Laurie Baker มัธยัสถ์สถาปัตย์

โดย ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

Laurie Baker สถาปนิกชาวอังกฤษเดินทางมาอินเดียด้วยความบังเอิญ เมื่อปี 1944 ด้วยคำชวนของมหาตมะ คานธี สถาปนิกหนุ่มกลับมาอินเดียในปีถัดมา และเริ่มทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนยากคนจน ตลอดหกทศวรรษที่ผ่านมา เบเกอร์สร้างบ้านให้กับคนทุกชั้นชน นับจากชาวประมงยากจนจนถึงผู้ว่าการรัฐ จากสถานพักฟื้นผู้ป่วยโรคเรื้อน โรงพยาบาลจิตเวช แฟลตการเคหะ โบสถ์ หน่วยงานราชการ ฯลฯ แต่สิ่งสำคัญในงานสถาปัตยกรรมของเบเกอร์ มิใช่จำนวนผลงานหรือความโออ่าของโครงสร้าง หากเป็นเนื้อในของงานที่ปลูกสร้างกระแสและวิสัยทัศน์ใหม่ให้กับวงการสถาปัตยกรรมของอินเดีย

ลอรี่ วิลเฟรด เบเกอร์ เกิดเมื่อปี 1917 ในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ จบปริญญาตรีสาขาสถาปัตยกรรมจาก Birmingham School of Architecture หลังจบเขาทำงานได้พักเดียว สงครามโลกครั้งที่สองก็ปะทุขึ้น สถาปนิกหนุ่มตัดสินใจลาออกจาก The Royal Institute of British Architects ไปเป็นอาสาสมัครประจำหน่วยพยาบาลฉุกเฉินของกลุ่มเควกเกอร์ เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงครามในจีน หลังทำงานในจีน 3 ปี เบเกอร์ล้มป่วยจึงถูกส่งตัว กลับอังกฤษ

ระหว่างเดินทางกลับ เบเกอร์ต้องแวะต่อเรือกลไฟที่มุมไบ (บอมเบย์) เมืองท่าใหญ่ของอินเดีย และต้องรอเรืออยู่ 3 เดือน ในช่วงนั้นเองเขามีโอกาสพบมหาตมะ คานธี คานธีซึ่งต้องใจรองเท้าที่ประดิษฐ์จากผ้าเก่าของเบเกอร์ และเห็นแววสร้างสรรค์ในความสมถะของสถาปนิกหนุ่ม ชวนให้เขากลับมาใช้ความรู้ความสามารถทำงานช่วยเหลือคนยากคนจนในอินเดีย

ปี 1945 เบเกอร์กลับมาอินเดียและทำงานเป็นอาสาสมัครกับมิชชันนารีกลุ่มต่างๆ จนพบรักและแต่งงานกับ ดร.อลิซาเบธ หมอชาวอินเดียจากรัฐเคราลา หลังแต่งงานทั้งสองไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่หมู่บ้านเล็กๆ บนภูเขาในแคว้นหิมาชัลประเทศ เมื่อพบว่าหมู่บ้านแถบนั้นนอกจากไม่มีถนน น้ำ ไฟ ยังขาดแคลนแพทย์และสถานีอนามัย ทั้งสองจึงตัดสินใจเปิดสถานีอนามัยเล็กๆ เพื่อรักษาชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วย โดยภรรยาเป็น หมอรักษา ส่วนเบเกอร์ทำหน้าที่ทุกอย่างที่เหลือนับแต่พยาบาลผู้ช่วย คนวางยาสลบ เจ้าหน้าที่แล็บ จนถึงภารโรงและการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ครั้งนั้นก็กินเวลาถึง 15 ปี

แน่นอนว่า คนที่ออกแบบและลงมือสร้างสถานีอนามัยแห่งนั้นคือเบเกอร์ ต่อมาเมื่อสถานีอนามัยขยายตัวขึ้นเป็นโรงพยาบาล ขนาดย่อม ทั้งมีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยงานมากขึ้น เบเกอร์จึงวางมือและหันมาดูแลงานก่อสร้างที่จำเป็นอื่นๆ ในหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น โรงเรียน ห้องสมุด บ้านชาวบ้าน ฯลฯ บางครั้งเบเกอร์ยังลงเขามาออกแบบและคุมงานก่อสร้างตามคำขอของหน่วยงานสาธารณประโยชน์ต่างๆ

เมื่อเห็นว่าโรงพยาบาลดังกล่าวเติบโตด้วยดี เบเกอร์และภรรยาตัดสินใจกลับไปตั้งรกรากที่ Thiruvananthapuram รัฐเคราลาทางตอนใต้ของอินเดีย โดยเลือกปลูกบ้านและโรงพยาบาลขนาดย่อมที่หมู่บ้านบนเขาห่างไกลความเจริญ ขณะเดียวกันเบเกอร์ทำงานเป็นทั้งสถาปนิกและที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และบริษัทสถาปนิกเอกชนหลายแห่ง ซึ่งในกรณีหลังนี้เบเกอร์มีส่วนทำให้แวดวงสถาปัตย์หันมาสนใจเรื่องพลังงานทางเลือก และการออกแบบที่ช่วยลดปริมาณการใช้พลังงาน

อะไรคืองานสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า "สไตล์เบเกอร์" คนทั่วไปอาจนิยามว่าเป็นงานที่ใช้อิฐดิบ ผนังเปลือย โครงสร้างเน้นเส้นสายโค้งเว้า หลังคามุงกระเบื้อง ใช้งานก่ออิฐเป็นตัวเปิดช่องลม สร้างพื้นผิวและลวดลาย แต่เบเกอร์เองกลับปฏิเสธว่า งานของเขาไม่มีคำว่าสไตล์เบเกอร์ เพราะบ้านหรือ อาคารที่เขาสร้างในแต่ละท้องถิ่นไม่เคยเหมือนกัน ทั้งกล่าวอยู่บ่อยครั้งว่า "บ้านแต่ละหลังควรบ่งบอกถึงตัวตนเจ้าของ ไม่ใช่เป็นคำประกาศหรือลายเซ็นของสถาปนิก"

เมื่อมองเนื้องานของเบเกอร์จะพบว่า งานทุกชิ้นเผยถึงปรัชญาการออกแบบ 3 ประการที่เชื่อมโยงกันคือ มัธยัสถ์ ไม่สูญเปล่า และงามอย่างกลมกลืน

ในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับสุนดาร์ รามานาไทเยอร์ ตีพิมพ์ในนิตยสารฟรอนท์ไลน์ของอินเดีย เบเกอร์กล่าวว่า "หากถามว่า สถาปัตยกรรมของผมหน้าตาเป็นอย่างไร คำตอบ คือละม้ายกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นในแต่ละที่ มีโครงสร้าง และรับอิทธิพลจากวัสดุ ภูมิปัญญาของ ช่างพื้นบ้าน ภูมิอากาศ และวิถีชีวิตผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ"

ในความเห็นของเบเกอร์ ภูมิปัญญา พื้นบ้านทั้งการเลือกใช้วัสดุและวิธีการก่อสร้าง เป็นผลจากการลองผิดลองถูกมานับร้อยนับพันปี เพื่อรับมือกับกาลอากาศในที่นั้นๆ เขาจึงสนใจศึกษาเทคนิควิธีของช่างพื้นบ้านในที่ต่างๆ และนำมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบของตน

เบเกอร์ชอบใช้วัสดุพื้นถิ่นอย่างดิน อิฐดิบ (อัดบล็อกจากดิน ตากแห้งโดยไม่เผา) ไม้ หิน กระเบื้องดินเผา มากกว่าวัสดุก่อสร้าง จากโรงงาน อย่างซีเมนต์บล็อก คอนกรีต เหล็ก กระจก อะลูมิเนียม แผ่นสังกะสี ฯลฯ ด้วยเหตุผลที่ว่าวัสดุพื้นถิ่นย่อมเหมาะกับภูมิประเทศและภูมิอากาศของที่นั้นๆ หาได้ง่าย จึงช่วยประหยัดทั้งทางตรงและทางอ้อม

"วัสดุจากโรงงานพวกนั้นนอกจากจะมีค่าขนส่ง ยังใช้พลังงานจำนวนมากในการผลิต อย่างซีเมนต์ราคาถูกที่ใช้กันอยู่ในอินเดีย ล้วนแต่นำเข้าทั้งนั้น ส่วนอิฐเผาก็ต้องมีการตัดต้นไม้มาทำฟืน"

เบเกอร์เคยให้ภาพในเรื่องนี้ว่า บ้านคนชั้นกลางขนาดย่อมที่ใช้อิฐเผา 1 หลัง หมายถึงต้นไม้ใหญ่ถูกตัดมาทำฟืน 3 ต้น พร้อมกับปรารภไว้เมื่อปี 1992 ว่า "หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่เราต้องเผชิญในช่วง 50 ปีข้างหน้า คือปัญหาพลังงาน ขณะที่ภารกิจสำคัญ ของอินเดียคือการสร้างบ้านให้คนไร้บ้าน 25 ล้านครัวเรือน ถ้าเราสร้างบ้านเหล่านี้ด้วยอิฐเผา คอนกรีต และเหล็ก เราจะยิ่งเพิ่มปัญหา ให้กับตัวเอง แต่ถ้าหันมาใช้เทคนิคเก่าแก่อย่างบ้านดินและอิฐดิบ เราจะแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยได้โดยไม่ซ้ำเติมปัญหาด้านพลังงาน"

นอกจากนี้เบเกอร์ยังชอบให้วัสดุต่างชนิดได้อวดเนื้อตัวและมีส่วนสร้างเสน่ห์ให้กับบ้านแต่ละมุม โดยไม่เสริมแต่งสิ่งที่เกินจำเป็น ด้วยมองว่าอิฐดิบทำเองพวกนี้แต่ละก้อนมีบุคลิกเฉพาะเหมือนหน้าคน ทำไมถึงจะฉาบปูนปิดแล้วทาสีทับให้กลายเป็นผนังสีเดียวดูน่าเบื่อ หนำซ้ำบางบ้านฉาบปูนแล้วยังสู้อุตส่าห์ระบายสีหรือติดวอลล์เปเปอร์ให้เหมือนผนังอิฐหรือหินอ่อน ซึ่งเบเกอร์มองว่าเป็นเรื่องตลกที่ฟุ่มเฟือยมาก

เบเกอร์เป็นสถาปนิกไม่มีออฟฟิศ ไม่ใช้ ผู้รับเหมาก่อสร้าง เขารังวัดที่ ร่างแบบและคุมงานก่อสร้างด้วยตัวเอง ชอบทำงานกับทีมช่างท้องถิ่นที่รู้มือรู้ใจกัน

งานออกแบบของเขามักใช้ประโยชน์สูงสุดจากธรรมชาติรอบตัว เช่น การสร้างแท็งก์เก็บน้ำไว้ทางทิศใต้ของบ้านเพื่อรับแดดบ่าย ช่วยให้มีน้ำอุ่นใช้ในหน้าหนาว ในกรณีของอาคารศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาของเคราลา เบเกอร์ออกแบบผนังด้านติดกับสระน้ำให้มีช่องระบายอากาศตลอดทั้งแนว โดยใช้หลักการอากาศเย็นหมุนเวียนเข้าแทนที่ อากาศร้อน ทำให้ตัวอาคารเย็นตลอดทั้งปี โดยไม่สิ้นเปลืองพลังงาน

ขณะเดียวกันเบเกอร์ให้ความสำคัญกับความกลมกลืน ทั้งในแง่ไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย สถาปัตยกรรมเดิมในชุมชน และธรรมชาติแวดล้อม บ่อยครั้งแทนที่จะตัดต้นไม้ทิ้ง เขาออกแบบให้อาคารและต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

งานสถาปัตยกรรมของเบเกอร์เป็นแรงบันดาลใจให้กับสถาปนิกอินเดียรุ่นใหม่จำนวนมาก เช่นที่ จี.ชังคาร์ สถาปนิกหัวก้าวหน้าของเคราล่า กล่าวถึงเบเกอร์ว่า "ในมหาวิทยาลัยเราเรียนสถาปัตยกรรมทุกสไตล์ จากวิกตอเรียน เอ็ดเวอร์เดียน ไบเซนไทน์ แต่เราไม่เคยถูกสอนให้สร้างบ้านสำหรับครอบครัวสมาชิกห้าคน ในงบ 50,000 รูปี ซึ่งนี่ต่างหากคือโลกแห่งความเป็นจริงในอินเดีย แต่โชคดีที่เราโตมากับสถาปัตยกรรมของเบเกอร์ และผลงานของเขาเป็นเสมือนห้องเรียนของเรา"

ตลอดชีวิตการทำงาน เบเกอร์ได้รับ รางวัลทรงเกียรติมากมาย เช่น รางวัล Padma Shri จากรัฐบาลอินเดีย UNO Habitat Award and Roll of Honour ประจำปี 1992 World Habitat Award ประจำปี 1993 ปริญญาดุษฎี บัณฑิตกิตติมาศักดิ์ จาก University of Central England ปี 1995 เป็นต้น สำหรับผู้ที่สนใจเทคนิคการสร้างบ้านดิน หนังสือชื่อ Mud ของเบเกอร์ ถือเป็นคู่มือชั้นเลิศ

ลอรี่ เบเกอร์ จากโลกไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ที่บ้านชื่อ "เฮ็มเล็ต" ในตริวันดัม ด้วยวัย 90 ปี

สำหรับคนที่คิดว่ารวยล้นฟ้า พร้อมจะถลุงเงินหลายสิบล้านเพื่อบ้านอลังการสักหลัง ขอยกคำกล่าวของสถาปนิกของคนยากมาฝากเป็นสติว่า

"การใช้วัสดุและทรัพยากรธรรมชาติ อย่างฟุ่มเฟือย สูญเปล่าและเกินจำเป็น ถือเป็นการตบหน้าคนอีกหลายร้อยล้านในโลก ที่ไม่มีหลังคาคุ้มฝนทั้งไม่มีหวังจะมีบ้านเป็นของตัวเอง"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.