แบงก์คึกคักลดดอกเบี้ยกระตุ้น เศรษฐกิจแน่นิ่งไม่ตอบสนอง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 มิถุนายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

การตอบสนองนโยบาย "ธปท."ของ"แบงก์พาณิชย์"ด้วยการลดดอกเบี้ยทั้งขา"ฝาก"และ"กู้"เพื่อกระตุ้นการบริโภค ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะดึงเศรษฐกิจให้พ้นจากปากเหวได้ ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่สำคัญสุดคือ"ความเชื่อมั่น"ที่มีพลังเบาบาง ไม่อาจกระตุ้นผู้ประกอบและผู้บริโภคควักเงินออกจากประเป๋า แม้ต้นทุนการกู้จะต่ำ และผลตอบแทนเงินฝากไม่จูงใจแล้วก็ตาม

"แบงก์พาณิชย์"พาเหรดหั่นดอกเบี้ยขาฝากและกู้ลง หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) ลงอีก 0.5% น่าจะสร้างปรากฏการณ์เชิงบวกต่อภาคเศรษฐกิจได้ เพราะการปรับลดดังกล่าวถือว่ามีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจใช้จ่ายของผู้ประกอบการและผู้บริโภค

สุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน บอกว่า การปรับดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.5% เพื่อลดความลังเลของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่คอยแต่จับจ้องทิศทางดอกเบี้ยในอนาคตจะเป็นเช่นไร ซึ่งการลดถึง 0.5% เชื่อว่าน่าจะทำให้เกิดความชัดเจนในการตัดสินใจได้แล้ว

แต่ดูเหมือนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติครั้งนี้ ทำให้เกิด 2 มุมมอง ที่ท้ายสุดแล้วไม่อาจตัดสินใจได้ดัง ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน แบงก์ชาติกล่าวไว้ นั่นเพราะถ้อยแถลงของ ธปท. สามารถตีความได้ว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งหน้า (18 ก.ค.)มีความเป็นไปได้ที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลง หรือไม่ลดลงอีกก็เป็นได้

โดยปัจจัยที่คาดว่าไม่ปรับลงอีก มาจากคำกล่าวของ "สุชาดา" ที่บอกว่า "การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย0.5% ครั้งนี้ กนง.เห็นแล้วว่ามีความเหมาะสม และน่าจะหนุนให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อได้ในอนาคตเมื่อหลังจากปัจจัยหลายอย่างคลี่คลายลง โดยเฉพาะสถานการณ์การเมือง"เท่ากับว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้เป็นการกระทำที่มองถึงสถานการณ์ในอนาคตแล้ว

และที่ทำให้หลายคน(เหยี่ยวข่าว)ที่คลุกคลี ธปท.จนจับสังเกตได้ถึงถ้อยคำแถลงที่ต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะประโยคที่พูดทุกครั้งเมื่อต้องแถลงข่าวปรับลดดอกเบี้ยนโยบายคือ "ภาวะดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง"หากครั้งล่าสุดไม่มีการกล่าวถึง จึงถูกหยิบยกมาตีความว่าการปรับหนนี้อาจเป็นครั้งสุดท้าย ดังนั้นการประชุม กนง. ครั้งหน้าจะไม่มีการพิจารณาเรื่องปรับลดอีก

แต่ในอีกมุม ก็มองว่ายังมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดลลงอีก เพราะ "สุชาดา" บอกว่า ไม่อาจให้คำตอบที่ชัดเจนได้ ด้วยข้อมูลในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลง การพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายงวดนี้ เป็นข้อมูลก่อนเดือย เม.ย. ดังนั้นหากให้ตอบว่าหนนี้เป็นการปรับลดครั้งสุดท้ายหรือไม่ คงตอบได้ยาก เพราะต้องดูข้อมูลใหม่จากเดือน เม.ย. และ พ.ค. รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกก่อนว่าเป็นอย่างไร

ถ้ามองภาพรวมแล้วเศรษฐกิจโลก...แน่นอนว่าขับเคลื่อนไปได้ดี แต่เศรษฐกิจในประเทศเป็นเรื่องไม่แน่นอน... เป็นผลให้ภาคเอกชน นักธุรกิจ นักวิชาการ ต่างออกมาให้ความเห็นว่าถ้า ธปท.จะปรับดอกเบี้ยนโยบายลงอีกก็สามารถทำได้ พร้อมกับขีดเส้นไว้เลยว่า ดอกเบี้ยนโยบายท้ายสุดจะหยุดที่ 3.00%

คำพูดทั้งจากแบงก์ชาติ ภาคเอกชน นักธุรกิจ นักวิชาการ จึงไม่อาจตีความและสรุปแบบฟันธงได้

ถึงกระนั้น ดอกเบี้ยที่ลดลงดังกล่าว สุชาดา บอกว่า จะส่งผลไปถึงตลาดการเงินให้ปรับลดดอกเบี้ยตาม ดังนั้นในผู้ประกอบการที่มองการไกล จุดนี้น่าจะเริ่มลงทุนได้แล้ว

ตั้งแต่ต้นปีที่ ธปท.เริ่มพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะทิศทางเศรษฐกิจเริ่มเป๋ จากความเชื่อมั่นลด การบริโภคหดตัว แต่การปรับใน 2 ครั้งแรกลงเพียง 0.25% ซึ่งเทียบแล้วไม่แรงเท่า 2 ครั้งล่าสุดที่ลงถึง 0.5% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายวันนี้ลงมาอยู่ที่ 3.5% จากต้นปี 5.00% โดยรวมปรับลงแล้ว1.5%

และสำหรับสถาบันการเงินพาณิชย์ ได้ขานรับนโยบาย ธปท. ด้วยการทยอยปรับลดดอกเบี้ยทั้ง 2 ขาลง "เงินฝาก"และ"เงินกู้" โดยเริ่มจากแบงก์ใหญ่ที่ขยับก่อน "แบงก์กรุงเทพ" ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.50% ดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25%

"แบงก์กรุงไทย" ลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทลง0.50% ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% "แบงก์กสิกรไทย"ลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทลง0.50% ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% "แบงก์กรุงศรีอยุธยา"ลดดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.25-0.5% ลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลง 0.25% ส่วน"แบงก์ธนชาต"คาดว่าจะปรับดอกเบี้ยเงินกู้ลง0.50% และดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.25% และ "แบงก์ทหารไทย" ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประมาณ 0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง0.25%

โดยการปรับลดดอกเบี้ยทั้งฝากและกู้เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น แต่ถ้าพิจารณาถึงสภาพความเป็นจริง การบริโภคจะเกิดขึ้นต่อเมื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมา แต่สถานการณ์เช่นปัจจุบันนี้กล่าวได้เพียงคำเดียวว่าความเชื่อมั่นนั้นริบหรี่เต็มที ดังนั้นการใช้จ่ายเงินจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

กอปรกับการพิจารณาข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่รายงานว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเติบโตในทิศทางชะลอตัว แต่เอ็นพีแอลกลับเพิ่มขึ้น เป็นการสะท้อนถึงปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ ที่มีปัจจัยกระทบจากจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และก็เหมือนปัญหางูกินหาง ที่เศรษฐกิจชะลอตัวก็เพราะไม่มีความเชื่อมั่น อันเกิดจากผลทางการเมืองเป็นหลักสำคัญ

ต่อให้แบงก์พาณิชย์พาเหรดลดดอกเบี้ย"เงินกู้"เพื่อจูงใจลูกค้าที่อยากมีต้นทุนต่ำ หรือ ลดเงินฝาก เพื่อสะท้อนว่าการเก็บเงินในธนาคารช่างไม่คุ้มค่า แต่ในสถานการณ์ที่ความเชื่อมั่นไร้เสถียรภาพเช่นนี้ ไม่ว่าใครก็คงอดที่จะรอดู และขอกอดเงินตัวเองไว้ในอกอย่างแนบแน่นดีกว่าปล่อยให้ลอยไปแบบกล้าๆกลัวๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.