|
โจนส์ แลงฯเชื่อปีหน้าอสังหาฯฟื้นหากการเมืองชัดเจน-เริ่มเลือกตั้ง
ผู้จัดการรายวัน(30 พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
โจนส์ แลงฯ ระบุการเมืองและเศรษฐกิจ แม้จะกระทบต่อตลาดอสังหาฯในกรุงเทพฯ แต่โดยรวมยังคงได้รับสนใจจากนักลงทุนจากทั่วโลก ชี้อสังหาฯในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2549 มียอดการลงทุนเติบโตขึ้น 42% หรือมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 94,000 ล้านดอลลาร์ โดยนักลงทุนเลือกญี่ปุ่นเป็นอันดับแรก
นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แม้แนวโน้มของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่โดยรวมๆแล้วยังคงอยู่ในทิศทางเดียวกับตลาดโดยรวมของเอเชียแปซิฟิก โดยตลาดอาคารสำนักงานและศูนย์การค้ายังคงมีค่าเช่าปรับตัวสูงขึ้น ถึงแม้จะไม่มากนักเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีที่ผ่านๆ มา คาดว่าตลาดอสังหาฯของกรุงเทพฯ จะฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2551 เมื่อความคลุมเครือทางการเมืองคลี่คลายหลังการเลือกตั้งที่จะจัดให้มีขึ้นในปลายปีนี้
ขณะที่ ด้วยสภาพสภาพเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีการขยายตัวในระดับที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้มีความต้องการใช้พื้นที่สำนักงานในภูมิภาคนี้ ขยายตัวจากกลุ่มบริษัทในธุรกิจการเงิน ธุรกิจประกัน ธุรกิจอสังหาฯ และ ธุรกิจบริการด้านต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการธนาคารและธุรกิจบริหารกองทุน มีการขยายการใช้พื้นที่สำนักงานเพิ่มขึ้นมากในเมืองศูนย์กลางทางการเงิน ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ ซิดนีย์และโตเกียว
นาง เจน เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของโจนส์ แลง ลาซาลล์ กล่าวว่า ค่าเช่าในตลาดอาคารสำนักงานโดยรวมของเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากอุปทานใหม่เกิดขึ้นไม่มาก ดังนั้น จึงพบว่า บริษัทผู้เช่าจำนวนมากเริ่มหันไปเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานที่ตั้งอยู่นอกเขตศูนย์กลางธุรกิจมากขึ้น เพราะมีค่าเช่าถูกกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตลาดฮ่องกงและสิงคโปร์
ในด้านตลาดการลงทุน พบว่า นักลงทุนจากทั่วโลกสนใจลงทุนซื้อโครงการอสังหาฯในเอเชียแปซิฟิก โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายๆ ปัจจัย ได้แก่ การขยายตัวของธุรกิจบริหารจัดการการออมเพื่อการเกษียณอายุ การกระจายการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยนักลงทุนสถาบัน ตลาดอสังหาฯในเอเชียแปซิฟิกมีความโปร่งใสมากขึ้น และการไหลเวียนของเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นโดยนักลงทุนจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน
โดยในปี 2549 ที่ผ่านมา บริษัทฯได้รายงานเรื่องการไหลเวียนของเงินทุนในธุรกิจอสังหาฯโลก ระบุว่า มีการซื้อขายทั่วโลกมูลค่ารวมทั้งสิ้น 682,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ประมาณ 38% หรือเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2546 ส่วนในเอเชียแปซิฟิก การซื้อขายเพื่อการลงทุนในปี 49 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 94,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ประมาณ 42% ตลาดที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก คือญี่ปุ่น ซึ่งคิดเป็น 55 % ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดในภูมิภาค ส่วนจีน มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 9,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ประมาณ 69 % แม้จะมีมาตรการลดความร้อนแรงของตลาดซึ่งออกโดยรัฐบาล
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|