|

รัฐธรรมนูญ
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ญี่ปุ่นกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติ
เนื่องเพราะเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐสภาญี่ปุ่นได้ผ่านมติเห็นชอบให้มีการร่างพระราชบัญญัติที่จะนำไปสู่การทำประชามติสำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบทั้งในระดับโครงสร้างและรายละเอียด ต่อบทบาทและทิศทางในแนวนโยบายสาธารณะของญี่ปุ่นที่น่าพิจารณาอย่างยิ่ง
ขณะที่มติของรัฐสภาญี่ปุ่น ซึ่งเปิดทางให้มีการร่างกฎหมายเพื่อขอประชามติจากสาธารณชนก่อนจะนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในอนาคต ส่งผลให้คะแนนนิยมของรัฐบาลภายใต้การนำของ Shinzo Abe ขยับตัวกระเตื้องสูงขึ้นทันทีด้วย
รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วย อารัมภบท (preamble) และตัวบทกฎหมาย อีก 103 มาตรา (articles) โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ทั้งสิ้น 11 หมวด (chapters) มิเพียง แต่ไม่เคยถูกฉีก หรือล้มล้าง หากยังมิเคยแม้จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงถ้อยความใดๆ เลย เป็นเวลาต่อเนื่องมานานกว่า 60 ปีแล้ว
กฎหมายสูงสุดฉบับดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากผลของความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องตกอยู่ในอาณัติการปกครองของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied Occupation) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ
แม้ว่า นายพล Douglas MacArthur ในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดกองกำลังสัมพันธมิตร (Supreme Commander for the Allied Powers : SCAP) จะพยายามที่จะกล่าวถึงการสร้างระบบการเมืองใหม่ของญี่ปุ่น ที่เกิดจากฐานคติของผู้นำทางการเมืองของญี่ปุ่นเอง
แต่เมื่อ Shidehara Kijuro นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามแต่งตั้ง Matsumoto Joji เป็นประธานคณะทำงานเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในช่วงปลายปี 1945 และนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกสู่สาธารณชน ในเดือนกุมภาพันธ์ 1946 กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่อนุรักษนิยม
ขณะเดียวกัน นายพล Douglas MacArthur ปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการชุดของ Matsumoto Joji อย่างสิ้นเชิง และนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อเจ้าหน้าที่ ฝ่ายญี่ปุ่นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1946 ก่อนที่เปิดเผยออกสู่การรับรู้ของสาธารณชนเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 1946
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่นายพล Douglas MacArthur นำเสนอต่อญี่ปุ่นนี้มี Milo Rowell ซึ่งดำรงตำแหน่ง Chief of Judicial Affairs และ Courtney Whitney ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับ Douglas MacArthur เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ขึ้น
ห้วงเวลาที่คาบเกี่ยวและใกล้เคียงกันมากระหว่างการปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการที่นำโดย Matsumoto Joji และการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยกร่าง โดย Milo Rowell และ Courtney Whitney เป็นกรณีที่ปฏิเสธได้ยากว่า Douglas MacArthur มิได้เตรียมการในเรื่องดังกล่าวไว้ก่อน
แต่นั่นอาจเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะฝ่ายที่ประสบชัยชนะนอกจากจะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์แล้ว ยังสามารถบีบบังคับ ให้ฝ่ายผู้ปราชัยต้องดำเนินตามอีกด้วย
กระนั้นก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกลับมิได้มุ่งหมายให้ระบอบการเมืองญี่ปุ่นพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับพัฒนาการทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา ที่อยู่ในระบอบ ประธานาธิบดี
หากแต่ฐานความคิดในการยกร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ผูกพันกับความเชื่อที่ว่าขบวนการเสรีนิยมของญี่ปุ่นกำลังเติบโตขึ้น ซึ่ง MacArthur และผู้ยกร่างทั้งสองต่างประเมินรูปแบบการปกครองแบบรัฐสภาของอังกฤษ ในฐานะทางเลือกที่เหมาะสมกว่า โดย เฉพาะเมื่อเทียบกับรูปแบบอำนาจนิยมที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับเมจิ
ประเด็นแหลมคมในร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว นอกจากจะเกี่ยวเนื่องกับสถานะ ขององค์พระจักรพรรดิ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1-8 (Chapter I : The Emperor, Article 1-8) ซึ่งทำให้พระจักรพรรดิถูกลดบทบาทลงเหลือเพียงสัญลักษณ์และเอกภาพของประชาชาติญี่ปุ่น ซึ่งมีบทบาทในเชิงพิธีกรรม แต่มิได้ครอบครองอำนาจอธิปไตยแล้ว
มาตรา 9 (Chapter II : Renunciation of War, Article 9) เป็นมาตราที่ทำให้รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับนี้ได้รับการกล่าวถึงในมิติหลากหลายมากที่สุด และเป็นชนวนที่นำไปสู่ความพยายามที่จะแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตลอดมา
โดยเฉพาะเมื่อข้อเท็จจริงของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีลักษณะเป็นของแปลกปลอมจากภาย นอกที่ไม่ได้เกิดจาก ความริเริ่มของญี่ปุ่นเอง
สาระสำคัญของ มาตรา 9 ระบุว่าญี่ปุ่น จะสละสิทธิในการทำสงครามและจะไม่มีกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศอีกต่อไป
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแก้ไขบทบัญญัติในมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น อีกประการหนึ่งอยู่ที่กรณีดังกล่าวมิได้ผูกพันอยู่เฉพาะกระแสความ เปลี่ยนแปลงภายในประเทศของญี่ปุ่นแต่เพียง ลำพังเท่านั้น
หากในความเป็นจริง กรณีดังกล่าวยังมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับสถานการณ์ความเป็นไปของระบบการเมืองในระดับนานาชาติด้วย
เงื่อนปมของมาตรา 9 ที่มุ่งหมายลดทอนศักยภาพของญี่ปุ่น ในการสั่งสมกำลัง ทางการทหาร กลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความละล้าละลังในสมการแห่งอำนาจบนเวที การเมืองโลกในเวลาต่อมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกองทัพปลดแอกแห่งประชาชนจีน (Chinese People's Liberation Army : PLA) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีชัยชนะในสงคราม กลางเมืองเหนือกองกำลังฝ่ายขวาของพวก Kuomintang และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 1949
ผลพวงของมาตรา 9 ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงในประเทศจีน ทำให้สหรัฐอเมริกาตกอยู่ในภาวะ ที่ปราศจากพันธมิตรทางการทหารในการปิดล้อมการแพร่ขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ในช่วงต้นของสงครามเย็นนี้อย่างสิ้นเชิง
เมื่อสงครามเกาหลีอุบัติขึ้นระหว่างช่วงปี 1950-1953 (Korean War 1950-1953) ส่งผลให้กองกำลังของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำหน้าที่รักษาความสงบอยู่ในญี่ปุ่น ต้องถอนกำลังจากญี่ปุ่นเข้าสู่สมรภูมิในคาบสมุทรเกาหลี และปล่อยให้ญี่ปุ่นเผชิญหน้ากับความ เสี่ยงที่จะเกิดเหตุรุนแรงภายในประเทศโดยลำพัง
กรณีดังกล่าวนำไปสู่การจัดตั้งกองกำลังตำรวจสำรองแห่งชาติ (National Police Reserve : NPR) เพื่อเป็นกองกำลังสำหรับรักษาความสงบและมั่นคงภายในของญี่ปุ่นในเวลาต่อมา โดยอาศัยยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก
การเกิดขึ้นของ NPR เมื่อปี 1950 กลายเป็นกรณีที่หมิ่นเหม่ต่อข้อบัญญัติในมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญไม่น้อย โดย Shigesaburo Suzuki นักการเมืองแนวสังคม นิยมของญี่ปุ่นได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ประกาศว่าการจัดตั้ง NPR เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
แม้ว่าความพยายามของนักการเมืองแนวสังคมนิยมจะไม่เป็นผล และ NPR จะได้รับการพัฒนาต่อมาเป็นลำดับ แต่กรณีดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นนัยสำคัญของมาตรา 9 ในบริบทการเมืองของญี่ปุ่นไม่น้อย
ยุทโธปกรณ์แต่ละชิ้นถูกเรียกขานในชื่อใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงลักษณะทางการทหาร และให้มีลักษณะเป็นพลเรือนมากขึ้น ทั้งการใช้คำว่า ยานยนต์พิเศษ (special vehicle) แทนคำว่ารถถัง (tank) รวมถึงการใช้คำว่ากองกำลังตำรวจแทนคำว่ากองทัพด้วย
นอกจากนี้ผลพวงของสงครามเกาหลี ซึ่งทำให้เกิดกองกำลังติดอาวุธในญี่ปุ่น ในด้านหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของสหรัฐอเมริกา ที่จะผลักให้ญี่ปุ่นมีบทบาทในการขับเคี่ยวกับภัยคอมมิวนิสต์มากขึ้น
ก่อนที่จะนำไปสู่สนธิสัญญาความมั่นคง (Security Treaty : 1951) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งเปิดโอกาสให้กองทัพสหรัฐฯ สามารถคงกองกำลังไว้ในญี่ปุ่นได้ แม้ญี่ปุ่นจะได้รับคืนเอกราชอธิปไตย แล้วก็ตาม
กรณีดังกล่าวส่งผลให้เกิดข้อถกแถลงในสังคมญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง โดยฝ่ายต่อต้านสงครามมองว่าการเข้ามาตั้งฐานทัพของสหรัฐฯ กำลังนำภัยมาสู่ญี่ปุ่นโดยไม่จำเป็น
ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมประเมินกรณีดังกล่าวว่าเป็นผลมาจากข้อบัญญัติในมาตรา 9 ที่ทำให้ประเทศต้องอยู่ในภาวะไร้เกียรติภูมิและต้องพึ่งพากองกำลังจากภายนอกในการปกป้องดินแดน
ความพยายามที่จะทำให้รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น มีความเป็นญี่ปุ่นมากขึ้น เริ่มขึ้นทันทีหลังจากที่ญี่ปุ่นได้รับอธิปไตยคืนในปี 1952 โดยนักการเมืองสายอนุรักษ์และกลุ่มการเมือง ชาตินิยมพยายามที่จะรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างหนักหน่วง
แต่ด้วยเหตุที่เงื่อนไขในมาตรา 96 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้การแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกินกว่า 2 ใน 3 จากทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา รวมถึงการนำเสนอร่างฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สาธารณชนลงคะแนนเสียงแสดงประชามติ
ข้อกำหนดดังกล่าวกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐธรรมนูญญี่ปุ่นไม่เคยถูกแก้ไขเลย
กระนั้นก็ดี ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของ NPR ได้รับการยกระดับขึ้นอย่างช้าๆ ภายใต้เหตุผลที่ว่า กองกำลังดังกล่าวมิได้เป็นไปเพื่อการรุกราน หากแต่ดำรง อยู่เพื่อป้องกันประเทศ ซึ่งย่อมเป็นสิทธิโดยชอบที่จะกระทำได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
โดยในปี 1952 หน่วยงานด้านความมั่นคงภายใต้ชื่อ National Safety Agency : NSA ได้รับการสถาปนาขึ้นเพื่อกำกับดูแลกิจการของ NPR
การตีความข้อบัญญัติในมาตรา 9 ในลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงอยู่ของ กองกำลังตำรวจสำรอง NPR และการจัดตั้ง National Safety Agency : NSA นำไป สู่การออกกฎหมายว่าด้วยกองกำลังป้องกันตนเอง (Self-Defense Forces Law) ในปี 1954
ผลของกฎหมาย ดังกล่าวทำให้ NSA ได้รับการยกระดับเป็น Japan Defense Agency และกองกำลังตำรวจสำรอง หรือ NPR เปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังป้องกันตัวเองหรือ Japan Self-Defense Forces : JSDF ในเวลาต่อมา
ท่าทีของนักการเมืองฝ่ายสังคมนิยมจำนวนไม่น้อย ยังคงยืนกรานว่ากองกำลังป้องกันตนเองนี้เป็นกรณีที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน และยึดท่าทีนี้เป็นแนวทางในการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงการปรับเปลี่ยนท่าทีในช่วงทศวรรษ 1980 ไปสู่การระบุว่า "ถูกต้องตาม กฎหมาย แต่ขัดรัฐธรรมนูญ"
ท่าทีของพรรคการเมืองแนวสังคมนิยม และพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ในลักษณะดังกล่าว ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นไม่ประสบความสำเร็จ แม้จะเป็นกรณีที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษก็ตาม
ประเด็นที่น่าสนใจอย่างมากในกรณีของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นอยู่ที่ แม้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะมีจุดกำเนิดที่ไม่น่าอภิรมย์นักสำหรับชาวญี่ปุ่น แต่กลับไม่มีผู้ใดคิดเหยียบย่ำทำลายด้วยหนทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเลย
มูลเหตุสำคัญที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ในช่วงที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จอยู่ที่การมีเข็มมุ่งอยู่ที่บทบัญญัติในมาตรา 9 อย่างจดจ่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา (ทศวรรษ 1980 และ 1990)
ขณะที่กองกำลังป้องกันตนเอง JSDF ทวีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น ด้วยการเข้าร่วมในภารกิจรักษาสันติภาพร่วมกับกองกำลังของสหประชาชาติ ในหลายพื้นที่ ภายใต้กฎหมาย UN Peace-keeping Cooperation Law ในปี 1992
แต่กรณีดังกล่าวก็จำกัดอยู่เฉพาะกรณีเกี่ยวเนื่องด้านมนุษยธรรมและการแพทย์เท่านั้น
ขีดความสามารถของ JSDF กลายเป็นประเด็นคำถามในสังคมญี่ปุ่น หลังจากที่เกาหลีเหนือแสดงบทบาทเป็นภัยคุกคาม ด้วยการทดลองยิงขีปนาวุธ Taepodong-1 เหนือน่านฟ้าญี่ปุ่น ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดำเนินไปท่ามกลางความตึงเครียด
กรณีดังกล่าวส่งผลให้ญี่ปุ่นเริ่มให้ความสนใจกับการวางระบบขีปนาวุธป้องกันภัย มากยิ่งขึ้นและนำไปสู่การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ในการร่วมมือพัฒนาระบบขีปนาวุธป้องกันภัยในเวลาต่อมา
จุดหักเหสำคัญในความเป็นไปของ JSDF เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ Junichiro Koizumi ตัดสินใจส่งกองกำลัง JSDF เข้าสู่ประเทศอิรัก ในปี 2004 ตามคำร้องขอของสหรัฐอเมริกา
นับเป็นครั้งแรกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองกำลังจากญี่ปุ่นเข้าร่วมในภารกิจที่ไม่ได้เป็นไปในนามของกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ซึ่งกรณีดังกล่าวก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
Junichiro Koizumi ตอบสนองต่อกรณีดังกล่าวด้วยการนำเสนอเค้าโครงสำหรับ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคม 2005 ซึ่งย่อมต้องมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับบท บัญญัติในมาตรา 9 อย่างแน่นอน
หากแต่ความเคลื่อนไหวในการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าว กลับให้ภาพที่แตกต่างออกไปจากความพยายามของผู้นำทางการเมืองในอดีต เพราะร่างข้อเสนอดังกล่าวเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับการปฏิรูปการเมืองและการบริหารประเทศ ที่ Koizumi นำเสนอไว้ก่อนหน้าด้วย
ร่างข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ Koizumi นำเสนอ กล่าวถึงการแก้ไขข้อความในมาตรา 9 วรรค 2 โดยระบุให้กองกำลังป้องกันตนเอง SDF สามารถเข้าร่วม ในภารกิจทางการทหารระดับนานาชาติได้
ภายใต้เงื่อนไขของคำจำกัดความ เกี่ยวกับความมั่นคงของญี่ปุ่นที่กว้างขวางออกไปจากเดิม
ขณะเดียวกัน Koizumi เสนอให้มีการปรับแก้ข้อความในมาตรา 92 และ 95 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการบริหารราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับรัฐบาลกลางด้วย
นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการแก้ไขบทบัญญัติในมาตรา 96 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่ระบุว่าจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3 มาสู่การผ่านความเห็นชอบด้วยการได้รับเสียงข้างมาก
แต่การลงคะแนนเสียงประชามติ เพื่อให้ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนทั้งประเทศให้คงไว้ดังเดิม
ข้อเสนอของ Koizumi ในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จะแสดงความมุ่งหมายที่จะพัฒนาขีดความสามารถและเกียรติภูมิของ JSDF ให้มีความทัดเทียมกับกองทัพของประเทศต่างๆ ในระดับสากล
หากยังเน้นย้ำให้เห็น "ธง" ในการปฏิรูประบบราชการที่เขา "ถือชู" มาตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลของ Koizumi ยังได้ผ่านความเห็นชอบที่จะยกระดับ Japan Defense Agency มาสู่การเป็นกระทรวงกลาโหม (Defense Ministry) ตามแบบสากลนิยม เมื่อเดือนมิถุนายน 2006
ก่อนที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งกระทรวงกลาโหม จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในเดือนธันวาคม 2006 และมีผลในทางปฏิบัติเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2007 ที่ผ่านมา
ภาพสะท้อนจากกรณีดังกล่าวชี้ให้เห็น ถึงกระบวนการทางสังคมที่เปิดโอกาสให้เกิดข้อคิดเห็นร่วม และการพัฒนาที่ดำเนินควบคู่ กับการแสวงหาการยอมรับในแต่ละขั้นตอน
แม้ Koizumi จะพ้นจากวาระการดำรง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นไปแล้ว โดยมี Shinzo Abe เข้ารับตำแหน่งแทนตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2006 แต่ดูเหมือนว่าการปฏิรูปทางการเมืองที่ Koizumi ได้ประกาศและได้เริ่มต้นไว้จะเป็นกรณีที่ไม่อาจละเลยได้
คะแนนความนิยมของรัฐบาล Shinzo Abe ซึ่งตกต่ำมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน เริ่มปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับร้อยละ 49.6 หลังจากที่รัฐสภามีมติผ่านร่างกฎหมายเพื่อนำไปสู่การเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติในอนาคต
ควบคู่กับการเสนอกฎหมายเพื่อการปฏิรูประบบการศึกษาอีก 3 ฉบับ ซึ่งรัฐบาลของ Abe ถือเป็นนโยบายสำคัญ
แม้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น จะต้องถกแถลงร่างข้อเสนอของทั้งฝ่าย รัฐบาลและพรรคการเมืองฝ่ายค้านก่อนจะหา ข้อยุติในรัฐสภา เพื่อให้ได้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่จะนำเสนอขอประชามติ และกว่าที่รัฐธรรมนูญใหม่ที่ได้แก้ไขแล้ว จะมีผลบังคับใช้ต้องระยะเวลายานนานอีกกว่า 3 ปี
แต่สำหรับสังคมญี่ปุ่น พัฒนาการไม่ได้หมายถึงการผุดงอกออกมาอย่างไร้วิญญาณ
หากเป็นกระบวนการของการสั่งสมข้อมูลและร่วมพิจารณาอย่างมีเหตุผล ก่อนนำ ไปสู่บทสรุปสำหรับการสร้างกติกาในฐานะ กฎหมายสูงสุดที่ทุกคนพร้อมจะปฏิบัติตาม
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|