ปูนกลางเลี่ยง“สงครามราคา”หันลดต้นทุนประคองกำไร


ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ปูนกลางปรับตัวรับมือยอดขายหดจากอสังหาฯ ซบ-เมกะโปรเจกต์ล่าช้า เร่งส่งออก-พัฒนาระบบพลังงานทดแทน หวังช่วยลดต้นทุนลงอีกกว่า 10% หลังราคาน้ำมันพุ่ง รอรถไฟฟ้าสายสีแดงปลุกยอดขายปีหน้า

ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา การลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลที่ยังไม่เป็นรูปร่าง เป็นปัจจัยลบที่เข้ามากระทบตลาดปูนซิเมนต์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตลาดส่งออกที่ยังได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ กลายเป็นแรงกดดันรอบด้านที่ส่งผลให้ตลาดรวมปูนซิเมนต์มีการขยายตัวลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการใช้ปูนซิเมนต์อยู่ที่ 27 ล้านตัน

แม้ปูนซิเมนต์นครหลวง จะมียอดขายล็อตใหญ่จากโครงการก่อสร้างของภาครัฐ เช่น โครงการแอร์พอร์ตลิงค์, โครงการศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ, โครงการทางด่วนบูรพาวิถีเชื่อมต่อเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ และล่าสุดโครงการทางด่วนรามอินทรา-วงแหวนรอบนอก ที่บริษัท นครหลวงคอนกรีต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เพิ่งเซ็นสัญญาซื้อขายคอนกรีตผสมเสร็จกับบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 120,000 ลูกบาศก์เมตร(40,000 ตัน) มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะรับรู้เป็นรายได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ แต่ก็ยังไม่ส่งผลให้รายได้ของบริษัทฯ กระเตื้องขึ้นมากนัก เพราะยังมีปัจจัยลบอื่นๆ ที่กระทบต่อธุรกิจอยู่ นั่นคือ ตลาดบ้านใหม่ที่ชะลอตัว ทำให้ยอดขายจากตลาดในประเทศลดลง

จันทนา สุขุมานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร (ลูกค้าสัมพันธ์) บริษัท ปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) มองว่า หากบริษัทฯจะรักษารายได้และกำไรด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อนำมาชดเชยต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็จะเป็นการซ้ำเติมตลาดที่ซบเซาอยู่แล้ว และหากจะยังเน้นการทำตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียว บริษัทฯ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องทำ “สงครามราคา”

ซึ่งก็เป็นทางออกสุดท้ายที่มีแต่เจ็บตัว ดังนั้นปูนซิเมนต์นครหลวงจึงตัดสินใจเพิ่มสัดส่วนการส่งออกให้มากขึ้นอีก 500,000 ตันแทน จากเดิมที่ส่งออก 3.7 ล้านตัน โดยจะเน้นประเทศในแถบตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา และประเทศใกล้เคียง ซึ่งบริษัทฯ ก็ยังต้องเจอกับปัญหาเงินบาทแข็งค่า ที่กระทบทำให้รายได้หดหายไปกว่า 10%

เมื่อทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกเดินมาถึงทางตัน บริษัทฯ จึงหันมาปรับปรุงระบบภายใน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุดแทน คือ การทุ่มงบลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาทในสายงานธุรกิจอีโคสยาม ตามแผน 5-10 ปี เพื่อพัฒนาระบบพลังงานทดแทน เนื่องจากต้นทุนกว่า 70% ของการผลิตปูนซิเมนต์มาจากต้นทุนด้านพลังงาน โดยปี 2549 ลงทุนไปแล้ว 500 ล้านบาท ปีนี้จะลงทุนอีก 250 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มใช้ระบบได้ภายในปลายปีนี้ คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานลงได้มากกว่า 10% ทั้งนี้อีโคสยามเป็นธุรกิจรับกำจัดของเสียจากอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีเชื้อเพลิงนำมาใช้ในการผลิตปูนซิเมนต์ทดแทนการใช้ก๊าซและน้ำมันที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หลังจาก ครม. ประกาศอนุมัติการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่คาดว่าจะมีการประมูลงานก่อสร้างในไตรมาส 3 นี้ จันทนา กล่าวว่า จะยังไม่เกิดยอดขายทันที แต่ยอดขายจะเข้ามาในไตรมาส 1-2 ของปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นช่วงที่เริ่มมีการก่อสร้าง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.