมีใครมองเห็นอนาคตของมัน
กลับกลายเป็นข่าวสารที่ขายดีมากขึ้นเป็นทวีคูณไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอทางด้านโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ ได้เกิดหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวันขึ้นมา
ซึ่งแรก ๆ ไม่มีใครเชื่อว่าจะไปรอด แต่ปัจจุบันนี้ กลายเป็นหนังสือรายวันที่มียอดจำหน่ายติดอันดับหนึ่งในสามของหนังสือพิมพ์รายวันที่มียอดจำหน่ายสูงสุดเข้าไปแล้วอย่างน่าทึ่ง
ในขณะเดียวกัน การขายข่าวประเภทนี้ผ่านทางจอทีวีทั้งในรูปของการรายงานข่าว
การถ่ายทอดสด และเกร็ดความรู้ด้านกีฬาต่าง ๆ เป็นเรื่องที่คนสนใจอย่างมากเกือบทุกประเภท
เมื่อคนสนใจมากขึ้น สินค้าต่าง ๆ ที่จะมาเป็นผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์แก่สื่อต่าง
ๆ ที่ขายข่าวทางด้านนี้ก็มีปริมาณสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
การผลิตข่าวสารข้อมูลและสารคดีเกี่ยวกับกีฬาในประเภทต่าง ๆ จึงกลายเป็นธุรกิจที่เปิดโอกาสให้แก่คนที่อยู่ในวงการมีช่องทางทำมาหากิน
สร้างความร่ำรวยขึ้นมาอยู่ในระดับที่เรียกกันว่าเศรษฐีใหม่
แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในข่าวสารประเภทนี้ก็เหมือนกับความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอื่น
ๆ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้สั่งสมกันเป็นเวลายาวนานพอสมควร
ดูเหมือนทั้งธัชเวชช์ และพิษณุ ได้เข้าใจในจุดนี้ และได้หยิบฉวยเอาโอกาสมาเป็นเจ้าของตนเองได้แล้วส่วนหนึ่ง
โดยการตั้งบริษัทอินเตอร์เพนเด้นส์ เน็ทเวิร์คกรุ๊ป หรือ "อินกรุ๊ป"
เพียงเวลาสองปีหลังการก่อตั้งเมื่อปี 2532 พวกเขามีรายได้เข้าบริษัทเดือนละกว่า
5 ล้านบาท หรือปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 60 ล้านบท
พวกเขาจะร่ำรวยมากกว่านี้ ถ้าไม่มาแตกคอกันเสียก่อน !!
อินกรุ๊ป มีรายการกีฬาทางทีวีของตัวเองอยู่ 3 รายการ รวมเวลา 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
อันได้แก่ รายการเอ็กเซ็กคิวทีฟกอล์ฟ ออกรายการทางช่อง 7 สีทุกวันจันทร์
ช่วงเวลา 23.00-24.00 น. รายการยอดมวยเอกออกรายการทางช่อง 7 สีทุกวันอังคารช่วงเวลา
23.00-24.00 น. และรายการสปอร์ตฮอตไลน์ออกรายการทางช่อง 9 ทุกวันพฤหัสในช่วงเวลาเดียวกัน
ในแต่ละรายการจะมีช่วงเวลาในการขายสปอร์ตโฆษณาโดยตรง 10 นาที/รายการหนึ่งชั่วโมงตามกฎหมาย
ซึ่งจะตกประมาณ 40 นาทีต่อเดือนโดยรายการเอ็กเซ็กคิวทีฟกอล์ฟคิดอัตราค่าโฆษณา
45,000 บาท/นาที เพราะฉะนั้นคิดเฉพาะค่าสปอร์ตโฆษณารายการนี้ อินกรุ๊ปจะมีรายได้เข้าหลังจากหักส่วนลดแล้ว
15% ประมาณ 1,530,000 บาท/เดนอ
สำหรับรายการยอดามวยเอกมีเวลาในการโฆษณาตามกฎหมายเดือนละ 40 นาทีเช่นกัน
โดยคิดอัตราค่าโฆษณานาทีละ 48,00 บาท ซึ่งจะทำให้มีรายได้เข้าบริษัทหลังหักส่วนลด
15% แล้วประมาณ 1,632,000 บาท/เดือน
รายการสปอร์ตฮอตไลน์มีเวลาในการขายโฆษณาตามกฎหมาย 40 นาที/เดือน โดยขายในราคา
35,000 บาท/นาที รายได้ทั้งเดือนตัดส่วนลด 15% แล้วจะตกประมาณ 1,190,000
บาท/เดือน
รายได้พวกนี้ยังไม่รวมค่าโฆษณาในรูปอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สปอตโฆษณาโดยตรง เช่น
ผู้สนับสนุนรายการที่ระบุชื่อในตอนขึ้นต้นรายการ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือประกอบฉากต่าง
ๆ ซึ่งจะมีรายได้อีกหลายแสนบาทต่อรายการต่อเดือน
นอกจากนี้ อินกรุ๊ปยังทำนิตยสารรายเดือนชื่อ "เอ็กเซ็กคิวทีฟกอล์ฟ"
ซึ่งมีอัตราค่าโฆษณาหน้าสี่สีเต็มหน้าตั้งแต่ 25,000-35,000 บาท ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ลงโฆษณากลุ่มเดียวกันกับรายการทีวีชื่อเดียวกัน
เพราะฉะนั้นนิตยสารฉบับนี้จึงไม่ค่อยมีปัญหาในด้านการโฆษณาเท่าใดนัก เพราะทั้งนิตยสารและรายการทีวีต่างก็เกื้อหนุนซึ่งกันและกันอยู่แล้ว
และด้วยความที่ธุรกิจหลักกำลังเดินหน้าไปได้ดี การพยายามหารายได้ให้มากขึ้นโดยวิธีการสร้างเครือข่ายบริการที่รับกับธุรกิจหลักก็เกิดขึ้น
ได้มีการตั้งบริษัทในเครือชื่อ "อินเพรส" ขึ้นมาอีกบริษัทหนึ่งรับบทบาทในการวางแผนและทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้แก่โครงการสนามกอล์ฟ
ซึ่งเป็นลูกค้าของรายการทีวีและนิตยสารที่เกี่ยวกับกอล์ฟอยู่แล้ว ในระยะต่อมาได้ขยายตลาดบริการทางด้านนี้ออกไปสู่โครงการพัฒนาที่ดินด้านอื่น
ๆ ด้วย เช่น โครงการหมู่บ้านจัดสรรอาคารชุด รวมไปถึงนิคมอุตสาหกรรมด้วย ล่าสุดบริษัทนี้มีลูกค้าที่เซ็นสัญญาจ้างกันไปแล้วประมาณ
12 โครงการ แต่ไม่อาจประเมินรายได้ในขณะนี้
ก่อนที่จะมีการรวมตัวกันทำธุรกิจจนมีตัวเลขรายได้เข้าบริษัทเดือนหนึ่งหลายล้านเช่นนั้งสองต่างก็มีกิจกรรมทางธุรกิจเล็ก
ๆ น้อย ๆ เป็นของตัวเองตามแต่โอกาสและความสามารถเปิดให้
พิษณุมีรายการยอดมวยเอกทางช่อง 7 สี ซึ่งเริ่มต้นด้วยการรับจ้างบรรยายให้แก่บริษัทเอสเอสโปร
จนกลายมาเป็นผู้ผลิตและเป็นเจ้าของรายการเองในที่สุด พิษณุกล่าวว่า รับรายการนี้มาเต็มตัวก่อนที่จะมาร่วมกับธัชเวชช์ตั้งอินกรุ๊ปประมาณ
6-7 เดือน โดยทำงานร่วมกับ ชาญ วรพิพัฒน์กำธร ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านการผลิตในขณะที่ตัวเขาเองเชี่ยวชาญทางด้านข่าวสารและบรรยาย
ทั้งสองทำงานร่วมกันแบบไม่เอาเงินเดือน รายได้เท่าไหร่หักค่าใช้จ่ายเหลือแล้วจึงแบ่งกัน
รายการยอดมวยเอกเป็นที่นิยมของคนดู เพราะลีลาการบรรยายที่เต็มไปด้วยลีลาเร้าใจและเกร็ดความรู้ที่พิษณุใส่เข้าไปอย่างน่าติดตาม
แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาทั้งสองก็ประสบปัญหาเรื่องเงินทุนและงานทางด้านการตลาดเพราะไม่ถนัด
ธัชเวชช์เองก็มีรายการตามที่ถนัดเป็นของตัวเอง คือ รายการเกี่ยวกับการแข่งรถในนามบริษัทสปอร์ตอิมแพค
ซึ่งเป็นเทปรายการที่ซื้อมาจากต่างประเทศ แล้วนำมาแปลและบรรยายภาษาไทยนำออกเผยแพร่ทางทีวี
แม้รายการนี้จะไม่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง แต่ก็เป็นที่ชื่นชอบของคนเฉพาะกลุ่ม
ประกอบกับธัชเวชช์เองก็เรียกได้ว่ามีสายป่านยาวจึงประคองายการอยู่มาได้ด้วยดี
ในขณะเดียวกันสิ่งที่เขาขาด คือ ความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกีฬา ซึ่งจะเป็นที่มาของความคิดในการสร้างสรรค์งานและลีลาในการบรรยายที่เร้าใจอย่างที่พิษณุมี
รวมไปถึงความชำนาญในการผลิตรายการเป็นของตัวเองอย่างที่ชาญมีอีกด้วย
ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีในสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีและขาดในสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งมี
ประกอบกับความเชื่อใจต่อกันตามเวลาที่คบกันมายาวนาน การเจรจาตกลงในเงื่อนไขการร่วมกันจึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นที่จะลงตัวกันได้โดยง่าย
พวกเขามีความต้องการสิ่งที่มีในตัวอีกฝ่ายหนึ่งสูง และมีความไว้ใจกันมาก
ประเด็นในเรื่องผลประโยชน์จึงเป็นประเด็นรองในการเจรจาร่วมลงทุน ไม่มีใครมองถึงความขัดแย้งที่มันอาจเกิดขึ้นเมื่อตัวเลขรายได้มันเข้ามามาก
ๆ
ทั้งสองตกลงตั้งบริษัทกันขึ้นมาใหม่ชื่อบริษัทอินดิเพนเด้นส์เน็ทเวิร์คกรุ๊ปด้วยทุนจดทะเบียนหนึ่งล้านบาท
โดยธัชเวชช์เป็นผู้ลงทุนและแบ่งหุ้นลมให้แก่พิษณุ 15% และตกลงจ่ายค่าผลิตรายการยอดมวยเอกให้แก่พิษณุอีกสัปดาห์ละ
12,000 บาท เป็นการแลกกับที่พิษณุนำรายการยอดมวยเอกเข้ามาสมทบเป็นของบริษัท
ในด้านการบริหาร ธัชเวชช์เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจในการลงลายมือชื่อเป็นหลักคู่กับกรรมการคนอื่น
ๆ แทนบริษัทซึ่งก็มี ปรมา ชันซื่อ แฟนของธัชเวชช์ พิษณุ และก็ชาญเพื่อนของพิษณุ
มีการแบ่งงานกันรับผิดชอบตรงตามความถนัดของแต่ละฝ่าย คือ ธัชเวชช์ดูแลทางด้านการตลาด
และการแปลข่าวจากต่างประเทศ ปรมาดูแลทางด้านบัญชีและการบริหารภายในทั่วไป
พิษณุกับชาญรับผิดชอบในการสร้างสรรค์และผลิตรายการ
รายการยอดมวยเอกทำรายได้ดีและมีการขยายงานออกมาเรื่อย ๆ มีการนำเอาแนวความคิดและช่องทางการตลาดจากการที่พิษณุทำรายการกอล์ฟทิปหรือเกล็ดความรู้เรื่องการเล่นกอล์ฟให้แก่ช่อง
7 สีวันละ 3-4 นาทีมาขยายเป็นรายการใหญ่ขึ้นเป็นของตัวเอง ชื่อ "เอ็กเซ็กคิวทีฟกอล์ฟ"
ติดตามด้วยการออกนิตยสารในชื่อเดียวกัน และมันก็ได้เป็นช่องทางนำไปสู่การวางแผนและทำโฆษณาให้แก่สนามกอล์ฟต่าง
ๆ ภายใต้ชื่อบริษัทอินเพรสขึ้นมาอีกบริษัทหนึ่ง
แต่บริษัทหลังสุดนี้ ฝ่ายของพิษณุไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นด้วย ดูไปแล้วก็เหมือนกับเป็นธุรกิจส่วนตัวระหว่างธัชเวชช์กับปรมา
ความรู้สึกว่ามีความไม่สมดุลย์ทางผลประโยชน์เกิดขึ้น เมื่อตัวเลขรายได้นับวันจะสูงขึ้น
ฝ่ายพิษณุมีความรู้สึกว่า ฝ่ายธัชเวชช์ไม่ค่อยได้ทำอะไร ในขณะที่ฝ่ายธัชเวชช์มีความรู้สึกว่า
ฝ่ายพิษณุไม่ได้ลงทุนอะไรกลับมีแต่รายรับ
จุดกล่าวหาตรงนี้แสดงออกมาเป็นตัวเลขที่ทั้งสองฝ่ายกล่าวอ้างก็คือว่า บริษัทมีกำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมทั้งเงินเดือนของแต่ละคนแล้วอย่างน้อยเดือนละ
20,000 บาท ถ้าตัวเลขนี้เป็นจริงก็จะมีกำไรรวมทั้งปี 2,400,000 บาท แต่พิษณุจะได้จากส่วนนี้ประมาณ
360,000 บาทตามสัดส่วนการถือหุ้น ส่วนที่เหลือ 2,040,000 บาทจะตกเป็นของผู้ลงทุนทั้งหมด
ส่วนอีกจุดหนึ่งก็คือ พิษณุจะมีรายได้ต่อเดือนนอกเหนือจากเงินเดือนละ 20,000
บาทแล้วยังได้ค่าผลิตรายการยอดมวยเอกอีกสัปดาห์ละ 12,000 บาทหรือตกประมาณเดือนละ
48,000 บาท รวมแล้วพิษณุจะมีรายได้เดือนละ 60,000 บาทหรือประมาณ 720,000
บาท/ปี และเมื่อรวมกับรายได้พิเศษที่พิษณุได้จากการรับผลิตรายการกอล์ฟทิปให้แก่ช่อง
7 สีอีกตอนละ 8,000 บาท (ออกรายการทุกวัน ๆ ละตอน) ซึ่งพิษณุย้ำว่า ได้แบ่งเข้าเป็นรายได้บริษัทตอนละ
5,000 บาท ฉะนั้นเขาจะได้รับจากส่วนนี้อีกประมาณเดือนละ 90,000 บาทหรือปีละประมาณ
1,080,000 บาท ฉะนั้นเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วพิษณุจะมีรายได้ต่อปีทั้งสิ้น
1,800,000 บาท
ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำให้ธัชเวชช์คิดมากได้เหมือนกัน !!!
ถ้าดูตามตัวเลขที่แต่ละฝ่ายได้ไปต่อปีนั้นก็น่าจะยุติธรรมดี ทั้งผู้ลงทุนและผู้ลงแรง
แต่ถ้ามองในแง่ของการสร้างองค์กรแล้วดูจะอ่อนปวกเปียกเอามาก ๆ
เพราะเหตุว่าไม่มีการประเมินมูลค่าสิ่งที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ออกมาเป็นตัวเงินเสียก่อนที่จะตีลงไปเป็นทุนให้เสร็จเด็ดขาดในตอนเริ่มต้น
เพื่อให้ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นลงตัวทั้งในแง่รายรับประจำต่อเดือน
ปันผลต่อปี และสินทรัพย์ของบริษัทที่จะพอกพูนขึ้นในอนาคต
แต่ปรากฏว่า ได้มีการประเมินออกมาเป็นหุ้นลมส่วนหนึ่ง และแยกค่าผลิตออกไว้อีกต่างหากส่วนหนึ่ง
สัดส่วนหุ้นของทั้งสองฝ่ายจึงไม่สมดุลย์กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งในการร่วมกันบริหารและสร้างสรรค์กิจการให้เติบโตอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กันในระยะยาว
ความขัดแย้งจนต้องแยกทางกันเดินของพิษณุกับธัชเวชช์จึงเป็นบทเรียนสำหรับนักธุรกิจร่วมสมัย
ที่จะต้องคำนึงถึงหลักตรรกที่เป็นวิทยาศาสตร์ของการบริหารสมัยใหม่ ที่ว่าด้วยการร่วมลงทุนให้มากกว่าก่อนท่จะตัดสินใจลงทุนร่วมทางธุรกิจกัน