สงวน ลิ่วมโนมนต์ โดนฟ้องละเมิด เครื่องหมายการค้า


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

สงวน ลิ่วมโนมนต์ ทนายความคนไทยที่มีความอาวุโสระดับแนวหน้าของประเทศ ถูกเจ้าของนาฬิกาโรเล็กซ์แห่งสวิสเซอร์แลนด์ ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งฐานละเมิดเครื่องหมายการค้าเรียกค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท

มองเตรส โรเล็กซ์ เอส.เอ. ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เจ้าของเครื่องหมายการค้าตรารูปมงกุฎและมีอักษรโรมัน "ROLEX" ประกอบ ได้มอบหมายให้ ธเนศ เปเรร่า แห่งสำนักงานกฎหมายติลลิกี แอนด์ กิบบิน ผู้แทนเครื่องหมายการค้าโรเล็กซ์ในประเทศไทย ยื่นฟ้องสงวน ลิ่วมโนมนต์ ผู้แทนที่ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตรามงกุฎ และมีอักษรโรมันคำว่า "CROWN" ประกอบเมื่อกลางเดือนมกราคม 2534 ที่ผ่านมา

นาฬิกาโรเล็กซ์ตรามงกุฎประดิษฐ์นั้น นับได้ว่าเป็นนาฬิกายี่ห้อดังทั้งในด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์และโดยคุณสมบัติในตัวมันเองว่า เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงแห่งสวิสเซอร์แลนด์ที่ได้รับความเชื่อถืออย่างกว้างขวางจากลูกค้าทั่วโลก

คนในวงการค้านาฬิกาเมืองไทยบอกว่า นาฬิกายี่ห้อนี้มีเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยเป็นเวลานานแสนนานแล้ว เขาคิดว่า ไม่น้อยกว่า 20 ปีที่โรเล็กซ์ตีตลาดเข้ามาในประเทศไทย คนในวงการโฆษณาบอกว่า นาฬิกาโรเล็กซ์ต้องใช้งบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ ในปีหนึ่ง ๆ โดยเฉลี่ยปีละหลายสิบล้านบาท

จากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" ที่กรมทะเบียน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เครื่องหมายการค้าตรามงกุฏประดิษฐ์ห้ายอด และมีอักษรโรมัน "ROLEX" นี้ ได้มาขึ้นทะเบียนไว้อย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2531 โดยจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าพวกที่ 10 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า 2474 โดยระบุใช้กับรายการสินค้าชนิด "เครื่องบอกเวลาและอุปกรณ์สินค้าดังกล่าว นาฬิกาแบบกำไล และนาฬิกาข้อมือ"

สงวน ลิ่วมโนมนต์ อายุ 45 ปี เป็นนักกฎหมายและทนายความที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย โดยเฉพาะในหมู่ผู้ลงทุนชาวจีนทั้งในและมาจากต่างประเทศ จบปริญญาตรีนิติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา อยู่ในวงการทนายความมากว่า 20 ปีเป็นกรรมการสภาทนายความแห่งประเทศไทย

ที่สำคัญต่อกรณีนี้ เขายังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำนาญการพิเศษด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของกระทรวงยุติธรรม อันรวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าที่เขาโดนฟ้องนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นรองประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษากฎหมายกีดกันการค้าสหรัฐฯ ซึ่งมีเรื่องลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าเกี่ยวข้องด้วย

ในด้านธุรกิจกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้านั้น ประเมินว่า สงวนมีเครื่องหมายการค้าของลูกความที่เขาดูแลอยู่นับเป็นหลายร้อยรายการ

ถ้าอย่างนั้นแล้ว เขาจะพลาดถึงขนาดมีเจตนาชั่วร้ายถึงขนาดไปลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของคนอื่นเชียวหรือ !!?

สงวนยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปมงกุฎประดิษฐ์และอักษรโรมัน "CROWN" ประกอบ โดยระบุใช้กับสินค้าจำพวก 10 รายการสินค้า ชนิด "เสื้อกันฝน" เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2533 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ถูกทางโรเล็กซ์แห่งสวิสเซอร์แลนด์ยื่นคัดค้านทันทีที่ทราบเช่นกัน

โรเล็กซ์แห่งสวิสฯ กล่าวคัดค้านคำขอจดทะเบียนของสงวนว่า เมื่อพิจารณารูปมงกุฎแล้วเหมือนกันมาก กล่าวคือ มงกุฎมี 5 ยอดเหมือนกัน มีส่วนโค้งที่ฐานเป็นรูปวงรีเหมือนกัน อันเป็นการแสดงเจตนาในการลอกเลียนแบบ เพื่อทำให้สาธารณชนสับสนในแหล่งที่มาของสินค้าว่า เป็นของโรเล็กซ์หรืออาจเข้าใจว่า โรเล็กซ์เป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย ทั้งนี้เพราะสินค้าที่เป็นเสื้อกันฝนนั้นเป็นสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ใช้ในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับนาฬิกา

สงวนโต้แย้งคำคัดค้านของโรเล็กซ์ว่า เขาไม่มีเจตนาจะลอกเลียนแบบโรเล็กซ์แต่อย่างใด เพราะว่าแม้จะมีรูปมงกุฎประดิษฐ์เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าที่เขาขอจด แต่ก็เป็นรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

กล่าวคือ มงกุฎประดิษฐ์ห้ายอดของโรเล็กซ์มีลักษณะทึบ แต่ของเขามีจุดโปร่งเป็นจุดเหนือวงรีตรงฐานมงกุฎ นอกจากนั้นใต้รูปมงกุฎยังมีคำว่า "CROWN" กำกับเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายอยู่ด้วย ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

"รูปมงกุฎมีมากมายเหลือเกิน มงกุฎหัวแฉก หัวแหลม หัวทู่ กลม แบน อ้วนใหญ่ หรือมงกุฎแบบฝรั่ง แขก และไทย แต่ละแบบก็ยังมีการประดิษฐ์ให้แตกต่างกันออกไปตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น" สงวนกล่าว

สงวนพูดทีเล่นทีจริงต่อเรื่องนี้ว่า คนที่น่าจะมาคัดค้านเขาน่าจะเป็นเจ้าของรถโตโยต้าคราวน์มากกว่า

นอกจากนี้ เขายังโต้แย้งข้อคัดค้านอีกว่า เครื่องหมายการค้าที่เขาขอจดก็นำไปใช้กับสินค้าที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ใช้กับเสื้อกันฝนซึ่งเป็นคนละจำพวกกับนาฬิกา การที่มาอ้างสิทธิคลุมไปหมดแบบนี้คนไทยก็ไม่มีทางจะมีเครื่องหมายสินค้าเป็นของตนเอง และเสื้อกันฝนของลูกความของเขาก็มีการผลิตนำออกจำหน่ายมาเป็นเวลาหลายปี จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในหมู่ลูกค้าของเขาแล้วด้วย

ในด้านกลุ่มลูกค้าก็เป็นคนละกลุ่ม เพราะสินค้าเสื้อกันฝนของเขาเป็นสินค้าราคาถูกอยู่กันคนละระดับกับนาฬิกาโรเล็กซ์ซึ่งขายในกลุ่มคนมีเงิน ฉะนั้นจึงไม่มีทางที่จะเกิดการเข้าใจผิดหรือสับสนได้

ประการสุดท้ายที่สงวนโต้แย้ง คือ การเรียกขานเครื่องมายก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างโรเล็กซ์กับคราวน์ เขากล่าวอ้างว่า มีเครื่องหมายที่เป็นมงกุฎจดไว้จำนวนหลายสิบรายการ และส่วนที่ใช้คำว่าโรเล็กซ์กับคราวน์ก็มีมากที่นายทะเบียนได้อนุญาตหรือออกหนังสือคู่มือไปแล้ว ไม่เห็นมีใครคัดค้านอะไรคำขอของเขา

"ถ้าให้มีสิทธิครอบคลุมสินค้าทุกจำพวกเช่นนี้ก็คงต้องคัดค้านโต้แย้งกันแหลกลานไปหมด แต่เรื่องทำนองนี้มีคำพิพากษาออกมาแล้วว่า เครือ่งหมายการค้าเหมอืนกันแต่ใช้กับสินค้าคนละจำพวกไม่ถือว่าเป็นการลอกเลียนแบบหรือละเมิด แม้แต่สินค้าที่คล้ายคลึงกันมากก็ไม่ถือว่าทับสิทธิกัน เช่น เครื่องหมายการค้าชนิดหนึ่งจดใช้กับสินค้าผ้าฝ้าย จะมาอ้างสิทธิไม่ให้คนอื่นจดใช้เครื่องหมายดังกล่าวกับสินค้าพวกผ้าไหมยังไม่ได้" สงวนกล่าวในข้อโต้แย้งของเขา

คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้ว เห็นว่าให้ยกคำคัดค้านของโรเล็กซ์ โดยสรุปเหตุผลคล้ายกับที่สงวนคัดค้านไป คือรูปมีความแตกต่างกัน เรียกขานชื่อแตกต่างกัน และใช้กับสินค้าคนละจำพวกกัน โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนคงเป็นไปได้ยาก

ธเนศ เปเรร่า ในฐานะผู้แทนเครื่องหมายการค้าโรเล็กซ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาลแพ่ง เพื่อขอให้พิจารณาชี้ขาดต่อไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยเขายังยืนยันว่ารูปมงกุฎเหมือนกัน แม้จะมีคำว่า "CROWN" กำกับ แต่คำว่าคราวน์นั้นก็หมายถึงมงกุฎนั่นเอง

เขากล่าวอีกว่า แม้เครื่องหมายการค้าโรเล็กซ์จะใช้กับนาฬิกา แต่ก็เป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับเสื้อผ้า ซึ่งอาจทำให้สาธารณชนสับสนในแหล่งที่มาของสินค้าได้

โรเล็กซ์เองก็เคยใช้เครื่องหมายการค้าของตนเองกับสินค้าจำพวกเสื้อผ้า เครื่องหนัง เช่น กระเป๋า หรือสายนาฬิกา หรือร่มอยู่ด้วยเช่นกัน แต่ก็มักจะใช้กับสินค้าที่เป็นของอภินันทนาการแก่ลูกค้าที่ซื้อนาฬิกาในโอกาสต่าง ๆ

เขายืนยันว่า การกระทำของสงวนเป็นการกระทำที่แสดงเจตนาในการลอกเลียนแบบรูปมงกุฎให้เหมือนกัน แม้จะมีคำว่า "CROWN" กำกับอยู่ด้วยก็ตาม

ธเนศ ปฎิเสธที่จะพูดเรื่องนี้กับ "ผู้จัดการ" ส่วนสงวนกล่าวว่า เรื่องที่นำขึ้นสู่ศาลเขายังไม่ทราบ แต่เท่าที่พิจารณากันในชั้นคณะกรรมการนั้นก็ได้เห็นอยู่แล้วว่า เขายังมีสิทธิที่จะได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่เขาขอจดเอาไว้ ผลคดีจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครบังอาจก้าวล่วงได้

"ผมรักษาผลประโยชน์ของคนไทย ไม่อย่างนั้นใครก็ไม่รู้มาจากทั่วโลกจะมาอ้างสิทธิครอบคลุมไปหมดเช่นนี้ เราก็คงจะไม่มีเครื่องหมายการค้าของเราเองบ้าง กฎหมายกำหนดให้มีการแบ่งจำพวกแยกแยะชนิดต่าง ๆ ในการจดใช้เครื่องหมายการค้าก็เพราะต้องการใช้ความเป็นธรรมชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ใช่จะใช้สิทธิคุมไปหมดทุกประเภทตามที่กล่าวคัดค้าน" สงวนกล่าวด้วยอารมณ์ที่เอาจริงเอาจังมาก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.