ชี้สัญญาณบวกส่งออกภาค SMEs ถึงสิ้นปีมีสิทธิ์ฟันเงิน 1.623 ลล.บ.


ผู้จัดการรายวัน(30 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

SAW เผยทิศทางส่งออกภาค SMEs คาดไตรมาส 2 เจอปัจจัยลบยังเป็นเรื่องเดิมๆ โดยมีสัญญาณบวกเพราะการนำเข้าชะลอตัว ขณะที่พื้นฐานส่งออกไทยยังแกร่ง ระบุในปี 2550 มูลค่าส่งออกโดยรวมอาจถึง 5.659 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วน SMEs ถึง 1.623 ล้านล้านบาท

โครงการวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา (SAW) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยผลสำรวจแนวโน้มการส่งออกของ SMEs ไทย ประจำไตรมาส 2 /2550 ว่า จากสถานการณ์ในช่วงไตรมาสที่ 1-2550 พบว่า ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2/2550 คาดว่า ค่าเงินบาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ (USD) จะยังคงผันผวนอยู่ จากปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทยังมีโอกาสที่จะเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงได้ในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยปัจจัยที่จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอาจจะมาจากอัตราการขยายตัวด้านการนำเข้าสินค้าและการลงทุน ที่มีอัตราชะลอตัวหรือทรงตัว เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนภายในประเทศ ประกอบกับการส่งออกโดยรวมของประเทศยังมีอัตราการขยายตัวมากกว่า 10% ทำให้ดุลการค้าไทยยังมีโอกาสเกินดุลได้ต่อไป รวมถึง แนวโน้มของค่าเงิน USD ที่ยังคงต้องอ่อนค่าลงในระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาความไม่สมดุลในโลก อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องจะช่วยลดแรงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

จากสถานการณ์ต่างๆ ของประเทศไทย และการสำรวจจากผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 800 ราย พบว่า ปัจจัยเสี่ยงสำหรับ SMEs ในการประกอบธุรกิจสำหรับปี 2550 ยังเป็นปัจจัยเดิมๆ อาทิ การแข็งค่าของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น สถานการณ์ความไม่สงบต่างๆ อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น และบรรยากาศในการลงทุน และสุดท้ายส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แม้ SMEs จะมีความกังวลกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกในช่วงไตรมาสที่ 1/2550 ที่ผ่านมา แต่โดยพื้นฐานแล้วเมื่อมาพิจารณาในอีกมิติ พบว่าปัจจัยภายนอกประเทศโดยเฉพาะเรื่องทิศทางค่าเงิน USD ที่อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศของไทย ยังได้สนับสนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง น่าจะเป็นสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก แต่การค้าระหว่างประเทศของไทยกลับปรับตัวดีขึ้นมาก โดยดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไตรมาส 1/2550 และทำสถิติเกินดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2.2-2.26 พันล้าน USD ในช่วงสุดท้ายของไตรมาส 1/2550

ทั้งนี้ สาเหตุดังกล่าวเป็นผลมาจากการนำเข้าที่ขยายตัวในระดับที่ลดลงต่อเนื่องตามทิศทางการบริโภคและการลงทุนที่ชะลอตัวลง ขณะที่การส่งออกยังคงเติบโตในระดับที่แข็งแกร่ง และเป็นสัญญาณที่ดีว่าการส่งออกของไทย อาจจะทำรายได้มากถึง 5.659 ล้านล้านบาท ในปี 2550 จากที่เคยทำได้ 4.946 ล้านล้านบาท หรือจะมีอัตราการขยายตัวกว่าร้อยละ 14 โดยเป็นสัดส่วนของ SMEs ถึง 1.623 ล้านล้านบาท (ประมาณ 30%) ซึ่งมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 13 โดยรวม และมากกว่าร้อยละ 14 สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต และจะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวด้านมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ SMEs (Economic Value Added) จาก 3.29 แสนล้านบาทเป็น 3.99 แสนล้านบาท ตามลำดับ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.