|
น้ำมันแพงฉุดเศรษฐกิจฟื้นจำกัดรอรัฐบาลหน้า-ประชาชนระทม
ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ราคาน้ำมันพุ่งต่อเนื่อง คาดเบนซิน 30.39 บาทเอาไม่อยู่ นักเศรษฐศาสตร์ประเมินฟื้นเศรษฐกิจต้องยืดออกไปอีก เพิ่มหักลดหย่อนดอกเบี้ยผ่อนบ้านเป็น 1 แสน กระตุ้นไม่ได้ หวั่นใจแบงก์ชาติหากเงินเฟ้อเพิ่มดอกเบี้ยขาลงมีจำกัด แนะประชาชนทำใจรับสภาพเหลืออีก 4 เดือนรอรัฐบาลใหม่
ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ทะลุเหนือ 30 บาทต่อลิตร เมื่อ 19 พฤษภาคม 2550 โดยขายที่ลิตรละ 30.39 บาท นับว่าเป็นราคาสูงที่สุดของ ปตท. หลังจากที่เคยตรึงราคาไว้เมื่อ 11 กรกฎาคม 2549 ที่ 30.19 บาทต่อลิตร ส่วนเบนซิน 91 ขยับขึ้นเป็นลิตรละ 29.59 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 27.09 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 26.79 บาท น้ำมันดีเซลคงเดิมที่ 25.34 บาทต่อลิตร
เนื่องจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สิงคโปร์ปรับสูงขึ้นกว่า 92 เหรียญต่อบาเรลสำหรับเบนซิน 95 ขณะที่ราคาน้ำมันดิบต่างประเทศอยู่ที่ระดับ 66 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล นับว่ามีส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบกับราคาน้ำมันที่กลั่นแล้วสูงมาก
ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นในครั้งนี้ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่ลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เก็บจากเบนซินลิตรละ 3.46 บาท ดังนั้นในภาคประชาชนต้องใช้น้ำมันในราคาที่สูงเช่นนี้ต่อไประยะ ทั้งนี้คงต้องขึ้นกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ว่าจะปรับขึ้นมากน้อยเพียงใด หากปรับขึ้นอีก ราคาน้ำมันที่ 30.39 บาทต่อลิตรคงไม่ใช่ราคาที่สูงที่สุดในปีนี้
เศรษฐกิจฟื้นช้า
นักเศรษฐศาสตร์มหภาคประเมินว่า ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น คงต้องรออีกระยะหนึ่งว่าจะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมมากน้อยเพียงใด เนื่องจากขณะนี้อัตราเงินเฟ้อในประเทศยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักคือเฉลี่ยที่ 2.3% ดังนั้นจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะกรรมการนโยบายเงินที่ประชุมเมื่อ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันที่ 30.39 บาทต่อลิตรนั้น สูงจนกระทบต่อจิตวิทยาของประชาชน เนื่องจากราคาดังกล่าวบวกรวมเอาเงินที่ต้องชดเชยกองทุนน้ำมันเข้าไปด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลก่อนได้มีการชดเชยราคาน้ำมันสูงถึง 9.2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้เหลืออยู่อีกราว 3.3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นราคาน้ำมันที่สูงเกินกว่า 30 บาทต่อลิตรอาจทำให้ภาคประชาชนระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม
ผลดีคือตัวเงินเฟ้ออาจจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก แต่อาจทำให้เป็นข้อกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดูแลเรื่องเสถียรภาพด้านการเงินในประเทศ อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศไม่กล้าที่จะปรับลดลงถึง 0.75% ในช่วงครึ่งปีหลังตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้
ตอนนี้เรายังไม่ได้ปรับประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลง เนื่องจากต้องรอปัจจัยอื่น ๆ เช่น ราคาสินค้าและบริการที่เตรียมปรับตัวขึ้นและค่าไฟฟ้าอัตโนมัติในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนนี้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมถึงค่ารถโดยสารสาธารณะ ถ้าปรับเพิ่มขึ้นก็จะเป็นตัวเร่งเงินเฟ้อ ที่อาจกระทบต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ถ้ารายการเหล่านี้มีการปรับขึ้นย่อมทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต้องยืดเยื้อออกไป
ทำใจรับสภาพ
เขากล่าวต่อไปว่า เมื่อประเมินจากสถานการณ์โดยรวมแล้วค่อนข้างหนักใจ เพราะปัจจัยเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไขให้คลี่คลายทั้งจากสภาพการเมือง หรือมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจและค่อนข้างชัดเจนแล้วว่ามาตรการในการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ด้วยการลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ภายใต้อำนาจของกระทรวงการคลังคงไม่เลือกใช้แนวทางนี้
"รัฐมนตรีคลังพูดชัดเจนว่าค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% นั้นจะมีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ขององค์การส่วนท้องถิ่น ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะที่ 3.3% นั้น หากปรับลดลงเหลือ 0.01% จะทำให้กรมสรรพากรมีรายได้ลดลงไปราว 6-7 พันล้านบาท"
ดังนั้นมาตรการที่ยังเหลืออยู่คือการเพิ่มการหักลดหย่อนค่าดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านจาก 5 หมื่นบาทเป็น 1 แสนบาท ถือว่ายังไม่ช่วยปลุกกระแสความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้มากนัก เนื่องจากการหักค่าลดหย่อนดังกล่าว สามารถหักลดหย่อนได้เฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเท่านั้น ผู้ที่ซื้อบ้านในระดับต่ำกว่า 1 ล้านบาทถือว่าได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ที่จะได้ประโยชน์ค่อนข้างมากคือกลุ่มที่ซื้อบ้านเดี่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้ค่อนข้างสูง
เมืองไทยมีข้อจำกัดค่อนข้างมากในด้านความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากกระทรวงการคลังมักจะดำเนินตามนโยบายรัฐบาล แต่ในบางเรื่องที่อยู่ในอำนาจการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทยมักจะมีความเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล เรื่องความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยถือเป็นเรื่องดี แต่ในบางครั้งที่สถานการณ์ของประเทศเกิดวิกฤติทุกฝ่ายก็ยังยืนบนพื้นที่ของตนเองไม่ได้ลงมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหา
เห็นได้จากความพยายามที่จะเพิ่มกำลังซื้อของคนในประเทศด้วยการแก้ไขข้อจำกัดในเครดิตบูโร แต่ในส่วนของแบงก์ชาติก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว หรืออย่างเช่นมาตรการสกัดค่าเงินบาท เกรงกันว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นย่อมกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อแน่นอน ตราบใดที่แบงก์ชาติยังยึดรูปแบบบริหารเงินตามภาวะเงินเฟ้ออาจจะทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงได้จำกัด
หรือราคาน้ำมันที่แพงอยู่ในเวลานี้หากกองทุนน้ำมันจะลดการจัดเก็บลงบ้างก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล
หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติกำหนดไว้ คงเหลือเวลาอีกราว 4 เดือน จึงคาดหวังยากว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ออกมา คงปล่อยเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาแก้ปัญหา ดังนั้นในภาคประชาชนคงต้องทำใจรับสภาพกับเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในเวลานี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|