คลังลดเป้าจีดีพีเหลือ3.8%เหตุลงทุนเอกชนฮวบ-หลังยุบพรรคปรับใหม่


ผู้จัดการรายวัน(29 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ประมาณการเศรษฐกิจ ณ เดือนพฤษภาคม 2550 โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4.0% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 3.8-4.3% ต่อปี ชะลอลงจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2549 ที่อยู่ที่ 5.0% ต่อปี เนื่องจากการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยขยายตัวลดลงจากปีก่อนไม่มากนัก

สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในปี 2550 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพี คาดว่าจะเกินดุลเพิ่มมาอยู่ที่ 4.9% ในปี 2550 ช่วงคาดการณ์ 4.5-5.5% เพิ่มขึ้นจากที่เกินดุล 1.5% ในปี 2549 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2550 คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำที่ 2.8% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 2.5-3.0% ต่อปี ลดลงจาก 4.7% ต่อปี ในปีก่อน

ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 4.0% ต่อปี โดย สศค. คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2550 จะขยายตัวลดลงจาก3.1 % ต่อปี ในปี 2549 มาอยู่ที่ 2.3% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.8-2.8 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในปี 2550 คาดว่าจะชะลอการขยายตัวลงจาก 3.9% ต่อปี ในปี 2549 มาอยู่ที่ 0.5% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.3-0.7 ต่อปี

เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงมาก นอกจากนั้น ความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความไม่สงบต่างๆ เช่น ปัจจัยทางการเมือง ความไม่สงบในจังหวัดภาคใต้ และความผันผวนของราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปี อาจส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาคภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากว่าเดิม

ในด้านการใช้จ่ายภาครัฐ สศค. คาดว่าการบริโภคภาครัฐที่แท้จริงในปี 2550 จะเร่งตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.4% ต่อปี ในปี 2549 มาอยู่ที่ 10.8% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 8.8-12.8% ต่อปี เนื่องจากนโยบายการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลและการปรับปรุงกรอบวงเงินรายจ่ายประจำของงบประมาณปี 2550 เพิ่มขึ้นจาก 1,191.5 พันล้านบาท เป็น 1,246.3 พันล้านบาท

ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐที่แท้จริงในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจาก 4.5% ต่อปี ในปี 2549 มาอยู่ที่ 2.2% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 0.2-4.2% ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับการปรับปรุงกรอบวงเงินรายจ่ายลงทุนของงบประมาณปี 2550 ลดลงจาก 374.7 พันล้านบาท เป็น 319.6 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมายที่ 93% ของกรอบวงเงินงบประมาณปี 2550 และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ได้ตามเป้าหมายที่ 85% ของกรอบงบประมาณลงทุน จะสามารถช่วยผลักดันให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐดังกล่าวมีโอกาสขยายตัวได้ในระดับสูงของช่วงคาดการณ์

ในด้านอุปสงค์จากภายนอกประเทศสุทธิ สศค. คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2550 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอตัวจากปีก่อนเล็กน้อย ตามการชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 8.1% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 7.6-8.6% ต่อปี ลดลงเล็กน้อยจากปี 2549 ที่ขยายตัว 8.5% ต่อปี

ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.6% ต่อปี ในปี 2549 มาอยู่ที่ 5.2% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 4.7-5.7% ต่อปี เนื่องจากแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและบริการลดลง ประกอบกับฐานการนำเข้าในปีก่อนที่อยู่ในระดับต่ำผิดปกติ จากการที่ผู้ผลิตหันมาใช้สินค้าคงคลังแทนการนำเข้าเพื่อผลิตสินค้า ดังนั้น ในปี 2550 นี้ คาดว่าผู้ผลิตจะต้องนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการผลิตและทดแทนสินค้าคงคลังที่ได้ปรับลดไปมากแล้วในปีก่อน

สำหรับสเถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศในปี 2550 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพี ในปี 2550 จะเกินดุลประมาณ 4.9% ช่วงคาดการณ์ 4.5-5.5% เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่เกินดุล 1.5% โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงขึ้นมาจากการเกินดุลการค้าที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาก ตามมูลค่าส่งออกสินค้าในปี 2550 ที่คาดว่าจะขยายตัวสูงกว่ามูลค่านำเข้าสินค้าค่อนข้างมาก ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 จะขยายตัวอยู่ที่ 13.7% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 13.2-14.2% ต่อปี แต่มูลค่านำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวเพียง 8.3% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 7.8-8.8% ต่อปี

สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในปี 2550 นั้น คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2550 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.8% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 2.5-3.0% ต่อปี ลดลงจาก 4.7% ต่อปี ในปี 2549 โดยมีสาเหตุหลักมาจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานจากราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ในขณะเดียวกันการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อทางด้านอุปสงค์ด้วยอีกทางหนึ่ง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาการคลัง กล่าวว่า การปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้ถือเป็นตัวเลขที่สะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด และมาจากความสามารถของเศรษฐกิจไทยเอง ซึ่งไม่ได้มีอคติทางการเมือง ไม่ว่าผลการยุบพรรคจะออกมาเป็นอย่างไร หากสถานการณ์หลังการตัดสินคดียุบพรรคไม่รุนแรง ก็เป็นไปได้ที่จะมีการทบทวนคาดการณ์จีดีพีอีกครั้งในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขสูงขึ้นกว่านี้ได้

"กระทรวงการคลังพยายามทำเศรษฐกิจให้นิ่ง และอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่การเมืองก็ต้องช่วยด้วย ไม่เช่นนั้นการเมืองอาจทำให้เศรษฐกิจมีปัญหาเช่นกัน" นายสมชัยครวญ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.