ทีไอเทรดดิ้ง จับมืออาร์เจอาร์ค้าบุหรี่


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นเวลา 5 เดือนแล้วที่รัฐบาลไทยยอมเปิดนโยบายนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศเข้ามาขายในราชอาณาจักรโดยเปิดเผย โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

เวลานี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยท่ยังไม่รู้แน่ว่าร่างกฎหมายนี้จะออกมาในรูปพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติ

ร่างกฎหมายนี้ถูกตีความจากผู้ค้าบุหรี่มากว่าเป็นกฎหมายที่กีดกันการค้าเสรี เนื่องจากมีข้อกำหนดในการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายใด ๆ ทั้งสิ้น และยังระบุชัดถึงการที่ผู้ค้าจะต้องแจงสูตรหรือส่วนผสมของบุหรี่ให้กระทรวงสาธารณสุขก่อน

แนวคิดของการร่างกฎหมายนี้ จึงถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่เน้นการปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชน ในการบริโภคบุหรี่มากกว่าจะคำนึงถึงหลักการทางการค้า "กรรมการร่างกฎหมายนี้มีคนของกลุ่มต่อต้านการบริโภคบุหรี่ด้วย" ผู้ค้าบุหรี่รายหนึ่งพูดถึงที่มาของกฎหมายนี้

ตลาดค้าบุหรี่ประมาณ 90-95% อยู่ในการควบคุมของโรงงานยาสูบขณะที่เหลือเป็นพวกบุหรี่นอกที่ลักลอบเสียภาษีเข้ามาขาย "ขนาดตลาดบุหรี่นอกมีประมาณปีละ 2,000 ล้านมวน หรือ 100 ล้านซอง ขณะที่บุหรี่ของโรงงานยาสูบมีถึง 40,000 ล้านมวน หรือ 2,000 ล้านซอง" ขรรค์ ประจวบเหมาะ ผู้เชี่ยวชาญตลาดบุหรี่วิเคราะห์สภาพตลาดให้ฟัง

การผูกขาดทั้งด้านการผลิต และการตลาดบุหรี่ของโรงงานยาสูบทำให้การควบคุมการค้าบุหรี่ตามร่างกฎหมายนี้แทบจะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานโรงงานยาสูบเลย

"ผู้ค้าบุหรี่นอกไม่ได้วางเป้าหมายที่จะเข้าไปแย่งส่วนแบ่งของบุหรี่ไทย การแข่งขันคงจำกัดอยู่เฉพาะคู่ค้าบุหรี่นอกด้วยกันเอง" ขรรค์ วิเคราะห์ตลาดแข่งขันบุหรี่นอกให้ฟัง

บุหรี่ไทยของโรงงานยาสูบที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 60% เป็นยี่ห้อกรองทิพย์ รองลงมา 10% เป็นยี่ห้อสามิต 14 และที่เหลือเป็นยี่ห้อสายฝนและอื่น ๆ รวมกัน

ส่วนค่ายบุหรี่นอกที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดประมาณ 50% เป็นยี่ห้อมาร์ลโบโร 25% เป็นยี่ห้อวินสตัน และอีก 25% เป็น 555 ซาเล็ม และอื่น ๆ รวมกัน

"บุหรี่นอกส่วนใหญ่ที่วางขายเป็นการลักลอบหนีภาษีเข้ามา ราคาขายเฉลี่ยซองละ 35 บาท ขณะที่บุหรี่ไทยขายซองละ 15-18 บาทเท่านั้น ถูกกว่ากันครึ่งหนึ่ง" ขรรค์พูดถึงจุดได้เปรียบด้านราคาของบุหรี่ไทย

ผู้ค้าบุหรี่ต้องเสียภาษี 2 ส่วนแรกสุดเป็นภาษีนำเข้าในรูปวัตถุดิบ คือ ใบยาบางชนิด 35% ของราคาซีไอเอฟ และอีก 55% เป็นภาษีสรรพสามิตเสียตามราคาขายปลีก "บุหรี่ไทยไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตจึงขายได้ราคาถูกกว่าบุหรี่นอก" พลโทปัญญา ขวัญอยู่ ผู้อำนวยการยาสูบ พูดถึงสาเหตุที่บุหรี่ไทยขายได้ราคาถูกกว่า

ผู้ค้าบุหรี่นอกที่อยู่ในระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าค้าบุหรี่จากกรมสรรพสามิตหลังจากรัฐบาลประกาศใช้กฎหมายควบคุมการค้าบุหรี่แล้ว มีอยู่ 4 ราย คือ บริษัทเชลล์เอ็กเพรสของค่ายดีทแฮล์ม ซีแกรมของกลุ่มสุเมธ เตชะไพบูลย์ บอร์เนียวของค่ายอินช์เคป และทีไอเทรดดิ้งของกลุ่มพรวุฒิ สารสิน

บริษัทเชลล์เอ็กเพรสเป็นตัวแทนค้าบุหรี่ของฟิลิป มอร์ริส ยี่ห้อมาร์ลโบโร ขณะนี้บอร์เนียวขายยี่ห้อ 555 เคนของบริษัทบริติชอเมริกันโทแบคโค หรือบี.เอ.ที. ซีแกรมขายดันฮิล และล้อทมานน์ ส่วนทีไอเทรดดิ้งขายวินสตน คาร์เมล อีฟแซงลอเรน มาร์ลโบโร 555 จึงไม่ยากนักในการเจาะตลาดแต่ยี่ห้อที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเช่นคาร์เมล ดันฮิลคงต้องออกแรงกันมาก ยิ่งกฎหมายควบคุมค้าบุหรี่ไม่เปิดช่องให้ส่งเสริมการขายใด ๆ ได้ด้วย แล้วก็เป็นอุปสรรคขวางกั้นแข็งแกร่งดุจกำแพงเบอร์ลินทีเดียว

ก็คงต้องวัดฝีมือกันที่ความกว้างขวางในการวางบุหรี่และเทคนิคการขายที่จุดขายอย่างช้าในปลายปีนี้คงได้เห็นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.