|
คลังเผยส่งออกเม.ย.หนุนศก.เงินเฟ้อ1.8%ต่ำติดต่อ5เดือน
ผู้จัดการรายวัน(30 พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
สศค.เผยตัวเลขส่งออกเดือนเมษายนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 มูลค่า 1.1 หมื่นล้าน หรือเพิ่มขึ้น 18.5% เป็นผลต่อการขยายการส่งออกใหม่ๆ ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณที่ดี ยันฐานะการคลังยังมีสถียรภาพ เงินเฟ้อทั่วไป 1.8% ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2550เศรษฐกิจไทยโดยรวมได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวที่ดีขึ้น ส่วนด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
โดยเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนเมษายนบ่งชี้ถึงการใช้จ่ายของรัฐบาลที่กลับเข้าสู่ระดับปกติ โดยรายจ่ายงบประมาณในเดือนนี้เบิกจ่ายได้ 115.8 พันล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น15.9% ต่อปี แบ่งออกเป็นรายจ่ายประจำจำนวน 97.7 พันล้านบาท รายจ่ายลงทุนจำนวน 13.5 พันล้านบาท และรายจ่ายเหลื่อมปีจำนวน 4.6 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม รายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในเดือนเมษายน 2550 จัดเก็บได้ 89.0 พันล้านบาท หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ -22.1% ต่อปี เนื่องจากมีการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พรบ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 19.4 พันล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมการจัดสรรเงินฯ ดังกล่าว รายได้จัดเก็บในเดือนเมษายนจะเท่ากับ 108.4 พันล้านบาท หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ -5.1%
"เครื่องชี้การใช้จ่ายภายในประเทศมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนเมษายนขยายตัว 7.1% ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 1.9% ต่อปี ในเดือนก่อน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนเมษายนที่ขยายตัว 23.9% ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 15.0% ต่อปี ในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนเมษายนยังคงชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนเครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรปรับตัวดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนที่กลับมาขยายตัวที่ 4.9% ต่อปี หลังจากที่หดตัวติดต่อกันมาตั้งแต่ปลายปี 2549"
อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนด้านการก่อสร้างยังคงชะลอตัว โดยภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัว -5.7% ในเดือนเมษายน ด้านมูลค่าการส่งออกในเดือนเมษายน 2550 ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงที่ 18.5% ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการขยายตลาดการส่งออกใหม่ๆ เช่น อินเดีย ยุโรปตะวันออก และ แอฟริกา ดังนั้นการส่งออกจึงยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายนเช่นเดียวกับในไตรมาสแรก
สำหรับมูลค่าการนำเข้าในเดือนเมษายน 2550 ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 8.9% ต่อปี จาก 0.6% ต่อปี ในเดือนมีนาคม โดยมีมูลค่าการนำเข้ารวมทั้งสิ้น 10.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าที่มีการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นมากได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน รวมทั้งยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ทั้งนี้ การเร่งตัวขึ้นของมูลค่าการนำเข้าทำให้ดุลการค้าลดลงจาก 2,267 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 255.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับเครื่องชี้ในด้านอุปทานพบว่า ในเดือนเมษายน 2550 ดัชนีผลผลิตการเกษตรขยายตัวได้ถึง 13.4% ต่อปี เพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.7% ต่อปี โดยเฉพาะข้าวนาปรังที่ขยายตัวได้ดีเนื่องจากมีผลผลิตออกมามากในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวที่ -8.5% ต่อปี จาก -4.6% ต่อปีในเดือนมีนาคม เนื่องจากราคาไม้ผล เช่น เงาะ ลำไย ลองกอง และทุเรียน ที่ปรับลดลงตามการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาด
ส่วนเครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมบ่งชี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายนกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 6.3% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 2.4% ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า โดยอุตสาหกรรมที่มีการผลิตปรับตัวดีขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก เช่น การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอาหาร
ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนเมษายนปรับลดลงมาอยู่ที่ 60.9% จาก 68.7% ในเดือนก่อน เนื่องจากเดือนเมษา0ยนมีวันหยุดทำการมากกว่าปกติ ในด้านเครื่องชี้ภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยว ข้อมูลล่าสุดในเดือนเมษายน 2550 พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 1.09 ล้านคน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.9% ต่อปี ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี เนื่องจากนักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่นในสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ และสภาพอากาศที่เกิดหมอกควันในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ
เสถียรภาพทั้งภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2550 อยู่ที่ 1.8% ต่อปี ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ขณะที่อัตราการว่างงานเดือนมีนาคม ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.6% และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในเดือนมีนาคม 2550 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 38.1% แต่ยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ 50.0% ค่อนข้างมาก สำหรับเครื่องชี้เสถียรภาพภายนอกประเทศพบว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2550 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 71.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|