มูลนิธิโรงพยาบาลเทียนฟ้า ซึ่งถือกำเนิดมากว่า 80 ปีกำลังจะกลายเป็นเจ้าของโครงการยักษ์ในบริเวณที่ดินมักกะสัน
ซึ่งเป็นที่ดินแปลงใหญ่ที่มูลนิธิได้ซื้อทิ้งไว้เมื่อ 30 ปีที่แล้วด้วยการเปิดให้นักลงทุนเช่าที่ดินของมูลนิธิในบริเวณชุมชนจารุรัตน์ประตูน้ำบนเนื้อที่
10 ไร่จากเนื้อที่ทั้งหมด 14 ไร่เศษ เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่หรือโรงแรมชั้นหนึ่ง
หรืออาคารสำนักงานมีความสูงไม่ต่ำกว่า 24 ชั้น โดยกำหนดระยะเวลาการเช่า 30
ปีและใช้วิธียื่นซองประมูล
มูลนิธิฯ นี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากนัก เมื่อเทียบกับป่อเต็กตึ๊งหรือร่วมกตัญญู
แต่พอมาเป็นข่าวก็ทราบว่า มีทรัพย์สินเนื้อที่ดินที่ประสงค์จะให้นักลงทุนมาเช่าพัฒนา
ในปี พ.ศ.2446 มูลนิธิโรงพยาบาลเทียนฟ้าได้ถือกำเนิดจากพ่อค้าชาวจีน 6 คน
คือ นายโง้วเหมียวง้วน (จีนล่ำซำ), นายเล่ากี่ปึ้ง (พระยาภักดีภัทรากร),
นายกอฮุยเจี๊ยะ, นายเหล่าชอเมี้ยง (พระเจริญราชธน), นายเฮ้งเฮ่งจิว และนายเตียเกี้ยงซำ
(หลวงโสภณเพชรรัตน์) ได้ร่วมใจกนอุทิศเงินจำนวนหนึ่งและได้ชวนพ่อค้าชาวจน
ประชาชนทั่วไปร่วมกันสบทบทุนเพื่อจัดซื้อที่ดินจำนวน 2 ไร่ 2 งาน 49 ตารางวาบริเวณเขตสัมพันธวงศ์
ถนนเยาวชน เป็นเงิน 52,000 บาท เพื่อให้เป็นที่ตั้งโรงพยาบาลและมูลนิธิโรงพยาบาลเทียนฟ้าในปัจจุบัน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับผู้ป่วยชาวจีนที่เข้ามาทำการค้าขายในประเทศไทย
โดยในข้อบังคับของมูลนิธิได้ระบุวัตถุประสงค์เอาไว้ว่า เพื่อรับคนไข้อนาถาไว้รักษาพยาบาลโดยไม่เรียกค่าพยาบาลหรือค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด
และทำการตรวจโรคและแจกจ่ายยาให้กับคนไข้อนาถาเป็นการให้ทาน เว้นแต่ปรากฏว่าคนไข้นั้นไม่ใช่อนาถาก็จะเรียกเงินค่ายาตามสมควร
โดยไม่ได้คิดค้ากำไร รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ ด้วย
ดังนั้น เงินที่ได้รับจากการบริจาคจึงเป็นช่องทางเดียวที่จำนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของโรงพยาบาล
ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนแพทย์ พยาบาล หรือแม้กระทั่งยาที่ใช้ในการรักษา ซึ่งปัจจุบันในเดือน
ๆ หนึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโรงพยาบาลมีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
จุดประสงค์ของการจัดตั้งและวิธีการบริหารโรงพยาบาลเทียนฟ้า มองจากความข้างต้นนี้ก็คงไม่ต่างอะไรกับโรงพยาบาลหัวเฉียวของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเท่าใดนัก
การก่อตัวของมูลนิธิโรงพยาบาลเทียนฟ้าในครั้งนั้นทำให้เกิดการรวมกลุ่มคนเชื้อสายจีนทุกภาษาไว้ด้วยกันจนสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
และในบรรดาชาวจีนที่รวมกลุ่มกันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงนหลาย
ๆ สาขาวิชาชีพ อย่างเช่น จุลินทร์ ล่ำซำ สหัท มหาคุณ วันชัย จิราธิวัฒน์
สนิท วีรวรรณ ฯลฯ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ที่มีฐานะทางการเงินดี และเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินกับทางมูลนิธิฯ
มาโดยตลอด
ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มคนเหล่านี้ย่อมมีบทบาทในมูลนิธิฯ ค่อนข้างมากในฐานะกรรมการดังนั้นการเปิดให้นักลงทุนเช่าที่ดินที่มักกะสัน
ก็เป็นส่วนหนึ่งจากแรงผลักดันของคณะกรรมการที่เล็งเห็นลู่ทางที่จะหารายได้ให้กับมูลนิธิฯ
เป็นเงินก้อนโตทีเดียว
ที่ดินผืนแรกที่มูลนิธิฯ จัดซื้อ คือ ที่ดินบริเวณตำบลประแจจีน มักกะสันจำนวน
20 ไร่ 1 งาน 67 ตารางวา ตามมติของคณะกรรมการชุดที่ 47 พ.ศ.2504-2505 ซึ่งมีสหัท
มหาคุณ เป็นประธานกรรมการเพื่อใช้ในโครงการขยายกิจการของโรงพยาบาล ซึ่งในช่วงนี้เองเป็นช่วงเดียวกับที่เอกอัครราชทูตจีนหลีเทียะ
เจิง เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย ก็ได้มีการเรียกร้องให้ชาวจีนในไทยร่วมใจกันสร้างศาลาไคเช็คชนม์ขึ้น
เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชาวจีน
ทางมูลนิธิจึงได้ร่วมกับคณะกรรมการไคเช็คชนม์จัดซื้อที่ดินที่ตำบลมักกะสัน
จนเกิดปัญหาขึ้น คือ ขณะนั้นคณะปฏิบัติเข้มงวดในการอนุมัติให้คนต่างด้าวมีกรรมสิทธิ์ที่ดิน
คณะกรรมการไคเช็คชนม์ขณะนั้นก็ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นทางการ จึงจำเป็นต้องขอร้องให้จุลินทร์
ล่ำซำ ซึ่งเป็นกรรมการทั้งมูลนิธิโรงพยาบาลเทียนฟ้าและไคเช็คชนม์เป็นคนจัดซื้อที่ดินและถือกรรมสิทธิ์ผืนนี้ในนามของตนเอง
ในการที่จะสร้างศาลาไคเช็คชนม์ได้เกิดปัญหาขึ้นอีกเมื่อท่ดินที่จะทำการก่อสร้างได้กลายเป็นสลัม
เป็นที่อยู่อาศัยของคนยากจนมานานปีแล้ว ส่วนที่ดินของโรงพยาบาลเทียนฟ้ายังว่างเปล่าอยู่
จึงมีความเห็นกันว่า ให้ทำการแลกเปลี่ยนที่ดินระหว่าง มูลนิธิโรงพยาบาลเทียนฟ้ากับไคเช็คชนม์เสีย
ประกอบกับขณะนั้นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 2 ผืนนี้ คือ จุลินทร์ ล่ำซำ
ซึ่งง่ายต่อการโอนสับเปลี่ยนกัน จึงได้ทำการโอนกันในปี 2505
ปัญหาที่ยังติดตามมา คือ ในช่วงของการสร้างศาลาไคเช็คชนม์นั้น ได้หันความสนใจของพ่อค้าประชาชนจีน
จนลืมความสำคัญทางด้านนิติกรรมไป นั่นหมายถึงการโอนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่มูลนิธิฯ
จนกระทั่งจุลินทร์ถึงแก่กรรมลงเรื่องจึงแดงขึ้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนั้น คือ มูลนิธิฯ มีโฉนดแต่ไม่มีที่ดิน ส่วนไคเช็คชนม์ซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้ว
แต่ไม่มีโฉนด และผู้ทีมีกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินทั้ง 2 แห่ง คือ จุลินทร์ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว
ปัญหานี้ได้ถูกแช่เย็นไว้เป็นเวลากว่าสิบปี จนกระทั่งชัยยงค์ มหาพัฒนากุล
เป็นรองประธานกรรมการมูลนิธิฯ (พ.ศ.2518-2519) ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาสะสางจนกระทั่งจัดการโอนรับกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณตำบลมักกะสันประมาณ
17 ไร่เศษจากผู้จัดการมรดกของจุลินทร์ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิฯ ได้สำเร็จ
ตามเจตนาเดิม ที่ดินแปลงนี้ ทางมูลนิธิฯ ได้ซื้อเก็บไว้เพื่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่แทนที่เก่าที่เยาวราช
แต่ต่อมา เมื่อถนนเพชรบุรี ย่านประตูน้ำ มีความเจริญมากขึ้น ทางมูลนิธิฯ
จึงเกิดแนวความคิดที่จะทำการพัฒนาที่ดินแปลงนี้ด้วยการแบ่งให้เอกชนเช่าเป็นจำนวน
10 ไร่ เพื่อพัฒนาโครงการส่วนที่ดิน 4 ไร่ที่มูลนิธิฯ กันไว้บริเวณข้างหลังพื้นที่ให้เช่านั้น
(จากที่ทั้งหมด 17 ไร่ถูกตัดไปเป็นถนนประมาณ 2 ไร่เศษจึงเหลือเพียง 14 ไร่เศษ)
ทางมูลนิธิฯ จะพิจารณาว่า จะทำโครงการอะไรอีกครั้งหนึ่ง
ว่ากันว่า ก่อนหน้าที่ทางมูลนิธิฯ จะเปิดให้เอกชนประมูลเช่าที่ดินดังกล่าวผืนนี้
ทางกลุ่มบางกอกแลนด์ของมงคล กาญจนพาสน์ ได้มีความสนใจที่จะทำโครงการคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่
โดยเชื่อมพื้นที่เดิมบริเวณศูนย์การค้าเมโทรซึ่งเป็นของตัวเองเข้าไปด้วย
โดยได้ทำการศึกษาโครงการนี้อย่างจริงจัง และได้มีการนำเสนอให้กับทางมูลนิธิฯ
พิจารณา เพื่อขอเช่าเนื้อที่บริเวณนี้ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องผู้อยู่อาศัยเดิมที่รวมตัวกันจนเป็นชุมชนขนาดใหญ่และเป็นปัญหาค้างคามาจากอดีตที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้
ประกอบกับการที่มงคล เป็นกรรมการอยู่ในมูลนิธิฯ จึงเป็นข้ออ้างที่คณะกรรมการไม่สามารถจะอนุมัติให้ได้
กลุ่มบางกอกแลนด์ จึงต้องถอยทัพกลับมาตั้งหลักใหม่
หลังจากนั้นไม่นาน มีการพูดกันว่า กลุ่มเซ็นทรัลก็มีความสนใจในการพัฒนาที่ดินผืนนี้เช่นกัน
และการที่กลุ่มเซ็นทรัลมีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับอุเทน เตชะไพบูลย์ คนที่ประธานมูลนิธิฯ
นับถือเป็นอย่างมาก ก็น่าจะเชื่อได้ว่า กลุ่มเซ็นทรัลอาจจะได้เข้ามาพัฒนาที่ดินแปลงนี้
จนกระทั่ง มูลนิธิฯ ได้ทำการสะสางปัญหาผู้อยู่อาศัยเดิม ซึ่งมีประมาณ 1,000
ครอบครัวให้ย้ายไปอยู่ในที่ดินที่มูลนิธิฯ จัดสรรให้เป็นผลสำเร็จ
ที่ดินดังกล่าว มูลนิธิฯ ได้ซื้อเอาไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้วที่มีนบุรีจำนวน
25 ไร่ในราคา 3 แสนบาท โดยทำการจัดสรรให้ครอบครัวละ 20 ตารางวา ซึ่งทางการเคหะแห่งชาติจะเป็นผู้จัดการในเรื่องการปรับพื้นที่และสาธารณูปโภคให้
จากนั้นมูลนิธิฯ จึงได้ประกาศให้เอกชนประมูลเช่าที่ดิน โดยจะพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นซองประกวดจากผู้ที่ให้ผลประโยชน์แก่มูลนิธิฯ
มากที่สุด ซึ่งจะดูถึงราคาค่าเช่า ค่าหน้าดิน และมูลค่าโครงการเมื่อครบกำหนดสัญญาซึ่งกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างทั้งหมดจะตกเป็นของมูลนิธิฯ
ดังนั้น ในการยื่นซองประมูล ผู้ยื่นจะต้องแนบแบบการก่อสร้างอย่างคร่าว ๆ
มาให้คณะกรรมการพิจารณาด้วย โดยกำหนดยื่นซองในวันที่ 29 มีนาคมที่จะถึงนี้
ภายในเวลา 15.00 น. และจะทำการเปิดซองในวันเดียวกันเวลา 16.00 น.
และเป็นที่คาดกันว่า ผู้ที่ยื่นซองประมูลในครั้งนี้จะต้องมีกลุ่มบางกอกแลนด์และกลุ่มเซ็นทรัลอย่างแน่นอน