สินเชื่อQ2/ครึ่งปีหลังยังไม่สดใส


ผู้จัดการรายวัน(29 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินสินเชื่อแบงก์ไตรมาส 2 ยังชะลอตัวต่อตามจีดีพี คาดโตกว่าไตรมาสแรกที่ขยายตัว 4.80% เล็กน้อย ขณะที่ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีข้อจำกัด แม้ปัจจัยการเมือง-ดอกเบี้ยจะเอื้ออำนวยขึ้น แต่จากการแข่งขันที่สูงทำให้เกิดการรีไฟแนนซ์ในระบบแทนสินเชื่อใหม่ คาดทั้งปีขยายตัว 4.0-5.5% ขณะที่ยอดเอ็นพีแอลมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดลงสู่ 2%ตามที่แบงก์ชาติตั้งไว้ จากการเร่งขายหนี้เน่าออกของสถาบันการเงิน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มสินเชื่อ และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงที่เหลือของปี 2550 ว่า การขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาสที่ 2/2550 จะยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง และสินเชื่ออาจขยายตัวเร่งขึ้น ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่อัตราการเติบโตก็ยังน่าจะเป็นไปอย่างจำกัด ทั้งนี้ จากการทดสอบความสัมพันธ์ทางเศรษฐมิติระหว่างสินเชื่อดี กับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR เฉลี่ยรายไตรมาสของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงระหว่างปี 2546 ถึงไตรมาส 1/2550 นั้น โดยคาดการณ์ให้จีดีพีไตรมาส 1/2550 จะขยายตัวประมาณ 3.0%

ปรากฏว่าการเปลี่ยนแปลงของสินเชื่อดีมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะมีนัยสำคัญทางสถิติกับอัตราการเติบโตของจีดีพีในไตรมาสเดียวกัน ขณะที่การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เงินกู้ในระยะเวลาเดียวกันเพียงลำพังนั้น ไม่สามารถอธิบายการเคลื่อนไหวของสินเชื่อดีได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า การลดอัตราดอกเบี้ยจะไม่มีผลดีต่อการขยาย สินเชื่อ เนื่องจากการศึกษายังพบอีกว่า การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม จะเริ่มส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสินเชื่อดีในช่วง 3-4 ไตรมาสถัดไป ดังนั้น ในช่วงไตรมาส 2/2550 ที่จีดีพีคาดว่าจะยังคงชะลอตัว โดยเติบโตไม่เกิน 4% เทียบกับตัวเลขประมาณการของไตรมาส 1/2550 ที่ 3% นั้น คงจะส่งผลให้การขยายสินเชื่อดีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ ชะลอตัว และอาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงไตรมาส 1/2550 ที่ขยายตัว 4.80%

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 การขยายสินเชื่อคงจะมีแนวโน้มดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ตามทิศทางเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น จากความคาดหวังถึงผลดีจากปัจจัยบวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ จากภาครัฐ รวมทั้ง สถานการณ์การเมืองที่น่าจะลดความตึงเครียดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเหตุการณ์หลังคำพิพากษาเรื่องคดียุบพรรคการเมืองใหญ่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ผ่านพ้นไปด้วยความราบรื่น ตลอดจนการลงประชามติของร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งใหญ่ ประสบความสำเร็จด้วยดีตามกำหนดการภายในปี 2550 นี้

นอกจากนี้ การเติบโตของสินเชื่อในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ก็น่าจะอยู่ในกรอบที่จำกัด เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาจเริ่มส่งผลบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วง 3-4 ไตรมาสถัดไป หรือปลายปี 2550 นี้เป็นอย่างเร็ว นอกจากนี้ เพื่อให้สามารถขยายสินเชื่อได้ตามเป้าหมายในภาวะที่ความต้องการสินเชื่อใหม่จากภาคเอกชนชะลอตัวลงนั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยต่างปรับกลยุทธ์การแข่งขันมาเน้นการแย่งชิงลูกค้าจากธนาคารอื่นๆ มากขึ้นทั้งลูกค้าผู้ประกอบการและลูกค้ารายย่อย ผ่านวิธีการต่างๆ อาทิ การเสนอเงื่อนไขการ Refinance ที่จูงใจ ซึ่งรูปแบบการแข่งขันดังกล่าว แม้จะทำให้ยอดสินเชื่อของธนาคารนั้นๆ เพิ่มขึ้น แต่ก็ทำให้สินเชื่อของธนาคารคู่แข่งลดลง จึงไม่มีผลในการเพิ่มสินเชื่อของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในทางปฏิบัติ

สินเชื่อทั้งปีโต 4-5.5%

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สินเชื่อดี ณ สิ้นปี 2550 จะขยายตัวประมาณ 4.0-5.5% เทียบกับ 4.8% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2550 และ 6.69% ณ สิ้นปี 2549 ทั้งนี้ คาดว่ามีโอกาสสูงที่ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งอาจไม่สามารถขยายสินเชื่อได้ตามเป้าหมาย (หากยึดตามเป้าหมายการขยายสินเชื่อที่แต่ละธนาคารประกาศออกมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2549 ต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี และคำนวณออกมาบนฐานของสินเชื่อดีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น จะได้ว่าจนถึงสิ้นปี 2550 สินเชื่อดีจะต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10%) หลังจากที่การขยายสินเชื่อในไตรมาส 1/2550 ทำได้เพียง 2.2% ของเป้าหมายการเติบโตทั้งปีเท่านั้น ทำให้น่าจะเริ่มมีการทยอยปรับลดเป้าหมายการขยายสินเชื่อลงในช่วงกลางปีนี้

และสินเชื่อที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2550 น่าจะยังคงเป็นสินเชื่อรายย่อยมากกว่าสินเชื่อภาคธุรกิจ โดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยคาดว่าคงจะขยายตัวชัดเจนขึ้น และได้เปรียบสินเชื่อประเภทอื่นๆ หากรัฐบาลมีการออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ตามกระแสข่าวในระยะที่ผ่านมา รวมทั้งปัจจัยบวกจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่น่าจะปรากฏชัดในช่วงท้ายปี ขณะที่ สินเชื่อบุคคลคงจะเติบโตขึ้น หลังจากที่ชะลอลงในช่วงไตรมาสแรกของปี เพราะปัจจัยด้านฤดูกาล ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากการ Refinance สินเชื่อบัตรเครดิตบางส่วนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับเพิ่มเพดานการจ่ายชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 5% มาเป็น 10% เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พร้อมกับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นมาที่ 20% ต่อปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้บางกลุ่มได้

คาดแบงก์เร่งขายNPLยอดหนี้เน่าฮวบ

ด้านความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้คาดว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แต่เอ็นพีแอลคงจะปรับตัวลดลงจากการขายหนี้เป็นหลัก โดยถึงแม้ทิศทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในช่วงที่เหลือของปี จะยังคงเป็นปัจจัยลบต่อปัญหาคุณภาพหนี้ ดังที่สะท้อนผ่านการปรับขึ้นของเอ็นพีแอล และเอ็นพีแอล สุทธิในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ แต่ก็คาด ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะมีสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ลดลงในช่วงที่เหลือของปี จากการขายหนี้ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อลดภาระการกันสำรองในระยะต่อไป รวมทั้งจากการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งปัจจัยต่างๆดังกล่าว คาดว่าจะทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลดังกล่าวลดลงมาที่ประมาณ 5-7% ณ สิ้นปี 2550 จากระดับ 8.17% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2550 และ 8.07% ณ สิ้นปี 2549

ขณะที่เอ็นพีแอลสุทธิจากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Net NPLs)นั้น คงจะได้รับอานิสงส์อีกประการหนึ่ง จากการที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะต้องทำสำรองเพิ่มเติมเพื่อให้ครบตามเกณฑ์การกันสำรองของธปท.ที่อิงกับมาตรฐาน IAS39 ดังนั้น จึงน่าจะทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลสุทธิต่อสินเชื่อ รวมปรับตัวลดลงเข้าหาเป้าหมายของ ธปท.ที่ 2% ได้ภายในสิ้นปี 2550 นี้ จากระดับ 4.60% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2550 และ 4.52% ณ สิ้นปี 2549


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.