สภาพัฒน์ฯลดเป้าจีดีพีเหลือ4-4.5%แนะ4มาตรการสานต่อกระตุ้นเศรษฐกิจ


ผู้จัดการรายวัน(5 มิถุนายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

สภาพัฒน์ฯยอมถอยปรับลดจีดีพีปี 50 เหลือ 4.0-5.0% จาก 4.5-5.0% ระบุยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาน้ำมันผันผวน และความเชื่อมั่นของประชาชน-ธุรกิจต่อเศรษฐกิจ-การเมืองยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ตัวเลขจีพีดีไตรมาสแรกขยายตัว 4.3% ใกล้เคียงกับไตรมาส 4 ปี 49 โดยรับแรงหนุนหลักจากการขยายตัวของภาคการส่งออก พร้อมแนะรัฐเร่ง 4 มาตรการหนุนเศรษฐกิจ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้า รวมถึงเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และสร้างความมั่นใจในด้านการท่องเที่ยว-การเมือง

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.)หรือสภาพัฒน์ฯแจ้งตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2550 ขยายตัวร้อยละ 4.3 มีอัตราเติบโตเท่ากับไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 แต่นับว่ายังอยู่ในช่วงของการชะลอตัวเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.1 5.0 และ 4.7 ในสามไตรมาสแรกของปี 2549 ซึ่งเป็นผลจากการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงมากโดยขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 และการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวร้อยละ 2.4 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 21 ไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

แต่เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกยังได้เรับแรกหนุนจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีเกินคาด โดยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ทำให้มีดุลการค้าเกินดุล 4,127 ล้านดอลลาร์สรอ. และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5,452.5 ล้านดอลลาร์สรอ. จากการเกินดุลการค้าสูง ประกอบกับดุลบริการบริจาคและเงินโอนที่เกินดุล 1,325.2 ล้านดอลลาร์สรอ. อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวของการส่งออก เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกในเดือนเมษายนที่ขยายตัวร้อยละ 16.5 ขณะที่การนำเข้ามีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในเดือนเมษายนเป็นการขยายตัวร้อยละ 11.2 จากการนำเข้าสินค้าทุนที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 8.6

ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกปี 2550 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 2.4 ลดลงจากเฉลี่ยร้อยละ 4.7 ในปี 2549 และยังลดลงต่อเนื่องเป็นร้อยละ 1.8 ในเดือนเมษายน และร้อยละ 1.9 ในเดือนพฤษภาคม จากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงมาก และค่าเงินบาทที่แข็งทำให้ต้นทุนนำเข้าสินค้าลดลง และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.6 เทียบกับร้อยละ 1.9 ในช่วงเดียวกันของปี 2549

ด้านฐานะการคลังในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2550 (ม.ค.-มี.ค.2550)รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังจำนวน 307,517.95 ล้านบาท และมีรายจ่ายจำนวน 437,267.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนร้อยละ 22.59 เป็นผลให้มีดุลเงินงบรปะมาณขาดดุลจำนวน 132,226.07 ล้านบาท ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวก้นของปีงบประมาณก่อน 79,541.57 ล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 5,691.33 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีดัลเงินสดขาดทุนก่อนกู้จำนวน 126,534.74 ล้านบาท และมีหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ 3.21 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38.10 ของจีดีพี ลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 40.48 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2549 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศสิ้นเดือนเมษายนเท่ากับ 71,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และในส่วนของภาวะการเงินนั้น อัตนราดอกเบี้ยทุกประเภทปรับตัวลดลงเป็นลำดับ ภายหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธปท.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25 จุดในไตรมาสแรก มาอยู่ที่ร้อยละ 4.50 และปรับลดลงอีก อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 50 จุด ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.50 ส่งผลให้การขยายตังของเงินฝากชะลอตัวลง แต่สินเชื่อชะลอตัวลงมากกว่า สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินจึงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีค่าเฉลี่ยในไตรมาสแรกเท่ากับ 35.54 บาทต่อดอลลาร์สรอ.แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนและระยะเดียวกันของปี 2549 ร้อยละ 2.7 และ 9.5 ตามลำดับ และเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง มีเฉลี่ยที่ 34.83 และ 34.57 บาทต่อดอลลาร์สรอ.ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมตามลำดับ

"การขยายตัวทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปีนี้มีความไม่สมดุลมากขึ้น โดยที่การส่งออกเพิ่มขึ้นมากและเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอมาก โดยที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังในช่วงที่เหลือของปี 2550 ทั้งปัจจัยภายนอกและข้อจำกัดภายในประเทศ"นายอำพนกล่าว

ปรับประมาณการจีดีพีเหลือ4.0-4.5%

นอกจากนี้ สศช.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2550 ลงเป็นร้อยละ 4.0-4.5 โดยมีค่ากลางเท่ากับร้อยละ 4.2 จากร้อยละ 4.0-5.0 โดยมีค่ากลางเป็นร้อยละ 4.5 ซึ่งคาดการณ์ไว้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2550 ทั้งนี้ สศช.พิจารณาว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้เกินกว่าร้อยละ 4.5-5.0 ได้นั้น มีความเป็นไปได้น้อยโดยเฉพาะในภาวะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวได้เต็มที่ โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีองค์ประกอบหลักจากการขยายตัวของการส่งออกในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศรวมชะลอตัว ขณะที่ด้านเสถียรภาพคาดว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการว่างงานยังต่ำประมาณร้อยละ 1.5-2.0 อัตราเงินเฟ้อลดลงเป็นร้อยละ 2.0-2.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลสูงประมาณร้อยละ 3.0-4.0ของจีดีพี

โดยสศช.พิจารณาว่ามีปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้ในเกณฑ์ที่น่าพอใจนตั้นเป็นกรณีของอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลงจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุน และการเพิ่มการลดหย่อนภาษีสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาทจะช่วยกระตุ้นความต้องการที่อยู่อาศัย รวมถึงการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจภายใต้การดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องและโครงการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะมีความพร้อมในการเบิกจ่ายได้ในครึ่งหลังของปี และการจ้างงานที่ยังเพิ่มขึ้ตน นอกจากนี้เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนเมษายนเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นบ้างในเรื่องการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างทรงตัวและความต้องการในการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น

ในทางกลับกัน ก็ยังมีเงื่อนไขและปัจจัยที่อาจจะกลายเป็นความเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ในกรณีแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวที่จะกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยที่ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัวมากกว่าที่คาดได้ถ้าหากยังมีผลต่อเนื่องจากภาวะอสังหาริมทรัพย์ถดถอยในสหรัฐฯตลาดหลักทรัพย์ของจีนปรับตัวอย่างรุนแรงจากภาวะที่ร้อนแรงเกินไป รวมถึงราคาน้ำมันที่ยังสูงและมีความผันผวน และความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจลดลงและอยู่ในระดับต่ำภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนภายในประเทศที่รัฐบาลยังจะต้องเร่งสร้างความมั่นใจในบรรยากาศเศรษฐกิจและการเมือง เช่น การจัดการเลือกตั้งได้ตามกำหนดที่ประกาศไว้ ความชัดเจนในการออกกฎหมายที่สำคัญ และมีความคืบหน้าของการลงในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ

เสนอ 4 มาตรการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายอำพนกล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ควรลำดับความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ปรับตัวได้อย่างราบรื่น ขณะเดียวกันก็ดำเนินมาตรการที่จะช่วยสร้างความสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจ พร้อมเสนอมาตรการสำคัญ 4 ประการ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหลือปีนี้คือ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2550 ของภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย คือ ส่วนราชการเบิกจ่ายได้ร้อยละ 93 และรัฐวิสาหกิจร้อยละ 85 โดยมอบหมายให้เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวมและคณะกรรมการติดตามการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงการให้ความสำคัญกับแผนงานและโครงการที่สามารถกระจายเม็ดเงินงบประมาณลงสู่พื้นที่และประชาชนในระดับหมู่บ้านได้ อาทิ โครงการยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด และโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โครงการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การกำกับดูแลให้สามารถจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2551 ได้ตามกำหนด โดยเฉพาะการดูแลให้เม็ดเงินนำไปใช้ในแผนงานและโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการตามนโยบายรัฐบาลที่เป็นการวางพื้นฐานให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง

พร้อมกันนี้ควรสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการลงทุน อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเร่งรัดการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งรัดโครงการลงทุนรถไฟฟ้าให้สามารถเปิดประมูลได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ อย่างน้อย 2 สายทาง เร่งรัดกระบวนการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อให้โครงการลงทุนสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ สร้างความมั่นใจให้กับภาคการท่องเที่ยวในสถานการณ์ไม่ปกติ เพื่อสร้างรายได้ภาคท่องเที่ยวให้ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ส่งเสริมการพัฒนาและใช้พลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ เอ็นจีวี และไบโอดีเซล นอกจากนี้ ควรสร้างความมั่นใจในบรรยากาศเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะการสนับสนุนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นไปตามกำหนด จัดการเลือกตั้งได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมตามกำหนด และการตรากฎหมายที่สำคัญ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.