|
ฝายชะลอน้ำ CSR ของ 2 บริษัทปูนซีเมนต์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
กระแสการทำโครงการเพื่อตอบแทนสังคมของบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ กำลังเดินไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือ การอนุรักษ์และรักษาป่าต้นน้ำในพื้นที่ภาคเหนือให้ยังคงสภาพเดิม และเป็นต้นธารของแม่น้ำสำคัญของประเทศต่อไป
อย่างน้อยก็มีผู้ผลิตปูนซีเมนต์ 2 รายที่จริงจังกับโครงการฝายชะลอความชุ่มชื้นตามแนวพระราชดำริ คือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย และบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง ที่ออกมาทำในเวลาใกล้เคียงกัน
น้ำได้กลายเป็นเรื่องหลักที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยให้ความสำคัญในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ของบริษัทมีเรื่องการดูแลแหล่งต้นน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น อย่างเช่นโครงการ SCG Do It Green ก็สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องน้ำ
ดนัย บัวเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด อธิบายถึงสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ว่า โรงงานที่ลำปางจะเกิดไฟป่าทุกปี แม้ว่าทางโรงงานจะแก้ปัญหาด้วยการจัดทำแนวกันไฟ ตั้งหน่วยลาดตระเวน อบรมการดับไฟป่าให้กับพนักงาน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ไฟป่าลดน้อยลง จนสุดท้ายก็ทดลองเลือกใช้วิธีแนวป่าเปียก (Wet Fire Break) โดยใช้ฝายชะลอน้ำมาเป็นตัวแก้ปัญหา
รูปแบบของฝายชะลอน้ำ คือภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ฝายแม้ว เมื่อชาวเขาต้องการกักเก็บน้ำไว้ใช้ ก็จะโยนก้อนหินลงไปกั้นทางน้ำตามลำธารต่างๆ ทำให้น้ำไหลช้าลง และสามารถสำรองนำเอาไว้ไช้ได้นานขึ้น
ต้นแบบแนวคิดนี้ได้มาจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราช ดำริ ห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีต้นแบบของฝายชะลอน้ำให้ดู รวมถึงผลที่ได้รับจากการทำวิธีการนี้
เขาบอกว่า บริษัทได้เริ่มทดลองทำฝายชะลอน้ำตัวแรกตั้งแต่ปี 2547 ด้วยการใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่นำมาดัดแปลง โดยจะเน้นว่าไม่ต้องซื้อหา และฝายตัวแรกถูกสร้างขึ้นที่บริเวณเรือนรับรอง ซึ่งเป็นจุดที่เกิดไฟป่าทุกปี ผลที่ได้พบว่าสามารถลดจำนวนที่เกิดไฟป่าลงได้ รวมทั้งยังลดความรุนแรงจากไฟป่าได้ด้วย
เมื่อได้คำตอบที่พอใจแล้ว การสร้างฝายชะลอน้ำจึงเกิดตามมาอย่างมากมายตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเพียงปีเดียวสามารถสร้างฝายชะลอน้ำไปถึง 222 ตัว เฉลี่ยคร่าวๆ ก็คือในเวลา 1.5 วัน จะมีฝาย ชะลอน้ำเกิดขึ้น 1 ตัว
"การเพิ่มจำนวนของฝายชะลอน้ำในโรงปูนที่ลำปาง จะให้อาสาสมัครเป็นเจ้าภาพสร้างฝาย โดยไม่มีการบังคับ และช่วงหลังได้พัฒนาเป็นฝายวันเกิด พนักงานที่เกิดเดือนเดียวกันก็รวมตัวช่วยกันสร้างฝายชะลอน้ำ" ดนัยบอกถึงเหตุผลที่ฝายชะลอน้ำของปูนซิเมนต์ไทย ลำปาง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
หลังจากที่ลงมือทำกันมาต่อเนื่อง 2 ปีผลที่ออกมาล่าสุดพบว่า พื้นที่ของโรงงานจำนวน 1,000 ไร่ มีฝายชะลอน้ำแล้ว 250 ฝาย จำนวนไฟป่าที่เคยเกิดขึ้นสูงสุด 226 ครั้ง ในปี 2542 เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2548 เกิดไฟป่าเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ส่วนปีนี้ เกิดขึ้นเพียง 4 ครั้ง และสภาพป่าเริ่มกลับมาสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ยังได้มีการถ่ายทอดความรู้เรื่องการก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ในการสร้างฝายให้กับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้ฝายชะลอน้ำเกิดขึ้นกระจายไปตามพื้นที่ฝ่ายต่างๆ ให้มากที่สุดและชุมชนที่ได้รับความรู้และนำไปพัฒนาได้รวดเร็วที่สุด ก็คือบ้านสามขา ที่อยู่ในอำเภอแม่ทะ เพราะที่นี่มีชุมชนที่เข้มแข็ง ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากชาวบ้าน ฝายชะลอน้ำที่บ้านสามขา จึงเกิดขึ้นเต็มพื้นที่ป่าของหมู่บ้าน
ทั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยและบ้านสามขา ต่างก็ถ่ายทอดความรู้ด้านการสร้างฝายชะลอน้ำให้กันและกัน จนขณะนี้บ้านสามขา กลายเป็นอีกต้นแบบหนึ่งของการฟื้นฟูป่าของชาวบ้าน รองมาจากโครงการพระราชดำริที่ห้วยฮ่องไคร้
สำหรับฝายชะลอน้ำที่ปูนซิเมนต์ไทยก่อสร้างมีทั้งแบบถาวร แบบกึ่งถาวร และแบบชั่วคราว ใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ ไม้ล้ม ก้อนหิน ทราย เถาวัลย์ มาก่อสร้าง โดยจะสร้างให้มีความสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร ต้นทุนก่อสร้างประมาณ 5,000 บาทต่อฝาย อายุการใช้งานประมาณ 3-5 ปี
ในส่วนของปูนซีเมนต์นครหลวง รุ่งโรจน์ สุนทรเสถียรกุล รองประธานอาวุโส การบริหาร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บอกว่า บริษัทตั้งงบประมาณไว้ปีละ 9 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นให้ได้ 880 ฝาย โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2550-2552
พื้นที่ในการสร้างฝายปีนี้อยู่ใน 3 จังหวัดคือ อุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย เขตอำเภอแม่ริม อำเภอเมือง และอำเภอหางดง เชียงใหม่ จำนวน 300 ฝาย อำเภอแม่ทา จังหวัดลำปางจำนวน 400 ฝาย และอำเภอปัว จังหวัดน่านอีก 200 ฝาย
รุ่งโรจน์ถือเป็นกลุ่มแรกของปูนซีเมนต์นครหลวงที่ลงมือสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น โดยได้ความรู้และรูปแบบการสร้างมาจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่อยู่ในอำเภอดอยสะเก็ด ที่นี่เป็นแหล่งความรู้ของการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นที่สมบูรณ์ที่สุด
"ฝายตัวแรกของปูนซีเมนต์นครหลวงอยู่ที่บ้านทับกระเปา จังหวัดลำพูน สร้างเป็นฝายปูนชั้นเดียว มีพนักงานร่วมกันสร้าง 30 คน แต่ชาวบ้านมาช่วยเป็นร้อยคนใช้เวลา 1 วันก็เสร็จ โดยสามารถสร้างได้ถึง 3 ตัว" เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของฝายปูนนก
ฝายของบริษัทปูนซีเมนต์ถูกชาวบ้านตั้งคำถามว่า ใช้ปูนซีเมนต์มากกว่าฝายที่ชาวบ้านสร้างเอง ซึ่งชาวบ้านให้คำตอบด้วยว่า เมื่อเจ้าของปูนมาเอง เลยไม่ต้องห่วงเรื่องใช้ปูนมากหรือน้อย
ขณะนี้การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นของปูนซีเมนต์นครหลวง มีถึง 4 รุ่นแล้ว และกระจายลงไปในพื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัด
ถึงโครงการจะกำหนดไว้ 880 ฝาย แต่รุ่งโรจน์เชื่อว่าเมื่อครบ กำหนดแล้วน่าจะสร้างได้มากกว่า และอาจจะมีการต่ออายุโครงการ นี้ออกไปอีกก็ได้
นอกจากนี้ทางปูนซีเมนต์นครหลวง ยังทำหน้าที่กระจายข่าวสารชักชวนลูกค้า พนักงาน นักเรียน นักศึกษา กลุ่มอาสาสมัครต่างๆ เข้ามาสร้างฝายของตัวเองด้วย เหมือนกับการออกค่ายอาสาตามมหาวิทยาลัยนั่นเอง
ทั้งสองบริษัทลงมือสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น โดยมีพื้นฐานความรู้มาจากโครงการห้วยฮ่องไคร้ ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2525 มีเนื้อที่ 8,500 ไร่ เดิมสภาพพื้นที่แห้งแล้ง กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม แต่ขณะนี้สภาพป่ากลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง รวมถึงโครงการพัฒนาอาชีพต่างๆ ถูกนำมาทดลองใช้ที่นี่ เพื่อเป็นต้นแบบนำไปใช้กับโครงการและพื้นที่อื่นๆ
ไม่แน่ในอนาคต อาจจะมีฝายชะลอความชุ่มชื้นที่เกิดจากความร่วมมือของปูนซิเมนต์ไทยกับปูนนครหลวงขึ้นมาสัก 1 ฝายก็ได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|