from Hirosaki to Kakunodate

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ซากุระกลีบสุดท้ายในศาลเจ้ายาสุคุนิอันศักดิ์สิทธิ์ได้ร่วงหล่นอำลาต้นฤดูใบไม้ผลิของเมืองหลวงไปราวหนึ่งเดือนแล้ว ขณะเดียวกันซากุระในอีกฟากหนึ่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น เพิ่งจะได้เวลาแย้มกลีบรับอากาศอบอุ่นและอาคันตุกะร่วมล้านคนในเทศกาลซากุระแห่ง Tohoku

ธรรมเนียมการชมดอกซากุระที่เรียกขานในภาษาญี่ปุ่นว่า Hanami นั้น โดยผิวเผินอาจดูละม้ายคล้ายกันไม่ว่าจะชมซากุระที่ Kyoto, Tokyo หรือแม้กระทั่งที่ Washington ซึ่งล้วนแต่มีความงามทางกายภาพของดอกซากุระเหมือนๆ กัน

หากการดำรงอยู่ของซากุระนั้นเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นญี่ปุ่น โดยไม่จำเป็นต้องอรรถาธิบายแล้วบริบทของ Hanami ก็ไม่ต่างอะไรไปจากบันทึกภูมิหลังทางวัฒนธรรมและประวัติ ศาสตร์ของสถานที่ที่เป็นฉากให้ซากุระบรรจงแต้มสีชมพูเติมเสน่ห์ให้การชมซากุระในแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันไปตามแบบฉบับของตัวเอง

การผลิดอกของซากุระมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในช่วงปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นติดตามรายงานวันเวลาที่ดอกซากุระจะบานในแต่ละท้องที่ได้อย่างแม่นยำตั้งแต่ทางตอนใต้ไล่เป็นแนวขึ้นไปทางเหนือที่เรียกว่า Sakurazensen

กระนั้นก็ตาม การผลิบานของซากุระในเขต Kanto (โตเกียวและปริมณฑล) มีความพิเศษกว่าเขตอื่นๆ ของญี่ปุ่น โดยอาศัย การอ้างอิงจากการแย้มกลีบของซากุระดอกแรกในบริเวณศาลเจ้ายาสุคุนิใจกลางมหานครโตเกียว

แต่ละวันตลอดช่วงเวลา Hanami ในปลายมีนาคมถึงต้นเมษายนนั้นเฉพาะที่ศาลเจ้ายาสุคุนิมีผู้คนเรือนแสนเดินทางมาชมซากุระพร้อมทั้งถือโอกาสเคารพสักการะบรรพบุรุษผู้ล่วงลับที่ได้รับการอัญเชิญมาสถิตในศาลเจ้าแห่งนี้ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความกตัญญูอันเป็นคุณธรรมประการหนึ่งของชาวเอเชียที่สอนสั่งสืบต่อมานับพันปีมากกว่าเป็นการฝักใฝ่ลัทธิทหารอย่างที่ถูกวิพากษ์แบบฝ่ายเดียว

สำหรับในเขต Tohoku (ตะวันออกเฉียงเหนือ) นั้นกว่าที่แนว Sakurazensen เคลื่อนที่ขึ้นจากโตเกียวไปทางเหนือจนถึงปลายเกาะฮอนชูซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 700 กิโลเมตร ก็เป็นเวลาประจวบเหมาะกับช่วงวันหยุดยาว Golden Week (28 เมษายน-5 พฤษภาคม) ผู้คนจากทั่วสารทิศทั้งชาวญี่ปุ่น และนักท่องเที่ยวต่างชาติต่างมุ่งหน้าสู่ Hirosaki และ Kakunodate ซึ่งเป็น 2 แหล่งที่ได้ชื่อว่า เป็นจุดชมซากุระที่สวยที่สุดใน Tohoku

ซากุระ 2600 ต้นที่รายล้อมใน Hirosaki Park ในปัจจุบันเป็นประหนึ่งสักขีพยานของความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม ศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจและการปกครองของไดเมียว Tsugaru Tamenobu ผู้ได้รับการสนับสนุนจาก Toyotomi Hideyoshi ซึ่งกำลัง เรืองอำนาจหลังจากปราบกบฎและรวมประเทศญี่ปุ่นเป็นปึกแผ่นได้ในปี 1590

เวลาต่อมาภายหลังจากการสถาปนา ตนเองขึ้นเป็นโชกุนของ Tokugawa Ieyasu ปกครองญี่ปุ่นในสมัย Edo (ค.ศ.1603-1868) มีการสร้าง Castle Town หลายแห่งทั่วประเทศเพื่อใช้เป็นฐานบัญชาการของบรรดาไดเมียวโดยยึดจารีตแบบอย่างมาจาก Kyoto

แผนการสร้าง Hirosaki Castle ริเริ่มในปี 1603 ปีเริ่มต้นของสมัย Edo โดยไดเมียว ตระกูล Tsugaru ในขณะที่การก่อสร้างปราสาทยังไม่ทันแล้วเสร็จ Tamenobu ได้เสียชีวิตเสียก่อนยังผลให้ Tsugaru Nobuhira บุตรชายขึ้นเป็นไดเมียวซึ่งหลังจากนั้นหนึ่งปีปราสาท 5 ชั้นได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1611

แต่น่าเสียดายที่ปราสาทถูกฟ้าผ่าเกิดเพลิงไหม้เสียหายภายในชั้น 5 ในปี 1627 และถูกปล่อยปละไว้อย่างนั้นเกือบ 200 ปีจนกระทั่งปี 1810 Tsugaru Yasuchika ได้บูรณะปราสาทขึ้นใหม่แต่เหลือเพียง 3 ชั้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

เมื่อเข้าสู่สมัยปฏิรูปเมจิ (ค.ศ.1868-1912) ซึ่งได้คืนอำนาจในการปกครองประเทศ ให้กับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิในขณะเดียวกันเพื่อป้องกันการหวนคืนสู่อำนาจของระบอบโชกุนได้มีการทำลายปราสาทหลายแห่งซึ่งเป็นฐานที่มั่นของไดเมียวผู้สนับสนุนโชกุน

กระนั้นก็ตาม Hirosaki Castle ได้รับการปกปักรักษาและแปรสภาพให้เป็นส่วนหนึ่งของ Hirosaki Park ภายในอาณาเขต 500,000 ตารางเมตร ในปี 1895 ก่อนที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติแห่งชาติในปี 1952 ในฐานะปราสาทเก่าแก่ในสมัย Edo ที่หลงเหลืออยู่ใน Tohoku

ตลอดระยะเวลา 260 ปีที่ตระกูล Tsugaru ครอบครองดินแดนแห่งนี้มีวัฒนธรรมหลายแขนงได้รับการเพาะบ่มจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เช่น การชมดอกซากุระของชนชั้นสูงภายในปราสาทแห่งนี้ซึ่งมีประจักษ์พยานอายุยืนยาวกว่า 120 ปีที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ในบริเวณทางเข้า ปราสาททางทิศตะวันออก นั่นคือต้นซากุระพันธุ์ Someiyoshino ที่มีอายุมากที่สุดในญี่ปุ่น

เมื่อสิ้นสมัย Meiji ราวปี 1912 ซากุระจำนวนมากได้นำมาปลูกทดแทนต้นเก่าอีกทั้งได้เพิ่มจำนวนต้นทั้งรอบในและรอบนอกของ Hirosaki Park จนกลายเป็น "เทศกาลซากุระ" ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น

ร่องรอยจากอดีตที่ปรากฎอยู่ใจกลางเมือง Hirosaki คือโครงสร้างและองค์ประกอบของ Castle town ที่มีการวางผังเมืองอย่างเป็นระเบียบโดยมีปราสาทเป็นศูนย์กลางที่เรียกว่า Honmaru ตั้งมั่นอยู่บนกำแพงอิฐชั้นในรายล้อมด้วยคูน้ำ ในบริเวณใกล้ๆ กันนั้นมีปราสาทหลังเล็กสำหรับเป็นที่อยู่ของสมาชิกตระกูลไดเมียวและบริวารระดับสูง เรียกว่า Ninomaru อันดับรองลงไปคือ Sannomaru และ Shinomaru ตามลำดับ

ภายนอกบริเวณปราสาทจะเป็นที่อยู่ของซามูไรที่เรียกว่า Bukeyashiki โดยซามูไร ที่มีตำแหน่งสูงจะมีบ้านอยู่ใกล้ตัวปราสาทที่สุด ถัดออกไปเป็นที่อยู่ของสามัญชน ส่วนพ่อค้าและศิลปินจะอาศัยในบริเวณไกลออกไปลดหลั่นกันตามชั้นวรรณะของสังคมในสมัย Edo

ถึงแม้ว่าหมู่บ้านซามูไร Nakamachi (ชื่อเดิมของ Hirosaki) จะยังคงอยู่ก็ตาม Kakunodate Bukeyashiki ในจังหวัด Akita จะเป็นที่รู้จักมากกว่าในฐานะ Little Kyoto of Michinoku (ชื่อเดิมของ Tohoku) ที่ยังคงลมหายใจของเหล่าซามูไรเมื่อ 390 ปีก่อนไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลง

ซากุระพันธุ์ Shidare สีชมพูที่นำมาปลูกจากเกียวโตย้อยเป็นระย้าอยู่ริมรั้วบ้านไม้สีเข้มของตระกูลซามูไรเก่าแก่เช่นตระกูล Ishiguro ซามูไรตำแหน่งสูงสุดของเมือง, ตระกูล Aoyagi หรือ Nishimiya และอีกมากที่สามารถเข้าชมภายในซึ่งเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์หรืออาจเข้าร่วมพิธีชงชาภายในบริเวณ Bukeyashiki ซึ่งเข้ากับบรรยากาศของวันเด็กญี่ปุ่น* ในวันสุดท้ายของ Golden Week (5 พฤษภาคม) พอดี

*อ่านเพิ่มเติม : นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2547 คอลัมน์ Japan Walker


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.