ลีเวอร์ปรับสูตรอาหารรับโภชนาการดีอัด200ล.ผ่านกิจกรรมกระตุ้นผู้บริโภค


ผู้จัดการรายวัน(30 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ยูนิลีเวอร์เดินหน้าสานต่อ โครงการเอ็นอีพี ทั่วโลก โดยเตรียมทุ่มงบประมาณ 200 ล้านบาทรุกตลาดไทยหวังสร้างความรู้ความเข้าใจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เตรียมปรับสูตรกลุ่มไอศกรีม เผย 5 เดือนแรก กลุ่มธุรกิจนี้ของลีเวอร์เติบโต 2 หลักมากกว่าตลาดรวมที่โต 7%

นายลออิค ทาร์ดี้ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย และนายเจอโรม ชาราโชน รองประธานการบริหารธุรกิจอาหารและไอศกรีม บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ร่วมกันเปิดเผยว่า ผลประกอบการของกลุ่มอาหาร และไอศกรีมของยูนิลีเวอร์ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีอัตราการเติบโตเป็นเลขสองหลัก ซึ่งมากกว่าตลาดรวมที่มีการเติบโตเพียง 7% เท่านั้น

โดยรายได้รวมของกลุ่มอาหารและไอศกรีมเมื่อสิ้นปีที่แล้วในประเทศไทยมีรายได้มากกว่า 19 ล้านยูโร ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

ทั้งนี้ในปีนี้บริษัทฯจะใช้งบประมาณด้านการตลาดประมาณ 200 ล้านบาท ในการให้ความรู้ประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมต่างๆในหลายรูปแบบ ในประเทศไทย เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการหรือ Nutrition Enhancement Programme (NEP) ซึ่งถือเป็นโครงการต่อเนื่องบริษัทได้เริ่มดำเนินการทั่วโลกมาตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2546

การก้าวเข้าสู่ปี 2550 นี้ ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของยูนิลีเวอร์กำลังเปลี่ยนแปลงภายใต้โครงการส่งเสริมเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงผ่านการปรับสูตร หรือการให้ข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น เราเริ่มผนึกกำลังกับพันธมิตรทั้งหลายทั้งในส่วนของภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐขอความร่วมมือในการลดการบริโภคโซเดียมในทวีปยุโรปตามกลุ่มเป้าหมายทีละขั้นตอน

โดยโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดการปรับปรุงในส่วนประกอบทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ทั้งในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยไม่ลดทอนความปลอดภัยของอาหาร คุณภาพ หรือรสชาติ รวมทั้งไม่ได้มีการเพิ่มราคาผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด

นายลออิคกล่าวว่า เราได้พัฒนาแนวทางปฎิบัติของเราเองเพื่อทำการประเมิน ในขณะที่องค์กรอนามัยโลกและหน่วยงานภาครัฐได้นำเสนอแนวทางสำหรับการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี แต่ก็ยังไม่มีมาตรฐานที่จะกล่าวได้ว่าสินค้าประเภทอาหารแต่ละชนิดมีความเหมาะสมต่อการบริโภคเพื่อสุขภาพที่ดีได้อย่างไร ดังนั้นสถาบันค้นคว้าวิจัยด้านอาหารและสุขภาพของยูนิลีเวอร์จึงได้กำหนดมาตรฐานของปริมาณสารอาหารประเภทไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัว โซเดียม น้ำตาลตามหมวดหมู่ประเภทอาหารต่างๆ

“เราได้ทำการตรวจสอบส่วนประกอบของสูตรอาหารทั้งหมดของเราในส่วนของระดับสารอาหารสำคัญ 4 ชนิด ตามผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ลาสุด ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ได้แก่ ไขมันไม่อิ่มตัว ไขมันอิ่มตัว โซเดียม และน้ำตาล ซึ่งได้ทำการประเมินระดับของสารอาหารเหล่านี้ในอาหารกว่า 16,000 ชนิด และได้ ดำเนินการลดปริมาณสารอาหารเหล่านี้ในทุกส่วนที่เราสามารถทำได้ จนแล้ยวเสร็จเมื่อปลายปี 2548”

การเปลี่ยนแปลงสูตรอาหารในปี 2548 และ 2549 ส่งผลให้ยูนิลีเวอร์ทั่วโลกสามารถกำจัดปริมาณไขมันไม่อิ่มตัวลงไปได้ 15 ล้านกิโลกรัม กำจัดปริมาณไขมันอิ่มตัวลงไปได้ 10 ล้านกิโลกรัม (ซึ่งไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัวปริมาณที่กำจัดได้นี้ จะให้พลังงานนักวิ่งสามารถวิ่งไปได้ 2,184 ปี ) กำจัดปริมาณโซเดียมลงไปได้ 2 ล้านกิโลกรัม (ซึ่งเทียบเท่ากับเป็นความเค็มของน้ำทะเลตามปริมาณน้ำของสระว่ายน้ำขนาดสำหรับการแข่งขันโอลิมปิค 57 สระรวมกัน) และกำจัดปริมาณน้ำตาลลงไปได้ 10 ล้านกิโลกรัม (ซึ่งสามารถให้พลังงานแคลลอรี่สำหรับรายการแข่งขันลอนดอน มาราธอน ประจำปีได้ 388 ปี ตามสมมติฐานที่มีผู้เข้าร่วมแข่งขันจำนวน 35,000 คน) จากรายการอาหารและเครื่องดื่มในสินค้าทั้งหมดทั่วโลกของยูนิลีเวอร์

ขณะที่ในประเทศไทยนี้บริษัทฯมีผลิตภัณฑ์อาหารและและไอศกรีมมากกว่า 200 เอสเคยู ได้มีการประเมินไปแล้วประมาณ 80% ส่วนไอศกรีมนั้นคาดว่าในเร็วๆนี้คงจะเริ่มดำเนินการปรับสูตรได้ เพราะไอศกรีมเป็นสิ่งที่ต้องให้ความรอบคอบมากเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรสชาติด้วย

โดยในไทยนี้บริษัทฯได้ทำการลดสารอาหารทั้ง 4 ชนิด และได้เปิดตัวสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการชนิดใหม่ ซึ่งมีส่วนประกอบทางโภชนาการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอุปโภคสำหรับเด็ก เช่น ในไตรมาสที่สาม ปี 2549 ผลิตภัณฑ์เบสท์ฟู้ดส์ ซึ่งเป็นผู้นำตลาดด้านแยม ได้เปิดตัวแยมที่มาพร้อมกับ เนื้อผลไม้ที่เพิ่มขึ้น และในเดือนนี้ยังได้ทำการเปิดตัวสินค้าประเภทแยมที่มีน้ำตาลน้อยลงด้วย และในเดือนนี้มีแผนที่จะเปิดตัว โจ๊กเพิ่มพลัง คนอร์ คัพ โจ๊ก อีกด้วย ซึ่งมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยทำให้การเติบโตของบริษัทฯในกลุ่มอาหารนี้มีมากกว่า 2 หลัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.