สมอ.คลอดกฎหมายน้ำมันเครื่องฯ


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

อันตรายของควันสีขาวที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่หมดของเครื่องยนต์ 2 จังหวะเป็นมลพิษที่คุกคามคนในเมืองหลวงมานานแล้ว การรณรงค์ของพิจิตต รัตตกุล เพื่อบอกกล่าวให้ประชาชนทราบถึงเขตอันตรายที่มีอากาศเสียเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นพิษในกรุงเทพฯ ได้มาถึงขั้นวิกฤตการณ์แล้ว จนเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในการตายผ่อนส่งของประชาชน

แต่เวลานี้ ทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม หรือสมอ. ได้กำหนดคุณภาพมาตรฐานน้ำมันเครื่อง ที่ใช้กับเครื่องที่ใช้กับเครื่องยนต์ 2 จังหวะออกมาแล้วเมื่อเดือนมีนาคมนี้ และคาดมายว่า นายสมาน ภุมมะกาญจนะ รัฐมนตรีช่วยอุตสาหกรรม คงให้ความเห็นชอบหลังจากที่ร่างมาตรฐานน้ำมันเครื่องนี้ ได้ผ่านการศึกษาจากคณะกรรมการควบคุมควันพิษจากมอเตอร์ไซค์ที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายจากการปิโตรเลียม กรมวิทยาศาสตร์ เอกชน ผู้ค้าน้ำมันเครื่อง ผู้ประกอบรถจักรยานยนต์ และเจ้าหน้าที่ ส.ม.อ.

ความพยายามที่จะแก้ปัญหามลพิษจากควันสีขาวของเครื่องยนต์ 2 จังหวะที่ใช้ในมอเตอร์ไซค์มีมานานตั้งแต่กลางปีที่แล้ว หลังจากที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี สั่งการเรื่องนี้ผ่านรัฐมนตรีสมาน หลังจากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้เรียกบริษัทค้าน้ำมันเครื่อง ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์มาร่วมประชุม เพื่อหาหนทางลดมลพิษในรถมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะ

หนทางที่เป็นไปได้มีทางเลือก 2 ทาง คือ หนึ่ง - กำหนดมาตรฐานเครื่องยนต์จาก 2 จังหวะเป็น 4 จังหวะ หรือไม่อีกทางหนึ่งยกระดับคุณภาพมาตรฐานน้ำมันเครื่องให้มีส่วนผสมสารเคมีที่ลดควันสีขาวจากการเผาไหม้ไม่หมด

หนทางเลือกแรก เป็นเรื่องที่ทำได้ระยะยาว เนื่องจากผู้ผลิตรถต้องลงทุนสูงในการปรับปรุงสายการผลิตชิ้นส่วนใหม่และราคาจะแพงมาก ดังนั้น หนทางที่ง่ายที่สุด คือ การปรับคุณภาพน้ำมันเครื่อง

ปัจจุบันนี้ น้ำมันเครื่องรถมอเตอร์ไซค์ที่ขายในท้องตลาดมาจากแหล่ง 2 แหล่ง หนึ่ง - จากโรงงานผสมที่มีอยู่ 4 ราย ประกอบด้วย เชลล์ เอสโซ่ บริษัทปิโตรเลียมไทย และคาสตรอล โรงงานผสมบางแห่งรับจ้างผสมให้กับผู้ค้าน้ำมันเครื่อง เช่น บริษัทปิโตรเลียมไทยรับจ้างผสมให้ ป.ต.ท. เชลล์ ผสมให้มอลล่า สอง - มาจากการนำเข้าสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ เช่น เอลฟ์ โทเทล

น้ำมันเครื่องที่ใช้กันอยู่ในรถมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะมีโครงสร้างของวัตถุดิบที่ไม่มีสารลดควันขาวหรือขจัดควันสีขาวที่เรียกว่า POLYSOBYTHENE (PIB) เลย โซลเว้นท์ น้ำมันพื้นฐาน และแอ้ดดีทีฟ

สารลดควันขาวตัวนี้มีราคาแพง ภาษีนำเข้าสูงถึง 35% เมื่อนำมาผสมในน้ำมันเครื่องราคาจะแพงขึ้นเกือบเท่าตัว

น้ำมันเครื่องลดควันขาวที่ขายในท้องตลาดเวลานี้ ราคาติดบนกระป๋องลิตรละ 60-80 บาท เทียบกับน้ำมันเครื่องธรรมดาลิตรละ 35-40 บาท

"ที่น่าสังเกต มีน้ำมันเครื่องลดควันขาวเพียง 4 ยี่ห้อ คือ มอลล่า เพ็นซอยย์ เอสโซ่ และ ปตท.เท่านั้นที่ผ่านการทดสอบว่า มีม่านควันขาวในระดับไม่เกิน 30% นอกนั้นแล้ว น้ำมันเครื่องทุกยี่ห้อที่ระบุว่ามีคุณสมบัติลดควันขาวไม่ผ่านการทดสอบม่านควัน" แหล่งข่าวในวงการธุรกิจน้ำมันเครื่องกล่าว

มาตรฐานน้ำมันเครื่องที่ควบคุมมลพิษจากควันสีขาว ระบุไว้ว่า น้ำมันเครื่องที่ดีต้องมีคุณสมบัติในการใช้งานอย่างน้อย 2 ประการ คือ หนึ่ง - มีประสิทธิภาพการหล่อลื่นไม่ก่อให้เกิดการติดขัดที่ลูกสูบและแหวนภายใต้อัตราส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อน้ำมันเครื่อง 200 ต่อ 1 ที่ความเร็วรอบ 8,000 รอบต่อนาที และสองต้องมีม่านควันขาวไม่เกินร้อยละ 30

น้ำมันเครื่องที่ผ่านการทดสอบม่านควัน ไม่ได้หมายความว่า จะมีคุณสมบัติหล่อลื่นดีเสมอไป เพราะว่าการหล่อลื่นดีเกี่ยวข้องกับสัดส่วนการใช้ส่วนผสมของสารเคมีที่ถูกต้อง ซึ่งประเด็นนี้อยู่ที่ความเชี่ยวชาญของบริษัทน้ำมันแต่ละราย

แต่เนื่องจากรัฐบาลเน้นนโยบายการลดควันพิษจากเครื่องยนต์ 2 จังหวะเป็นด้านหลัก บริษัทผู้จำหน่ายน้ำมันเครื่องจึงมุ่งไปที่การลดควันขาวแต่เพียงอย่างเดียว

"จริง ๆ แล้ว ท่านนายกฯ อยากให้เรื่องนี้เสร็จและนำมาใช้ภายใน 2 เดือน แต่ในภาคปฏิบัติคงไม่ได้เพราะน้ำมันที่หมุนเวียนวางขายในตลาดทั่วประเทศมีมากถึงเดือนละ 3 ล้านลิตรต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเอาออกจากตลาดหมด และใช้ของใหม่ที่ลดควันขาวเข้ามาแทนที่" ผู้ค้าน้ำมันเครื่องรายใหญ่พูดถึงการวางสินค้าในตลาด

ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างหนึ่งในการางสินค้าน้ำมันเครื่องที่ลดควันขาว ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี กว่าจะสามารถโน้มน้าวให้ผู้บริโภคยอมรับ เนื่องจากค่านิยมของคนญี่ปุ่นที่ไม่ชอบทดลองกับสิ่งใหม่ และความสลับซับซ้อนของกลไกการกระจายสินค้าที่มีหลายช่วงตอนกว่าถึงมือผู้บริโภค

เวลานี้ แม้จะยังไม่มีเป้าหมายเวลาแน่ชัดของการบังคับให้ผู้จำหน่ายน้ำมันเครื่องขายสินค้าชนิดท่ลดควันขาว แต่ก็ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงได้ยาก

"ผมเห็นว่า รัฐบาลควรลงมาดูด้านภาษีนำเข้าเพื่อให้ราคาน้ำมันเครื่องชนิดลดควันขาวไม่สูงเกินไปกับผู้บริโภคท่ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีฐานะยากจน หาเช้ากินค่ำ" บุญเอก โฆษานันตชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท อาร์เอซี เทรดดิ้ง ผู้จำหน่ายน้ำมันเครื่องเอลฟ์ เล่าให้ฟังถึงผู้ใช้น้ำมันเครื่องรถมอเตอร์ไซค์

ภาษีนำเข้าน้ำมันเครื่องสำเร็จรูปทุกวันนี้ รัฐเก็บจากผู้ค้า 35% ของราคานำเข้า ทั้งที่ในประกาศกระทรวงการคลังที่ 1/2531 กำหนดคุณสมบัติของวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรที่อยู่ในข่ายได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้าเหลือเพียงร้อยละ 10 ต้องเป็นไปเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่การบำบัดน้ำเสีย อากาศเสีย ขจัดกากของเสีย และขยะ การวิจัย วิเคราะห์ ตรวจวัด และการลดหรือป้องกันเสียงรบกวนในการผลิตทางอุตสาหกรรม

มองจากความข้อนี้ น้ำมันเครื่องลดควันขาวน่าจะจัดอยู่ในการบำบัดอากาศเสีย

หมายถึงว่า ประกาศการคลังฉบับนี้อนุญาตให้ลดหย่อนภาษีน้ำมันเครื่องที่ผ่านการยอมรับจากกระทรวงอุตสาหกรรมในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้เหลือ 10% ของราคานำเข้าได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องมานั่งตีความกันอีก

รอก็แต่เพียงการออกประกาศมาตรฐานน้ำมันเครื่องลดควันขาวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น ตลาดน้ำมันเครื่องมอเตอร์ไซค์ก็จะก้าวสู่การแข่งขันอีกมิติหนึ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.