|
Young Executive
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
อายุไม่ได้เป็นเงื่อนไขว่าใครคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจหรือไม่ เช่นเดียวกันอายุก็ไม่ได้เป็นดัชนีชี้ว่าเขาผู้นั้นจะมองการณ์ไกลจนกลายเป็นผู้นำในองค์กรที่กำลังจะเติบโตยิ่งขึ้นหรือไม่ด้วยเช่นกัน
ปี 2545 หลังจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ จากเกษตรศาสตร์ ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ และไพโรจน์ บัวเผื่อน เพื่อนร่วมสถาบันเดียวกันในวัย 22 ปี ซึ่งรู้จักกันเป็นอย่างดีตั้งแต่เมื่อครั้งผ่านการเข้าอบรมและคัดเลือกเยาวชนเพื่อเข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ สาขาคอมพิวเตอร์ ตัดสินใจ ใช้บ้านของตนเป็นออฟฟิศ เพื่อก่อตั้งบริษัท ครีเอเทคซอฟต์แวร์ จำกัด เพื่อรับพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับผู้ที่ต้องการซอฟต์แวร์สำหรับ ใช้งานบนอุปกรณ์พกพา ก่อนชักชวนเพื่อนร่วมสถาบันอีกคนหนึ่งอย่างวรากร คุณาวงศ์ เข้าร่วมเป็นหนึ่งในเจ้าของบริษัทเล็กๆ แห่งนี้ในเวลาต่อมา
นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ขนาดเล็กที่กำลังเติบโตอย่างเต็มที่ เมื่อมองถึงรายได้ โดยเฉพาะรายได้ในปีที่ผ่านมา บริษัทเล็กๆ แห่งนี้มีรายได้มากกว่า 10 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาถึงแนวคิดในการทำธุรกิจยิ่งน่าสนใจอีกเป็นทวีคูณ
ครีเอเทคซอฟต์แวร์เติบโตมาจากการรับจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์ตรวจเช็กสต็อกสินค้า คงคลังให้ทำงานบนเครื่องปาล์มหน้าจอขาวดำ เมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ ก่อนขยับมาเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์บนโทรศัพท์มือถืออย่างในปัจจุบัน
ในปี 2546 ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในเมืองไทยกำลังตื่นเต้นกับโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่ใส่ระบบปฏิบัติการเอาไว้ข้างใน การใช้งานที่หลากหลายกลายเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วที่มีความสามารถในการพกพาและใช้งานเป็นโทรศัพท์มือถือได้ด้วยในตัว ได้สร้าง กระแสในกลุ่มคนที่มีหัวคิดนำสมัยและชอบของเล่นไฮเทคเป็นชีวิตจิตใจอย่างปฏิเสธไม่ได้
การหยิบฉวยโอกาสจากการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมให้เป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจของตน ภายใต้แนวคิด "คิดก่อน ทำก่อน" กลายเป็นจุดเด่นของบริษัท เสมอมา
TSMS โปรแกรมรับส่ง SMS ภาษาไทย บนโทรศัพท์มือถือแบรนด์โนเกียที่ใช้ระบบปฏิบัติการซิมเบี้ยน คือ โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ตัวแรกที่ทั้งสามส่งออกสู่ตลาด
หลังจากตระเวนนำ TSMS ไปเปิดตัว ผู้คนในกระดานกระทู้ หรือเว็บบอร์ดผ่านเว็บไซต์หลากหลายแห่งได้ทดลองใช้ หรือแม้แต่การเข้าร่วมนัดพบกับคนใช้งานจากการนัดหมายของกลุ่มผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ ที่มีระบบปฏิบัติการซิมเบี้ยน ทำให้ TSMS เริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น และเริ่มได้รับการติดต่อจากค่ายผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์รายใหญ่ของไทยในเวลานั้น อาทิ ดีพีซี
เนื่องจากโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการซิมเบี้ยนในยุคนั้นยังอ่านข้อความและส่งข้อความภาษาไทยไม่ได้ การลงซอฟต์แวร์ TSMS ติดไปกับเครื่อง จึงเป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดลูกค้าให้ตัดสินใจซื้อเครื่องของค่ายตัวเองได้เพิ่มขึ้น และกลายเป็นโอกาสของครีเอเทคซอฟต์แวร์ที่จะได้ขายซอฟต์แวร์ ของตนเอง
"ตั้งแต่เปิดบริษัทมาปีกว่าๆ นี่ถือว่าเป็นหนแรกที่ได้เงินก้อนขนาดนี้ เพราะการขาย TSMS ในตอนนั้น เราเลือกที่จะขายเป็นไลเซนส์ คือคิดค่าโปรแกรมต่อเครื่องในอัตรา ที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ค่ายที่เลือกซื้อในปีนั้นเฉพาะการขาย TSMS สร้างรายได้ถึง 2 ล้านบาทเลยครับ" ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ เด็กหนุ่มวัยเลยเบญจเพสมาเพียง 2 ปี ที่รั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท บอกกับ "ผู้จัดการ"
หลังจากเริ่มเรียนรู้การติดต่อธุรกิจกับบริษัทผู้จัดจำหน่าย และเริ่มรู้จักช่องทางการขายสินค้าของตน ตลอดจนเห็นภาพการทำธุรกิจในสาขานี้มากขึ้น สามหนุ่มจึงตัดสินใจเปิดตัว "SmartThai" ระบบภาษาไทยสำหรับสมาร์ทโฟน โทรศัพท์มือถืออัจฉริยะเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตัว
สำหรับ SmartThai สร้างการไหลเวียนของเงินสดต่อเดือนหลายแสนบาท เพราะขายได้ในจำนวนรุ่นที่มากขึ้น แต่ยังกินช่วงระยะเวลายาวนานถึง 1 ปีครึ่ง ก่อนขยับมาพัฒนาให้ SmartThai ทำงานได้บนพ็อกเก็ตพีซีด้วย และก็ยังคงขายสินค้าเป็นแบบต่อเครื่องต่อไลเซนส์เช่นเดิม ซึ่งทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
จนถึงตอนนี้บริษัทแห่งนี้ก็มีกลุ่มลูกค้ากว้างขวางขึ้นทั้งโอเปอเรเตอร์ หรือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ผู้ผลิตเจ้าของแบรนด์โทรศัพท์มือถือเอง ผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ไปจนถึงลูกค้ารายย่อยด้วย
ในขณะที่สินค้าในไลน์การผลิตจำพวกแอพพลิเคชั่นหรือซอฟต์แวร์ ก็เริ่มหลาก กระจายไปทั้งโปรแกรมดูหุ้นแบบเรียลไทม์ผ่านโทรศัพท์มือถือ โปรแกรมสนทนาทันใจผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือโปรแกรมพจนานุกรม ไทย-อังกฤษ อังกฤษ-ไทย บนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
หลังจากผ่านการทำงานมานานถึง 5 ปี และมีรายได้เริ่มแตะหลักสิบล้านในปีที่ผ่านมา ประสบการณ์ในการขยายตลาดจึงไม่ได้ปิดกั้นเอาไว้เฉพาะในประเทศอีกต่อไป และความสำเร็จในการพัฒนาเทคนิค การเปิดไฟล์ที่แนบมากับอีเมลผ่านโทรศัพท์มือถือในทันที หรือ Push Mail ที่สามารถใช้ในระดับบุคคลทั่วไปแทนการใช้งานเฉพาะในองค์กรเพียงเท่านั้นก่อนหน้านี้ คือสิ่งที่จะทำให้เขาเหล่านี้ไปถึงจุดที่ต้องการได้
การเปิดตัวบริการ Push Mail หรือสมัครรับอีเมลผ่านโทรศัพท์มือถือ และสามารถเปิดดูไฟล์ภาพและเอกสารที่แนบมาได้ทันทีผ่านเครือข่ายจีพีอาร์เอสกับดีแทคเมื่อเดือนที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่เป็นการเปิดตัวบริการที่ยังไม่เคยมีใครทำได้ในโลกนี้เท่านั้น แต่ยังเตะตาดีแทค ถึงกับเข้าเจรจาขอซื้อหุ้นในบริษัท เพื่อเป็นบริษัทร่วมทุนที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตอีกด้วย
แม้จะยังอยู่ในระหว่างการเจรจา แต่ดูแนวโน้มว่าความเป็นไปได้ที่จะมีเม็ดเงินจากโอเปอเรเตอร์รายใหญ่อย่างดีแทคเข้ามาช่วยขยายบริษัทก็มีสูงไม่น้อย
"ธุรกิจซอฟต์แวร์ไม่ได้ลงทุนอะไรมาก นอกจากการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่เหลือเป็นการใช้สมองคิดและลงแรงไปกับการเขียน โปรแกรมเสียส่วนใหญ่ การจะพัฒนาโปรแกรม ตัวไหนนั้นแยกๆ กันไม่ค่อยได้งานเท่าไรครับ ไม่ว่ากับบริษัทผมหรือบริษัทใคร ต้องนั่งลงแล้วคุยกัน เราก็มักจะดูก่อนครับว่าคนส่วนใหญ่เขาต้องการอะไร ไปถามในเว็บบอร์ด และคุยกับคนทั่วๆ ไปนี่แหละครับ หลังจากนั้นก็ประเมินความเป็นไปได้และเริ่มพัฒนา ก่อนล่วงหน้าสักระยะ ต้องคิดก่อนแล้วก็ลงมือ ก่อน ถือว่าสำคัญมาก ทำเสร็จไว้ล่วงหน้าสัก 70 เปอร์เซ็นต์ครับ ให้เห็นว่าการทำงานของซอฟต์แวร์ตัวนั้นเป็นจริงได้ ใช้งานได้จริง เมื่อนำเสนอให้กับลูกค้า อาจจะมีการปรับแก้ เพิ่มเติมหลังจากนั้นครับ" ไพโรจน์บอก
"ถ้าหากว่าอายุไม่ใช่ปัจจัยที่จะวัดว่าใครจะเป็นเจ้าของกิจการที่ทำรายได้เป็นกอบ เป็นกำ แล้วอะไรคือสิ่งที่จะผลักดันให้พวกเขา เหล่านั้นประสบความสำเร็จได้บ้าง" คงเป็น เรื่องไม่ยากนักที่จะหาคำตอบให้กับคำถามนี้
เพราะครีเอเทคซอฟต์แวร์ได้ชี้ให้เห็นว่า การเริ่มดำเนินธุรกิจในรูปแบบของการถูกเวลา ถูกคน และถูกใจ อาศัยประสบการณ์ในการทำธุรกิจ คิดล่วงหน้า และเริ่มลงมือทำก่อน ย่อมให้ผลที่ชัดเจนและแน่นอนในอนาคต
ปีนี้ทั้งสามหนุ่มเพิ่งจะอายุ 27 ปี แต่กลับบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า รายได้อาจจะมากกว่า 20 ล้านบาท และหากว่าสามารถนำซอฟต์แวร์ดังกล่าวขายไปยังต่างประเทศ ผ่านเครือข่ายของเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญของดีแทค รายได้ก็อาจจะมากกว่านั้นด้วย
นี่คือตัวอย่างของกลุ่มคนที่ช่วยตอกย้ำ ว่า อายุเป็นแค่ตัวช่วยในการผ่านโลกมามาก แต่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าเขาจะประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจหรือไม่...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|