|
ความเชื่อมั่นอุตฯ-การค้า-ก่อสร้างดิ่งผู้ประกอบการหันลดสินเชื่อให้ลูกค้า
ผู้จัดการรายวัน(6 มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนเม.ย.2550 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม การค้า และการก่อสร้าง ด้านราคาสินค้า คาดแนวโน้มการผลิตสินค้าลดลง เหตุปริมาณสินค้าคงคลังค้างสต๊อกมากขึ้นผลจากยอดขายและคำสั่งซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง ฝั่งผู้ประกอบการเร่งปรับตัวหันมาซื้อสินค้าด้วยเครดิตที่เคยให้กับลูกค้าลดลง หลังแบงก์ชะลอการให้สินเชื่อ
รายงานจากสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้รายงานผลสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจในการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจล่าสุดประจำเดือนเมษายน 2550 ที่ผ่านมาพบว่า ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจในเดือนเม.ย.ยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยนักธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้าและภาคก่อสร้างมีความเชื่อทางธุรกิจลดลงมาก ส่วนนักธุรกิจภาคขนส่งและคลังสินค้ามีความเชื่อมั่นทางธุรกิจทรงตัว แต่ธุรกิจที่เกี่ยวกับการสาธารณูปโภค การเงิน และภาคการบริการเริ่มมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากธุรกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลง ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังมีสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นจนทำให้อุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง นอกจากนี้ ผลของเงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบต่อการส่งออกในแง่ของการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลมายังต้นทุนพลังงานปรับเพิ่มขึ้นด้วย และทำให้ยอดจำหน่ายสินค้า และคำสั่งซื้อทั้งจากในประเทศและต่างประเทศปรับลดลงต่อเนื่อง ทำให้ระดับสินค้าคงคลังยังเหลือจำนวนมากส่งผลให้การผลิตสินค้ามีแนวโน้มลดลง
ส่วนราคาสินค้าโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ แม้ว่านักธุรกิจส่วนใหญ่แสดงความต้องการจะขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้สะท้อนการแข่งขันที่ยังรุนแรง ยกเว้น ผู้ประกอบการในภาคการค้าปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น หลังจากมีการยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เรื่องการควบคุมราคาสินค้า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้ายังไม่สามารถปรับขึ้นได้อยู่
นอกจากนี้ จากการสำรวจนักธุรกิจส่วนใหญ่ ยังพบว่า สภาพคล่องทางการเงินของผู้ประกอบการลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าจากสาเหตุ 2 ประการ คือ 1.ยอดจำหน่ายและปริมาณการค้าที่ลดลง และ 2.สินเชื่อที่ผู้ประกอบการได้รับจากสถาบันการเงินเริ่มลดลง ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากธนาคารพาณิชย์มีความระวัดระวังในการปล่อยสินเชื่อและติดตามหนี้มากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้วยการลดสินเชื่อการค้าหรือการซื้อสินค้าด้วยเครดิตที่เคยให้กับลูกค้าลดลงโดยเริ่มมีผู้ประกอบการที่ให้ข้อมูลว่ามีปัญหาทางการเงินเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
ในส่วนของภาคการส่งออก ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังคงมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างต่อเนื่อง เพิ่มเติมจากคำสั่งซื้อที่เริ่มปรับตัวลดลง โดยดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง(REER) เดือนเม.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 91.03 จาก 90.47 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนความสามารถในการแข่งขันทางการค้าจากอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ประกอบการไทยที่ลดลง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|