ซีเอ็มจีชูโมเดลใหม่ผุดลีคลับคาเฟ่ชี้แฟชั่นแห่เปิดเอาท์เลทระบายสต็อก


ผู้จัดการรายวัน(6 มิถุนายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ซีเอ็มจี เดินเกมสร้างช่องทางใหม่ รับมือห้างฯ-ศูนย์การค้า 2 ปี ไม่ขยายสาขา ควักกางเกงยีนส์ลีโมเดลนำร่อง ผุด"ลี คลับ คาเฟ่" ร้านจำหน่ายลูกผสมเสื้อผ้ากับเครื่องดื่ม หวังขยายคนรุ่นใหม่ ระบุผู้ประกอบการแห่ผุดเอาท์เลทภูธรย่านเส้นทางท่องเที่ยว ชูคอนเซปต์หั่นราคา 50-80% ช่องทางระบายสต็อกหลัง 2 ปีสต็อกค้างอื้อ จ่อคิวเปิดเพิ่ม 1 แห่ง ที่ พัทยา ปีหน้ารีเทิร์นทำนาฬิกา รองเท้า มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นไตรมาสสี่ โอด 5 เดือน ซีเอ็มจีรายได้ต่ำกว่าเป้า ส่วนกางเกงยีนส์ลีโต 5% สวนกระแส สิ้นปีโต10% จาก 800 ล้านบาท

นายวราวุธ มัทธนพจนารถ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท เซ็นทรัลเทรดดิ้ง จำกัด ในกลุ่มของเซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป หรือซีเอ็มจี ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกางเกงยีนส์ลี เปิดเผยว่า จากภาพรวมธุรกิจดีพาร์ทเมนต์สโตร์หรือศูนย์กลางค้าในปีนี้หรือระหว่าง 1-2 ปีข้างหน้านี้ แทบไม่มีการขยายสาขา ส่งผลให้ธุรกิจกลุ่มสินค้าแฟชั่น ซึ่งอัตราการเติบโตส่วนใหญ่จะมาจากการขยายสาขา ไม่มีอัตราการเติบโตไปด้วย

ดังนั้นผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าแฟชั่น จึงหันมาขยายช่องทางใหม่ๆ เพิ่มขึ้น สำหรับบริษัทมีแผนจะขยายช่องทางใหม่เช่นกัน นำร่องโดยการนำกางเกงยีนส์ลี สินค้าเรือธงที่สร้างรายได้หลักให้กับซีเอ็มจีหรือภายใต้บริษัทเซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป เปิดตัวช่องทางจำหน่ายใหม่ "ลี คลับ คาเฟ่" ในรูปแบบแฟลกชิปสโตร์แห่งแรก ที่ ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต

สำหรับคอนเซปต์ลี คลับ คาเฟ่ มีจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าจากลีในสัดส่วน 80% โดยเน้นไลน์สินค้าสำหรับคนรุ่นใหม่เป็นหลัก พร้อมด้วยมุมจำหน่ายกาแฟในสัดส่วน 20% และมุมศิลปะภายใต้คอนเซปต์ระดับโลกในปีนี้"Lee As Art" ซึ่งนับว่าเป็นโมเดลรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิกเป็นแห่งแรก โดยปีนี้บริษัทวางแผนเปิดให้ครบ 4 มุมเมือง ได้แก่ ที่ ซีคอนสแควร์ เซ็นทรัลพระราม2 และเซ็นทรัลพระราม 3 ส่วนต่างจังหวัดนำร่อง จ.เชียงใหม่ และจ.ภูเก็ต เพื่อรองรับฐานลูกค้าต่างจังหวัดซึ่งมีสัดส่วนถึง 60% ส่วนในกรุงเทพฯ สัดส่วน 40% ภายใต้การใช้งบลงทุน 1.5 ล้านบาทต่อสาขา โดยมีขนาดพื้นที่ 50 ตร.ม.

ทั้งนี้การเปิดตัวลี คลับ คาเฟ่ นอกจากเป็นการขยายช่องทางจำหน่ายใหม่แล้ว ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของลีให้มีความแปลกใหม่ สอดรับกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ซึ่งคาดว่าลี คลับ คาเฟ่จะช่วยสร้างฐานกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 18-25 ปีเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเป็น 20-30% และคาดว่าในอนาคตจะเพิ่มเป็น 40% จากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนไม่ถึง 10% และเป็นลูกค้าที่มีอายุ 25-35 ปี ในสัดส่วนกว่า 90% อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดจากการทำซีอาร์เอ็ม (Customer Relationship Management) จากเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา บริษัท ได้จัดตั้ง "ลี คลับ" ผ่านการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการนำเวียร์ -ศุกลวัฒน์ มาเป็นแอมบาสเดอร์ ผลักดันให้ลี คลับมีสมาชิกกว่า 9,000 คน คาดว่าสิ้นปีเพิ่มเป็น 15,000 คน

เทรนด์ผุดเอาท์เล็ทล้างสต็อกภูธร

นายวราวุธ กล่าวว่า ด้วยจำนวนการขยายสาขาของดีพาร์ทเมนต์สโตร์ที่มีน้อย ประกอบกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการสินค้าแฟชั่นกลุ่มเสื้อผ้าประสบกับปัญหาสินค้าค้างสต็อกในปริมาณที่มาก ดังนั้นผู้ประกอบการจึงหันมาเปิดเอาท์เลทในต่างจังหวัดมากขึ้น เช่น เอฟเอ็น,พีน่าเฮ้าส์ และแฟคตอรีสโตร์ โดยคอนเซปต์เอาท์เลทดังกล่าวจะลดราคาสินค้า 50-80% เพื่อล้างสต็อก ขณะที่สถานที่ตั้งเน้นบริเวณเส้นทางผ่านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมคนไทยที่นิยมชอปปิ้งในขณะท่องเที่ยว

ส่วนข้อดีสำหรับเอาท์เลทอีกประการหนึ่ง คือ เป็นช่องทางที่ลงทุนต่ำกว่าดีพาร์ทเมนต์สโตร์ถึง 20% หรือราว 2-3 ล้านบาทต่อสาขา ล่าสุดบริษัทวางแผนเปิดเอาท์เลทเพิ่มอีก 1 แห่ง ได้แก่ ที่ พัทยา จากปัจจุบันมีทั้งหมด 4 สาขา เช่น ซีคอนสแควร์ เป็นต้น

แนวโน้มตลาดสินค้าแฟชั่นกลุ่มเสื้อผ้าในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมานี้ มียอดตกลงกว่า 20-30% คาดว่าทั้งปีอยู่ในภาวะที่ทรงตัว เนื่องจากคาดว่าในช่วงไตรมาสที่สี่ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงไฮซีซันประกอบกับบริษัทมีความมั่นใจ ภาครัฐบาลจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งในปลายปีนี้ จึงเล็งว่ากำลังการซื้อของผู้บริโภคจะเริ่มฟื้นในช่วงไตรมาสดังกล่าว ดังนั้นในปีหน้านี้บริษัทได้เตรียมแผนทำการตลาดในเชิงรุก ด้วยการนำนาฬิกา หมวก รองเท้าของลีกลับมาทำตลาดอีกครั้ง หลังจากที่หยุดดำเนินการไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งเตรียมทุ่มงบการตลาดเพิ่มขึ้นจากปีนี้ใช้ราว 20 ล้านบาท

สำหรับตลาดกางเกงยีนส์มูลค่า 4,500-5,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ระดับบนมูลค่า 2,500-3,500 ล้านบาท ไม่มีอัตราการเติบโต โดยปัจจุบันลีวายส์ เป็นผู้นำตลาด ตามด้วยลี และแรงเลอร์ สลับกันเป็นอันดับสอง ส่วนระดับล่างมูลค่า 2,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 7-15% ด้านการแข่งขันสินค้ากลุ่มเสื้อผ้ามีความรุนแรงอย่างมาก โดยเฉพาะสงครามราคาที่มีความถี่ในการทำมากขึ้น ขณะที่บางรายเริ่มจัดรายการสินค้าลดราคาถึง 70% ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับการแข่งขันของเชนโมเดิร์นเทรด ที่เริ่มหันมาสร้างแบรนด์และจำหน่ายผ่านช่องทางตนเอง ซึ่งคาดว่า 3 ปีนี้ แบรนด์ดังกล่าวจะเริ่มได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น

ผลประกอบการซีเอ็มจีในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมานี้ มีอัตราการเติบโต 5-10% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10-15% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน จากสภาพการเมืองที่ไม่นิ่ง ส่วนกางเกงยีนส์ลีในช่วง 5 เดือน โต 5-10% สวนกระแสกับภาพรวมตลาด โดยทั้งปีนี้กางเกงยีนส์ลี ตั้งเป้ามีอัตราการเติบโต 10% จากในปีที่ผ่านมามีรายได้ 800 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.