|
ธปท.รับออกบอนด์โปะขาดทุนบาทแนะแปรรูปตลาดเงิน-ทุนรับเปิดเสรี
ผู้จัดการรายวัน(30 พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ย้ำยังจำเป็นต้องคงมาตรการและแทรกแซงค่าเงินบาทอยู่ จากเงินทุนไหลเข้าที่ยังมีจำนวนมากจากการเปิดเสรีเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ยอมรับต้องออกพันธบัตรชดเชยขาดทุนพยุงบาท แนะเร่งพัฒนาตนลาดเงิน-ตลาดทุนเพื่อรองรับระยะยาว ด้านเลขาธิการก.ล.ต.ระบุหากมีการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯต้องยึด 4 หลักการ "เพื่อรองรับการแข่งขัน-เน้นประสิทธิภาพการทำงาน-ไม่เป็นปัญหากับโบรกฯบจ.-ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องได้รับประโยชน์" ด้านนายแบงก์เตือนรับมือการแข่งขันจากแบงก์นอกที่ขนเงินเข้ามาเทคโอเวอร์
วานนี้(29 พ.ค.)สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)-ตลาดเงิน-ตลาดทุนไทยจัดสัมมนา FPO Forum "โลกาภิวัฒน์ด้านเงินทุน และความท้าทายต่อประเทศไทย" โดยมีนางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ และนายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ "โลกาภิวัฒน์ด้านเงินทุนและตลาดเงิน "ที่ชั้น 7 อาคารป๋วย อึ้งภากรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการสายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในเสวนาเรื่อง “โลกาภิวัฒน์ด้านเงินทุนและตลาดเงินตลาดทุนไทย” ว่า ความท้าทายในโลกาภิวัฒน์นั้น หากพูดถึงทฤษฎีเชื่อว่าสิ่งดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์ แต่ในแง่ของด้านเงินลงทุนนั้นมีความไม่แน่นอน ฉะนั้น ความท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และธนาคารกลางในประเทศอื่นๆคือ จะทำอย่างไรที่จะรับมือกับเงินทุนที่ไหลเข้ามาประเทศอย่างมาก ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนมารองรับ แต่ขณะนี้ตลาดเงินตลาดทุนของไทยยังเล็กอยู่ ในขณะเดียวกันต้องมีวิธีป้องกันตนเอง ด้วยการหามาตรการที่มาสมดุลและถ่วงดุลกัน ทั้งนี้ ในช่วงก่อนหน้านี้ ไทยเคยต้องการเงินไหลเข้ามามาก แต่ตอนนี้ต้องการให้เข้ามาน้อยหน่อย เพื่อไม่ให้เกิดกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ
สำหรับการมาตรการในการแทรกแซงค่าเงินบาทนั้น ธปท.มองว่ายังจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท เนื่องจากยังมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศและในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการที่นักลงทุนญี่ปุ่นกู้เงินในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกมาลงทุนต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทแข็งค่าจะส่งผลดีสำหรับประเทศในระยะยาว แต่หากเงินบาทอ่อนค่าจะกลายเป็นทำให้ประเทศต้องขายสินค้าในราคาถูกและต้องซื้อวัสดุเข้ามาในราคาแพง แต่การแข็งค่าของเงินบาทก็ควรต้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกอบการค่อยๆ ปรับตัว ธปท.จึงได้ออกมาตรการสำรอง 30% เพื่อไม่ให้ธุรกิจได้รับผลกระทบมากการแข็งค่าจากเงินบาทที่เร็วเกินไป ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ธปท.ก็จำเป็นต้องออกพันธบัตรชดเชยหลังใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก ในการช่วยพยุงเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง
"ความท้าทายในการดูแลอยู่ที่การบริหารจัดการเงินทุนที่มีอยู่ในตลาดจำนวนมหาศาล อันเนื่องมาจากการเปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ส่วนการลดแรงกดดันภาวะการแข็งค่าเงินบาท ด้วยการนำเงินสำรองที่มีอยู่จำนวนมากออกมาลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์นั้น มองว่าต้องมีการออกพันธบัตรมาชดเชยด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการเสียวินัยในด้านการเงินการคลัง"รองผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าว
สำหรับกรณีความไม่แน่นอนทางการเมืองในขณะนี้ นางอัจนากล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ รัฐบาลควรลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากเรื่องนี้ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับ เพราะหากมีความมั่นใจกลับมาก็จะมีการใช้จ่าย มีการนำเข้าสินค้าเพิ่ม ซึ่งจะช่วยลดแรงกกดดันค่าเงินบาทด้วย
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)นั้น เป็นการเตรียมการรับมือการแข่งขันในเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดน การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำ การชดเชยสำหรับภาวะไม่คุ้มทุนในการแปรรูปช่วงแรก ส่วนการจะแปรรูปหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตลท. ซึ่งการจะแปรรูปก็ควรยึดหลักการ 4 ข้อประกอบกันคือ แปรรูปเพื่อเตรียมรับการแข่งขันเงินทุนเคลื่อนย้าย ขณะเดียวกันต้องเน้นการทำงานของตลาดหุ้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนต่ำ ไม่ควรเป็นปัญหาต่อโบรกเกอร์และบริษัทจดทะเบียน และถ้ามีการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แล้วจะต้องมีการทำงานบางอย่างในเชิงพัฒนาและต้องมีคุณภาพ สุดท้ายหากจะเกิดการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ทุกฝ่ายของตลาดหลักทรัพย์ต้องได้รับประโยชน์ โดยการแปรรูปดังกล่าวเพื่อเตรียมที่จะรองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
"เรื่องการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯคิดว่าจะได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับตลาดหลักทรัพย์ฯเองมากกว่า แต่ว่าถ้าจะแปรรูปก็ควรต้องยึดข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ขนาดนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะไม่ได้เหมือนบริษัทจำกัดทั่วไป ถ้าแปรรูปคือแปรไปเป็นบริษัททั่วไป ซึ่งหลายๆประเทศก็มีการแปรรูป แต่ในแง่ของกลต.ไม่มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งหากเราไปดูในต่างประเทศ ก็จะเห็นแนวโน้มว่าต่างประเทศเขามีการแปรรูปกันไปส่วนใหญ่ และนอกจากการแปรรูปแล้วยังมีการซื้อหุ้นข้ามกันไปข้ามกันมาด้วย ดังนั้น ถ้าตลาดหลักทรัพย์เห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะแปรรูปเราจะมีเงื่อนไขอย่างไรก็เชื่อว่า 4 ข้อที่กล่าวไป แต่มองจากภาพ กลต.ไม่มีคอมเมนท์ ส่วนจะส่งผลอย่างไร ก็ต้องดูว่าการแปรรูปก็ต้องแปรรูปเพื่อที่จะรองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น"ธีระชัย
ขณะที่นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)(SCB)กล่าวว่า เรื่องของเงินทุนที่จะไหลเข้ามาเป็นสิ่งที่หลีกเหลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันรูปแบบการเข้ามาของเงินเงินทุนในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยการไหลเข้าไหลออกของเงินทุนมาจากสาเหตุที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมันมีมากจนเกินไปส่งผลทำให้ค่าเงินลดลง นักลงทุนจึงต้องหันนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในสกุลอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึงลงทุนในสกุลเงินบาทเนื่องจากประเทศไทยมีแรงจูงใจที่อยากให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน
นอกจากนี้ จะเห็นได้ชัดเจนอีกว่าจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ที่เข้ามาส่วนใหญ่จะเข้ามาเพื่อเทคโอเวอร์ มาร่วมทุน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนี้เป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องเร่งรับมือคือการสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ สร้างความแข็งแกร่ง สร้างตลาด และเริ่มเดินตั้งแต่ก้าวแรก ส่วนการลดต้นทุนขณะนี้ไม่ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ
"การแข่งขันของภาคธุรกิจขนาดนี้ไม่ใช่แต่แข่งขันกับแบงก์ไทยด้วยกันเอง แต่เราต้องแข่งขันกับแบงก์ต่างชาติ จะทำอย่างไร การออกกฎเกณฑ์ต่างๆมา มันก็เป็นเพียงมาตรการสั้นๆ เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือเราต้องสร้างคุณค่าในการดำเนินธุรกิจให้มีมากขึ้น” นายวิชิต กล่าว
สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ยอมรับว่า เป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนพอสมควร โดยเฉพาะผลการวินิจฉัยกรณียุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันนี้ (30พ.ค.50) ทั้งนี้ เชื่อว่าคำวินิจฉัยที่มีขึ้นไม่น่าจะทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเดือดร้อนและภาครัฐน่าจะมีทางออกที่ดีให้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารไม่ว่าจะสถานการณ์ตอนนี้อยู่ในลักษณะใด รวมไปถึงคำวินิจฉัยที่จะออกมาอย่างไรนั้น ธนาคารก็ยังคงยึดหลักการดำเนินงานด้วยความรอบคอบต่อเนื่อง และหวังว่าทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาครัฐควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับมาเร็วที่สุด
"ตอนนี้เรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักลงทุนถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ภาครัฐควรเร่งทำ แม้ว่าช่วงที่ผ่านมามีข้อสรุปในเรื่องของการเลือกตั้ง รวมไปถึงการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงก็ตาม แต่สถานการณ์ทางการเมือง ความไม่สงบของภาคใต้ ทำให้ผู้บริโภคและการลงทุนชะลอตัวลงไปมาก ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็ว”นายวิชิต กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|